ฟาฏิมะฮ์คือ ส่วนหนึ่งของฉัน
ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) กล่าวว่า "ฟาฏิมะฮ์คือ ส่วนหนึ่งของฉัน ใครที่ทำให้นางโกรธ ก็เท่ากับทำให้ฉันโกรธ" (หนังสือ บุคอรี บาบ มุนากิบ ฟาฏิมะฮ์ เลขที่ 3714)
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เป็นบุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กับท่านหญิง คอดีญะฮ์ (อ) บุตรีของคุวัยลิด นางเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์แห่งตระกูลกุเรช นางเป็นหญิงคนแรกที่ยอมรับการเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) และนางเป็นผู้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านศาสดา (ซ.ล) มาตลอดการเผยแพร่ของท่าน
ท่านหญิงคอดียะห์ นางคือ ผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรัพย์สิน เงินทองของนางที่มีอยู่ นางได้สละให้กับท่านนบี เพื่อใช้ในหนทางการเผยแพร่ศาสนาของท่าน
ในบันทึกของ ฮิชาม กล่าวไว้ว่า "ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) มอบความรัก และให้เกียรติ ต่อท่านมาก ไม่ว่าจะการงานใด ท่านหญิงจะเป็นที่ปรึกษาให้กับท่านเสมอ นางคือสตรีที่มีทรรศนะกว้าง นางเป็นผู้ศรัทธาคนแรก และในช่วงที่ท่านหญิงคอดีญะห์มีชีวิตอยู่นั้น ท่านศาสดาไม่คยมีหญิงใดเลย"
นี่เป็นเพียงการแนะนำพอสังเขปผู้เป็นมารดาของท่านหญิง ซะฮ์รอ (ซ) ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงผู้เป็นบิดา สำหรับมุสลิมทั้งหลายเป็นที่ทราบและรู้จักกันเป็นอย่างดี. แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่จะรู้จักความสัมพันธ์ของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กับบุตรีของท่าน ฟาฏิมะฮ์(ซ)
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ) ท่านเกิดในสมัยยุคมืดของชาวอาหรับ ที่มีแต่ความโสมมในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชนในยุคนั้น กับการปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง ยุคที่ไร้ซึ่งจริยธรรมในการดำเนินชีวิต และการฝังบุตรสาวของตนทั้งเป็น การบีบบังคับสตรีให้ใช้ชีวิตแต่งงาน หรือการลิดรอนสิทธิของสตรี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกที่จะใช้ชีวิต หรือการได้รับสิ่งที่นางสมควรจะได้ เช่น มรดกของผู้เป็นบิดา หรือสามี รายได้ที่นางได้หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของพวกนางเอง สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้น ในสมัยของอาหรับยุคมืด. การประกาศอิสลาม และการปฏิบัติของท่านศาสดาที่มีต่อบรรดาภรรยา และบุตรีของท่านเป็นแบบอย่างที่สำคัญ และเป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชนอาหรับในยุคนั้นด้วย ดังนั้น การที่อิสลามได้ประกาศความเป็นอิสระของสตรีในการเลือก หรืออิสลามได้ให้ความเท่าเทียมความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงและชาย หรือแม้แต่การปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย ถือว่าสตรีนั้นมีส่วนร่วมและสามารถได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซ.บ) เท่าเทียมกับเหล่าบรรดาบุรุษ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) ได้ปฏิบัติต่อบุตรีของท่านตรงข้ามกับที่ชนอาหรับยุคนั้นปฏิบัติต่อบุตรีของพวกเขา เช่น ท่านให้ความรัก ความเอ็นดู ให้เกียรติต่อบุตรสาวของท่าน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชนชาติอาหรับ
ฉะนั้นเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีที่ท่านศาสดาได้นำมาประกาศต่อประชาชาตินั้น ท่านได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างโดยกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ) เช่น
- สิทธิในการมีชีวิต ซึ่งเมื่อท่านทราบว่า บุตรของท่านเป็นเด็กผู้หญิง ท่านไม่ได้ฝังบุตรสาวของท่านทั้งเป็นเหมือนอย่างที่ชาวอาหรับได้กระทำ.
- การได้รับเกียรติ ในรายงานกล่าวไว้ว่า “ทุกครั้งที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)เข้ามาหาท่านรอซูล (ซ.ล) ท่านจะลุกขึ้น และให้นั่งตรงที่ของท่าน" ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สตรีก็สมควรที่จะได้รับเกียรติเช่นกัน สตรีในยุคนั้น ถูกปฏิบัติเหมือนสาวใช้ และโดนดูถูกในความเป็นสตรีของพวกนาง
- สิทธิในการเลือก ท่านศาสดาได้มอบสิทธิในการเลือกให้กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มชนในยุคนั้น. เมื่อมีบุคคลต่างๆ จากบรรดาผู้นำชั้นสูงมาสู่ขอท่าน ท่านศาสดาได้มอบสิทธิในการเลือกนี้ให้กับท่าน ซึ่งในยุคนั้น การแต่งงานของสตรีนั้น จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครอบครัว หรือหญิงหม้ายครอบครัวของนางจะยกนางให้กับใครก็ได้ตามที่พวกเขาพอใจ
- สิทธิในการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ในอิสลามมิได้แบ่งแยกความสำคัญดังกล่าวนี้ให้สิทธิเฉพาะบุรุษเท่านั้น อิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษากับสตรีเช่นกัน ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ในวิชาแขนงต่างๆจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) สามารถกล่าวได้ว่า ในยุคของท่านหญิงนั้น ท่านคือครูของบรรดาสตรีทั้งหลาย และท่านยังได้สร้างลูกศิษย์ไว้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นสตรีทั้งสิ้น
- สิทธิการมีส่วนร่วมในสังคม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ได้เปิดโอกาสให้กับเหล่าบรรดาสตรีเข้าร่วมการนมาซในมัสยิด หรือฟังการบรรยายของท่าน แต่มีเงื่อนไขว่า พวกนางต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาสนาอย่างเคร่งครัด คือ แต่งกายให้มิดชิด ตามแบบฉบับที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ หรือการที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) ได้นำกลุ่มสตรีมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในยามศึกสงคราม หรือแม้แต่การเปิดโอกาสให้กับบรรดาสตรีผู้ไม่รู้ ได้ถามปัญหาที่ตนสงสัย
มีรายงานหนึ่งจากหนังสือ บิฮารุลอันวาร เล่ม 2 หน้า 3 หะดีษที่3 ได้เขียนเอาไว้ว่า "หญิงคนหนึ่งเข้ามาหาท่านหญิง เพื่อที่จะถามปัญหาข้อข้องใจที่มารดาของนางส่งให้นางมาถามท่าน และสำหรับตัวของนางเอง โดยที่ท่านได้ตอบทุกๆปัญหาที่นางถามจนหลายคำถามมากเข้า นางรู้สึกเกรงใจ จนท่านหญิงกล่าวกับนางว่า "จงถามมาเถอะ" และท่านหญิงได้กล่าวถึงผลตอบแทนของผู้ที่ให้การศึกษาแด่ผู้อื่นต่อนาง
ศักดิ์ศรีของสตรียังคงดำรงอยู่ต่อไป ถ้าหากได้ดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ) เพราะท่านนั้นคือ แบบอย่างของบรรดาสตรีทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
แสดงความเห็น