ฟาฏิมะฮ์คือ ส่วนหนึ่งของฉัน

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) กล่าวว่า  "ฟาฏิมะฮ์คือ ส่วนหนึ่งของฉัน ใครที่ทำให้นางโกรธ ก็เท่ากับทำให้ฉันโกรธ" (หนังสือ บุคอรี บาบ มุนากิบ ฟาฏิมะฮ์ เลขที่ 3714)

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) กล่าวว่า  "ฟาฏิมะฮ์คือ ส่วนหนึ่งของฉัน ใครที่ทำให้นางโกรธ ก็เท่ากับทำให้ฉันโกรธ" (หนังสือ บุคอรี บาบ มุนากิบ ฟาฏิมะฮ์ เลขที่ 3714)

 

 ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เป็นบุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กับท่านหญิง คอดีญะฮ์ (อ) บุตรีของคุวัยลิด นางเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์แห่งตระกูลกุเรช นางเป็นหญิงคนแรกที่ยอมรับการเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) และนางเป็นผู้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านศาสดา (ซ.ล) มาตลอดการเผยแพร่ของท่าน 

 

 ท่านหญิงคอดียะห์ นางคือ ผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรัพย์สิน เงินทองของนางที่มีอยู่ นางได้สละให้กับท่านนบี เพื่อใช้ในหนทางการเผยแพร่ศาสนาของท่าน

 

 ในบันทึกของ ฮิชาม กล่าวไว้ว่า "ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) มอบความรัก และให้เกียรติ ต่อท่านมาก ไม่ว่าจะการงานใด ท่านหญิงจะเป็นที่ปรึกษาให้กับท่านเสมอ  นางคือสตรีที่มีทรรศนะกว้าง นางเป็นผู้ศรัทธาคนแรก และในช่วงที่ท่านหญิงคอดีญะห์มีชีวิตอยู่นั้น ท่านศาสดาไม่คยมีหญิงใดเลย"

 

 นี่เป็นเพียงการแนะนำพอสังเขปผู้เป็นมารดาของท่านหญิง ซะฮ์รอ (ซ) ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงผู้เป็นบิดา สำหรับมุสลิมทั้งหลายเป็นที่ทราบและรู้จักกันเป็นอย่างดี. แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่จะรู้จักความสัมพันธ์ของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กับบุตรีของท่าน ฟาฏิมะฮ์(ซ)

 

 ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ) ท่านเกิดในสมัยยุคมืดของชาวอาหรับ ที่มีแต่ความโสมมในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชนในยุคนั้น กับการปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง ยุคที่ไร้ซึ่งจริยธรรมในการดำเนินชีวิต และการฝังบุตรสาวของตนทั้งเป็น การบีบบังคับสตรีให้ใช้ชีวิตแต่งงาน หรือการลิดรอนสิทธิของสตรี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกที่จะใช้ชีวิต หรือการได้รับสิ่งที่นางสมควรจะได้ เช่น มรดกของผู้เป็นบิดา หรือสามี รายได้ที่นางได้หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของพวกนางเอง สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้น ในสมัยของอาหรับยุคมืด. การประกาศอิสลาม และการปฏิบัติของท่านศาสดาที่มีต่อบรรดาภรรยา และบุตรีของท่านเป็นแบบอย่างที่สำคัญ และเป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชนอาหรับในยุคนั้นด้วย ดังนั้น การที่อิสลามได้ประกาศความเป็นอิสระของสตรีในการเลือก หรืออิสลามได้ให้ความเท่าเทียมความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงและชาย หรือแม้แต่การปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย ถือว่าสตรีนั้นมีส่วนร่วมและสามารถได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซ.บ) เท่าเทียมกับเหล่าบรรดาบุรุษ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) ได้ปฏิบัติต่อบุตรีของท่านตรงข้ามกับที่ชนอาหรับยุคนั้นปฏิบัติต่อบุตรีของพวกเขา เช่น ท่านให้ความรัก ความเอ็นดู ให้เกียรติต่อบุตรสาวของท่าน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชนชาติอาหรับ

 

 ฉะนั้นเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีที่ท่านศาสดาได้นำมาประกาศต่อประชาชาตินั้น ท่านได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างโดยกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ) เช่น

 

   - สิทธิในการมีชีวิต ซึ่งเมื่อท่านทราบว่า บุตรของท่านเป็นเด็กผู้หญิง ท่านไม่ได้ฝังบุตรสาวของท่านทั้งเป็นเหมือนอย่างที่ชาวอาหรับได้กระทำ.

 

   - การได้รับเกียรติ ในรายงานกล่าวไว้ว่า “ทุกครั้งที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)เข้ามาหาท่านรอซูล (ซ.ล) ท่านจะลุกขึ้น และให้นั่งตรงที่ของท่าน" ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สตรีก็สมควรที่จะได้รับเกียรติเช่นกัน สตรีในยุคนั้น ถูกปฏิบัติเหมือนสาวใช้ และโดนดูถูกในความเป็นสตรีของพวกนาง

 

  - สิทธิในการเลือก ท่านศาสดาได้มอบสิทธิในการเลือกให้กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มชนในยุคนั้น. เมื่อมีบุคคลต่างๆ จากบรรดาผู้นำชั้นสูงมาสู่ขอท่าน ท่านศาสดาได้มอบสิทธิในการเลือกนี้ให้กับท่าน ซึ่งในยุคนั้น การแต่งงานของสตรีนั้น จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครอบครัว หรือหญิงหม้ายครอบครัวของนางจะยกนางให้กับใครก็ได้ตามที่พวกเขาพอใจ

 

  - สิทธิในการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ในอิสลามมิได้แบ่งแยกความสำคัญดังกล่าวนี้ให้สิทธิเฉพาะบุรุษเท่านั้น อิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษากับสตรีเช่นกัน ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ในวิชาแขนงต่างๆจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) สามารถกล่าวได้ว่า ในยุคของท่านหญิงนั้น ท่านคือครูของบรรดาสตรีทั้งหลาย และท่านยังได้สร้างลูกศิษย์ไว้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นสตรีทั้งสิ้น

 

 - สิทธิการมีส่วนร่วมในสังคม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ได้เปิดโอกาสให้กับเหล่าบรรดาสตรีเข้าร่วมการนมาซในมัสยิด หรือฟังการบรรยายของท่าน แต่มีเงื่อนไขว่า พวกนางต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาสนาอย่างเคร่งครัด คือ แต่งกายให้มิดชิด ตามแบบฉบับที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ หรือการที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) ได้นำกลุ่มสตรีมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในยามศึกสงคราม หรือแม้แต่การเปิดโอกาสให้กับบรรดาสตรีผู้ไม่รู้ ได้ถามปัญหาที่ตนสงสัย

 

  มีรายงานหนึ่งจากหนังสือ บิฮารุลอันวาร เล่ม 2 หน้า 3 หะดีษที่3 ได้เขียนเอาไว้ว่า   "หญิงคนหนึ่งเข้ามาหาท่านหญิง เพื่อที่จะถามปัญหาข้อข้องใจที่มารดาของนางส่งให้นางมาถามท่าน และสำหรับตัวของนางเอง โดยที่ท่านได้ตอบทุกๆปัญหาที่นางถามจนหลายคำถามมากเข้า นางรู้สึกเกรงใจ จนท่านหญิงกล่าวกับนางว่า "จงถามมาเถอะ" และท่านหญิงได้กล่าวถึงผลตอบแทนของผู้ที่ให้การศึกษาแด่ผู้อื่นต่อนาง

 

 ศักดิ์ศรีของสตรียังคงดำรงอยู่ต่อไป ถ้าหากได้ดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ) เพราะท่านนั้นคือ แบบอย่างของบรรดาสตรีทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

แสดงความเห็น