ศาสดาอีซา (อ.) ผู้นำสาสน์แห่งความรักและสันติภาพ

การเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูหรือศาสดาอีซา (อ.) ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 25 December หรือตรงกับปฏิทินไทยคือวันที่ 25 ธันวาคม เป็นที่รู้จักกันดีในนามวันคริสต์มาส ประวัติความเป็นมาของวันคริสต์มาส (การเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู)

 

 

 

เนื่องในวโรกาสครบรอบปีการถือกำเนิดของศาสดาอีซา (อ)

 

การเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูหรือศาสดาอีซา (อ.) ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 25 December หรือตรงกับปฏิทินไทยคือวันที่ 25 ธันวาคม เป็นที่รู้จักกันดีในนามวันคริสต์มาส ประวัติความเป็นมาของวันคริสต์มาส (การเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู) ถูกกำหนดขึ้นในปี ค.ศ. 330 และสำนักคริสตจักรของแผ่นดินในภูมิภาคตะวันออก มีการจัดงานเฉลิมฉลองนี้อย่างเป็นทางการในช่วงศตวรรษที่ 6

 

 

ตำนานวันคริสต์มาส

 

คำว่า “คริสต์มาส” เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า “บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า” ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารโบราณที่เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas

 

เทศกาล Christmas หรือ X’Mas ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ตามหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร?

 

วันที่ 25 ธันวาคม ในยุคโรมันโบราณตรงกับการเฉลิมฉลองการไหว้บูชารูปเคารพในนามวันเกิดของสุริยะเทพผู้อยู่ยงคงกระพัน นักประวัติศาสตร์บางคนได้กล่าวว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่าเป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์ที่ให้แสงสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย

 

พระเยซูหรือศาสดาอีซา (อ.) ถือกำเนิดในสภาวะเงื่อนไขที่ชาวยิว (ยะฮูดี) กำลังรอคอยและเฝ้าติดตามการมาของพระเยซูเพื่อที่จะสร้างความพ่ายแพ้ให้แก่กองกำลังแห่งความชั่วร้ายและมุ่งรอคอยการสร้างอาณาจักรการปกครองใหม่ โดยทั่วไปแล้วสามารถกล่าวได้ว่า ชาวยิวในยุคสมัยนั้นมีมุมมองในการรอคอยและความหวังในการมาของพระเยซูในรูปที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มเชื่อว่าท่านจะต้องมาในฐานะเป็นกษัตริย์นักรบ และบางกลุ่มกำลังรอคอยการมาของบุคคลผู้ซึ่งยึดมั่นอย่างมั่นคงต่อคัมภีร์เตารอตของศาสดามูซา (อ.) หรือโมเสส และบางกลุ่มก็คิดว่าท่านจะต้องเป็นบุรุษผู้เคร่งครัดในการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระเจ้า พระเยซูหรือท่านศาสดาอีซา (อ.) ถือกำเนิดในสภาวการณ์และสภาพเงื่อนไขเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักค้นคว้าวิจัยต่างมีทัศนะตรงกันว่าท่านถือกำเนิดก่อนปีคริสต์ศักราชเป็นเวลาถึงสี่ปี

 

การถือกำเนิดของพระเยซูในคัมภีร์ไบเบิล (อินญีล)

 

ในคัมภีร์ไบเบิล : มัททิว บทที่ 1 โองการที่ 18 ถึง 25 ได้เล่าถึงการถือกำเนิดของพระเยซูในยุคสมัยของ Herod the Great หรือ เฮโรดมหาราชแห่งยูเดีย ไว้เช่นนี้ว่า:

 

1:18 เรื่องพระกำเนิดของพระเยซูคริสต์เป็นดังนี้ คือ มารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์

 

1:19 แต่โยเซฟสามีของเธอเป็นคนชอบธรรม ไม่พอใจที่จะแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ หมายจะถอนหมั้นเสียลับๆ

 

1:20 แต่เมื่อโยเซฟยังคิดในเรื่องนี้อยู่ ดูเถิด มีทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟ บุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของเจ้าเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์

 

1:21 เธอจะประสูติบุตรชาย แล้วเจ้าจะเรียกนามของท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านจะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขาทั้งหลาย”

 

1:22 ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งตรัสไว้โดยศาสดาพยากรณ์ (อิสยาห์) ว่า

 

1:23 ดูเถิด หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่า อิมมานูเอล ซึ่งแปลว่า พระเจ้าทรงอยู่กับเรา

 

1:24 ครั้นโยเซฟตื่นขึ้นก็กระทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งเขานั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา

 

1:25 แต่มิได้สมสู่กับเธอจนประสูติบุตรชายหัวปีแล้ว และโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่า “เยซู”

 

 

การถือกำเนิดของอีซา บุตรของมัรยัม ในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นเดียวกัน ในบทอาลิอิมรอน และบทที่เกี่ยวกับเรื่องราวการถือกำเนิดของท่านศาสดาอีซา (อ.) หรือพระเยซู ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถพิจารณาดูได้ในโองการ (อายะฮ์) ที่ 16 ถึง 35 จากอัลกุรอาน บท (ซูเราะฮ์) มัรยัม ซึ่งกล่าวว่า

 

และจงกล่าวถึง (เรื่องของ) มัรยัมที่อยู่ในคัมภีร์ เมื่อนางได้ปลีกตัวออกจากหมู่ญาติของนาง ไปยังมุมหนึ่งทางตะวันออก (ของบัยตุลมักดิส)

 

แล้วนางได้ใช้ม่านกั้นให้ห่างพ้นจากพวกเขา แล้วเราได้ส่งวิญญาณของเรา (ญิบรีล) ไปยังนาง แล้วเขาได้จำแลงตนแก่นางให้เป็นชายอย่างสมบูรณ์

 

นางกล่าวว่า “แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีให้พ้นจากท่านหากท่านเป็นผู้ยำเกรง”

 

เขา (ญิบรีล) กล่าวว่า “แท้จริงฉันเป็นเพียงทูตแห่งพระเจ้าของเธอ เพื่อฉันจะให้ลูกชายผู้บริสุทธิ์แก่เธอ”

 

นางกล่าวว่า “ฉันจะมีลูกได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่มีชายใดมาแตะต้องฉันเลย และฉันก็มิได้เป็นหญิงชั่ว”

 

เขา (ญิบรีล) กล่าวว่า “กระนั้นก็เถิด พระเจ้าของเธอตรัสว่า มันง่ายสำหรับข้า และเพื่อเราจะทำให้เขาเป็นสัญญาณหนึ่งสำหรับมนุษย์และเป็นความเมตตาจากเรา และนั่นเป็นกิจการที่ถูกกำหนดไว้แล้ว

 

แล้วนางได้ตั้งครรภ์ และนางได้ปลีกตัวออกไปพร้อมกับบุตรในครรภ์ ยังสถานที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง

 

ความเจ็บปวดใกล้คลอดทำให้นางหลับไปที่ใต้ต้นอินทผลัม นางได้กล่าวว่า “โอ้! หากฉันได้ตายไปเสียก่อนหน้านี้ และฉันเป็นคนไร้ค่าถูกลืมเสียก็จะดี”

 

ดังนั้น เขา (มะลัก) ได้เรียกนางทางเบื้องล่างต้นอินทผลัมว่า “อย่าได้เศร้าเสียใจ แน่นอน พระเจ้าของเธอทรงจัดลำธารไว้เบื้องล่างเธอแล้ว

 

“และจงเขย่าต้นอินทผลัม ให้มันเอนมาทางตัวเธอ มันจะหล่นลงมาที่ตัวเธอ เป็นอินทผลัมที่สุกน่ากิน”

 

“ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้”

 

(หลังจากที่นางได้ให้กำเนิดบุตร) แล้ว นางได้พาเขามายังหมู่ญาติของนางโดยอุ้มเขามา พวกเขากล่าวว่า “โอ้ มัรยัมเอ๋ย! แท้จริงเธอได้นำเรื่องประหลาดมาแล้ว”

 

“โอ้ น้องหญิงของฮารูน พ่อของเธอมิได้เป็นชายชั่ว และแม่ของเธอก็มิได้เป็นหญิงไม่บริสุทธิ์”

 

นางชี้ไปทางเขา พวกเขากล่าวว่า “เราจะพูดกับผู้ที่อยู่ในเปลที่เป็นเด็กได้อย่างไร?”

 

เขา (อีซา) กล่าวว่า “แท้จริงฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉันและทรงให้ฉันเป็นนบี (ศาสดา”)

 

“และพระองค์ทรงให้ฉันได้รับความจำเริญ ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ ที่ใด และทรงสั่งเสียให้ฉันทำการนมาซและจ่ายซะกาต ตราบที่ฉันมีชีวิตอยู่”

 

“และทรงให้ฉันทำดีต่อมารดาของฉัน และจะไม่ทรงทำให้ฉันเป็นผู้หยิ่งยโส ผู้เลวทรามต่ำช้า”

 

“และความศานติจงมีแด่ฉัน วันที่ฉันถือกำเนิดและวันที่ฉันตาย และวันที่ฉันถูกฟื้นขึ้นให้มีชีวิตใหม่”

 

นั่นคืออีซาบุตรของมัรยัม มันเป็นคำบอกเล่าที่เป็นจริง ซึ่งพวกเขายังมีความสงสัยกันอยู่

 

ไม่เป็นการบังควรสำหรับอัลลอฮ์ ที่พระองค์จะทรงตั้งผู้ใดเป็นพระบุตร มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงกำหนดกิจการใด พระองค์จะตรัสแก่มันว่า “จงเป็น” แล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา

 

ในพระวรสาร (คัมภีร์ไบเบิล) ของยอห์น (14:27 – 28) ได้อ้างคำพูดของพระเยซูหรืออีซา (อ.) โดยกล่าวว่า

 

14:27 เรามอบสันติสุขไว้ให้แก่ท่านแล้ว สันติสุขของเราที่ให้แก่ท่านนั้น เราให้ท่านไม่เหมือนโลกให้ อย่าให้ใจของท่านวิตกและอย่ากลัวเลย

 

14:28 ท่านได้ยินเรากล่าวแก่ท่านว่า “เราจะจากไปและจะกลับมาหาท่านอีก” ถ้าท่านรักเรา ท่านก็จะชื่นชมยินดี (ต่อข่าวนี้…)

 

 

แหล่งข้อมูล :

 

http://www.mehrnews.com/fa/NewsDetail.aspx?NewsID=269501

http://www.neoxteen.com/bible/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8...

http://software77.com/onlinebibles/thai/40_001.htm

http://thaipope.org/webbible/43_014.htm

http://hilight.kapook.com/view/18771

http://www.alquran-thai.com/ShowSurah.asp

 

แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

แสดงความเห็น