โลกหลังความตาย (ตอนที่2)
ดุนยาคือคุกสำหรับผู้ศรัทธา
ทำไมมันไม่ใช่มาตรวัด? นั่นก็เพราะมนุษย์มิได้ถูกส่งลงมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ มนุษย์มิได้ถูกส่งลงมาเพื่อหาความสุขในโลกดุนยานี้ แต่ในมุมมองที่ตรงกันข้ามนั้น จริงๆ แล้วผู้ที่จะประสบความสำเร็จในโลกนี้ เขาจะต้องอยู่ในโลกนี้อย่างยากลำบาก เราส่วนมากเคยได้ยินฮะดีษบทหนึ่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ) กล่าวว่า
الدُّنْيَا سِجْنُ الْمُؤْمِنِ وَجَنَّةُ الْكَافِرِ
“โลกดุนยานี้เป็นคุกของผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) และเป็นสวรรค์ของผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร)”
แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นนรก แต่กลับบอกว่าเป็นคุกสำหรับผู้ศรัทธา อะไรคือนัยยะของฮะดิษดังกล่าว ว่าโลกดุนยาเสมือนคุกสำหรับผู้ศรัทธา? ซึ่งจริงๆแล้วในคุก ก็มีอาหาร มีเครื่องดื่มให้ดื่มกิน แต่ทว่า ในสภาพนั้น มันไม่มีอิสรเสรี และนี่คือหนึ่งในความหมายของคำว่าคุกในโลกนี้ กล่าวคือไม่มีอิสรภาพ จะเลือกปฏิบัติเกินขอบเขตที่ถูกกำหนดไม่ได้ ซึ่งผู้ศรัทธาในโลกนี้ก็เหมือนกัน แต่ทว่าคุกตรงนี้ มันคือกฎเกณฑ์แห่งศาสนา มันคือกฎเกณฑ์แห่งการดำเนินชีวิตที่มีขอบเขต (เช่นหากเราเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ว่าเรามีอิสระที่จะสวมใส่เสื้อแบบไหน จะไม่สวมฮิญาบก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ แสดงว่าเราไม่ได้อยู่ในคุก เพราะเรามีอิสระ)
คำว่า “คุก” ในศาสนาและสำหรับผู้ศรัทธานั้น มันครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในวิถีแห่งการดำเนินชีวิต ทุกเรื่องของมนุษย์ต้องอยู่ในคุก แต่มันเป็นคุกของอัลลอฮฺ(ซบ) คุกของนบี(ซล) คุกที่ชะรีอะฮฺ ได้วางเอาไว้ อยู่ในโลกนี้เราไม่สามารถที่จะพูดอะไรก็ได้ ดังนั้นแสดงว่าเราไม่เป็นอิสระ ส่วนคำพูดที่เป็นคำนินทา คำพูดที่เป็นการให้ร้ายนั้น ศาสนาก็ไม่อนุญาต เพราะมันมีความผิด มันมีบทลงโทษ หรือแม้แต่ในเรื่องอาหารการกินก็ตาม หากเราจะกินอะไรก็ได้ตามใจชอบ แสดงว่าเราไม่ได้อยู่ในคุกในมุมมองศาสนา เรามีอิสระ (นาอู ซูบิลลาฮฺ เรากินเหล้าเมาสุรา) ซึ่งสิ่งนี้ อัลลอฮฺ(ซบ) กล่าวว่า อย่านะ เป็นเสมือนคุกที่จำกัดอิสรภาพ ซึ่งหมายความว่า นัฟซูของมนุษย์ไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ ดังนั้นนัฟซูของเขาบางส่วนจะต้องถูกขัง นัฟซูที่จะทำให้เขามุ่งสู่ความชั่วต่างๆนาๆจะต้องถูกขังเอาไว้ และนัฟซู ที่จะกระทำในสิ่งที่ฮะลาล ถูกอนุญาตและอนุมัติ หากเราตามนัฟซู เมื่อจะกินอะไรก็กิน เมื่อจะทำอะไรก็ทำ นั้นเสมือนสวรรค์ของเขา ซึ่งในฮะดิษกล่าวว่า มันเป็นสวรรค์สำหรับผู้ปฏิเสธ ปฏิเสธอะไรปฏิเสธสิ่งใด? คือการปฏิเสธ ฮุกุม ปฏิเสธชะรีอะฮฺ ของอัลลอฮฺ(ซบ) ปฏิเสธคำสั่ง ปฏิเสธหลักคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด(ซล) ดังนั้น เราถูกสร้างขึ้นมาบนโลกนี้อย่างมีเป้าหมาย มีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ มีผู้บังคับกฎ และมีบทลงโทษ
ดุนยาคือโลกแห่งการจดบันทึก
ในวันนี้ เราจะทำอะไร ไม่ว่าเราไม่ทำนมาซ อัลลอฮฺ(ซบ)ก็ไม่ทรงลงโทษทันทีทันใดด้วยการส่งหินไฟลงมา ไม่ส่ง มะลาอิกัต ลงมาบีบคอเรา มาทุบตีเรา ไม่เอาน้ำทะเลมาจมเรา เหมือนกับอุมมัติของนบีท่านอื่นๆในอดีต เพราะสิ่งนี้นั้นท่านนบีมุฮัมมัด(ซล) ได้ทรงขอจากพระองค์ให้ทรงคิดบัญชีพวกเขาในโลกหน้า และเราอย่าได้คิดว่าการดำเนินชีวิตในโลกนี้มันไม่มีการคิดบัญชี มันมีบัญชี มันมีการจดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กระทำ มีบัญชีทุกการงานที่บันทึกในสิ่งที่มนุษย์กระทำ (กิรอมัน กาตีบียน) มีผู้จดบันทึกในทุกการเคลื่อนไหว ทุกอิริยะบทของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และทุกการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ซึ่งในภาษาอาหรับได้ใช้คำว่ามีฮิซาบ มีกิตาบ เมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้วมิได้ถูกปล่อยให้มีความอิสรเสรี ในการจะดำเนินชีวิตแบบไหนก็ได้ มันไม่ใช่แบบนั้นพี่น้อง !
ดังนั้นในกุรอาน จึงสอนทุกสิ่งทุกอย่างให้กับมนุษย์ ว่า การใกล้ชิดกับความรู้นั้นคือวิธีการอันหนึ่ง ที่จะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากการถูกลงโทษอันเจ็บปวด ดังนั้นมนุษย์ที่เกิดมาทุกคนต้องเผชิญอยู่เสมอ จะต้องพบกับกลไกอันหนึ่งอยู่เสมอ ซึ่งเป็นกลไกที่ศาสนาได้วางไว้ เมื่อสร้างมนุษย์ขึ้นมา อะไรที่จะเป็นปัจจัยที่คอยย้ำเตือนมนุษย์อยู่ตลอดเวลา อย่าให้เลยเทิด อย่าให้ลืมตัวเอง อย่าให้ลืมหน้าที่ อย่าให้ลืมเป้าหมายที่อัลลอฮ์(ซบ) ทรงสร้างเขาขึ้นมา อัลลอฮฺ ก็ได้สร้างความตาย ควบคู่กับการสร้างมนุษย์ขึ้นมา!
มนุษย์คือสรรพสิ่งที่จีรัง
ทำไม อัลลอฮฺ(ซบ)ไม่สร้างมนุษย์ให้มีชีวิตอย่างยั่งยืนจีรัง? ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์คือสิ่งถูกสร้างมาที่จีรังและนิรันดร์ เราถูกบังเกิดขึ้นมาจากไม่มี แล้วกลายเป็นมี(เมาญูด) แล้วจะไม่มีวันไม่มี มนุษย์ตอนที่ไม่มี คือไม่มี แต่มนุษย์เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่มีวันที่จะไม่มี ไม่มีวันที่จะดับสูญ ต้องอยู่ตลอดไป ซึ่งหมายความว่า จริงๆแล้วเราไม่มีวันตาย แต่ตายในเชิงของความหมายว่า ดับสูญหรือหายไป และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องมีและเกิดตลอดไป นี้คือสัจธรรมอันหนึ่ง แต่การมีอยู่ของมนุษย์จะต้องเปลี่ยนไปตาม วัฎจักรคือ เปลี่ยนภพ เปลี่ยนอาลัม เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ
ดังนั้นในวันนี้เรามาทำบุญ 40 วัน กรณีที่ญาติพี่น้องของเรา (มัรฮูม ฮารูน) ได้จากโลกนี้ไป ซึ่งเราทุกคนรู้ว่า เขาได้ไปอยู่ในอาลัมบัรซัค (โลกหลังความตาย) และคำว่าไม่ตายนั้น มันไม่ได้ตายจริงๆพี่น้อง! แต่มันถูกตัดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาเท่านั้น และไม่ได้เป็นการตัดความสัมพันธ์อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำหรับบุคคลที่พัฒนาตนเองไปถึงระดับจุดๆหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า วาลียุลลอฮฺ ซึ่งมีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ นั้น เขาสามารถสัมผัสกับโลกแห่งจิตวิญญาณ ก็ได้สัมผัสเห็นในสัจธรรมของสิ่งนี้ และในหลักคำสอนของอิสลามก็พยายามที่จะวางกลไกเพื่อสิ่งเหล่านี้
ดังนั้นหากเราสังเกตและทำการไตร่ตรองแล้วจะพบว่าในคำสั่งสอนของอิสลามนั้น มันได้ซ่อนสิ่งต่างๆเหล่านี้เอาไว้ เช่น เมื่อเขาตายแล้ว ทำไมต้องอาบนำฆุซูล? ทำไมต้องหุ้มห่อด้วยผ้าขาว? ทำไมเลือกผ้าสีขาวที่สะอาดบริสุทธิ์? แม้แต่การอาบนำมัยยิต ก็ได้มีคำสั่งอย่าได้กระทำอย่างรุนแรงต่อผู้ตาย หลังจากนั้นก็ต้องทำพิธีนมาซ ซึ่งทุกคนต้องมาร่วมนมาซญินาซะห์ สำหรับคนที่สามารถนมาซได้ ซึ่งการนมาซดังกล่าวเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ(ความหมายฟัรฎู กิฟายะห์ คือ หากในสังคมนั้น ไม่มีผู้ทำ ความผิดบาปจะตกยังมาถึงพี่น้องในสังคมนั้นทั้งหมด และหากว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดได้ปฏิบัติ คนอื่นๆก็ถือว่าหมดภาระหน้าที่) ซึ่งสิ่งนี้แสดงว่า คนตายไม่ได้ตาย และไม่ใช่เป็นท่อนไม้ ไม่ใช่เป็นหนอนที่อยู่ในดินที่เน่าเปื่อย ส่วนสิ่งที่ถูกกัดกินนั้นมันคือเสื้อผ้าของมัน ซึ่งมันคือเนื้อหนังมังสา มันคือเสื้อที่อยู่ในโลกนี้ และมันคือหุ่นของเราที่อยู่ในโลกนี้ ซึ่งเราต้องใช้หุ่นตัวนี้เมื่ออยู่ในโลกนี้ แต่เมื่อได้ย้ายไปอีกโลกหนึ่งเราก็ต้องใช้เสื้ออีกตัวหนึ่ง แสดงว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดขาดจากสิ่งเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง แต่เขาจะต้องรู้ว่า เขาจะต้องค่อยๆจากโลกนี้ไป ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ เมื่ออัลลอฮฺ (ซบ) สร้างความเป็น(การมีอยู่) ขึ้นมา พระองค์ก็จะสร้างความตายขึ้นมาควบคู่ทันที
الَّذِي خَلَقَ الْمَوْتَ وَالْحَيَاةَ لِيَبْلُوَكُمْ أَيُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلا
“พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ” (ซูเราะห์ อัลมุลก์ โองการที่ 2)
ถามว่า เมื่ออัลลอฮฺสร้างความเป็นและสร้างชีวิตขึ้นมา แล้วทำไมต้องสร้างความตายด้วย?
(หมายเหตุ ... คำว่า الْمَوْتَ ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ถึง 35 ครั้ง ส่วนคำว่า الْحَيَاةَ ถูกกล่าวถึง 71 ครั้ง)
ซึ่งอันนี้มันเป็นโจทย์สำหรับพวกเราทุกคน อัลกุรอานก็ได้ตอบในเรื่องนี้มาแล้วเป็นพันๆปี แต่ทว่าชีวิตของพวกเรานั้นห่างไกลจากอัลกุรอาน จึงทำให้เราไม่รู้ถึงคำตอบดังกล่าวที่สมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์คนหนึ่งเมื่อพูดถึงความตายแล้ว เขาจะมีความโกรธ จะมีความกลัวขึ้นมาทันที ซึ่งระดับขั้นของความกลัวอันนี้มันจะขึ้นอยู่กับสถานะภาพของแต่ละคน ในอัลกุรอานได้กล่าวว่า เมื่อสร้างให้จุติขึ้นมาบนโลกนี้แล้ว เพื่อจะทำการทดสอบว่าในหมู่สู่เจ้านั้นใครมีอะมั้ล(การงาน)ที่ดีที่สุด นั่นหมายถึงเพื่อทดสอบมนุษย์! ดังนั้นหากมนุษย์ไม่มีความตาย ชีวิตของมนุษย์ก็จะเลยเถิด เพราะไม่ต้องเจอกับอะไร ไม่ต้องเจอกับสิ่งใดๆ ซึ่งแน่นอน โลกนี้จะเป็นสถานที่ ที่ไม่น่าอยู่สำหรับมนุษย์อย่างแน่นอน หากอัลลอฮฺ(ซบ)ไม่ทรงสร้างความตายขึ้นมา มนุษย์ก็จะไม่มีใครกลัวใครเป็นอันขาด เพราะไม่มีความตาย ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโลกยังน่าอยู่อีกไหม? ดังนั้นเป้าหมายในการสร้างความตายขึ้นมาก็เพื่อจะดูว่า ใครคือคนดีที่จะกลับคืนสู่พระองค์
ทันทีที่สร้างให้เกิดขึ้นมา อัลลอฮฺ(ซบ)ก็จะทรงสร้างความตายขึ้นมาทันที โดยสามารถนับถอยหลังสู่ความตายได้เลย และทำไมเราต้องกล่าวตามด้วยประโยคว่า
إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ
“แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์”
(ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ โองการที่ 156 )
กล่าว (อินนาลิลลาฮฺ วาอินนา อิลัยฮิรอญีอูน) อยู่เสมอเมื่อได้ยินว่ามีคนตาย ? ซึ่งต้องการให้รู้ว่า เราไม่ได้เป็นเจ้าของ ของตนเอง และเราต้องคืนกลับสู่พระองค์ ซึ่งพระองค์ได้เลือกใช้คำว่า กลับคืนสู่พระองค์ ซึ่งมันหมายความว่า เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้วต้องมุ่งสู่พระองค์
ความตายที่เราเรียกนั้น ความตายที่เราถือว่าต้องสละทุกอย่างนั้น มันคือความตาย ซึ่งจริงๆแล้วความตายไม่ใช่เป็นการดับสูญ และมนุษย์ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ดับ มีแล้วกลายเป็นสิ่งไม่มี ซึ่งมันหาใช่สิ่งนี้ไม่ แม้แต่ในอัลกุรอานยังได้ใช้ภาษาที่สละสลวยเป็นอย่างมาก ใช้อย่างมีนัยยะที่สมบูรณ์ของมัน โดยได้ใช้ภาษาที่สมบูรณ์ด้วยการกล่าวว่า
كُلُّ نَفْسٍ ذَائِقَةُ الْمَوْتِ
“ทุกชีวิตจะต้องลิ้มรสแห่งความตาย” (ซูเราะห์ อาลิอิมรอน โองการที่ 185)
(หมายเหตุ โองการในลักษณะเช่นนี้ถูกกล่าวในอัลกุรอานถึงสามครั้งด้วยกัน คือใน ซูเราะห์ อาลิอิมรอน โองการ ที่ 185 , ซูเราะห์ อันนิซาอฺ โองการที่ 35 และซูเราะห์ อัล อังกะบูต โองการที่ 57)
ตามหลักไวยกรณ์ภาษาอาหรับแล้ว คำว่า ซาอิก (ลิ้มรส) เป็นฟาอีล “ประธาน” คือ เราเป็นประธาน เราเป็นผู้กิน เราเป็นผู้ชิม เราเป็นผู้ลิ้มรส ไม่ใช่ความตายกินเรา แต่เรากินความตาย ซึ่งอัลกุรอานได้เลือกใช้คำที่สละสลวยโดยไม่ได้เลือกใช้คำว่า “กิน” เพราะกินนั้นมันดูมากไป มันน่ากลัว มันเจ็บปวด แต่ได้เลือกใช้คำว่า “ชิม”
จริงๆแล้วความตายในทัศนะของอัลกุรอาน นั้น ได้กล่าวว่ามนุษย์ได้ลิ้มรสแห่งความตาย ซึ่งเมื่อได้ชิมแล้วก็ต้องมีการย้ายสถานที่ (ซึ่งเปรียบได้กับการที่คนไข้เข้าห้องผ่าตัด ซึ่งหมอได้ฉีดยาสลบ เมื่อสลบแล้ว ก็แล้วแต่หมอจะปฏิบัติต่อเราซึ่งเราเองก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใดอีกแล้ว ไม่ว่าจะผ่าสมอง จะเอากะโหลกออกมา หรือฯลฯ ) ดังนั้น เมื่อมนุษย์จะเปลี่ยนที่อยู่ ซึ่งใน ริวายะฮฺ ได้กล่าวว่า การย้ายที่อยู่หรือย้ายมิตินั้นมันเป็นเรื่องที่หนักและเจ็บปวดมาก โดยจะต้องสลบก่อนจึงจะย้ายมิติได้ ซึ่งเหมือนกับเป็นการย่อยสลาย เหมือนกับสิ่งที่มนุษย์กินเข้าไปแล้วนั้นก็ย่อมย่อยสลายไป แล้วต่อไปมันก็ไม่มีแล้ว และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จะอยู่ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งในหลักคำสอนของอิสลามก็จะมีการอธิบายในลักษณะเช่นนี้ โดยความตายนั้นไม่เป็นการตายแบบสิ่งอื่นๆ เช่นหมูหมา แต่การตายของมนุษย์คือการเปลี่ยนที่อยู่ และการย้ายสถานที่ อันเป็นการตัดสัมพันธ์ที่ไม่สามารถจะสื่อกันได้เท่านั้นเอง
ติดตามอ่านต่อ โลกหลังความตาย (ตอนที่3)
ที่มา - www.syedsulaiman.com
แสดงความเห็น