ต้นกำเนิดของสำนักนิติศาสตร์ในอิสลาม ตอนที่หนึ่ง

ต้นกำเนิดของสำนักนิติศาสตร์ในอิสลาม ตอนที่หนึ่ง

ในยุคแรกเริ่มของอิสลามนั้น อิสลามได้ขยายตัวไปสู่ดินแดนต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ได้กล่าวขานถึงแม่ทัพที่เชี่ยวชาญทั้งการรบและการแสดงคุณธรรมอิสลามให้เห็นในดินแดนที่ถูกพิชิตมากมาย อาทิเช่น อุกบะฮฺ อิบนฺ นาฟิอฺ แม่ทัพผู้พิชิตแอฟริกาเหนือ , กุตัยบะฮฺ อิบนฺ มุสลิม อัล-บาฮิลียฺ เป็นแม่ทัพอิสลามในการพิชิตดินแดนทางภาคตะวันออก และตุรกีสถาน, มูซา อิบนุ นุซัยรฺ และฏอริก อิบนฺ ซิยาด เป็นแม่ทัพอิสลามในการพิชิตสเปน, มุฮัมมัด อิบนฺ กอซิม พิชิตแคว้นสินธุ์ของอินเดีย เป็นต้น

 

ภายในอาณาจักรอิสลามก็ได้มีผู้ทรงความรู้และคุณธรรมปรากฏขึ้นจำนวนมาก ทั้งหมดได้มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงและฝึกอบรมผู้คน เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้คน บุคคลที่สำคัญเหล่านี้ อาทิเช่นได้แก่ หะสัน อัล-บัศรียฺ

, อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มุบาร็อก, สะอีด อัล-มุสัยยิบ, อิบนฺ ซีรีน เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันได้มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญยิ่งก็คือ การกำเนิดขบวนการการจัดวางคำสอนอิสลามให้คนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายดายและมีระบอบ รูปแบบนี้ถูกนำเสนอผ่านสิ่งที่รู้จักกันในศัพท์วิชาการว่า “ฟิกฮฺ” หรือนิติศาสตร์อิสลาม

 

การก่อเกิดสำนักฟิกฮฺ หรือสำนักนิติศาสตร์อิสลามมีอิทธิพลอย่างล้ำลึกในชีวิตของมวลชนมุสลิมอย่างยาวนานกว่าพันปี

 

ความจำเป็นในการจัดระบอบนิติศาสตร์อิสลาม

การกำเนิดฟิกฮฺนั้น ค่อย ๆ ตามมาพร้อม ๆ กับการที่อิสลามได้แพร่ขยายเข้าไปในดินแดนต่าง ๆ ซึ่งได้มีผู้คนจำนวนมากได้เข้ามาสู่อิสลาม และอิสลามวิถีชีวิตใหม่ที่พวกเขาสัมผัสนั้นแตกต่างเป็นอย่างมากกับศาสนาก่อน ๆ ที่พวกเขาเคยเป็นอยู่ เพราะว่าอิสลามได้ครอบคลุมชีวิตทุกด้าน และเสนอการแก้ปัญหาทุกมิติของมนุษย์ ดังนั้น มุสลิมรุ่นใหม่ ๆ ที่ยังไม่อาจเข้าสู่รายละเอียดของคำสอนอิสลามทั้งหมดได้ จึงต้องการโครงสร้างของอิสลามที่นำเสนอแบบแผนของชีวิตที่ง่ายต่อการปฏิบัติตาม

 

ความจำเป็นอันนี้ได้ทำให้กลุ่มนักต่อสู้เพื่ออิสลามในยุคแรกเริ่มได้เข้าไปสร้างงานยิ่งใหญ่ที่สุดอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือการจัดระบอบนิติศาสตร์อิสลามหรือในภาษาอาหรับเรียกว่ ฟิกฮฺ ซึ่งงานนี้มีความรุ่งเรืองขึ้นพร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์ฮะดีษ เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยการค้ำจุนจากฮะดีษ เนื่องจากนิติศาสตร์อิสลามก็คือการจัดระบอบการปฏิบัติที่นำมาจากอัล-กุรอานและอัล-ฮะดีษนั่นเอง

 

สิ่งที่ทำให้นิติศาสตร์อิสลามมีลักษณะเด่นก็คือ นิติศาสตร์อิสลามนอกจากมีลักษณะครอบคลุมชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงตายแล้ว มันยังมีลักษณะยืดหยุ่นในตัวมันเอง ลักษณะนี้เกิดมาจากตัวบทของอัล-กุรอานและอัล-ฮะดี๋ที่มีเนื้อหา 2 แบบ นั่นคือ แบบแรกคือเนื้อหาที่ชัดเจนเด็ดขาด ซึ่งส่วนนี้จะเป็นรากฐาน เป็นหลักใหญ่ที่หลักย่อยทั้งหมดต้องอ้างอิงกลับไป แบบที่สองคือเนื้อหาที่มีความหมายหลายนัยยะ ส่วนนี้เป็นเจตนารมณ์ที่จะก่อให้เกิดความยืดหยุ่น และในส่วนนี้เองที่ก่อให้เกิดการตีความหรือการวินิจฉัย

 

ด้วยเหตุนี้เองในรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างในทางนิติศาสตร์จึงมีความหลากหลายทัศนะ ทำให้อิสลามมีลักษณะเรียบง่าย ยืดหยุ่นและอ่อนโยน ปราศจากความตายตัว และความเคร่งเครียด เท่ากับว่าลักษณะนี้ของนิติศาสตร์อิสลามนั้นช่วยทำให้สามารถดำเนินผ่านยุคสมัยที่มีความแตกต่างกัน หรือสถานที่ที่มีบรรยากาศไม่เหมือนกันไปได้ตลอด

ดังนั้นการเกิดขึ้นของสำนักนิติศาสตร์หลายสำนักที่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องของธรรมชาติของอิสลามที่ยืดหยุ่น และสะท้อนความสามารถสนองตอบต่อสถานการณ์ที่มีปัจจัยแตกต่างกันออกไป

อ้างอิงจาก http://www.santitham.org

 

แสดงความเห็น