ชาวอิหร่านพอใจข้อตกลง แก้ไขปัญหานิวเคลียร์
ชาวอิหร่านพอใจข้อตกลง แก้ไขปัญหานิวเคลียร์
รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ระบุว่าจะเริ่มปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำร่วมกับชาติมหาอำนาจในสัปดาห์ และพร้อมเจรจาในขั้นต่อไป เพื่อนำไปสู่บทสรุปของการแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ ในขณะที่ชาวอิหร่านรอต้อนรับทีมเจรจา ซึ่งได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรุบุรุษ
สำนักข่าวทีวีชีอะฮ์ออนไลน์ ฝ่ายข่าวต่างประเทศ รายงานว่า มีประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันที่สนามบิน "เมห์ราบัด" ในกรุงเตหราน เพื่อรอต้อนรับทีมเจรจาซึ่งนำโดยนายโมฮัมหมัด จาหวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เดินทางกลับจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยประชาชนกลุ่มนี้ได้ชูภาพของนายซาริฟ รวมถึงภาพของนายฮัซซัน โรฮานนี่ ประธานาธิบดีอิหร่านที่มีแนวคิดเจรจากับชาติมหาอำนาจ จนนำไปสู่ข้อตกลงเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้มองว่าข้อตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่สันติภาพ และการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน
ด้านนายทริต้า ปาร์ซี ประธานสภาอิหร่าน-อเมริกันแห่งชาติในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ มองว่าการใช้วิถีทางการทูตทำให้สหรัฐฯและอิหร่าน หลุดพ้นจากการทำสงคราม และเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตที่สดใสและยั่งยืน นายวิลเลี่ยม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ แถลงในกรุงลอนดอนว่าก้าวต่อไปจากนี้ จะต้องทำให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกัน ขณะที่นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าชาติมหาอำนาจทั้ง 6 ประเทศได้แก่อังกฤษสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และจีน จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ข้อตกลงกับอิหร่านบรรลุผล
ด้านนายซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน แถลงผ่านโทรทัศน์เมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลอิหร่านจะเริ่มปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับชาติมหาอำนาจภายในสัปดาห์หน้า และรัฐบาลก็พร้อมจะเริ่มต้นการเจรจาเพื่อนำไปสู่บทสรุปของการแก้ปัญหา โครงการนิวเคลียร์ ส่วนนายโรฮานนี่แถลงว่าการบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าชาติมหาอำนาจยอมรับสิทธิด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ส่วนข้อตกลงที่อิหร่านทำร่วมกับชาติมหาอำนาจ กำหนดกรอบไว้ว่า ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ อิหร่านจะต้องกำจัดยูเรเนี่ยมที่ผ่านการเสริมสมรรถภาพความบริสุทธิ์ร้อยละ 20 ซึ่งใกล้เคียงกับยูเรเนี่ยมเพื่อการผลิตอาวุธทั้งหมดที่มีอยู่ และ จะไม่ผลิตยูเรเนี่ยมเสริมสมรรถภาพระดับต่ำเพิ่ม รวมทั้งจะไม่ติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยงแยกสสาร หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในเตาปฏิกรณ์อีก โดยจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ สังเกตุการณ์ของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากลหรือ IAEA เข้าไปในอิหร่าน แลกกับการผ่อนปรนการคว่ำบาตร มูลค่า 7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท และจะไม่มีการบังคับมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม หากอิหร่านปฏิบัติตามคำมั่น
แสดงความเห็น