ปรัชญาของดุอา

ปรัชญาของดุอาอฺและคำวิงวอน

 

บรรดาที่ไม่รู้จักแก่นแท้และวิญญาณของดุอาอฺ ตลอดจนผลของการอบรมสั่งสอนและจิตวิทยา มักจะมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับดุอาอฺเสมอ บางครั้งพวกเขากล่าวว่า ดุอาอฺคือปัจจัยที่ทำให้ล้าหลังและทำให้มนุษย์เกียจคร้าน เนื่องจากประชาชนแทนที่จะขวนขวาย และพยายามในหน้าที่การงานของตน หรือใช้เครื่องมือที่มีความก้าวหน้า เพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่กลับยกมือขอดุอาอฺ

 

บางครั้งกล่าวว่า การดุอาอฺเป็นการก้าวก่ายภารกิจของพระเจ้า เนื่องจากพระองค์ทรงทราบดีว่า สมควรจะทำอย่างไร พระองค์ทรงรักปวงบ่าว ฉะนั้น พระองค์ทรงทราบดีว่าสิ่งใดสมควร และสิ่งใดไม่สมควรสำหรับมนุษย์ ดังนั้น เป็นเพราะเหตุอันใด ที่เราต้องดุอาอฺทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อทูนขอในสิ่งที่เราปรารถนา

 

บางครั้งพูดว่า การดุอาอฺไม่ขัดแย้งกับตำแหน่งของการนอบน้อม และความพึงพอใจต่อหน้าความประสงค์ของพระองค์ดอกหรือ

 

พวกเขากล่าวท้วงติงต่าง ๆ นานา ทั้งที่พวกเขาลืมเลือนผลทางด้านจิตวิทยา สังคม และการอบรมสั่งสอนด้านจิตวิญญาณ เนื่องจากเมื่อมนุษย์ต้องการสร้างเป้าหมายให้แข็งแกร่ง และขจัดความต้องการของตนจำเป็นต้องมีที่อิงอาศัย ดุอาอฺเปรียบเสมือนประทีปที่สว่างไสวในตัวมนุษย์

 

นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งกล่าวว่า การปราศจากคำวิงวอนของประชาชาติหนึ่ง เทียบเท่าความล่มจมของประชาชาตินั้น สังคมมีความต้องการในคำวิงวอนแต่สิ่งนั้นตนได้ทำลายจนหมดสิ้น ซึ่งปกติแล้วสังคมเช่นนี้จะไม่มีวันบริสุทธิ์จากความเสื่อมทรามและความหายนะเด็ดขาด

 

บรรดาที่เชื่อว่าดุอาอฺเป็นสิ่งทำให้มึนงง นั่นเป็นเพราะว่าไม่เข้าใจความหมายของดุอาอฺ เนื่องจากดุอาอฺไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ถอดถอนตัวเองออกจากสื่อ หรือสาเหตุที่เป็นธรรมชาติ และแทนที่สิ่งเหล่านั้นด้วดุอาอฺ แต่จุดประสงค์หมายถึง หลังจากพยายามถึงที่สุด และใช้สื่อทุกอย่างที่มีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือเราเข้าไปไม่ถึงเป้าหมาย หรือพบกับทางตัน ดังนั้น วิธีสุดท้ายเราจึงดุอาอฺกับพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงช่วยเหลือในความสำเร็จ ซึ่งการพึ่งพิงพระเจ้าเป็นสาเหตุทำให้จิตวิญญาณ และความหวังของเรามีชีวิต และมีการขับเคลื่อน และจากการช่วยเหลือที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ เราจึงดุอาอฺกับพระองค์ เพื่อคาดหวังกับพระองค์ ดังนั้น ดุอาอฺคือ เครื่องมือเฉพาะเจาะจงเมื่อมนุษย์พบกับทางตัน มิใช่ปัจจัยที่มาแทนที่ปัจจัยทางธรรมชาติ

 

อีกนัยหนึ่ง ดุอาอฺเป็นสื่อสร้างสรรค์ทำให้มนุษย์ได้สัมผัสกับความเมตตา และความดีงามของพระองค์มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่า การขวนขวายพยายามเพื่อความสมบูรณ์ หรือการค้นหาความดีงามมากขึ้น ก็คือการยอมจำนนต่อกฎเกณฑ์แห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์ มิใช่สิ่งที่ขัดแย้ง

 

ดุอาอฺเป็นการแสดงความเคารพภักดี และการนอบน้อมของปวงบ่าว ซึ่งดุอาอฺนั่นเองทำให้มนุษย์มุ่งมั่นต่ออาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์มากยิ่งขึ้น และเหมือนกับการแสดงความเคารพภักดีอื่น ๆ ที่ส่งผลด้านการอบรมสั่งสอน ดุอาอฺก็ให้ผลดังกล่าวเช่นกัน

 

ดุอาอฺมิได้เป็นการก้าวก่ายกิจการงานของพระเจ้าแต่อย่างใด อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ณ พระผู้อภิบาลมีตำแหน่งมากมาย ถ้าปราศจากดุอาอฺจะไม่มีวันไปถึงยังตำแหน่งเหล่านั้นได้

แสดงความเห็น