ความเชื่อเกี่ยวกับการลงมาของศาสดาอีซา และการช่วยเหลืออิมามมะฮ์ดี

การลงมาจากฟากฟ้าของศาสดาอีซาและการช่วยเหลืออิมามมะฮ์ดี


ความเชื่อในการลงมาของศาสดาอีซา เวลาที่อิมามมะฮ์ดีปรากฏกาย

มุสลิมทั้งหมดมีทัศนะตรงกันว่า อีซา (อ.) หรือพระเยซู ศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า จะลงจากฟากฟ้ามาสู่โลกนี้ในยุคสุดท้ายของโลก (อาคิรุซซะมาน) พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

وَإِن مِّنْ أَهْلِ الْكِتَابِ إِلَّا لَيُؤْمِنَنَّ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ وَيَوْمَ الْقِيَامَةِ يَكُونُ عَلَيْهِمْ شَهِيدًا

“และไม่มีชาวคัมภีร์คนใด นอกจากแน่นอนเขาจะต้องศรัทธาต่อเขา (อีซา) ก่อนที่เขาจะตาย และวันกิยามะฮ์ เขา (อีซา) จะเป็นพยานยืนยันพวกเขาเหล่านั้น” (ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/อายะฮ์ที่159)

และพระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า

وَإِنَّهُ لَعِلْمٌ لِّلسَّاعَةِ فَلَا تَمْتَرُنَّ بِهَا وَاتَّبِعُونِ هَٰذَا صِرَاطٌ مُّسْتَقِيمٌ

“และแท้จริงแล้ว แน่นอนยิ่งว่า เขา (อีซา) คือเครื่องหมายแห่งกาลอวสานของโลก (ทั้งนี้เนื่องจากการลงมาของเขา คือเครื่องบ่งชี้ถึงช่วงเวลาใกล้กาลอวสานของโลก) ดังนั้นพวกท่านอย่าได้สงสัยในเรื่องนี้เลย แต่จงปฏิบัติตามฉัน สิ่งนี้คือแนวทางอันเที่ยงตรง” (ซูเราะฮ์อัซซุครุฟ/อายะฮ์ที่ 61)

กล่าวคือ มะซีห์ ศาสดาอีซา (อ.) หรือพระเยซู คือหนึ่งในสัญญาณต่างๆ ของกาลอวสานของโลก และชาวคัมภีร์ทั้งหมด คือชาวคริสต์และชาวยิวจะต้องศรัทธาต่อท่าน และการศรัทธาของพวกเขาจะเกิดขึ้นเมื่อพระผู้เป็นเจ้าจะทรงส่งท่านกลับลงมาสู่โลก พวกเขาจะได้เห็นมะซีห์ (พระเยซู) โองการต่างๆ และสัญญาณต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า “ศาสดาอีซา (อ.) จะลงจากฟากฟ้ามาสู่โลกนี้ ก่อนวันกิยามะฮ์ (กาลอวสานของโลก) และก่อนการเสียชีวิตของท่านนั้น ชาวยิวและชาวคริสต์จะศรัทธาต่อท่าน ท่านจะยืนนมาซตามหลังมะฮ์ดี (อ.)” (บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 14, หน้าที่ 530)

เหตุผลและวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของการที่ท่านมะซีห์ อีซา (อ.) ถูกยกขึ้นสู่ฟากฟ้านั่นก็คือ พระผู้เป็นเจ้าต้องการพิทักษ์รักษาท่านไว้สำหรับช่วงเวลาอันเต็มไปด้วยวิกฤติของประวัติศาสตร์ และเพื่อภารกิจที่สำคัญยิ่ง บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามท่านจะเป็นกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดในยุคสุดท้ายของโลก (อาคิรุซซะมาน) และทำนองเดียวกันนี้ จะเป็นอุปสรรคกีดขวางที่ใหญ่ที่สุดต่อการที่รัศมีแห่งทางนำจะไปถึงยังประชาชาติทั้งหลาย และต่อการสถาปนารัฐบาลแห่งความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าขึ้นในโลก ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องปกติที่ท่านมะซีห์ อีซา (อ.) จะลงมาในดินแดนต่างๆ ของพวกเขาและโลกของคริสเตียน ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ แห่งความโง่เขลาและอนารยะกำลังปลกคลุมไปทั่วนั้น พวกเขาจะได้รับรู้ว่า การลงมาของท่านนั้นคือสื่อในการช่วยเหลือต่อการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และชาวมุสลิม จึงเป็นเรื่องปกติที่ว่า ท่านมะซีห์ อีซา (อ.) จะเดินทางไปตามประเทศต่างๆ ของโลกคริสเตียน พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้ปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) ต่างๆ ปรากฏขึ้นด้วยมือของท่าน และประชาชนชาวคริสต์จำนวนมากมายจะได้รับทางนำ (ฮิดายะฮ์) โดยการชี้นำของท่าน

ผลประการแรกของการลงมาของท่านศาสดาอีซา (อ.) คือการลดสภาวะความเป็นศัตรูของชาวตะวันตกต่ออิสลามและต่อมุสลิม การสถาปนาสนธิสัญญาสันติภาพและความสมานฉันท์ระหว่างรัฐบาลต่างๆ ของโลกตะวันตกกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

เป็นไปได้ว่า การนมาซของท่านศาสดาอีซา (อ.) ตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เป็นเวลาหลายปีหลังจากการลงมาจากฟากฟ้า กล่าวคือในช่วงเวลาที่บรรดารัฐบาลตะวันตกได้ละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพ และระดมกองทัพต่างๆ ของตนเพื่อทำสงครามกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้น ในช่วงเวลานั้นเองที่ท่านมะซีห์ อีซา (อ.) จะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของท่านในการสนับสนุนและอยู่ข้างท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และจะปฏิบัติตามท่านอย่างเปิดเผย

 

แต่ประเด็นที่มีเหตุผลยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การทำลายไม้กางเขนและการฆ่าสุกร ตามที่ถูกรายงานไว้ในแหล่งอ้างอิงต่างๆ ของชาวซุนนีนั้น จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ชาวตะวันตกปราชัยในการทำสงครามกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แล้ว และหลังจากนั้นเองที่ท่านอิมามะฮ์ดี (อ.) และท่านมะซีห์ อีซา (อ.) จะเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลาง (เมืองหลวง) ต่างๆ ของกลุ่มประเทศของชาวคริสต์ และมวลมหาประชาชนจะต้อนรับท่านด้วยการกล่าวตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) และการส่งเสียงแสดงถึงความปีติยินดี

 

 

 

 

ในหนังสือ “อัลบะยาน ฟี อัคบาริ ซอฮิบิซซะมาน” ของมุกอติล บินสุไลมาน และนักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน (มุฟัซซิรีน) ที่เดินตามทัศนะของเขา ในการอรรถาธิบายโองการที่ว่า

 

وَإِنَّهُ لَعِلْمٌ لِّلسَّاعَةِ

“และแท้จริงแล้ว แน่นอนยิ่งว่า เขาคือเครื่องหมายแห่งกาลอวสานของโลก” (ซูเราะฮ์อัซซุครุฟ/อายะฮ์ที่ 61)

พวกเขากล่าวว่า : จุดประสงค์ของโองการนี้ คือ ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ซึ่งจะมาในยุคสุดท้ายของโลก (อาคิรุซซะมาน) และท่านจะเป็นสื่อทำให้รับรู้ถึงการใกล้จะมาถึงของวันกิยามะฮ์ (กาลอวสานของโลก) (กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 280 ; อัซซอวาอิก, หน้าที่ 162 ; ฮุลยะตุลอับร็อร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 724 ; ยะนาบีอุ้ลมะวัดดะฮ์, หน้าที่ 301)

 

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า

 

إِذْ قَالَتِ الْمَلَائِكَةُ يَا مَرْيَمُ إِنَّ اللَّهَ يُبَشِّرُكِ بِكَلِمَةٍ مِّنْهُ اسْمُهُ الْمَسِيحُ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ وَجِيهًا فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ وَمِنَ الْمُقَرَّبِينَ وَيُكَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَكَهْلًا وَمِنَ الصَّالِحِينَ

 

“จงรำลึกถึงขณะที่มะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ได้กล่าวว่า โอ้มัรยัมเอ๋ย! แท้จริงอัลลอฮ์ทรงแจ้งข่าวดีแก่เธอซึ่งพระคำ (สิ่งดำรงอยู่ที่ยิ่งใหญ่) หนึ่งจากพระองค์ ชื่อของเขาคือ อัลมะซีห์ อีซา บุตรของมัรยัม โดยที่เขาจะเป็นผู้มีเกียรติในโลกนี้และในปรโลก และเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ใกล้ชิด และเขาจะพูดกับประชาชนในขณะอยู่ในเปลและในวัยกลางคน และจะเป็นส่วนจากหมู่คนดี” (ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน/อายะฮ์ที่ 45 และ 46)

ความหมายของประโยคที่ว่า “เขาจะพูดกับประชาชนในขณะอยู่ในเปล” ก็คือการพูดในช่วงการกำเนิดของท่าน ส่วนคำว่า “ในช่วงวัยกลางคน” นั้นหมายถึง ในช่วงที่ท่านลงมาจากฟากฟ้า ทั้งนี้เนื่องจากว่า ท่านถูกนำขึ้นสู่ฟากฟ้าในช่วงวัย 33 ปี และก่อนวัยชรา ท่านอิบนุอับบาสได้กล่าวว่า : ขณะนั้นท่านมีอายุ 30 ปี (อัลบัฆวี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 77) คำว่า “กุฮูละฮ์” ดั่งที่บรรดานักภาษาศาสตร์ได้กล่าวว่า เริ่มจากช่วงเวลาซึ่งริ้วรอยของความแก่ชราได้ปรากฏขึ้น ท่านรอฆิบ อิสฟาฮานี (ในอัลมุฟรอดาต) กล่าวว่า “กุฮูละฮ์” หมายถึง ช่วงเวลาที่สีขาวของเส้นผมจะปะปนกับสีดำ (ผมสีดอกเลา)....

ในหนังสือตัฟซีร มัจญ์มะอุ้ลบะยาน ได้กล่าวว่า “กุฮูละฮ์” หมายถึง ภายหลังจากที่ท่านศาสดาอีซา (อ.) ลงมาจากฟากฟ้าเพื่อที่จะฆ่าดัจญ้าล ท่านถูกนำตัวขึ้นสู่ฟากฟ้าในวัย 33 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนวัยกลางคน (กุฮูละฮ์) คำพูดนี้อ้างอิงมาจาก ซัยด์ บินอัสลัม ส่วนฏ็อบรีได้กล่าวในหนังสือตัฟซีรของตนว่า : ผู้ที่กล่าวว่า อีซา (อ.) จะพูดกับประชาชน ในขณะอยู่ในเปลและในวัยกลางคน จุดประสงค์ของพวกเขาก็คือก่อนการขึ้นสู่ฟากฟ้า แต่มีบางคนกล่าวว่า “กุฮูละฮ์” นั้น หมายถึง ในช่วงที่ท่านมาปรากฏตัวอีกครั้ง และท่านพูดกับประชาชน

เขากล่าวถึงชื่อของบุคคลที่เชื่อในทัศนะนี้ หลังจากนั้นได้กล่าวว่า “อิบนิซัยด์” ได้อ้างอิงมันไว้ ซะอ์ละบี ในหนังสือตัฟซีรของตน และฟัครุรรอซี ถือว่าทัศนะนี้เป็นของ “ฮุเซน บินฟัฎลิ์ บิจญ์ลี” และบัฆวีได้กล่าวว่า : พวกเขาได้ถามฮุเซน บินฟัฎลิ์ ว่า : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลงมาของศาสดาอีซา (อ.) อยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานหรือไม่? เขากล่าวว่า : มีซิ ในโองการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า  “وكَهْلا” (เขาจะพูดกับประชาชนในช่วงวัยกลางคน) (ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน/อายะฮ์ที่ 46) ในขณะที่อยู่ในโลกนี้ ท่านมีอายุยังไม่ถึงวัยกลางคน ดังนั้นความหมายของโองการนี้ ก็คือภายหลังการลงมาจากฟากฟ้า เขาจะอยู่ในวัยกลางคน

มะซีห์ อีซา (อ.) จะกล่าวว่า : ปวงบ่าวของพระองค์ เนื่องจากการที่พวกเขากล่าวว่า “อีซา (พระเยซู) คือพระเจ้า” พวกเขาสมควรได้รับการลงโทษ แต่หากพระองค์จะทรงอภัยโทษให้พวกเขาและไม่ทรงลงโทษพวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวคำพูดนี้อีกต่อไป แต่ทว่าพวกเขาจะวิงวอนขอต่อพระองค์เพียงพระองค์เดียว และพวกเขาได้ยอมรับแล้วว่า ข้าพระองค์เป็นเพียงบ่าวของพระองค์ หากพระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขาเหล่านี้ เนื่องจากการที่พวกเขาได้ยุติจากการพูดในสิ่งที่เป็นการปฏิเสธของตนแล้ว พระองค์คือผู้ทรงเดชานุภาพยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง (ดูเพิ่มเติมจากหนังสือ อัตตัศรีหุ ฟี นุซูลิลมะซีห์, กิชมีรี, หน้าที่ 292)

ที่มา เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

แสดงความเห็น