ประวัติการถือกำเนิดของลัทธิวะฮ์ฮาบีย์
มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบคือใคร?
ลัทธิวะฮ์ฮาบีปรากฏขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ศตวรรษที่ 12 ของฮิจญ์เราะฮ์ศักราช) ในแคว้นนัจด์ (1) ของคาบสมุทรอาหรับ (ซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน) ผู้ก่อตั้งของลัทธินี้คือเชคมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ บินสุไลมาน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 1115 (2) ในอุยัยนะฮ์ เขามีความสนใจในการอ่านหนังสือตัฟซีร (อรรถาธิบายคัมภีร์อัลกรุอาน) ฮะดีษ และหลักความเชื่อของกลุ่มชนต่างๆ (มิลัลวันนิฮัล) มาตั้งแต่วัยเด็ก และได้เรียนวิชาฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) ตามแนวทางของมัซฮับ (นิกาย) ฮันบะลี กับบิดาของเขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการของมัซฮับ (นิกาย) ฮันบะลี และเป็นผู้พิพากษา (กอฎี) ของเมือง เขาเดินทางไปยังเมืองต่างๆ อย่างเช่น ฮุร็อยมะลาอ์ (เมืองหนึ่งของแคว้นนัจด์) มักกะฮ์ (ในช่วงเทศกาลฮัจญ์) มะดีนะฮ์ บัศเราะฮ์และอะห์ซาอ์ โดยมีเป้าหมายในการแสวงหาวิชาความรู้และทำความรู้จักกับความเชื่อและวิถีชีวิตของประชาชน การเดินทางเหล่านี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ฮ.ศ. 1139 เป็นต้นไป ในช่วงวันเวลาเหล่านี้มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้แสดงทัศนะทางความคิดและความเชื่อบางประการของเขา โดยการตำหนิและกล่าวประณามการกระทำที่เกี่ยวกับการอิบาดะฮ์ (การนมัสการและการเคารพภักดีพระเจ้า) ของประชาชาติมุสลิมในขณะการฏอวาฟ (การเดินเวียนรอบอาคารกะอ์บะฮ์) การซิยาเราะฮ์สุสาน การตะวัซซุ้ล การขอชะฟาอะฮ์ และอื่นๆ จนเป็นเหตุทำให้เกิดความโกรธและไม่พอใจต่ออับดุลวะฮ์ฮาบ บินสุไลมาน (3) บิดาของเขา สุลัยมาน บินอับดุลวะฮ์ฮาบ (4) พี่ชายของเขา และนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ในนครมักกะฮ์ มะดีนะฮ์และเมืองอื่นๆ เขาได้ลุกขึ้นต่อต้านบรรดาผู้นำศาสนาและกล่าวหาบรรดาผู้ศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชีอะฮ์ ว่าเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา (กาฟิร) เขาได้ประกาศว่า การซิยาเราะฮ์หลุมฝังศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และการตะวัซซุ้ลต่อท่าน รวมทั้งการซิยาเราะฮ์หลุมฝังศพของบรรดาศาสดา บรรดาเอาลิยาอ์ (ผู้ใกล้ชิดอัลลอฮ์) และบรรดาซอลิฮีน (ผู้มีคุณธรรม) และการตะวัซซุ้ลต่อบุคคลเหล่านั้นถือเป็นการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า
บิดาและพี่ชายของเขาได้คัดค้านต่อต้านทัศนะและแนวความคิดต่างๆ ที่เบี่ยงเบนของมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ (5) บิดาของเขาได้ขอร้องเขาว่าอย่ากล่าวคำพูดที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกเหล่านี้เลย และพี่ชายของเขาได้เขียนหนังสือสองเล่มในการวิจารณ์และตอบโต้แนวความคิดและทัศนะต่างๆ ของเขา ได้แก่ หนังสือ “อัซซอวาอิกุลอิลาฮียะฮ์ ฟิรร็อดดิ อะลัลวะฮ์ฮาบียะฮ์” และ “ฟัศลุ้ลคิฏ๊อบ ฟิรร็อดดิ อะลา มุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮ์ฮาบ” ความขัดแย้งทางด้านความคิดระหว่างมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ กับบิดาของเขาและพี่ชายของเขาในกรณีเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชนและการปฏิบัติด้านศาสนากิจ อย่างเช่น พิธีกรรมฮัจญ์ การเดินทางไปเยือน (ซิยาเราะฮ์) หลุมฝังศพ การตะวัซซุ้ลและการขอชะฟาอะฮ์โดยผ่านบุคคลสำคัญต่างๆ และอื่น ๆ ได้รับรู้และแพร่ออกไปสู่ประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน ประชาชนรู้สึกไม่พอใจจากคำพูดที่ไร้จิตวิญญาณและตื้นเขินเหล่านี้ พวกเขาจึงร้องเรียนบรรดานักวิชาการและบุคคลสำคัญ อย่างเช่น “อับดุลวะฮ์ฮาบ” บิดาของมุฮัมมัดเอง เขาจึงได้ห้ามปรามบุตรชายของเขา แต่ก็ไม่บังเกิดผลใดๆ ทั้งสิ้น ท้ายที่สุดบิดาของเขาก็ได้เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 1153 (6)
ภายหลังจากการเสียชีวิตของบิดาของเขา เชคมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ จึงมีอำนาจและความอาจหาญที่จะนำเสนอแนวความคิดและคำพูดต่างๆ ของเขาได้มากขึ้น บรรดาสาวกและผู้ปฏิบัติตามเขาจำนวนหนึ่งได้เริ่มการเคลื่อนไหวตามคำพูดที่ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยกของเขา และมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นต่อต้านเขาและความเชื่อต่างๆ ของเขา และมีเจตนาที่จะทำลายและสังหารเขา จนกระทั่งในปี ฮ.ศ. 1145 เขาได้เริ่มการเชิญชวนสู่แนวทางความเชื่อของเขาอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ และได้ประกาศลัทธิใหม่ของเขา คือ “วะฮ์ฮาบี” หรือ “วะฮ์ฮาบียูน” หรือ “วะฮ์บียะฮ์” จากเมืองอุยัยนะฮ์ (บ้านเกิดของตน) (7)
สิ่งที่สมควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ แคว้นนัจด์และอีกบางพื้นที่ของแผ่นดินฮิญาซนั้น เป็นแหล่งกำเนิดและการเจริญเติบโตขึ้นของบรรดาผู้ที่กล่าวอ้างตนเป็นศาสดา และกล่าวกันว่า มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบมีความคลั่งไคล้อย่างแรงกล้าต่อการอ่านเรื่องราวและชีวประวัติของพวกเขา ซึ่งจะขอชี้ถึงตัวอย่างบางส่วนจากกรณีเหล่านั้น
(1) มุซัยละมะฮ์ วาอิลี เป็นที่รู้จักในนาม มุซัยละมะฮ์ กัซซ๊าบ (ผู้โป้ปด) เขาถือกำเนิดใกล้กับเมืองอุยัยนะฮ์ ภายหลังจากการปรากฏขึ้นของศาสนาอิสลามและการพิชิตคาบสมุทรอาหรับโดยชาวมุสลิม เขาได้เดินทางไปพบท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แต่ก็ไม่ยอมจำนนต่ออิสลาม และต่อจากนั้นเขาได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และได้กล่าวอ้างความเป็นศาสดาของตนเองว่า
من مسيلمة رسول الله ، إلى محمد رسول الله : سلام عليك ؛ أما بعد ، فإني قد أشركت في الأمر معك ، وإن لنا نصف الأرض ، ولقريش نصف الأرض ، ولكن قريشا قوم يعتدون
"จากมุซัยละมะฮ์ ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ถึงมุฮัมมัดศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ความสันติจงมีแด่ท่าน ฉันมีส่วนร่วมกับท่านในการเป็นศาสดา ดังนั้นแผ่นดินครึ่งหนึ่งเป็นของเรา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของกุเรช แต่กุเรชนั้นเป็นกลุ่มชนผู้รุกราน”
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้เขียนตอบเขาว่า
بسم الله الرحمن الرحيم ، من محمد رسول الله ، إلى مسيلمة الكذاب : السلام على من اتبع الهدى . أما بعد ، فإن الأرض لله يورثها من يشاء من عباده ، والعاقبة للمتقين
"ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตายิ่ง ผู้ทรงปรานีเสมอ จากมุฮัมมัด ศานทูตแห่งอัลลอฮ์ ขอความสันติจงมีแด่ผู้ปฏิบัติตามทางนำ แท้จริงแผ่นดินนั้นเป็นของอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงสืบทอดมันให้แก่บุคคลที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์ และผลบั้นปลายจะเป็นของบรรดาผู้ยำเกรง" (8)
ในสมัยของอบูบักร กองทัพของอิสลามได้ยกทัพไปยังเมืองบะนีฮุนัยฟะฮ์ (สถานที่พำนักอาศัยของมุซัยละมะฮ์) และในปี ฮ.ศ. 12 เขาได้ถูกฆ่าตาย
(2) ซะญาห์ บินติฮาริษ ตะมีมี ซึ่งเป็นกวีหญิง ภายหลังจากการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) นางได้กล่าวอ้างความเป็นศาสดา ประชาชนกลุ่มหนึ่งจากเผ่าของนางได้ร่วมทางกับนาง และนางได้แต่งงานกับมุซัยละมะฮ์ กัซซ๊าบ แต่ภายหลังจากการตายของเขา นางจึงเดินทางไปยังเมืองบัศเราะฮ์ และได้เสียชีวิตในสมัยการปกครองของมุอาวียะฮ์ (9)
(3) อัซอัด ซุลฮะนาร เป็นผู้ที่ผินหลังออกจากศาสนาอิสลาม (มุรตัด) เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม โดยที่เขาได้อ้างตัวเป็นศาสดา ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ออกคำสั่งให้ฆ่าเขา และในที่สุดเขาก็ถูกฆ่าตายในปี ฮ.ศ. 11 (10)
(4) ฏุลัยฮะฮ์ บินคุวัยลิด (กัซซ๊าบ) เป็นชาวอาหรับที่มีความกล้าหาญคนหนึ่ง ในปี ฮ.ศ. 9 เขาได้มาพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พร้อมกับบุคคลจำนวนมาก และเขาได้เข้ารับอิสลาม แต่หลังจากกลับไป เขาก็ผินออกจากศาสนาอิสลาม (มุรตัด) และอ้างตัวเป็นศาสดา และรวบรวมผู้สนับสนุนได้เป็นจำนวนมากและได้บุกโจมตีเมืองมะดีนะฮ์ แต่ชาวมุสลิมได้ตีพวกเขาจนถอยร่นกลับไป และฏุลัยฮะฮ์ได้หนีไปยังแคว้นนัจด์ และในที่สุดก็ถูกฆ่าตายในเมืองนะฮาวันด์ (11)
ภายหลังจากการต่อต้านของประชาชนชาวเมืองฮุร็อยมะลาอ์ มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบได้อพยพไปอยู่ที่เมืองอุยัยนะฮ์ “อุสมาน บินฮะมัด (มะอ์มัร)” ผู้ปกครองเมืองได้ปลุกปั่นเขาให้ผนึกกำลังกับเขาเพื่อเป้าหมายทางอำนาจการปกครองในภูมิภาคนั้น และแล้วก็เป็นไปตามนั้น ในการดำเนินการครั้งแรกนั้น เขาได้ทำลายหลุมฝังศพของ "ชะฮีดเซด อิบนิค็อฏฏ๊อบ" (12) น้องชายของคอลีฟะฮ์ที่สอง เมื่อข่าวได้ล่วงรู้ไปถึง “สุไลมาน บินมุฮัมมัด บินอับดุลอะซีซ” เจ้าเมืองอะห์ซาอ์และกอฏีฟ เขาเขียนจดหมายส่งไปถึงผู้ปกครองเมืองอุยัยนะฮ์ และเรียกร้องให้สังหารมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ แต่อุสมานไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เขาตัดสินใจขับไล่มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ ออกจากเมืองเพียงเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ในปี ฮ.ศ. 1160 มุฮัมมัด บินอับวะฮ์ฮาบ จึงเดินทางไปยังเมือง “ดัรอียะฮ์” ดินแดนของ "มุซัยละมะฮ์ กัซซ๊าบ" ได้เข้าสู่การเจรจาและการตกลงแลกเปลี่ยนกันทางการเมือง การผนึกกำลัง (และการทำสัตยาบันกัน) ของบุคคลทั้งสองได้นำไปสู่การขยายตัวและการแพร่กระจายของลัทธิวะฮ์ฮาบี ซึ่งรายละเอียดและวิธีการของมันจะกล่าวถึงในเนื้อหาส่วนถัดๆ ไป
นับจากประมาณปี ฮ.ศ. 1143 มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างเอาจริงเอาจังในการเรียกร้องเชิญชวนประชาชนของเมืองนั้นและพื้นที่โดยรอบไปสู่เตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระเจ้า) อันบริสุทธิ์!? และเขาได้ประกาศว่า เขาจะนำศาสนาอิสลามที่เป็นของแท้และบริสุทธิ์ (กล่าวคือศาสนาอิสลามของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวก)) มาบอกกล่าวแก่พวกเขา และกล่าวอ้างว่า ศาสนาอิสลามที่เป็นของแท้และบริสุทธิ์ดังกล่าวก็คือ "แบบฉบับของชาวซะลัฟ" (13)
2. บรรดาคณาจารย์
ในช่วงประมาณปี ฮ.ศ. 1120 ถึง 1139 มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้ศึกษาเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ฮะดีษและฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) ตามแนวทางของมัซฮับฮันบะลี (อะห์มัด บินฮันบัล) จากอับดุลวะฮ์ฮาบ บิดาของเขา และกล่าวกันว่าในช่วงระหว่างปี ฮ.ศ. 1135 ถึงปี 1149 ในช่วงการเดินทางไปไปประกอบพิธีฮัจญ์ในนครมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ เขามีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้จากคณาจารย์บางคนของที่นั่นด้วย อย่างเช่น เชคอับดุลลอฮ์ บินอิบรอฮีม (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 1140) และอิบรอฮีม บินอับดุลลอฮ์ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 1189) เป็นต้น นอกจากนี้ตามที่ได้ถูกกล่าวถึงในบางส่วนของงานเขียนของเขา ในเมืองบัศเราะฮ์ เขายังได้ศึกษาเรียนรู้วิชาการต่างๆ จาก “เชคมุฮัมมัด อัลมัจญ์มูอี” อีกด้วย (14)
3. การเดินทาง
ในการเดินทางต่าง ๆ ของมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ในหมู่นักเขียนบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวะฮ์ฮาบีมีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันปรากฏอยู่ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ว่านอกจากเมืองมักกะฮ์ มะดีนะฮ์และบัศเราะฮ์ (ฮิญาซและอิรัก) แล้ว เขาเคยเดินทางอพยพไปยังภูมิภาคและเมืองอื่นๆ ด้วยหรือไม่? ทำนองเดียวกันนี้ เกี่ยวกับการเดินทางของมฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ไปยังนอกเขตคาบสมุทรอาหรับ ก็ยังมีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันปรากฏให้เห็น
ฝ่ายสนับสนุน (ว่าเขาเดินทางไปยังที่ต่างๆ)
มุฮัมมัดตะกี ซิพะฮ์ร (ร.ฮ.) กล่าวว่า "มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เดินทางจากอิรักไปยังอิหร่าน และในเมืองอิสฟะฮานเขาได้ศึกษาเรียนรู้จากนักวิชาการต่างๆ ของเมืองนี้... เขากล่าวหาหลายสิ่งหลายอย่างว่าเป็นบิดอะฮ์ (การอุตริสิ่งใหม่ขึ้นในศาสนา) ตัวอย่างเช่น เขาถือว่าการสร้างอาคารโดมสูงๆ บนหลุมฝังศพของบรรดาอิมามและบรรดาศาสดา (อ.) การตกแต่งสถานที่ด้วยทองคำและลวดลายที่เป็นเงิน การนำเอาสิ่งของมีค่าต่างๆ มาวางไว้ในบริเวณหลุมฝังศพเพื่อตะบัรรุก (แสวงหาความจำเริญ) การเวียนรอบหลุมฝังศพและการจูบธรณีประตูของสถานที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระเจ้า และผู้ที่กระทำสิ่งต่างๆ เช่นนี้เทียบเท่ากับผู้เคารพบูชารูปปั้น" (15)
อะห์มัด อามีน ชาวอียิปต์ได้เขียนไว้ว่า "เชคมุฮัมมัด (บินอับดุลวะฮ์ฮาบ) ได้เดินทางไปทั่วแผ่นดินอิสลามต่างๆ หลายแห่ง ประมาณสี่ปีที่เขาอยู่ในเมืองบัศเราะฮ์ ห้าปีในเมืองแบกแดด หนึ่งปีในเมืองเคอร์ดิสถาน สองปีในเมืองฮัมเมดาน และหลังจากนั้นได้เดินทางไปยังเมืองอิสฟะฮาน และในเมืองนั้นเขาได้ศึกษาวิชาปรัชญาอิชร๊อกและวิชาตะเซาวุฟ เขาได้เดินจากอิสฟาฮานไปยังเมืองกุม และจากที่นั่นเขาจึงเดินทางกลับสู่บ้านเมืองของตน เป็นเวลาแปดเดือนที่เขาปลีกตัวออกจากผู้คน หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มต้นการเรียกร้องเชิญชวนประชาชนครั้งใหม่" (16)
มิสเตอร์ฮัมฟรีย์ (17) (Mr.Humphrey) กล่าวว่า "ในเมืองบัศเราะฮ์... ฉันได้รู้จักกับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขารู้ภาษาสามภาษาและพูดภาษาเหล่านี้ได้ คือ ภาษาตุรกี เปอร์เซียและอาหรับ และสวมใส่ชุดนักวิชาการศาสนา ชื่อของเขาคือ มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ เขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีความทะเยอทะยานและมีหัวรุนแรงมาก เขาได้วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันเติร์ก (อุสมานียะฮ์)... มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบได้เดินทางไปยังอิสฟาฮาน" (18)
มีปรากฏในสารานุกรมอิหร่านและอิสลามว่า "มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ของอิสลามหลายแห่ง อย่างเช่น เมืองบัศเราะฮ์ แบกแดด เคอร์ดิสถาน ฮะเมดาน ดามัสกัสและไคโร" (19)
นักเขียนอีกคนหนึ่งชื่อ “มาร์โกลิอุซ” (Margoliouth) ได้กล่าวว่า "มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เดินทางไปยังเมืองอิสฟาฮานในปีปราบดาภิเษกของกษัตริย์นาดิรชาฮ์ (ปี ฮ.ศ.1148 ตรงกับปี ค.ศ. 1736) ในช่วงเวลาสี่ปีที่อยู่ในเมืองนี้เขาได้ศึกษาวิชาปรัชญามัชชาอ์ ปรัชญาอิชร๊อกและวิชาตะเซาวุฟ ในขณะที่อยู่ในอิหร่านเขาได้เดินทางไปยังเมืองกุมด้วยเช่นกัน ภายหลังจากการเดินทางไปยังเมืองนี้นี่เอง ที่เขาได้ประกาศว่าจะสนับสนุนมัซฮับฮันบะลี" (20)
อับดุลละตีฟ ชูชตุรี ได้เขียนว่า "...หลังจากที่เขาเรียนรู้บางส่วนจากภาษาอาหรับและฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) ของมัซฮับฮะนะฟี (ที่ถูกต้องคือมัซฮับฮันบะลี) แล้ว เขาได้เดินทางไปยังเมืองอิสฟะฮาน และในเมืองแห่งปรัชญากรีก (อิสฟะฮาน) นี้ เขาได้เรียนรู้วิชาปรัชญาจากบรรดานักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง... และได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของเขา ในปี ฮ.ศ. 1171 หรืออาจไม่กี่ปีหลังหรือก่อนจากนั้น ซึ่งการบันทึกไม่ชัดเจน (ที่ถูกต้องคือในปี ฮ.ศ.1153) เขาก็กล่าวอ้างศาสนา (นิกาย) นี้ขึ้นมา" (21)
อบูฏอลิบ อิสฟะฮานี (ผู้ร่วมสมัยกับมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ) ได้กล่าวเช่นกันว่า มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เดินทางไปยังเมืองอิสฟะฮาน และอีกหลายเมืองของอิรักและอิหร่าน และแม้กระทั่งไปยังเมือง "ฆ็อซนีน" (เมืองหนึ่งของอัฟกานิสถาน) (22)
มุดัรริซี ฏอบาฏอบาอี ได้เขียนว่า "เชค (มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ) ได้เดินทางจากบ้านเกิดของตนไปยังเมืองบัศเราะฮ์และจากที่นั่นไปยังแบกแดด และต่อจากนั้นไปยังเคอร์ดิสถานของอิรัก และจากเคอร์ดิสถานไปยังเมืองฮะเมดาน และพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองปี ต่อจากนั้นจึงเคลื่อนย้ายไปยังอิสฟะฮาน และพำนักอยู่ในเมืองนั้นในโรงเรียนอับบาซียะฮ์ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารก่อสร้างของกษัตริย์ชาวอับบาสแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์เป็นเวลา 7 ปี ในช่วงเวลานี้เขาได้เรียนหนังสือ “ชัรห์ ตัจญ์รีด ของกูชะญี” และ “ชัรห์ มะวากิฟ ของมีร ซัยยิดชะรีฟ” และ “ฮิกมะตุ้ลอัยน์” กับมีรซา ญอน อิสฟะฮานี หลังจากอิสฟะฮานเขาได้ไปเมืองเรย์ และจากที่นั่นเขาได้เดินทางต่อไปยังเมืองกุม และพำนักอยู่ในเมืองกุมพร้อมกับเพื่อนของเขาซึ่งมีชื่อว่า อะลี (ก็อซซาซ) เป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากนั้นเขาก็เดินทางไปยังแผ่นดินอุสมานียะฮ์ (ตุรกี) ชามและอียิปต์ และจากอียิปต์จึงเดินทางกลับไปยังคาบสมุทรอาหรับ" (23)
ฝ่ายที่เห็นต่างในเรื่องนี้
ตรงข้ามกับทัศนะที่กล่าวว่า มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ เดินทางออกจากคาบสมุทรอาหรับไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างเช่น อิหร่าน และศึกษาเรียนรู้วิชาการส่วนมากจากนักวิชาการและศูนย์กลางต่างๆ ทางด้านแนวคิดและด้านศาสนาจากดินแดนต่างๆ นอกเขตคาบสมุทรอาหรับ นักประวัติศาสตร์ชาววะฮ์ฮาบีทั้งหมดต่างปฏิเสธการเดินทางไปยังอิหร่านและพื้นที่อื่นๆ ของเขา
ตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งจากพวกเขาได้เขียนว่า
«امّا ما تجاوز الحدّ من أنه سافر الى الشام كما ذكره خيرالدين الزركلى فى «الأعلام» و الى فارس و ايران و قم و اصفهان كما يذكره بعض المستشرقين و نحوهم فى مؤلفاتهم المعروفة بالأخطاء و مجانبة الحقيقة كمرجليوث فى دايرة المعارف الاسلامية و بِرائجس و هيوجز و زُويمر و بالغريف و كتاب لُمعَ الشهاب فى سيرة محمدبن عبدالوهاب و من تأثر به فهو امرٌ غير مقبول لانّ حفيد الشيخ ابن حسن و ابنه عبداللطيف و ابن بِشر نصّوا على َانّ الشيخ محمدبن عبدالوهاب لم يتمّكن من السفر الى الشام كما قدمنا. و اما ما زُعم ان الشيخ رحل الى فارس و ايران و قم و اصفهان فاِنّ عبدالحليم الجُندى يذكر فى كتابه الإمام محمدبن عبدالوهاب او انتصار المنهج السلفى انه ناقش فى هذه الواقعة الشيخ عبدالعزيزبن باز فى الرياض فانكر ما أورده المؤلّفون من رحلة الشيخ الى كردستان و ايران و قرّر انه تلقى هذا عن أشياخه و منهم حفدة الشيخ و بخاصّة شيخه محمدبن ابراهيم...»
"ส่วนประเด็นที่มีการอ้างถึงอย่างมากมายที่ว่า เขา (มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ) เดินทางไปยังเมืองชาม ดังที่ ค็อยรุดดีน อัลซัรกะลี กล่าวไว้ใน “อัลอะอ์ลาม” และเดินทางไปยังฟาร์ซ (อ่าวเปอร์เซีย) อิหร่าน กุมและอิสฟะฮาน ดั่งที่นักบูรพาคดีศึกษาบางคนและคนอื่นๆ ได้กล่าวถึงในหนังสือต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของพวกเขาอย่างผิดพลาดและห่างไกลจากความจริง อย่างเช่น (ทัศนะของ) “มาร์โกลิอุซ” ในหนังสือ “ดาอิร่อตุลมะอาริฟ อัลอิสลามียะฮ์” และ “บะรออิญิซ” “ฮะยูญิซ” "ซุวัยมิร" “บอลกะรีฟ” และหนังสือ “ลุมะอุชชะฮาบ ฟี ซีเราะฮ์ มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ” และผู้ที่รับอิทธิพลมาจากมัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากหลายชายของเชค (อับดุลวะฮ์ฮาบ) คือ “อิบนุฮะซัน” และลูกชายของเขาคือ “อับดุลละตีฟ” และ “อิบนุบะชีร” ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เชคมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ ไม่มีความสามารถที่จะเดินทางไปยังเมืองชามได้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สำหรับสิ่งที่พวกเขาคาดคิดว่า เชคมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ ได้เดินทางไปยังเปอร์เซีย อิหร่าน (กุมและอิสฟะฮาน) ดังที่อับดุลฮะลีม อัลญุนดี กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลอิมามุ มุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮ์ฮาบ เอา อินตซอรุลมันฮะญิซซะละฟี” นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เชคอับดุลอะซีซ บินบาซ ในกรุงริยาด ได้ปฏิเสธสิ่งที่บรรดานักเขียนทั้งหลายได้กล่าวไว้ที่ว่า เชค (มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ) เคยเดินทางไปยังเคอร์ดิสถานและอิหร่าน และระบุว่าเขาได้รับบทสรุปเช่นนี้มาจากคณาจารย์ของเขา อย่างเช่นลูกหลานของเชค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ของท่าน คือ "มุฮัมมัด บินอิบรอฮีม" (24)
ทว่าหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญที่สุดในกรณีเกี่ยวกับการเดินทางของมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ในทัศนะของบรรดานักประวัติศาสตร์ชาววะฮ์ฮาบี ก็คือหนังสือ “ลุมะอุชชะฮาบ ฟี ซีเราะฮ์ มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ” ซึ่งบุคคลอื่นๆ ก็ได้อ้างอิงเนื้อหาต่างๆ ของตนเองมาจากหนังสือเล่มนี้ ตัวอย่างเช่น อะห์มัด อามีน ชาวอียิปต์ (25) เชคค็อซอะลี (26) และมุนีร อัลอิจญ์ลานี (27) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ ได้เดินทางไปยังอิหร่านและสถานที่อื่นๆ (28)
ที่มาและแหล่งอ้างอิง :
[1] นัจด์ คือหนึ่งในแคว้นทั้งสี่ของคาบสมุทรอาหรับ เมื่อพิจารณาถึงความกว้าง มีพื้นที่ที่เป็นพื้นดินมากที่สุด ทางทิศใต้ติดกับรุบอุ้ลคอลี ทางทิศตะวันตกติดกับฮิญาซ ทางทิศตะวันออกติดกับอะห์ซาอ์และทางทิศเหนือติกับคูเวต อิรักและจอร์แดน ในฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ ที่รายงานโดยอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
اللهم بارك لنا في شامنا ، اللهم بارك لنا في يمننا، فقالوا: وفي نجدنا يا رسول الله، قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: اللهم بارك لنا في شامنا، اللهم بارك لنا في يمننا، فقال الناس: وفي نجدنا يا رسول الله؟
قال ابن عمر: أظن أنه قال في المرة الثالثة: الزلازل والفتن هناك: وهناك يطلع قرن الشيطان"
“โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความจำเริญในเมืองชามของเราแก่พวกเราด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความจำเริญในเมืองยะมันของเราแก่พวกเราด้วยเถิด” พวกเขากล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! โปรดวิงวอนของให้แคว้นนัจด์ของพวกเราด้วย” ท่านศาสนทูตกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความจำเริญในเมืองชามของเราแก่พวกเราด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความจำเริญในเมืองยะมันของเราแก่พวกเราด้วยเถิด” พวกเขากล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! โปรดวิงวอนของให้แคว้นนัจด์ของพวกเราด้วย”
อิบนุอุมัรได้กล่าวว่า ฉันคิดว่าท่านจะกล่าวในครั้งที่สาม แต่ท่านกลับกล่าวว่า “แผ่นดินไหวและฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์ที่เลวร้าย) ต่างๆ จะปรากฏขึ้นที่นั่น และที่นั่นเองที่เขาของชัยฏอน (มารร้าย) จะโผล่ขึ้น”
คล้ายกับคำรายงานนี้ ยังมีคำรายงาน (ริวายะฮ์) อื่นๆ อีก โดยที่นักค้นคว้าวิจัยได้เทียบเคียงคำรายงานเหล่านี้เข้ากับการปรากฏขึ้นของฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์) ของพวกวะฮ์ฮาบีในศตวรรษที่ 12 ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่เกี่ยวกับพวกค่อวาริจญ์จากเผ่าซิลคุวัยซอเราะฮ์ ตะมีมี ซึ่งท่านกล่าวว่า
إِنَّ مِنْ ضِئْضِئِ هَذَا ، قَوْمًا يَقْرَءُونَ الْقُرْآنَ لَا يُجَاوِزُ حَنَاجِرَهُمْ ، يَقْتُلُونَ أَهْلَ الْإِسْلَامِ وَيَدَعُونَ أَهْلَ الْأَوْثَانِ ، يَمْرُقُونَ مِنَ الْإِسْلَامِ كَمَا يَمْرُقُ السَّهْمُ مِنَ الرَّمِيَّةِ ، لَئِنْ أَدْرَكْتُهُمْ لَأَقْتُلَنَّهُمْ قَتْلَ عَادٍ
“แท้จริงจากเชื้อสายของเผ่านี้ จะมีชนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาจะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานไม่พ้นลำคอของพวกเขา พวกเขาจะเข่นฆ่าชาวอิสลามและละเว้นผู้บูชาเจว็ด พวกเขาจะออกจากอิสลามเสมือนกับลูกธนูที่ออกจากคันธนู หากฉันอยู่ทันพวกเขา แน่นอนยิ่งฉันจะสังหารพวกเขาแบบเดียวกับการสังหารกลุ่มชนอาด”
และมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ ก็มาจากเผ่านี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นฮะดีษบทนี้เทียบเคียงสอดคล้องกับเขาและผู้ปฏิบัติตามแนวทางของเขา (กัชฟุลอิรติยาบ อัน (ฟี) อิตบาอิ มุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮ์ฮาบ” อัลอามีน อัลอามิลี, หน้าที่ 100
[2] อัดดุร่อรุซซะนียะฮ์ ฟิรร็อดดิ อะลัลวะฮ์ฮาบียะฮ์, อะห์มัด บินซัยนี ดะห์ลาน, หน้าที่ 42 ; ตารีคนัจด์, มะห์มูด ชุกรี อัลอาลูซี, หน้าที่ 111 ; อัลอะอ์ลาม, ค็อยรุดดีน อัซซัรกะลี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 257 ; เราฏอตุลอัฟการ วัลอิฟฮามิ ลิมุรตาดิ ฮาลิลชอิมาม วะ เตี๊ยะอ์ดาดิ ฆอซะวาติลอิสลาม, อิบนุฆอมาม, เล่มที่ 1, หน้าที่ 25 ; อินวานิลมัจดิ ฟี ตารีคิ นัจด์, อิบนุบะชีร, เล่มที่ 1 หน้าที่ 138 อ้างจากหนังสือ มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ อัซซะละฟียะฮ์, หน้าที่ 76
[3] เขาเกิดในเมืองอุยัยนะฮ์ และได้ศึกษานิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกฮ์) ตามมัซฮับฮันบะลี และดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาของเมืองอุยัยนะฮ์และฮุร็อยมะลาอ์ในช่วงเวลาหนึ่ง และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 1153
[4] หลังจากการศึกษาวิชาฟิกฮ์และฮะดีษ เมื่อเขาได้รับยินคำพูดต่างๆ ที่เบี่ยงเบนของน้องชายของเขา เขาจึงต่อต้านแนวความคิดของน้องชายของเขา และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 1208
[5] อัลฟุตูฮาตุลอิสลามียะฮ์, อะห์มัด บินซัยนี ดะหฺลาล, เล่มที่ 2, หน้าที่ 357 ; อัลอิสลาม ฟิลก็อรนิลอิชรีน, อับบาสมะห์มูด อัลอักก๊อด, หน้าที่ 126
[6] ตารีคนัจด์, มะห์มูด ชุกรี อัลอาลูซี, หน้าที่ 111 ; เชคมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ ฮะยาตุฮู วะ ฟิกรุฮู, อับดุลลอฮ์ อัลอุซัยมีน, หน้าที่ 46
[7] ในหนังสือ “ซุอะมาอุลอิศลาห์ ฟิลอัศริลฮะดีษ” ของอะห์มัด อามีน, หน้าที่ 10, เขาได้กล่าวว่า : มุฮัมุมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ เริ่มต้นการประกาศเชิญชวนของเขา โดยเรียกชื่อกลุ่มผู้สนับสนุนและปฏิบัติตามแนวคิดของเขาว่า “อะฮ์ลุตเตาฮีด” (ผู้ยอมรับในเอกานุภาพของพระเจ้า) “ซะละฟียะฮ์” (ผู้ดำเนินรอยตามชาวซะลัฟ) และ “มุวะฮ์ฮิดีน” (ผู้ยอมรับในเอกานุภาพของพระเจ้า) ส่วนชื่อต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น (เช่น วะฮ์ฮาบี วะฮ์ฮาบียะฮ์ วะฮ์ฮาบียูน) ฝ่ายตรงข้ามของเขา (ซึ่งได้แก่ อะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ชีอะฮ์และยุโรป) จะใช้เรียกกลุ่มนี้ เกี่ยวกับกรณีของการปรากฏขึ้นของชื่อ วะฮ์ฮาบียัต วะฮ์ฮาบียะฮ์ และอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ ที่มีอยู่ในหนังสือและแหล่งอ้างอิงต่างๆ ที่เขียนเกี่ยวกับแนวทางนี้ เนื่องจากไม่มีความสำคัญและน่าสนใจมากนัก สามารถจะกล่าวได้เพียงว่า ด้วยการผ่านไปของเวลา ภายหลังจากการแพร่ขยายความเชื่อและแนวความคิดต่างๆ ของมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการผนึกกำลังความร่วมมือของเขากับมุฮัมมัด อิบนิซะซูด (ผู้ปกครองของแคว้นนัจด์) ความพยายามที่จะได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง การต่อสู้กับบรรดาผู้ต่อต้าน การยึดครองนครมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ และเมืองอื่นๆ... ชื่อนี้จึงถูกใช้เรียกโดยฝ่ายต่อต้านพวกเขา
ฟะรีด วิจญ์ดี ได้เขียนว่า : เหตุผลที่พวกเขาไม่เรียกกลุ่มนี้ด้วยชื่อของเชคมุฮัมมัด ว่า “มุฮัมมะดียะฮ์” ก็เนื่องจากจะทำให้กลุ่มนี้และแนวทางนี้จะไปตรงกับชื่อของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในลักษณะหนึ่ง อันจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบได้ บรรดาผู้ต่อต้านชาววะฮ์วาบีบางส่วนได้ให้ฉายาชาววะฮ์บีว่า “มุดัยยินูน” (ผู้สร้างศาสนาใหม่) [ดาอิร่อตุลมะอาริฟ อัลก็อรนิลอิชรีน, เล่มที่ 10 หน้าที่ 871 ; อออีน วะฮ์ฮาบียัต, หน้าที่ 25 ; ชะน๊อคเต่ อาระบิสตอน, หน้าที่ 118]
[8] อัซซีร่อตุ้นนะบะวียะฮ์, อิบนุฮิชาม, เล่มที่ 3, หน้าที่ 74
[9] อะอ์ลามุนนิซาอ์, อุมัร กะฮาละฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 177
[10] กามิล ฟิตตารีค, อิซซุดดีน อิบนุลอะซีร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 336 ; อัลอะอ์ลาม, ค็อยรุดดีน อัลซัรกะลี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 234
[10] กามิล ฟิตตารีค, อิซซุดดีน อิบนุลอะซีร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 336 ; อัลอะอ์ลาม, ค็อยรุดดีน อัลซัรกะลี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 234
[11] อัลอัคบารุฏฏุวัล, อบูฮะนีฟะฮ์ อัดดัยนะวะรี, หน้าที่ 119
[12] ในสมัยการปกครองของอบูบักร เซดถูกฆ่าตายในสงครามยะมามะฮ์ (สงครามระหว่างชาวมุสลิมกับมุซัยละมะฮ์ กัซซ๊าบ)
[13] คำว่า “ซะลัฟ” ในทางภาษานั้นหมายถึง “คนยุคแรก” ตรงข้ามกับคำว่า “ค่อลัฟ” ซึ่งหมายถึง “คนยุคหลัง” และ “ผู้สืบทอด” และในสำนวนวิชาการจะใช้เรียกบุคคลที่คู่ควรต่อการปฏิบัติตามในด้านของบทบัญญัติอิสลามและการทำความเข้าใจต่อคำสอนต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน พวกเขาจะเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “ซะลัฟ ซอและห์” และพวกเขาจะเรียกขบวนการเคลื่อนไหวย้อนกลับสู่คัมภีร์อัลกุรอานและยุคแรกของอิสลามว่า "ขบวนการซะละฟียะฮ์” (เนฮ์ฎ็อต บีดอรีกะรี ดัรญะฮอนเน่ อิสลาม, หน้าที่ 268)
[14] อุนวานุลมัจด์ ฟีตารีค นัจด์, อุสมาน อิบนิบะชัร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 7 อ้างจาก อะกีดะฮ์ อัชชัยค์ มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ อัซซะละฟียะฮ์, หน้าที่ 105
[15] นาซิคุตตะวารีก, มุฮัมมัด ตะกี ซิพะฮ์ร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 118 ; วะฮ์ฮาบียอน, อะลี อัซฆัร ฟะกีฮี, หน้าที่ 76
[16] ซุอะมาอุลอิศลาห์ ฟิลอัศริลฮะดีษ, อะห์มัด อามีน, หน้าที่ 10 อ้างจาก วะฮ์ฮาบียอน, หน้าที่ 120
[17] มิสเตอร์ฮัมฟรีย์ ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาชื่อ ความทรงจำและจดหมายเหตุต่างๆ ซึ่งแปลเป็นภาษาต่าง เริ่มจากภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส อาหรับ และหลังจากนั้นเป็นภาษาเปอร์เซีย เขาอ้างว่าในช่วงประมาณปี ฮ.ศ. 1122 (ตรงกับค.ศ. 1170) ซึ่งเขามีอายุประมาณยี่สิบปี! เขาได้รับมอบหมายจากกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษให้ปฏิบัติภารกิจการเป็นสายลับในกลุ่มประเทศอิสลาม อย่างเช่น อิรัก ตุรกี อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และอื่นๆ เขาได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองอิสตันบูล แบกแดด บัศเราะฮ์ อิสฟะฮาน เตหะราน ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจของเขาในเมืองบัศเราะฮ์ในช่วงปี ฮ.ศ. 1126 (ตรงกับปี ค.ศ.1714) เขามีโอกาสรู้จักกับมุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ และพบว่าเขาเป็นผู้ที่มีความรู้ในภาษาอาหรับและภาษาตุรกี เป็นผู้มีความทะเยอทะยานมาก มีความสามารถในการอิจญ์ติฮาด (วินิจฉัยปัญหาศาสนา) โดยไม่จำเป็นต้องตักลีด (ปฏิบัติตาม) ใครในการทำความเข้าใจต่อคัมภีร์อัลกุรอาน (!) (อิหร่านวะ ญะฮอนเน่ อิสลาม, งานวิจัยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแนวความคิดและขบวนการการเคลื่อนไหวต่างๆ เขียนโดย อับดุลฮาดี ฮาอิรี, มัชฮัด, พิมพ์และเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ ออสตอน กุดร่อซาวี, ปี 1368) คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความทรงจำของเขาจะกล่าวถึงในหมวดที่สาม
[18] ดัสฮอเย่ นอพัยดอ (ความทรงจำของมิสเตอร์ฮัมฟรีย์ สายลับอังกฤษในบรรดาประเทศอิสลาม) แปลโดย เอี๊ยะห์ซาน, ศตวรรษที่ 32
[19] ดอนิช นอเมะฮ์ อีหร่าน วะอิสลาม, ฉบับที่ 5 : 6946, เอี๊ยะห์ซาน ยาร ชาฏิร (และบุคคลอื่น ๆ) เตหะราน, ปี 1356, แปลมาจากบทความ : {vol.m pp. H.laoust "Lbn Abdal – Wahaaab" F. 677-679}
[20] D.S.Margoliouth "Wahaaablyn : SEF 618
[21] ตุห์ฟะตุลอาลัม วะซีลุตตุห์ฟะฮ์ (จดหมายเหตุและความทรงจำ) อับดุลละตีฟ ชูชตุรี, หน้าที่ 477 ; มะอาซิร ซุลฏอนียะฮ์, อับดุรร็อซซาก, ดุมบุลี, หน้าที่ 82
[22] มะซีร ฏอลิบี, มีรซาอะบูฏอลิบ อิสฟะฮานี, หน้าที่ 409
]23] วะฮ์ฮาบียอน, อะลีอัซฆัร ฟะกีฮี, หน้าที่ 120 (อ้างจากนิตยสาร “บัรร่อซีฮอเย่ ตารีคี, อันดับที่ 4, ปีที่ 11)
[24] อะกีดะฮ์ อัชชัยค์ มุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮ์ฮาบ อัซซะละฟียะฮ์, ซอและห์ บินอับดุลลอฮ์, หน้าที่ 108 และ 109 อ้างอิงจากหนังสือ “มุฮัมมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ เอา อินติซอริลมันฮัจญ์ อัซซะละฟี” หน้าที่ 92 ; อัลอิมาม อัชชัยค์มุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮ์ฮาบ ฟิตตารีค, เล่มที่ 1, หน้าที่ 38 อ้างอิงจาก บทนำของหนังสือ “อัลมะซาอิลุลญาฮิลียะฮ์” เล่มที่ 1, หน้าที่ 25
[25] ซุอะมาอุลอิศลาห์ ฟิลอัศริลฮะดีษ, อะห์มัด อะมีน, หน้าที่ 10
[26] ตารีค อัลญะซีร่อตุ้ลอะร่อบียะฮ์ ฟี อัศริชชัยค์มุฮัมมัด อิบนิอับดิลวะฮ์ฮาบ, ฮุเซน ค็อซอะลี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 56
[27] ตารีค อัลบิลาดิ้ลอะรอบียะฮ์ อัซซะอุดียะฮ์, มูนีร อัลอิจญ์ลานี, หน้าที่ 195
[28] อะกีดะฮ์ อัชเชค มุฮัมมัด อิบนิ อับดอิลวะฮ์ฮาบ อัซซะละฟียะฮ์, ซอและห์ บินอับดุลลอฮ์, หน้า 109
แสดงความเห็น