อรรถาธิบายซูเราะฮฺอัลก็อดรฺ

อรรถาธิบายซูเราะฮฺอัลก็อดรฺ

 

ซูเราะฮฺดังกล่าวได้ถูกประทานลงมาในค่ำคืนแห่งอานุภาพ หมายถึงค่ำคืนที่ กฏเกณฑ์และชะตากรรมของมนุษย์ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าได้ถูกกำหนดขึ้นในค่ำคืนนี้ และสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บ่งบอกว่าอัลกุรอานมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์

เมื่อนำเอาโองการดังกล่าวข้างต้นมาเทียบเคียงกับโองการในซูเราะฮฺอัลบะก่อเราะฮฺ ได้บทสรุปว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพ (ลัยละตุลก็อดร์) นั้นได้ปรากฏในเดือนรอมฎอนอย่างแน่นอน แต่จะเป็นค่ำคืนไหนของเดือน ?

โองการอัลกุรอานไม่ได้บอกโดยตรงว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพนั้นเป็นคืนไหน แต่เราสามรถเข้าใจได้จากริวายะฮฺ(วจนะ)ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ซึ่งริวายะฮฺได้กล่าวว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพนั้นอยู่ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน (๒๑-๓๐) แต่ริวายะฮฺส่วนมากที่เชื่อถือได้โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ได้กล่าวว่า ค่ำคืนแห่งอานูภาพนั้นเป็นค่ำคืนที่ยิ่สิบสามของเดือน

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “การเสนอข้อกำหนดต่างๆ ได้มีขึ้นในค่ำที่ ๑๙ การตัดสินข้อกำหนดเหล่านั้นได้มีขึ้นในค่ำที่ ๒๑ ส่วนการเซ็นรับรองได้มีขึ้นในค่ำที่ ๒๓”

จึงสรุปได้ว่าริวายะฮฺส่วนใหญ่เห็นพร้องตรงกันว่า ค่ำคืนแห่งอานุภาพนั้นตรงกับค่ำที่ ๒๓ ของเดือนรอมฎอน

وَمَا أَدْريكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْرِ

ความว่า “เจ้ารู้ไหม คืนอัลก็อดร์ นั้นคืออะไร”

โองการนี้อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของค่ำคืนแห่งอานุภาพจึงได้ถามว่า “เจ้ารู้ไหม คืนอัลก็อดร์ นั้นคืออะไร” เป็นการเน้นถึงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของค่ำคืนนี้ แม้กระทั่งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ผู้มีความรู้อย่างกว้างขวางก่อนที่โองการดังกล่าวจะถูกประทานลงมาท่านยังไม่ทราบเลยว่าค่ำคืนดังกล่าวเป็นค่ำคืนอะไร และมีความยิ่งใหญ่ขนาดไหน ประโยคข้างต้นเป็นการเป็นเน้นย้ำถึง ความยิ่งใหญ่ของ ก็อดรฺ พร้อมทั้งความประเสริฐและฐานันดรของมัน เพราะเป็นไปได้ที่จะใช้สรรพนามแทนชื่อเช่นกล่าวว่า

و ما ادريك ما هى، هى خير من الف شهر

แต่พระองค์กับกล่าวเรียกชื่อลัยละตุลก็อดร์ซ้ำว่า

وَمَا أَدْرَيكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْر       لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ

ความว่า“เจ้ารู้ไหม คืนอัลก็อดร์ นั้นคืออะไร คืนอัลก็อดรฺนั้นดีกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือน”

อัลกุรอานได้ตอบคำถามของอัลกุรอานโดยทันที่ว่าคืนดังกล่าวนั้นมีความประเสริฐกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือน จุดประสงค์ที่กล่าวว่า ดีกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดานักตัฟซีรฺ(อรรถาอธิบายอัลกุรอาน) ต่างกล่าวว่า หมายถึงความประเสริฐของการปฏิบัติอิบาดะฮฺ ซึ่ง คำอธิบายดังกล่าวนี้ตรงกับจุดมุ่งหมายของอัลกุรอานเช่นกันเพราะสิ่งที่ อัลกุรอานประสงค์คือการชี้นำมนุษย์ไปสู่ความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า และด้วยกับการดำรงอิบาดะฮฺตลอดทั้งคืนนั้น ดีกว่าการดำรงอิบาดะฮฺถึงหนึ่งพันเดือนในเดือนอื่น ดังที่อัลกุรอานซูเราะฮฺอัดดุคอนได้กล่าวว่า

 إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُّبَارَكَةٍ

“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในค่ำคืนทีจำเริญ”

 ประกอบกับริวายะฮฺทั้งสายสุนนีและชีอะฮฺได้กล่าวถึงคุณค่า และความประเสริฐของการอิบาดะฮฺในค่ำคืนนี้ไว้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งสนับสนุนคำพูดได้อย่างดี

นอกเหนือจากนี้แล้วการประทานอัล-กุรอานในคืนนี้ การประทานความจำเริญ ความเมตตา และความโปรดปรานของพระองค์ในคืนนี้ยังเป็นเหตุผลสนับสนุนได้อย่างดี และเป็นสาเหตุทำให้ค่ำคืนนี้มีความประเสริฐกว่าเดือนอื่นๆ ถึงหนึ่งพันเดือน

บางตัฟซีรฺกล่าวว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

 “ได้มีทหารของบนีอิสรออีลสวมใส่ชุดทำศึกสงคราม และพวกเขาไม่ถอดชุดนั้นเลยนานถึง ๑๐๐๐ เดือนซึ่งพวกเขาได้ทำสงคราม (หรือเตรียมพร้อม) เพื่อพระผู้เป็นเจ้า บรรดาศอฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ตื่นเต้นมากพวกเขามีความรู้สึกว่าอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง และมีความหวังว่าวันหนึ่งความประเสริฐนั้นคงตกมาถึงพวกเขาบ้าง ทันใดนั้นโองการซูเราะฮฺอัลก็อดร์ก็ถูกประทานลงมาและบอกกับพวกเขาว่า “คืนอัลก็อดรฺนั้นดีกว่าเดือนถึงหนึ่งพันเดือน”

تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ

ความว่า “บรรดามะลาอิกะฮฺและอัรฺรูห์จะลงมาในคืนนี้โดยอนุมัติแห่งพระผู้อภิบาลของพวกเขาเนื่องจากทุกกิจการ”

คำว่า تنزل  รากเดิมคือคำว่า تتنزل  เป็นกริยาปัจจุบันกาลบ่งบอกถึงความต่อเนื่องหมายถึงค่ำคืนแห่งอานุภาพไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่แค่สมัยของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และสมัยของการประทานอัลกุรอานเท่านั้น แต่หมายถึงความต่อเนื่องและการเกิดขึ้นตลอดไปของค่ำคืนแห่งอานุภาพในทุกๆ ปี

จุดประสงค์ของรูห์ (روح) คือรูห์ที่มาจาก (عالم امر) โลกแห่งพระบัญชา อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงรูห์ว่า

قُلِ الرُّوحُ مِنْ أَمْرِ رَبِّي“

จงบอกเถิดว่ารูห์นั้นมาจากพระบัญชาของพระผู้อภิบาลของฉัน” (อิสรอ/๘๕)

รูห์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติสูงกว่าบรรดามลาอิกะฮฺทั้งหลาย

หะดีษได้กล่าวว่ามีผู้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า รูห์ในที่นี้หมายถึงญิบรออีลใช่ไหม ?

ท่านอิมามซอดิก (อ.) ตอบว่า “ญิบรออีลนั้นเป็นหนึ่งในมวลมลาอิกะฮฺ ส่วนรูห์นั้นมีความยิ่งใหญ่กว่ามลาอิกะฮฺ อัลลอฮฺมิได้ตรัสหรือว่า เราได้ประทานมลาอิกะฮฺและรูห์ลงมา”

 

จุดประสงค์ของคำว่า

 مِّن كُلِّ أَمْرٍ หมายถึงมลาอิกะฮฺได้ลงมาเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ และนำเอาสิ่งที่ดีพร้อมทั้งความจำเริญของค่ำคืนนั้นมาให้มนุษย์ ซึ่งจุดประสงค์ที่บรรดามลาอิกะฮฺลงมาก็เพื่อปฏิบัติในภารกิจดังกล่าว

سَلَامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ

ความว่า“คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ”

ในค่ำคืนนี้อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา การอิบาดะฮฺตลอดทั้งคืนมีคุณค่าเท่ากับเดือนถึงหนึ่งพันเดือน คุณความดีทั้งหลาย และความจำเริญแห่งพระผู้เป็นเจ้ายังได้ถูกประทานมาในค่ำคืนนี้ ฉะนั้นนอกจากความเมตตากรุณาอันเฉพาะเจาะจงของพระองค์ที่แผ่ปกคลุมเหนือปวงบ่าวทั้งหลายแล้ว มวลมลาอิกะฮฺและรูห์ ยังได้ลงมาในค่ำคืนนี้อีกต่างหาก

ด้วย เหตุนี้ค่ำคืนแห่งอานุภาจึงเป็นคืนที่มีความสันติและความจำเริญและเปี่ยมล้น ไปด้วยความเมตตาตั้งแต่ตอนหัวค่ำจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ ริวายะฮฺบางบทได้กล่าวว่าในค่ำคืนนี้ชัยฏอนจะถูกจับมัด อีกด้านหนึ่งเป็นคืนที่มีความสมบูรณ์ควบคู่กับสันติ

แสดงความเห็น