สิ่งทดแทนที่ดีกว่า

คัมภีร์อัลกุรอานจะให้การช่วยเหลือมนุษย์ในทุกๆ สภาพการณ์ และไม่เคยทอดทิ้งเขาให้อยู่อย่างเดียวดายในทุกๆ สถานการณ์ การยึดมั่นต่อคัมภีร์อัลกุรอานจะทำให้เกิดความสงบมั่น ความรอดพ้น เกิดความหวัง แสงสว่างและกำลังใจ

 และจะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความสับสนและความกังวลใจ มนุษย์จะไม่ประสบกับความสิ้นหวังและความพ่ายแพ้ ส่วนหนึ่งจากกรณีต่างๆ ที่มนุษย์จะต้องเข้าพึ่งพิงภายใต้แสงแห่งรัศมีของคัมภีร์อัลกุรอาน นั่นคือ ในช่วงเวลาที่มีปรากฏการณ์อันแสนขมขื่น เหตุการณ์และความทุกข์ยากต่างๆ เกิดขึ้น เหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์ไม่พึงประสงค์

 

   แต่กงล้อแห่งชีวิตมันไม่ได้หมุนไปตามที่หัวใจของมนุษย์ปรารถนา เหตุการณ์ต่างๆ ที่รุนแรงและหนักหน่วง จะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์สูญเสียสิ่งที่ตนรักและหวงแหนไปในท่ามกลางชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข หรืออาจทำให้เขาไปไม่ถึงยังสิ่งเหล่านั้น การมีอยู่ของปัญหาต่างๆ ในลักษณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในกงล้อแห่งการดำเนินชีวิต ในช่วงเวลาของความทุกข์ยากและการปรากฏขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะเกิดความทุกข์โศก ความกลัดกลุ้มและความคับแค้นใจ และจะแสดงออกถึงความท้อแท้และความสิ้นหวัง

 

    ในช่วงเวลานี้หากเขาไม่หันหน้าเข้าหาพระผู้เป็นเจ้า และไม่มีการช่วยเหลือใดๆ จากพระองค์ ความทุกข์ยากเหล่านั้นก็จะทำให้เขาตกอยู่ในสภาพของการกดดันและสับสน ทางออกทั้งหมดของเขาจะถูกปิดลง ในสภาพการณ์เช่นนี้ ด้วยกับความมหัศจรรย์แห่งคัมภีร์อัลกุรอ่านมันสามารถที่จะขจัดความทุกข์โศกต่างๆ ได้ และจะทำให้มนุษย์ขับเคลื่อนไปในโลกแห่งจิตวิญญาณ โดยที่มนุษย์จะไม่รู้สึกถึงความอ่อนแอและความพ่ายแพ้ใดๆ เลย ในทางกลับกัน เขาจะโบยบินสู่ความสมบูรณ์ (กะม้าล) ด้วยเดชานุภาพและการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า ความทุกข์ยากและความเศร้าโศกเสียใจทั้งมวลจะถูกเปลี่ยนเป็นความหวานชื่นและความสวยงาม

 

وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُمْ مُصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ أُولَئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِنْ رَبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ

 

          “…และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด บรรดาผู้ซึ่งเมื่อความทุกข์ยากหนึ่งๆ ได้มาประสพกับพวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า ‘แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราจะต้องกลับคืนไปสู่พระองค์’ พวกเขาเหล่านั้นย่อมได้รับพรและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่ได้รับการชี้นำโดยแท้จริง”

 

(อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 155-157)

 

إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ

 

“แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราต้องกลับคืนไปสู่พระองค์”

 

     โองการอันจำเริญนี้ถูกรู้จักในนาม “อายะฮ์อัลอิสติรญาอ์” จะเป็นสื่อทำให้มนุษย์ได้รับการทดแทนสิ่งที่เขาได้สูญเสียไป และเขาจะได้มาซึ่งผลรางวัลตอบแทนต่างๆ แห่งปรโลก (อาคิเราะฮ์)

 

     จากวจนะและคำสอนของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ทำให้รับรู้ได้ว่าประโยคอันจำเริญนี้มีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์อัลกุรอ่านเพียงเท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสอนสิ่งนี้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และประชาชาติของท่าน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในท่ามกลางประชาชาติใดๆ มาก่อนในยุคอดีต และในมวลหมู่ศาสดาก่อนหน้านี้

 

   มีผู้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “ความโศกเศร้าของท่านศาสดายะอ์กูบในการจำพรากจากท่านศาสดายูซุฟนั้นมีมากเพียงใด?” ท่านอิมามได้ตอบว่า “หากมารดาคนหนึ่งได้สูญเสียลูกผู้เป็นแก้วตาดวงใจของตนไป เธอต้องเสียใจและเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด ในการจำพรากจากไกลกันของท่านศาสดายูซุฟทำให้ท่านศาสดายะอ์กูบได้รับความทุกข์โศกและเจ็บปวดมากกว่าถึงเจ็ดสิบเท่า” ต่อจากนั้นท่านอิมามได้กล่าวเสริมว่า “ในยุคนั้นประโยค ‘อิสติรญาอ์’ ยังไม่มี และด้วยเหตุนี้ในความโศกเศร้าของท่านศาสดายะอ์กูบท่านจึงได้กล่าวรำพันว่า “โอ้ความระทมทุกข์ของฉันที่มีต่อยูซุฟเอ๋ย!”

 

เหตุการณ์และความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) ที่มาประสบ

 

      ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจคำว่า “มุซีบะฮ์” (ความทุกข์ยาก) ว่าเป็นความทุกข์ยากและความเศร้าโศกเสียใจที่ใหญ่หลวง ตัวอย่างเช่น การสูญเสียบุตรหรือผู้ที่รักไป โดยทั่วไปแล้วประโยค

   إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ โดยหากใครก็ตามได้ยินคำพูดประโยคดังกล่าวมักจะเข้าใจว่ามีความทุกข์โศกที่ใหญ่หลวงเกิดขึ้นกับผู้กล่าวประโยคนี้

 

      เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่ามุซีบะฮ์ (ความทุกข์โศก) นั้นไม่ใช่เพียงเฉพาะสำหรับเหตุการณ์ที่ใหญ่หลวงซึ่งไม่อาจทดแทนได้เท่านั้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่เล็กน้อยก็ถือเป็นมุซีบะฮ์ (ความทุกข์โศก) ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตะเกียงซึ่งอยู่ในมือของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ดับลง ท่านได้กล่าวว่า

 

   إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ

 

      ซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งได้ถามว่า “สิ่งนี้ก็เป็นมุซีบะฮ์ด้วยหรือ?”

 

      ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ตอบว่า :

 

کُلُّ شَیءً یؤذی المُؤمِن فَهُوَ لَهُ مُصیبَة

 

“ทุกๆ สิ่งที่ทำให้ผู้ศรัทธาไม่สบายใจ มันคือมุซีบะฮ์สำหรับเขา”

 

    พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า “แน่นอนยิ่งเราจะทดสอบพวกเจ้า ด้วยบางสิ่งจากความหวาดกลัว ความหิวโหย ความบกพร่องในทรัพย์สิน ชีวิตและพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ซึ่งเมื่อความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) หนึ่งๆ ได้มาประสพกับพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า

 

 إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ

 

 “แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราจะต้องกลับคืนสู่พระองค์”

 

     การทดสอบสำหรับผู้ที่มีความอุตส่าห์พยายาม การปฏิบัติอะมั้ลนี้จะเป็นเหตุของการพัฒนา ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่ได้รับการอบรมขัดเกลาโดยคัมภีร์อัลกุรอาน เขาจะยืนหยัดอย่างมั่นคงด้วยความหวังที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า การกล่าวประโยค “อิสติรญาอ์” หมายถึง การประกาศความพร้อมที่จะเผชิญกับความไม่ราบรื่นต่างๆ และการมีชัยชนะเหนือการทดสอบ ดังนั้นเราสามารถรับรู้ได้จากโองการอัลกุรอ่านอันจำเริญนี้ว่าทุกๆ ปัญหาที่ทำให้มนุษย์เกิดความเจ็บปวดและความไม่สบายใจ มันคือมุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) และจำเป็นที่เราจะต้องใช้ประโยชน์จากโองการอิสติรญาอ์

 

ความหมายของโองการ

 

     เมื่อมนุษย์ประสบกับความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) และเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา จะพบว่าตัวเองเป็นผู้อ่อนแอและพ่ายแพ้ แต่ผู้ที่เป็นมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) จะประกาศตนว่า “เรามาจากอัลลอฮ์ และเราย่อมคืนกลับไปสู่พระองค์” เรามาจากพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และเนื่องจากเราคือบ่าวของพระองค์ เราเชื่อมั่นว่าพระองค์จะไม่ทรงกระทำสิ่งใดที่เป็นโทษภัยต่อเรา และด้วยกับคำพูดประโยคนี้ เราได้แสดงออกถึงความพอใจและการน้อมรับ และเราจะเพิ่มพูนความเชื่อมั่น (ยะกีน) และการมีจิตมุ่งตรงต่อพระองค์มากยิ่งขึ้น

 

      จากจุดนี้เองที่มุมมองต่างๆ จะเปลี่ยนแปรไป และความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) จะกลายเป็นสิ่งที่สามารถอดทนได้ เนื่องจากเรากล่าวว่า “เราจะกลับคืนไปยังพระองค์ในปรโลก (อาคิเราะฮ์)” และพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทอดทิ้งเราไว้ในสภาพที่มือว่างเปล่าและไร้ผลรางวัลตอบแทนใดๆ พระองค์จะทรงตอบแทนรางวัลอย่างมากมายต่อความอดทน การยืนหยัดและการแสดงออกถึงการน้อมรับของปวงบ่าวของพระองค์ ด้วยกับการตระหนักถึงความหมายของโองการอันจำเริญนี้ จะทำให้พลังและความสามารถของมนุษย์ที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) เพิ่มมากขึ้น

 

ผลรางวัลและสิ่งตอบแทน

 

     ในช่วงที่ประสบกับความทุกข์ยาก หากเรารักษาความสงบมั่นของตนเองเอาไว้โดยไม่แสดงความโศกเศร้า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานรางวัลตอบแทนต่างๆ อย่างมากมายแก่เรา ตัวอย่างเช่น

 

1) สิ่งทดแทนที่ดีกว่า

 

2) การอภัยโทษความผิดบาปทั้งหลาย

 

3) การนำทาง (ฮิดายะฮ์) ความเมตตาและการประสิทธิ์ประสาทพรอย่างต่อเนื่อง

 

     สิ่งทดแทนที่ดีกว่า : หากมนุษย์สูญเสียสิ่งใดไปย่อมจะรู้สึกโศกเศร้า แต่หากมีผู้บอกข่าวดีแก่เขาว่า เขาจะได้รับสิ่งที่ดีกว่าเป็นการทดแทนสิ่งที่เขาได้สูญเสียไป เขาย่อมจะปีติยินดี และประโยคอิสติรญาอ์นั้นจะทำหน้าที่เช่นนี้ ในที่นี้มีเรื่องเล่าและประเด็นที่น่าประทับใจอย่างมาก จากท่านหญิงอุมมุซะลามะฮ์ ผู้เป็นภรรยาท่านหนึ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

 

     ก่อนที่จะมาเป็นภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อุมมุซะลามะฮ์เคยเป็นภรรยาของผู้หนึ่งมาก่อน ซึ่งมีนามว่า “อบูซะลามะฮ์” อบูซะลามะฮ์เป็นบุรุษผู้มีคุณธรรม เป็นมุอ์มินและเป็นผู้ที่มีเกียรติ วันหนึ่งเขาได้รายงานฮะดีษบทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ให้อุมมุซะลามะฮ์ฟัง เขากล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่มีมุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) หนึ่งได้มาประสบกับเขา และในช่วงเวลานั้นเขากล่าวว่า

 

 إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ

 

   และหลังจากนั้นเขากล่าวว่า

 

اللّهُمَّ عِندَکَ احتَسِب مُصیبَتی هذِهِ. اللّهُمَّ اخلفنی فیها خَیراً منها

 

“โอ้อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอคำนวณความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) ของข้าพระองค์ ณ พระองค์ โอ้อัลลอฮ์ โปรดมอบสิ่งทดแทนที่ดีกว่ามันแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานสิ่งทดแทนที่ดีกว่าให้แก่เขา”

 

      ท่านหญิงอุมมุซะลามะฮ์ได้จดจำฮะดีษบทนี้ไว้ในความทรงจำ ครั้นต่อมาเมื่อสามีของเธอได้จากโลกนี้ไป ท่านหญิงได้กล่าวประโยคอิสติรญาอ์พร้อมกับวิงวอนว่า “โอ้อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอคิดคำนวณมุซีบะฮ์ของข้าพระองค์ ณ พระองค์” และเมื่อเธอต้องการที่จะกล่าวว่า “โปรดประทานสิ่งทดแทนที่ดีกว่าเขาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด” เธอเกิดความลังเลใจและไม่ยอมกล่าวคำพูดประโยคนั้น เธอได้กล่าวกับตัวเองว่า “ไม่มีใครที่ดีไปกว่าเขาอีกแล้ว” แต่หลังจากชั่วขณะหนึ่งเธอก็ได้กล่าวดุอาอ์บทดังกล่าว ผู้คนต่างได้ล่วงรู้ถึงความลังเลใจของเธอ ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่เธอได้กลายมาเป็นภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เธอได้ประจักษ์แล้วว่าประโยคอันจำเริญนั้นได้ทำหน้าที่ของมัน และเธอก็ได้รับสิ่งทดแทนที่ดีกว่าจริงๆ

 

     ผู้ที่รับรู้ถึงสภาพของเธอในวันนั้นต่างพากันกล่าวว่า “เห็นแล้วใช่ไหม! เธอได้รับสิ่งทดแทนที่ดีที่สุดอย่างไร?” นางกล่าวว่า “ฉันไม่เคยคาดหวังมาก่อนเลย และไม่เคยอยู่ในความคิดและสิตปัญญาของฉันมาก่อนเลยว่าฉันจะได้เป็นภรรยาของท่านศาสดา”

 

    การอภัยโทษความผิดบาปทั้งหลาย : ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ไม่มีบ่าวคนใดที่เมื่อมุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) ได้เกิดขึ้นกับเขา แล้วเขากล่าวคำอิสติรญาอ์ นอกเสียจากพระผู้เป็นเจ้าจะทรงอภัยโทษความผิดบาปต่างๆ ที่ผ่านมาของเขา”

 

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า “ใครก็ตามเมื่อประสบกับมุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงดลใจให้เขากล่าวโองการอิสติรญาอ์ และเขาก็กล่าวมัน สวรรค์จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา”

 

     ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า “ผู้ใดก็ตามที่ความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) หนึ่งได้มาประสบกับเขา และเขากล่าวว่า إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ เขาจะเข้าอยู่ในรัศมีอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า”

 

     การนำทางและความเมตตาที่ต่อเนื่องของพระผู้เป็นเจ้า : สองประเด็นข้างต้นเราได้อธิบายไปตามมุมมองของริวายะฮ์ (คำรายงาน) แต่ผลตอบแทนข้อที่สามนี้คือข่าวดีที่พระผู้เป็นเจ้าได้แจ้งแก่ปวงบ่าวของพระองค์ด้วยตัวของพระองค์เอง โดยตรัสว่า :

 

أُولَئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِنْ رَبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ

 

“พวกเหล่านั้นย่อมได้รับพรและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาคือผู้ได้รับการนำทางโดยแท้จริง”

 

    โองการอันจำเริญนี้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่สำคัญสามประการ อันเป็นผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างแน่นอนจากการกล่าวประโยคอิสติรญาอ์ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประสิทธิ์ประสาทพรแก่พวกเขาอย่างต่อเนื่อง และจะทรงประทานความเมตตา (เราะฮ์มะฮ์) แก่พวกเขา และทรงจัดพวกเขาให้อยู่ในฐานะบรรดาผู้ได้รับการนำทาง (ฮิดายะฮ์) และบุคคลใดก็ตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงมอบความโปรดปรานเหล่านี้แก่เขา เขาย่อมจะไม่มีความเศร้าโศกและความทุกข์ระทมใดๆ ทั้งในดุนยา (โลกนี้) และอาคิเราะฮ์ (ปรโลก)

 

    บุคคลที่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าได้แผ่ปกคลุมเขา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบรับดุอาอ์ (คำวิงวอน) ของเขา จะสนองตอบความจงรักภักดี (ฏออะฮ์) ของเขา แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม และจะทรงทำให้ปัจจัยยังชีพ (ริษกี) ของเขากว้างขวาง จะทรงประทานความจำเริญ (บาร่อกัต) ให้แก่ชีวิตของเขา จะทรงช่วยเหลือเขาในยามเจ็บป่วยและทุกข์ยาก จะทรงประทานเตาฟีก (ความสำเร็จ) ในการจงรักภักดี (ฏออะฮ์) ต่อพระองค์ให้แก่เขา จะทรงช่วยเหลือเขาให้มีชัยชนะเหนือศัตรู จะทรงให้แสงสว่างแก่ดวงใจและจิตวิญญาณของเขา และอื่นๆ  

      

กรณีต่างๆ ของการกล่าวอิสติรญาอ์

 

      ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ) ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่รำลึกถึงมุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) แม้มันจะผ่านมาเป็นเวลาที่ยาวนานแล้วก็ตาม และเขากล่าวว่า  إِنَّا للّه وإِنّا إِلَیهِ رَاجِعُونَ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานผลรางวัลให้แก่เขาเหมือนกับวันแรกที่ความทุกข์ยากนั้นได้เกิดขึ้น”

 

     จากริวายะฮ์ (คำรายงาน) ในลักษณะนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าการกล่าวประโยคอิสติรญาอ์ ได้ถูกกำหนดเวลาไว้ในสองวาระด้วยกันคือ

 

1) ในช่วงเวลาที่มุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) ได้มาประสบกับมนุษย์

 

2) ในช่วงเวลาที่เขารำลึกถึงมุซีบะฮ์ (ความทุกข์ยาก) ที่ผ่านไปแล้วในอดีต

 

      เราขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดประทานเตาฟีก (ความจำเริญ) ในการปฏิบัติ (อะมั้ล) และโปรดดลใจ (อิลฮาม) แก่เราในการพูดประโยคและโองการอันจำเริญนี้ด้วยเถิด

 

 

บทความโดย : มุฮัมมัด อับดุลลอฮ์

แปล : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

ที่มา - islamicstudiesth.com

แสดงความเห็น