การเปิดประชุมโอไอซี (OIC) ในประเด็นเกี่ยวกับวิกฤตมุสลิมโรฮิงญา

การประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เพื่อการตรวจสอบวิกฤตของมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซีย

 

       “ซัยยิดอับบาส อะรอกี”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน เป็นตัวแทนของอิหร่านในการประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (19 มกราคม 2560)

 

        “มุฮัมมัด ญะวาด ซอรีฟ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ก็จะเข้าร่วมในที่ประชุมวิสามัญของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกโอไอซี ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีเช่นกัน

 

        การประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นตามคำร้องขอของประเทศมาเลเซีย ประเด็นต่างๆ เช่น การล่วงละเมิดและการทำร้ายมุสลิมชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า และกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง จะได้รับการตรวจสอบ โดยการเข้าร่วมของผู้แทนจาก 57 ประเทศสมาชิกของโอไอซี

 

        ตามกำหนดการมติและคำแถลงการณ์ปิดท้ายของการประชุมจะถูกนำเสนอในที่ประชุมวิสามัญหลังจากช่วงบ่าย และจะผ่านการอนุมัติโดยการเข้าร่วมของบรรดาผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าจะมีคำแถลงการณ์ในสามมติจากผลการประชุมของโอไอซี เพื่อการยุติวิกฤตโรฮิงญา

 

        ตามคำแถลงของเจ้าหน้าที่ของมาเลเซีย ประเทศนี้ได้ร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลพม่าในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังมุสลิมชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

 

        รัฐบาลพม่าได้ประกาศเย็นวันพุธว่า เห็นชอบกับการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ความช่วยเหลือนี้จะต้องส่งไปยังย่างกุ้งอดีตเมืองหลวงของประเทศนี้ ก่อนที่จะส่งไปยังรัฐยะไข่

 

        การคลี่คลายความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพม่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งจะถูกกล่าวถึงในมติของที่ประชุม

 

 

 

เราจะไม่อดทนต่อการตกเป็นเหยื่อของชาวมุสลิม ไม่ว่าจะในที่ใดก็ตาม!

 

      นายอะรอกี ได้ให้สัมภาษณ์กับ IRNA ในวันพฤหัสบดี ในระหว่างการประชุมของโอไอซี โดยได้กล่าวว่า “เราจะไม่อดทนต่อการตกเป็นเหยื่อของชาวมุสลิม ไม่ว่าจะในที่ใดก็ตาม และข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐบาลพม่าก็คือ ขอให้ควบคุมสถานการณ์และป้องกันการก่ออาชญากรรมต่อชาวมุสลิม”

 

      รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านกล่าวเสริมว่า “สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยินดีกับการประชุมพิเศษนี้ เป้าหมายของการประชุมนี้คือการหาทางแก้ไขสถานการณ์ของชาวมุสลิมในพม่า ประชากรมุสลิมชาวโรฮิงญา เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พวกเขาต้องถูกฆ่าหรือกลายเป็นผู้อพยพพลัดถิ่น เราไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะมีรากฐานมาจากเรื่องของศาสนา แต่ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตามประเด็นที่สำคัญก็คือ การที่ชาวมุสลิมในที่แห่งนั้นได้ตกเป็นเหยื่อ"

 

      เขาชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับการเป็นพลเมืองของชาวมุสลิมโรฮิงญา และถือว่าประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้ และเสริมว่า “จุดมุ่งหมายของการประชุมพิเศษโอไอซี คือการประกาศความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโลกกับมุสลิมชาวโรฮิงญาในพม่า”

 

      อะรอกี กล่าวย้ำว่า “จะต้องออกคำอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่มุสลิมชาวโรฮิงญาได้ และเราเห็นว่ารัฐบาลพม่ามีหน้าที่จะต้องควบคุมสถานการณ์และยับยั้งอาชญากรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชาวมุสลิม”

 

      เขาชี้ให้เห็นว่า ปัญหาปาเลสไตน์ก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของโอไอซี พร้อมกับกล่าวว่า “นี่คือกฎที่มีอยู่นับจากวันเริ่มต้นขององค์กรนี้ เนื่องจากการก่อตั้งโอไอซีนั้น ก็ด้วยเหตุผลของอัลกุดส์และปาเลสไตน์”

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ได้กล่าวว่า “นอกจากประเด็นหลักของการประชุมพิเศษเกี่ยวกับมุสลิมชาวโรฮิงญาแล้ว ยังมีการพูดถึงปัญหาปาเลสไตน์ และจะมีการประกาศการตรวจสอบสถานการณ์ล่าสุด และจุดยืนของบรรดาประเทศมุสลิมในการสนับสนุนประชาชนชาวปาเลสไตน์และอัลกุดส์”

 

      รัฐยะไข่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า เป็นสถานที่อยู่อาศัยของมุสลิมชาวโรฮิงญาจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2012 จวบจนถึงขณะนี้ ได้กลายเป็นพื้นที่ของความรุนแรงทางชาติพันธุ์ที่ชาวพุทธหัวรุนแรงได้กระทำต่อชาวมุสลิม ในเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายร้อยถูกเข่นฆ่า และอีกหลายหมื่นคนต้องละทิ้งบ้านเรือนของตนเนื่องจากกลัวความตาย และได้ลี้ภัยอยู่ในค่ายลี้ภัยต่างๆ ในสภาพที่เลวร้าย เช่น ในพม่า บังคลาเทศ ประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย

 

      องค์การนิรโทษกรรมสากลได้กล่าวในรายงานหนึ่งว่า กองกำลังทหารและตำรวจของพม่าได้ยิงกระสุนไปยังพลเรือนชาวโรฮิงญา เป็นเหตุทำให้พวกเขาเสียชีวิต มีการข่มขืนผู้หญิงและเด็กสาว ทำการเผาบ้านเรือนของพวกเขา มีการจับกุมบรรดาผู้ชายชาวโรฮิงญา และไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับสถานที่คุมขังหรือข้อกล่าวหาต่างๆ ของพวกเขา

 

      รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธที่จะให้สิทธิการเป็นพลเมืองเต็มรูปแบบแก่ชาวมุสลิมในประเทศนี้ ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 1.1 ล้านคน และถือว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากประเทศบังคลาเทศ ในขณะที่หลายคนเชื่อว่า ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในพม่าได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้มายาวนานแล้ว

 

      มุสลิมชาวโรฮิงญา นับจากปี 1982 ซึ่งผลของการออกกฎหมายใหม่ ทำให้พวกเขาถูกปฏิเสธการได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองพม่า

 

      ตามการประกาศของสหประชาชาติ มุสลิมชาวโรฮิงญาถือเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิด การทำร้ายและความรุนแรงมากที่สุดในโลก

 

      ในช่วงประมาณกลางปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้กล่าวในรายงานของตนว่า ในหลายกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องต่อมุสลิมชาวโรฮิงญาในพม่า สามารถนับได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ที่มา : PressTV

Cr: islamicstudiesth

แสดงความเห็น