โลกหลังความตาย (ตอนที่ 4)

เราคือประติมากรรมของอัลลอฮฺ(ซบ) พี่น้องเข้าใจไหม? ถ้าพี่น้องเป็นนักศิลปะ ถ้าพี่น้องปั้นรูปเหมือนคนจริงๆ เหมือนทุกอย่างเลย แต่มันเคลื่อนไหวไม่ได้เท่านั้น แต่ใครๆมาก็บอกว่าปั้นได้อย่างไร ประติมากรรมอันนี้มันยิ่งใหญ่

 

มนุษย์คือประติมากรรมชิ้นเอกของอัลลอฮฺ(ซบ)

 

เราคือประติมากรรมของอัลลอฮฺ(ซบ) พี่น้องเข้าใจไหม?  ถ้าพี่น้องเป็นนักศิลปะ ถ้าพี่น้องปั้นรูปเหมือนคนจริงๆ เหมือนทุกอย่างเลย แต่มันเคลื่อนไหวไม่ได้เท่านั้น แต่ใครๆมาก็บอกว่าปั้นได้อย่างไร ประติมากรรมอันนี้มันยิ่งใหญ่ หากถามว่าเราจะรักรูปปั้นอันนี้มากสักขนาดไหน เราในฐานะนักปั้นมัน จะรักรูปปั้นอันนี้มากสักขนาดไหน  เป็นประติมากรรมที่   ยิ่งใหญ่  ดังนั้นโลกนี้เราลองดู ถ้าเราดู ภาพโมนาลิซ่าไม่เห็นมีชีวิตชีวาอะไรสักเท่าไรหรอก แต่มันมีค่าสักขนาดไหนสำหรับคนบางคน เราคือประติมากรรมของอัลลอฮฺ(ซบ) เราคือสิ่งถูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ(ซบ) มนุษย์คือสิ่งถูกสร้างยิ่งใหญ่ของพระองค์นี่คืออีกมุมหนึ่ง   มุมแห่งความเมตตา แห่งความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ สิ่งที่อัลลอฮฺ(ซบ)รักที่สุดคือมนุษย์ ดังนั้นเท่าที่เป็นไปได้พระองค์จะไม่ทำลายประติมากรรมอันนี้ ถึงแม้นว่า มนุษย์จะดื้อดึง  มนุษย์จะเกเร มนุษย์จะมีความด่างพร้อย มีอะไรต่อมิอะไรก็ตามที แต่ทว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ) ก็จะทรงเปิดช่องทางเพื่อจะให้ประติมากรรมของพระองค์เหล่านี้รอดพ้นจากไฟนรกเพราะสถานะของประติมากรรมเหล่านี้ไม่ใช่ที่สิ่งที่ถูกสร้างมาให้อยู่ในนรก  แต่ มันเป็นมัคลูกที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเลอเลิศและประเสริฐที่สุด ดั่งที่ อัลกุรอานกล่าวว่า

 

لَقَدْ خَلَقْنَا الإنْسَانَ فِي أَحْسَنِ تَقْوِيمٍ (٤)

 

“โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาในรูปแบบที่สวยงามยิ่ง”  ซูเราะห์ อัตตีน โองการที่ 4

 

อัลลอฮฺ (ซบ) ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในรูปแบบที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีสิ่งถูกสร้างสิ่งใดๆอีกแล้วที่จะประเสริฐไปกว่าความเป็นมนุษย์  แน่นอนสิ่งที่พระองค์สร้างมานั้นมันมีสรรพสิ่งอื่นๆอีกมากมาย แต่ทว่าพระองค์บอกว่าอันนี้คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุด นี่คือผลงานที่ดีที่สุดของฉัน ถ้าไม่จำเป็นพระองค์ก็จะไม่ทำลาย  นั่นเป็นประตูแห่งความเมตตาต่างๆที่เปิดขึ้นมาอย่างมากมาย

 

ดังนั้นสำหรับมนุษย์ทุกคนในเบื้องต้นนั้น เมื่อยังมีชีวิตในโลกนี้ ก็จงเตาบะฮฺเสีย กลับตัวกลับใจเสีย ในความผิดบาปทุกสิ่งทุกอย่างที่เราฝ่าฝืนคำสั่งอัลลอฮฺ (ซบ)  พี่น้องต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่งว่า ศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาที่เป็นเรื่องแค่ประเพณี  พิธีกรรม และไม่ใช่ศาสนาเฉพาะในเรื่องนมาซในสุเหร่า ถือบวช   ซึ่งเมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จแล้วก็จบ  แต่ ศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งวิถีชีวิต ทุกย่างก้าวในชีวิตของมนุษย์มีกฎมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ ซึ่งกฎระเบียบอันนี้นั้น อัลลอฮ์(ซบ)เป็นผู้วางและกำหนด  และมีท่านนบีมูฮัมมัด(ซล)เป็นผู้แสดงแบบ มีกฎ  มีระเบียบ   มีวิถีชีวิต มีระบอบเศรษฐกิจ   มีกฎระเบียบในการทำสงคราม   จะทำการค้าก็มีกฎว่าด้วยการค้า อัลลอฮ์ (ซบ) ประสงค์ให้เข้าใจศาสนานี้ เมื่อพี่น้องเดินไปในตลาด สมมุติ ให้ทำความเข้าใจแบบง่ายๆถ้าพี่น้องเดินเข้าไปในตลาดหรือพี่น้องกำลังจะไปทำการค้าขาย สมมุติเมื่อนึกถึงศาสนานี้หนึ่งในความวิบัติของมนษย์ คือ พระองค์ทรงกล่าวว่า

 

وَيْلٌ لِلْمُطَفِّفِينَ (١)

 

“ความวิบัติจงมีแด่ผู้ที่โกงตาชั่ง”   (ซูเราะห์ อัลมุฏอฮ์ ฟีฟียน โองการที่ 1 )

 

แปลง่ายๆคือศาสนานี้มีคำสั่งให้เข้าไปในตลาด(วัยลุลลิล มุเฏาะฮ์ฟิฟีน)แต่ไม่ใช่ศาสนาอยู่สุเหร่า…อยู่วัด… อยู่ในกุฏิเท่านั้น   ศาสนานี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด เมื่ออยู่ในตลาดสำหรับพ่อค้าที่โกงตาชั่ง พระองค์ก็ทรงกล่าวว่า พวกเขาอยู่ในนรก  อัลกุรอานมีบทบัญญัติครบสูตร ที่เกี่ยวกับการค้า เกี่ยวกับการขาย เกี่ยวกับการชั่ง เกี่ยวกับการตวง

 

الَّذِينَ إِذَا اكْتَالُوا عَلَى النَّاسِ يَسْتَوْفُونَ (٢)وَإِذَا كَالُوهُمْ أَوْ وَزَنُوهُمْ يُخْسِرُونَ (٣)

 

“  คือบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาตวงเอาจากคนอื่นก็ตวงเอาเต็ม  และเมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้คนอื่นก็ทำให้ขาด”

 

นอกจากนั้น ศาสนานี้ก็มีคำสั่งในเรื่องการเดินบนถนน

 

وَقُلْ لِلْمُؤْمِنَاتِ يَغْضُضْنَ مِنْ أَبْصَارِهِنَّ

 

“ และจงกล่าวเถิดมุฮัมมัดแก่บรรดามุอ์มินะฮฺให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ”     (ซูเราะห์ อัล นูร   โองการที่  31)

 

กล่าวคือ เมื่อผู้หญิงเดินบนถนน จงกล่าวกับหญิงผู้ศรัทธาว่า ให้นางลดสายตาของนางให้ต่ำลง แม้แต่เดินบนถนนก็มีคำสั่ง  เมื่อผู้หญิงกับผู้ชายต้องปะปน ต้องสวนทางกัน ก็มีคำสั่งอีกเช่นกัน ตาอยู่ยังไง ยังมีคำสั่งว่าตาสมควรอยู่ลักษณะไหน บอกอีกไม่ใช่บอกเพียงเท่านี้ใน (ซูเราะฮฺ อัลอะซาบ) บอกด้วยว่า ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งแฟชั่นสมัยนั้นผู้หญิงจะใส่กำไลเท้าเหมือนกับแมวสมัยนี้สมมุติ และสมัยโน้น แฟชั่นของสมัยโน้น พอเดินแล้วกรุ๊งกริ๊งๆ ผู้ชายก็จะรู้เลยว่าผู้หญิงกำลังมา อัลลอฮฺ (ซบ) ตรัสว่า จงอย่าให้เสียงจากการเดินเท้าของเจ้าดังขึ้น   นี่กำลังอธิบายให้เห็นว่าศาสนานี้มันเกี่ยวข้องกับทุกย่างก้าวในวิถีชีวิตของมนุษย์ ศาสนานี้ถูกส่งลงมาแบบนี้ แม้แต่ผู้หญิง(กุลลิล มุมินีน) จงกล่าวกับหญิง ผู้ศรัทธา จงปกปิดหน้าอกของนาง กุรอานก้าวก่าย(อธิบายการวางตัวของสตรี)แม้แต่เรื่องหน้าอกของผู้หญิง             อัลกุรอานกล่าวว่า

 

وَيَحْفَظْنَ فُرُوجَهُنَّ وَلا يُبْدِينَ زِينَتَهُنَّ إِلا مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَلْيَضْرِبْنَ بِخُمُرِهِنَّ عَلَى جُيُوبِهِنَّ

 

“ และให้พวกเธอรักษาทวารของพวกเธอ และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศีรษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ และอย่าให้เธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ ”

 

หมายความว่า  จงอย่าเผยโฉม จงอย่าโชว์สัดส่วน ซึ่ง อัลกุรอานพูดอย่างละเอียดมาก ไม่ใช่ว่ามีคำสั่งแค่ลดสายตาเพียงอย่างเดียว  แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันและระมัดระวัง เรื่องชู้สาวที่จะตามมา  คือเมื่อมีโอกาส เราจะต้องสร้างวิถีชีวิตของเราและสังคมของพวกเรา ให้ดำเนินไปตามวิถีชีวิตของอัลกุรอาน  และเมื่อนั้นสังคมของมุสลิมก็จะเป็นสังคมที่บริสุทธิ์ จะเป็นสังคมตัวอย่างและเป็น สังคมแบบอย่างสำหรับมนุษยชาติ  สำหรับมนุษย์โลกทั้งปวง

 

อัลลอฮฺ(ซบ)ส่งสิ่งดีที่สุดให้กับมนุษย์ แล้วกล่าวว่า

 

كُنْتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ

 

“  พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ ”  (ซูเราะห์ อาลิอิมรอน   โองการที่   110)

 

เจ้าพวกเจ้านี่แหละ คือประชาชาติที่ประเสริฐที่สุดที่จะปรากฏต่อมนุษยชาติ ซึ่งความประเสริฐอันนี้ ฉันได้วางระเบียบแบบแผนที่ประเสริฐสุดสำหรับพวกเจ้าไว้ให้แล้ว เมื่อจะดื่มกินและรับประทานอาหาร ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการดื่มกิน ศาสนานี้ไม่ได้ห้ามให้กินเหล้าเพียงอย่างเดียว ห้ามร่วมวงเหล้า  ห้ามยกเหล้า  ห้ามขายเหล้า  ห้ามซื้อเหล้า  ห้ามรินเหล้าให้  นั้นหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับเรื่องเหล้า  ซึ่งอัลฮัมดุลิลละฮฺ  ในยุคสมัยนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นที่สรรเสริญ เยินยอสำหรับคนต่างศาสนิกว่า มุสลิมยึดปฏิบัติจริงๆๆๆ มีแต่ร้านมุสลิมเท่านั้นที่บอกว่าห้ามนำสุรามาดื่ม ซึ่งตรงนี้บ่งชี้ว่าการยืนหยัดในอุดมการณ์เหล่านี้นั้นเป็นหน้าที่สำหรับพี่น้องมุสลิมทุกคน

 

 เตาบะห์คือประตูแห่งความเมตตาของพระองค์

 

มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาในรูปแบบปล่อยทาส คือไม่ได้สนใจใยดีใดๆ แต่ทว่าเมื่อมนุษย์คืนกลับยังพระองค์แล้ว จะต้องตอบทุกคำถาม ว่า ทำไมฝืนคำสั่งของฉัน  เมื่อจบประเด็นนี้  ก็จะทรงถามว่า ทำไมคิดอย่างนี้?  ตรงนี้ทำไมคิดอย่างนั้น?  แม้แต่การคิด   แม้แต่การมองการเห็นและสิ่งที่มีอยู่ในใจ   ฉันจะถามทั้งหมด โอกาสที่มนุษย์จะรอดพ้นจากการลงโทษมันไม่ใช่ง่าย พี่น้อง ! ดังนั้นอัลลอฮฺ(ซบ) จึงเปิดประตูแห่งความเมตตา ประตูแห่งการเตาบะฮฺ ประตูแห่งการอิสติฆฟาร ประตูแห่งการขออภัยโทษ    อาจจะมีบางคนตั้งใจจะเป็นคนดีหรือกำลังเป็นคนดีอยู่ แต่ยังมีความผิดพลาด เกิดรถชนไม่ทันที่จะได้เตาบะฮฺ ไม่ทันได้กลับตัว  หรือเป็นลมเป็นอะไรก็แล้วแต่ หรือ เกิดอุบัติเหตุเพราะมนุษย์ไม่มีใครรู้ว่าจะตายวันไหน ตายเมื่อไร ประตูแห่งเราะฮฺมัตก็ยังไม่ได้ปิดทั้งหมดพี่น้อง!  ตรงไหนที่บอกว่าประตูเราะฮฺมัตยังเปิดเสมอและไม่ถูกปิด?   กรณีตัวอย่างเช่น การนมาซญะนาซะฮฺ  ถ้าเราดูความหมายของมัน คือการขออภัยโทษให้กับคนตาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นมาซญะนาซะฮฺ ที่เรียกว่านมาซจริงๆแล้ว มันไม่ใช่การนมาซ   แต่มันเป็นการ   ขอดุอาอฺ  เพราะมันไม่มีรูกัวะอฺ (การโค้ง) ไม่มีซูญูด  มันเป็นเพียงแค่ดุอาอฺ แต่เรียกว่านมาซญะนาซะฮฺ  เพราะนมาซญะนาซะฮฺ แปลว่า คนเป็น(คนที่มีชีวิตอยู่) มาขอพรให้อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงอภัยโทษให้กับคนตาย และไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง  มันเป็นกฎข้อบังคับที่เป็นวาญิบที่อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงกำหนดขึ้นมา  ส่วนผลบุญจะได้หรือไม่ได้  ถึงหรือไม่ถึงไม่ใช่เรื่องของเรา!    แต่มันเป็นคำสั่งที่อัลลอฮฺ(ซบ)ใช้ให้เราทำ

 

บัญชีของมนุษย์มันจะมีความแตกต่างกัน บางคนอาจจะได้รับผลบุญ หรือบางคนผลบุญอาจไม่ถึง แต่ว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่า ไหน ใครที่นมาซสมบูรณ์แล้ว อัลลอฮ์(ซบ) ยอมรับแล้ว ไหน ลองยกมาสักคนหนึ่ง  ที่นั่งตรงนี้คนไหน หรือมีใครกล้ายกมือบ้าง นมาซสมบูรณ์แล้ว  และก็อัลลอฮฺยอมรับแล้ว   ดังนั้นเมื่อไม่รู้ว่าอัลลอฮฺ (ซบ) ทรงรับหรือไม่ แล้วทำไมถึงได้ปฏิบัติล่ะ?  เราต้องทำตามหน้าที่ แม้แต่คนที่บอกถึงไม่ถึง  ถามว่านมาซที่คุณทำไปนั้นมันถึงหรือเปล่า ถ้าแค่เราสังเกตนิดหนึ่ง  ว่าถ้าพี่น้องจะตอบพวกที่ต่อต้านการทำบุญ ตอบแบบง่ายๆ นั่นคือ การนมาซญะนาซะฮฺจริงๆแล้วคือการขอให้อัลลอฮฺ (ซบ) ทรงอภัยโทษให้แก่ผู้ตาย และมันเป็นฟัรฎูกิฟาญะฮฺ  (คือ เบื้องต้นเป็นหน้าที่ของทุกคนในหมู่บ้านนั้นที่ทราบข่าวต้องมาร่วมนมาซ ถ้าไม่มีใครมาทำสักคนหนึ่งถือว่าบาปทั้งหมด แต่ถ้ามีคนมาทำ ส่วนที่เหลือก็ถือว่าไม่เป็นวาญิบแล้วสำหรับเขา)  แสดงว่าอัลลอฮฺ (ซบ)ให้คนกลุ่มหนึ่งมาขออภัยโทษให้กับคนตาย  ตรงนี่มันค้านกันไหมกับที่เขาบอกว่าตายไปแล้วตัดขาดไม่มีอะไรผูกพันอีก  ค้านกันไหม มันค้านกันอยู่แล้ว พี่น้อง!    เรามาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า  มันค้าน  แสดงว่าคนตายกับคนเป็นไม่ได้ขาดจากกัน หลังจากนั้นเรามีตัลกีน  สอนจริงๆจะพิสูจน์หลายสิ่งหลายอย่าง ในฮะดิษบทหนึ่งในหนังสือของติรมีซีย์ ที่ท่านนบี(ซล)บอกว่า  จงสอนคนตายของเจ้า  แต่พวกบิดเบือนพยายามจะบิดเบือนว่า จงสอนคนใกล้ตาย

 

การสอน “ตัลกีน”เพื่อย้ำเตือนมนุษย์

 

ทำไมต้องสอนตัลกีนให้กับคนตาย?   เพราะเขากำลังจะย้ายสถานที่ใหม่ หรือประตูใหม่ที่จะเข้าไปนั้นจะต้องตอบคำถามให้ได้ คือถ้าตอบผิดประตูนี้ จะต้องไปอีกประตูหนึ่ง ซึ่งมีประตูเจ็บกับประตูไม่เจ็บ ซึ่งการย้ายโลกการย้ายอลัม(ภพ)นั้น จะต้องย้ายพร้อมกับการตอบ เหตุผลที่เราฟังกันมา ว่า เมื่อมาลิกินเมาต์ ถามว่า (มา ร็อบบุกา)ใครคือพระผู้อภิบาลของเจ้า?  แต่ถ้าไม่สามารถตอบได้  พระผู้อภิบาลตรัสว่า คนนี้ต้องถูกส่งไปประตูโน้น  ประตูที่ มีไฟ  มีงู  มีแมลงป่อง  มีอะไรต่างๆนาๆที่รออยู่  และใครที่ตอบว่า( อัลลอฮุ ร็อบบี) พระองค์คือพระผู้อภิบาลของฉัน   ก็จะถูกถามต่อไปอีกว่า  (มันนะบี ยุก่า)ใครคือนบีของเจ้า?ใครคือกิตาบของเจ้า? ใครคืออิมามของเจ้า?  ซึ่งสิ่งนี้มันมีอยู่ในตัลกีนที่สอนให้กับคนตาย  เพื่อให้เขาพร้อมที่จะตอบ โดยในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่ได้ตาย เพียงแต่ว่าเราสื่อเขา เขาได้ยินเรา เราพูดเขาได้ยิน แต่เขาพูดเราไม่ได้ยินเท่านั้นเอง!

 

การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นภาระหน้าที่ของเรา

 

ในศาสนานี้ ได้มีการวางกลไกอย่างมากมายให้กับมนุษย์ จริงๆแล้วมันมีรายละเอียดอย่างมากมาย  บางคนครึ่งๆกลางๆ คนดี ถ้าคนดี ต้องรอผลบุญจากโลกนี้ที่ส่งไป คนชั่วสุดๆไม่ต้องรอ ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถึง อันนั้นแน่นอน    แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าคนนี้ชั่วสุดๆ คนนี้คนดีสุดๆ เมื่อมีคนตายจะชั่วหรือจะดี  เรามีหน้าที่ในการส่งความเมตตาให้กับพวกเขาเท่านั้น  ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ แต่มีกรณียกเว้นว่า เมื่อเป็นมุนาฟิกถึงขั้นทำลายศาสนา ซึ่งศาสนาเองก็ไม่อนุญาต  อัลลอฮฺ (ซบ) ก็ไม่อนุญาตให้ท่านนบี(ซล) ยืนอยู่บนหลุมศพของพวกมุนาฟิก   อย่าไปยืน  อย่าไปขอพรให้พวกมันเป็นอันขาด!  แต่ถ้ามุสลิมทั่วไปมีความผิดพลาด เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปลดเปลื้องให้กับเขา บางคนโชคดี  มีริวายัต บอกว่าบางคนโชคดีได้พ้นโทษด้วยกับการ “ดุอาอฺ” ด้วยกับความดีของคนที่ยังมีชีวิตอยู่  ด้วยกับผลบุญที่เขาทำและฮาดียะฮฺให้กับคนตาย   ซึ่งรูปแบบต่างๆเหล่านี้นั้นมันมีมากมายหลายประเภท เช่น การฮาดียะฮฺ  การทำบุญให้กับคนตาย    การอ่านกุรอาน   การบริจาคให้ “ฟะกีร มิสกีน” คนยากคนจน  โดยตั้งเจตนา เนียตผลบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับคนตาย  การเลี้ยงอาหาร ก็คือการทำความดีชนิดหนึ่งให้กับคนตายนั้นเอง

 

มีวันหนึ่งท่านนบีมูฮัมมัด(ซล) เดินผ่านกูโบร์แห่งหนึ่ง ซึ่งท่านเดินไปกับบรรดาศอฮาบะฮฺจำนวนหนึ่ง นบี(ซล)เดินผ่านไปอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก ศอฮาบะฮฺก็วิ่งตามไม่ทันพอนบี (ซล) เดินผ่านมาอีกครั้งหนึ่ง ท่านนบี(ซล)เดินผ่านอย่างสงบเยือกเย็นเป็นอย่างมาก จึงทำให้ศอฮาบะฮฺดังกล่าวเอ่ยถามว่า”ยารอซุลลุลลอฮฺ ทำไมการผ่านของท่านสองรอบจึงไม่เหมือนกัน?  ช่วงเวลาแรกที่ท่านเดินผ่าน ท่านถึงเดินอย่างรวดเร็ว แล้วช่วงกลับท่านได้เดินอย่างสงบเยือกเย็น?    ท่านนบี(ซล)บอกว่า”ตอนที่ฉันเดินผ่านมานั้นชายคนหนึ่งกำลังถูกลงโทษในหลุมฝังศพ ฉันกลัว ฉันก็กลัวกับการได้ยินการลงโทษ  เสียงมันน่ากลัวอย่างมากเสียงกรีดร้องมันทุกข์ทรมาน ฉันก็ต้องรีบเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว  แต่เมื่อฉันเดินกลับมา กลับพบว่าเขาได้รับความสงบสุขเล็กน้อย” ศอฮาบะฮฺก็ถามว่า”ยา รอซุลลุลลอฮฺ ทำไมเป็นอย่าง นี้? ท่านนบี(ซล)บอกว่า พอดีตอนนี้ ตอนที่เขาได้รับความสงบสุขนั้น ลูกๆของเขากำลังเรียนอัลกุรอานอยู่ ลูกๆของเขาที่อยู่ในโลกนี้กำลังเรียนอัลกุรอานอยู่  อัลลอฮฺ (ซบ) ก็เลยให้อานิสงค์ ของการอ่านอัลกุรอานของลูกๆของเขา ไปถึงเขา ถึงแม้ว่าเขาจะมีความผิดที่จะต้องถูกลงโทษ ก็ตามที แต่ในช่วงที่ลูกๆกำลังเรียนอัลกุรอาน กำลังอ่านอัลกุรอานนั้น  อัลลอฮฺ (ซบ) ทรงให้อภัยโทษกับเขาชั่วคราว กล่าวคือหยุดการลงโทษ  ซึ่งฮะดิษในรูปลักษณะนี้ มันมีอย่างมากมายหลายรูปแบบ ทั้งที่ว่าด้วย การอ่านกุรอานและการทำบุญให้กับผู้ตาย   แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือความดีที่ลูกๆทำไว้นั้นคือ     สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา  ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะทำและอุทิศผลบุญให้กับคนตาย ข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ     การนมาซญะนาซะฮฺ นี่แหละพี่น้อง!

 

 

ติดตามอ่านต่อ  โลกหลังความตาย (ตอนจบ)

 

ที่มา - www.syedsulaiman.com

แสดงความเห็น