บทบาทของอิมามริฎอ (อ.) ในการฟื้นฟูคุณค่าแห่งอิสลาม
แนวทางในการรู้จักบรรดาอิมาม (อ.)
ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นที่ว่า ท่านอิมามริฏอ (อ.) มีบทบาทสำคัญอย่างไรในการพิทักษ์ปกป้องอิสลามอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) การฟื้นฟูคุณค่าต่างๆ แห่งอิสลาม และการเชิดชูหลักคำสอนของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั้น จำเป็นที่เราจะต้องมารู้จักถึงสถานภาพและความยิ่งใหญ่ของท่านอิมาม (อ.) โดยสังเขปเสียก่อน หนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดในการรู้จักบรรดาอิมาม (อ.) ของชีอะฮ์ นั่นก็คือ การพิจารณาถึง “อัลก๊อบ” (القاب) หรือ “สมญานาม” ที่ถูกขนานนามอันเป็นเฉพาะของท่านเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ท่านอิมามอิมามฮุเซน (อ.) ที่ได้รับสมญานามว่า “ซัยยิดุชุฮะดาอ์” เนื่องจากการพลีชีพของท่านเพื่อรักษาหลักคำสอนหรือแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เอาไว้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คือท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ที่ได้รับสมญานามว่า “บากิรุ้ลอุลูม” (ผู้ผ่าขุมคลังแห่งวิชาการ) เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานวิชาการต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) อิมามแต่ละท่านจะมีสมญานามเฉพาะของท่าน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทและสถานภาพที่สำคัญของพวกท่านที่มีต่ออิสลามและต่อประชาคมอิสลาม ถึงแม้ว่าในเนื้อหาต่างๆ ทางศาสนาจะกล่าวถึงอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ทั้งหมดในฐานะ « کلّهم نور واحد» (ทุกท่านเหล่านั้นคือนูร (รัศมี) หนึ่งเดียวกัน) ดังเช่นที่เราจะอ่านใน “ซิยาเราะฮ์ ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์” ที่กล่าวว่า
أَنَّ أَرْوَاحَكُمْ وَ نُورَكُمْ وَ طِينَتَكُمْ وَاحِدَةٌ طَابَتْ وَ طَهُرَتْ بَعْضُهَا مِنْ بَعْضٍ خَلَقَكُمُ اللَّهُ أَنْوَارًا
“แท้จริงรูห์ (ดวงวิญญาณ) ของพวกท่าน นูร (รัศมี) ของพวกท่าน ธรรมชาติของพวกท่าน คือหนึ่งเดียวกัน ที่เป็นสิ่งที่สะอาดและบริสุทธิ์ ซึ่งมาจากกันและกัน อัลลอฮ์ได้ทรงสร้างพวกท่านขึ้นมาเป็นนูรที่หลากหลาย” (1)
สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันและพิสูจน์ถึงความรู้อันสูงส่งของท่านอิมามริฎอ คือคำสารภาพของนักวิชาการและปวงปราชญ์ในยุคสมัยของท่านอิมามริฎอ (อ.) เอง ตัวอย่างเช่น มัรฮูมเชคซอดูก ได้กล่าวว่า : ที่ใดก็ตามที่มะอ์มูน (บุตรของฮอารูน อัรอชีด ผู้ปกครองแห่งวงศ์อับบาซียะฮ์) คาดคิดว่าจะมีผู้รู้และนักวิชาการที่มีความสามารถที่จะโต้เถียงและถกทางวิชาการกับท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้ เขาจะเชื้อเชิญผู้รู้และนักวิชาการคนนั้นมายังที่ชุมนุมของเขา และขอให้เขาถกเถียงทางด้านวิชาการกับท่านอิมาม เกี่ยวกับกรณีนี้ เขามีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้บรรดานักวิชาการและนักคิดจากสำนักคิดและกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ให้เอาชนะท่านอิมามริฎอ (อ.) ให้ได้ในการถกเถียงทางด้านวิชาการต่างๆ (ที่เขาจัดขึ้น) เนื่องจากความอิจฉาริษยาและความเป็นศัตรูที่แฝงอยู่ในจิตใจของเขาที่มีต่อท่านอิมาม แต่ทว่าในทุกๆ การชุมนุมโต้เถียงและการถกทางวิชาการที่หนักหน่วงและมีความซับซ้อนนั้น ท่านอิมามริฎอ (อ.) สามารถเอาชนะบรรดานักวิชาร่วมสมัยทุกคนได้ และท้ายที่สุดฝ่ายตรงข้ามของท่านต้องยอมรับสารภาพถึงความประเสริฐของความรู้ที่เหนือกว่าและความเชี่ยวชาญของท่านอิมามริฎอ (อ.) ยกย่องเทิดทูนในการพิสูจน์หลักฐานและการให้เหตุผลที่แข็งแกร่งของท่าน
การเจริญเติบโตทางด้านวิชาการและการแผ่ขยายของแนวทางชีอะฮ์ในสมัยของท่านอิมามริฎอ (อ.)
ส่วนหนึ่งจากภารกิจหน้าที่ต่างๆ ที่สำคัญของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านอิมามริฎอ (อ.) ในด้านหนึ่งนั่นคือ การชี้แนะและการนำทางประชาชนไปสู่คำสอนของคัมภีร์อัลกุอานและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในอีกด้านหนึ่ง คือการสั่งสอนและการอบรมขัดเกลาประชาชนและการมุ่งความสนใจของพวกเขาไปสู่ความรู้ด้านวิชาการและการต่อสู้กับรูปแบบต่างๆ ของความไม่รู้ ความโง่เขลาและความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ และท้ายที่สุดก็คือ การอบรมขัดเกลาสานุศิษย์ บรรดาผู้รู้และนักวิชาการ ซึ่งแต่ละคนนั้นมีบทบาทสำคัญในการยกระดับและแผ่ขยายวัฒนธรรมและรากฐานทางด้านแนวคิดของชีอะฮ์
ท่านอิมามริฎอ (อ.) นั้น ทั้งในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในนครมะดีนะฮ์มุเนาวะเราะฮ์ และในช่วงที่ท่านอพยพไปสู่เมืองมัรว์ เมืองหลวงของแคว้นคูราซานนั้น ท่านได้ทำหน้าที่สนองตอบต่อผู้ที่กระหายทางวิชา การแสวงหาความรู้และการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) พระผู้เป็นเจ้าอยู่ตลอดเวลา ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า
رَحِمَ اللهُ عَبداً أَحيا أمرَنا
“ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาบ่าวผู้ที่ฟื้นฟูภารกิจของเรา”
ผู้รายงาน (อับดุซซะลาม บินซอและห์ อัลฮะรอวี) กล่าวว่า “เขาจะฟื้นฟูภารกิจของท่านได้อย่างไร” ท่านตอบว่า
يَتَعَلَّمُ عُلومَنا وَيُعَلِّمُها النّاسَ ، فإنَّ النّاسَ لوَ عَلِموا مَحاسِنَ كَلامِنا لاتَّبَعونا
“เขาจะแสวงหาความรู้ต่างๆ ของเรา และจะสอนมันแก่ประชาชน เพราะแท้จริงประชาชนนั้น หากพวกเขาได้รับรู้ถึงความดีงามของคำพูดของเรา แน่นอนยิ่ง พวกเขาจะปฏิบัติตามเรา” (2)
ท่านยังได้กล่าวอีกว่า “ฉันมักจะนั่งอยู่ในมัสยิดของท่านศาสดา โดยที่บรรดาอุละมาอ์ (ผู้รู้) ในมะดีนะฮ์จะรวมตัวกันอยู่ที่นั่น เมื่อใดก็ตามที่คนหนึ่งจากพวกเขาไม่สามารถตอบคำถามใดได้ พวกเขาทั้งหมดก็จะส่งประชาชนมาหาฉัน และฉันจะคอยให้คำตอบต่างๆ แก่พวกเขา” (3)
เช่นเดียวกัน ตลอดช่วงเวลาที่ท่านอิมามอะลี ริฎอ (อ.) พำนักอยู่ในเมืองมัรว์ ของแคว้นคูราซาน ท่านได้ใช้ความอุตสาห์พยายามอย่างไม่หยุดหย่อนที่จะพัฒนาความคิดและยกระดับความรู้และความเชื่อมั่นต่างๆ ของประชาชนชาวคูราซาน ด้วยการโต้แย้งและถกเถียงกันทางวิชาการกับชาวคัมภีร์และสำนักคิดต่างๆ ทั้งที่เป็นมุสลิมและสำนักคิดทางปรัชญา และพวกวัตถุนิยมที่ปฏิเสธศาสนา จนเป็นเหตุทำให้มีการยกระดับทางด้านการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) พระเจ้าและมุมมองทางด้านศาสนาเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้จัดให้มีการชุมนุมต่างๆ ทางด้านวิชาการ เกี่ยวกับวิชาเทววิทยา (อิลมุ้ลกะลาม) และฮะดีษ เพื่อปกป้องหลักการของอิสลามและวัฒนธรรมคำสอนต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ตอบข้อเคลือบแคลงสงสัยและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของสำนักคิดและมัซฮับ (นิกาย) ทั้งหลาย
เมื่อพิจารณาถึงกระแสแนวคิดแบบเหตุผลนิยมที่ไปถึงจุดสูงสุดในยุคการปกครองของมะอ์มูน และการเผชิญหน้ากับมุสลิมกลุ่มมุวะอ์ตะซิละฮ์) และกลุ่มอะชาอะเราะฮ์ และการแตกแขนงนิกายต่างๆ ที่หลากหลายออกไปจากทั้งสองกลุ่มแนวคิดนี้ ซึ่งสาเหตุของมันเกิดจากการแพร่ขยายตัวและการประยุกต์ใช้เหตุผลทางสติปัญญาเข้ามาในเรื่องของศาสนาและเทววิทยา ดังนั้นการปรากฏตัวของท่านอิมามริฎอ (อ.) ในแวดวงเหล่านี้ เพื่ออธิบายและสร้างความเข็มแข็งให้กับจุดยืนต่างๆ ของชีอะฮ์ การให้ความกระจ่างต่อข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ และการให้การชี้นำที่ถูกต้องแก่ชาวชีอะฮ์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและมีคุณประโยชน์อย่างมาก) นอกจากนี้ท่านอิมามริฎอ (อ.) ยังได้เข้าร่วมในที่ชุมนุมสาธารณะต่างๆ ในการโต้แย้งและถกเถียงกันทางวิชาการที่มะอ์มูนได้จัดตั้งขึ้นด้วย
ในบ้านของท่านอิมาม (อ.) และในมัสยิดของเมืองมัรว์ก็เช่นกัน ท่านจัดให้มีการเรียนการสอนความรู้และวิชาการต่างๆ ขึ้น ให้การต้อนรับบรรดาชีอะฮ์และผู้ปฏิบัติตามท่าน บรรดาชีอะฮ์จากทุกระดับที่เดินทางมาจากเมืองและชนบทต่างๆ ทั้งไกลและใกล้ ต่างมาเพื่อเยี่ยมเยือนท่าน และขอคำชี้แนะจากท่าน การรับรู้คำสอนต่างๆ ทางด้านวิชาการและด้านศาสนา รวมทั้งเพื่อให้ท่านช่วยไขข้อเคลือบแคลงสงสัยและปัญหาต่างๆ ซึ่งจำนวนของพวกเขาได้เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน จนทำให้มะอ์มูนรุ้สึกถึงภัยอันตราย จึงออกคำสั่งแก่มุฮัมมัด บินอัมร์ ฏูซี ให้ยับยั้งการเดินทางมาของประชาชน และห้ามพวกเขามารวมตัวกันในบ้านของท่านอิมามริฎอ (อ.)
หลังจากการที่ท่านอิมาม (อ.) รับทราบข่าวดังกล่าวท่านได้กล่าวว่า “…โอ้อัลลอฮ์! โปรดแก้แค้นต่อผู้ที่อธรรมต่อข้าพระองค์ และทำลายเกียรติของข้าพระองค์ และผลักไสประชาชนออกไปจากประตูบ้านของข้าพระองค์ โปรดทำให้เขาได้ลิ้มรสของความขมขื่นของความต่ำต้อยและความอัปยศอดสู ดังเช่นที่เขาได้ทำให้เกิดขึ้นกับข้าพระองค์ และโปรดผลักไสเขาออกจากความเมตตาและความกรุณาของพระองค์ด้วยเถิด…” (4)
เรื่องราวเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้คือ
1) เป็นเครื่องแสดงถึงสถานภาพอันยิ่งใหญ่ทางด้านวิชาการของท่านอิมาม (อ.) และความอุตสาห์พยายามต่างๆ ที่ไม่หยุดหย่อนและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของท่านในการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิชาการและหลักคำสอนทางศาสนาไปสู่บรรดาชีอะฮ์
2) เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการขยายของสถาบันทางวิชาการและศูนย์กลางต่างๆ ของชีอะฮ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมและภูมิภาคดังกล่าว
3) การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของชีอะฮ์และผู้ที่มีความรักความผูกพัน ที่เดินทางเข้ามาพบท่านอิมาม (อ.) เพื่อที่จะได้ดื่มด่ำจากตาน้ำอันเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้และหลักคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)
4) และท้ายที่สุด เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมโอนอ่อนและประนีประนอมของท่านอิมามริฎอ (อ.) ที่มีต่อระบอบการปกครองที่อธรรมและกดขี่ของมะอ์มูน ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาภายหลังบรรดาชีอะฮ์ถูกห้ามและถูกสกัดกั้นจากการเดินทางไปยังบ้านของท่านอิมาม (อ.) ทันทีทันใดนั้นเอง ท่านอิมาม (อ.) ได้แสดงออกการประท้วงและตำหนิประณามมะอ์มูนออกมาอย่างชัดเจน
สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ ความเป็นแบบอย่างทางด้านการปฏิบัติตน สถานภาพทางจิตวิญญาณและความยิ่งใหญ่ทางด้านวิชาการของท่านอิมามริฎอ (อ.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการดึงดูดประชาชนไปยังท่าน ท่านอิมาม (อ.) จะใช้ทุกโอกาสที่เป็นไปได้ในการเชิดชูอิสลามและแผ่ขยายวัฒนธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของสายธารอะฮ์ลิลบัยต์ (อ.) ท่านพยายามที่จะกำชับสู่ความดีงามและห้ามปรามความชั่ว และสกัดกั้นหนทางของการเบี่ยงเบนต่างๆ ด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ใจและจริงใจ ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมะอ์มูนได้ขอให้ท่านอิมามริฎอ (อ.) ออกไปนำนมาซอีด ในช่วงแรกทีเดียวนั้นท่านอิมาม (อ.) ไม่ยอมรับคำร้องขอของเขา จนกระทั้งมะอ์มูนยืนกรานและรบเร้าท่าน ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวว่า “…ฉันจะออกไป (สู่การนมาซอีด) เหมือนดังที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ได้ออกไป” (5)
มะอ์มูน ยอมรับข้อเสนอของท่านอิมามริฎอ (อ.) ท่านอิมามจึงออกเดินทางด้วยเท้าเปล่า หลังจากเดินทางไปได้สักชั่วครู่หนึ่ง ท่านอิมาม (อ.) ได้เงยหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกับกล่าวคำตักบีร (สดุดีความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า) บรรดาผู้ร่วมทางและคนรับใช้ที่ติดตามท่านก็ได้กล่าวคำตักบีรไปพร้อมกับท่านด้วยเสียงที่กึกก้อง ประหนึ่งว่าฟากฟ้าและประตูกำแพงทั้งหลายก็กล่าวคำตักบีรไปพร้อมกับท่านด้วย เมื่อประชาชนที่ได้เห็นท่านอิมามริฎอ (อ.) ในสภาพเช่นนั้น และได้ยินเสียงกล่าวคำตักบีรของท่าน พวกเขาต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญดังระงมไปทั่ว ประหนึ่งว่าเมืองมัรว์ทั้งเมืองอยู่ในสภาพที่สั่นไหว เมื่อข่าวล่วงรู้ไปถึงหูของมะอ์มูน ฟัฎล์ บินซะฮัล ได้กล่าวกับมะอ์มูนว่า “หากอะลี อิบนิมูซา อัรริฎอ (อ.) ออกไปสู่สถานที่นมาซในสภาพเช่นนี้ ประชาชนจะเกิดความหลงใหลในตัวเขา และเราทั้งหมดจะต้องหวั่นเกรงต่อเลือดของเราเอง” ดังนั้นมะอ์มูนจึงออกคำสั่งให้ท่านอิมามริฎอ (อ.) เดินทางกลับ ท่านอิมามจึงได้เดินทางกลับ (6)
เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่ได้กล่าวไปนั้นทำให้เราได้ประจักษ์ว่า ในด้านของการอิบาดะฮ์ต่างๆ ของท่านก็เช่นเดียวกัน ท่านอิมามริฎอ (อ.) พยายามที่จะฟื้นฟูซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ให้เป็นจริงขึ้นในสังคม เป็นประเด็นที่มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการกำหนดและอธิบายให้เห็นถึงสถานของชีอะฮ์และคำสอนต่างๆ ของอิสลาม
เชิงอรรถ :
1)- มะฟาตีฮุลญินาน
2)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 30
3)- อะอ์ลามุลวะรอ บิอะอ์ลามุลฮุดา , ฏอบัรซี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 64
4)- อุยูนุ อัคบาร อัริฏอ (อ.) , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 400 และ 401
5)- อัลอิรชาด , เชคมุฟีด , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 256 และ 257
6)- อัลอิรชาด , เชคมุฟีด , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 256 และ 257
บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
แสดงความเห็น