เฆาะดีรในอัลกุรอาน
เฆาะดีรในอัลกุรอาน
الْيَوْمَ يَئِسَ الَّذِينَ كَفَرُواْ مِن دِينِكُمْ فَلاَ تَخْشَوْهُمْ وَاخْشَوْنِ الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا
วันนี้บรรดาผู้ปฏิเสธต่างหมดหวังในศาสนาของสูเจ้า ดังนั้น สูเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา แต่จงกลัวฉัน วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าสมบูรณ์แล้วสำหรับสูเจ้า และฉันได้ประทานความโปรดปรานของฉันอย่างครบถ้วนแก่สูเจ้า และฉันได้เลือกอิสลามเป็นศาสนา[๑]
ความดึงดูดใจของเฆาะดีร[๒] อยู่ที่ความเอื้ออาทร และความรักที่มีอยู่ตลอดหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นความปิติยินดีของคนบางกลุ่ม และเป็นความความข่มขื่นของคนอีกบางกลุ่ม
ขณะที่เฆาะดีร และเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหตุผลสมบูรณ์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางของอะลี (อ.) โดยไม่มีข้อสงสัยหรือความเคลือบแคลงใด ๆ ทั้งสิ้น ดังที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ได้กล่าวแก่พวกอันซอรที่พูดว่า ถ้าพวกเราได้ยินคำพูดเช่นนี้ก่อนที่จะให้บัยอัตกับอบูบักรฺ แน่นอนพวกเราจะไม่ยอมรับว่าอบูบักรฺนั้นดีกว่าท่านอะลีแน่นอน ท่านหญิง (อ.) กล่าวว่า
وهل ترك أبى يوم الغدير خم لاحد عذرًا
การที่บิดาของฉันฝากเหตุการณ์เฆาะดีรคุมไว้ยังมีผู้สงสัยและข้อกล่าวอ้างอีกหรือ[๓]
ขณะเดียวมีโองการจำนวนมากมายที่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าว หมายถึง สนับสนุนวิลายะฮฺของท่านอะลี เช่น โองการที่กล่าวว่า วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าสมบูรณ์แล้วสำหรับสูเจ้า เป็นการแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เฆาะดีรคุม
ดังนั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์สาระของโองการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาคำทุกคำที่กล่าวไว้ในโองการ
ความหมายของคำต่าง ๆ
อัลเยามฺ (اليوم) คำว่าเยามฺถูกใช้ในความหมาย ๔ ประการด้วยกันกล่าวคือ
๑. ใช้ในความหมายของขอบข่ายของเวลา ซึ่งเริ่มตั้งแต่แสงอรุณจับขอบฟ้าไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ดังนั้น เยามฺ ในที่นี้จึงหมายถึงเวลากลางวัน หรือ กลางวันที่ตรงกันข้ามกับกลางคืน ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า
إِذْ تَأْتِيهِمْ حِيتَانُهُمْ يَوْمَ سَبْتِهِمْ شُرَّعاً وَيَوْمَ لاَ يَسْبِتُونَ لاَ تَأْتِيهِمْ
ทั้งนี้ขณะที่บรรดาปลาของพวกเขามายังพวกเขาในวันสับบะโตของพวกเขาในสภาพลอยตัวให้เห็นเหนือผิวน้ำ และวันที่พวกเขาไม่ถือว่าเป็นวันสับบะโตปลาเหล่านั้นหาได้มายังพวกเขาไม่[๔]
فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ
และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน[๕]
๒. เยามฺใช้ในความหมายว่า ตลอดทั้งวันทั้งคืน (๒๔ ชม.) ดังที่พูดว่านมาซประจำวัน หมายถึงนมาซที่ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน เช่น นมาซเยามียะฮฺ (นมาซวาญิบประจำวัน)
๓. เยามฺใช้ในความหมายว่าตอนบ่าย (عصر) วันที่ยุ่งอยู่กับภารกิจการงาน อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَتِلْكَ الأيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَيْنَ النَّاسِ
และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์[๖]
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า กาลเวลามีสองวันสำหรับเจ้า วันหนึ่งให้คุณ และวันหนึ่งให้โทษแก่เจ้า[๗]
الدهر يومان: يوم لك و يوم عليك
๔. เยามฺใช้ในความหมายเกี่ยวกับการสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งหมายถึง วาระ หรือระยะเวลา ดังที่กล่าวว่า ระยะเวลาในการสร้างฟ้าและแผ่นดินคือ ๖ วาระ อัล-กุรอานกล่าวว่า
اللّهُ الَّذِي خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ
อัลลออฮฺคือผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินภายในหกวาระ[๘]
هُوَ الَّذِي خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ
พระองค์คือ พระผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินภายใน ๖ วาระ[๙]
เกี่ยวกับการสร้างแผ่นดินพระองค์ทรงตรัสว่า
خَلَقَ الْأَرْضَ فِي يَوْمَيْنِ
ทรงสร้างแผ่นดินใน ๒ วาระ[๑๐]
คำว่า เยามฺ ได้ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอานหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ และในบางครั้งจะให้ความหมายคำว่า กิยาม (ยืน) ว่าหมายถึง เยามฺ (ว้น) เพราะว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของระบบจักรวาล อันหมายถึงมิติแห่งการสิ้นสุด
หมายเหตุ การที่กล่าวว่า เยามฺ หมายถึง ระยะเวลา หรือวาระนั้นเป็นเพราะว่า
- เยามฺ ในสามความหมาแรกถูกใช้ในความหมายของ เวลา
- เวลาคือผลที่เกิดจากการเคลื่อนไหวและการหมุนเวียนของจักรวาล ดังนั้นถ้าหากจักรวาลไม่มีการหมุนเวียนหรือโคจรแล้วละก็ คำว่าเวลาจะไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้น
- ก่อนการสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ด้วยเหตุนี้คำว่า เวลาก็ไม่มีความหมายด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เยามฺ ในสามความหมายแรกจึงไม่ใช่จุดประสงค์ตามที่โองการกล่าวถึง
อักษร อลีฟ และ ลาม ที่ปรากฏอยู่ที่คำว่า เยามฺ (อัล-เยามฺ) เป็นอลีฟลาม อัล-อะฮฺดิ หมายถึง เป็นการบ่งชี้ถึงวันที่ถูกกำหนดตายตัว หรือวันที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันอย่างดีระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ คำว่า เยามฺ ที่กำลังกล่าวถึงจึงหมายถึง วันนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับเมื่อวาน หรือวันพรุ่งนี้ อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَكَذَلِكَ الْيَوْمَ تُنسَى
ทำนองเดียวกัน วันนี้เจ้าก็จะถูกลืม[๑๑] (เหมือนที่พวกเจ้าได้ลืมโองการต่าง ๆ ของเรา)
فَهُوَ وَلِيُّهُمُ الْيَوْمَ
ดังนั้น มัน (ชัยฏอน) เป็นผู้คุ้มครองพวกเขาในวันนี้[๑๒]
ท่านซะมัคชะรียฺ นักตัฟซีรใหญ่ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ ได้อ้างคำพูดของคนอื่นว่า คำว่า เยามฺ ที่กำลังกล่าวถึง หมายถึงวันที่เฉพาะเจาะจงที่โองการได้ถูกประทานลงมาในวันนั้น หมายถึง ตอนบ่าย ณ ทุ่งอาเราะฟะฮฺในพิธีฮัจญฺตุลวะดา ซึ่งตรงกับวันศุกร์
ส่วนตัวท่านเชื่อว่า เยามฺ ในที่นี้หมายถึง ช่วงหนึ่งของเวลา หมายถึงการบ่งชี้ถึงวันที่เฉพาะเจาะจง เหมือนกับคำว่า อัลอาน ในที่นี้หมายถึงวันแห่งภารกิจ[๑๓]
แต่ในความเป็นจริงโองการได้บ่งชี้ถึงช่วงเวลาหนึ่งในวันที่มีภารกิจวุ่นวาย ซึ่งการเริ่มต้นของมันแน่นอนตายตัว หมายถึง วันที่ได้ประทานโองการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาตลอดทั้งวัน
อัล-เยามฺ คำที่สองที่โองการได้กล่าวถึง เป็นการให้ความสำคัญต่อวันที่ยิ่งใหญ่จึงไม่มีการกล่าวซ้ำเป็นครั้งที่สอง
ประเภทของการหมดหวัง (يأس)
คำว่า ยะอฺซฺ มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า โลภ และความหวัง ซึ่งหมายถึงการหมดความหวัง ส่วนคำว่า ความหวัง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทกล่าวคือ
๑. การมีความหวังในผลประโยชน์ หรือการได้รับผลประโยชน์จากคนหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เฉกเช่นประชาชาติของท่านศาสดาซอลิฮฺ (อ.) ได้พูดกับท่านว่า ก่อนที่ท่านจะกล่าวอ้างว่า ท่านเป็นศาสดาพวกเราเคยมีความหวังในตัวท่าน ซึ่งท่านหน้าจะสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมของเรามากกว่า เพราะพวกเราเห็นความอัจฉริยะที่แฝงอยู่ในตัวท่าน อัล-กุรอานกล่าวว่า พวกเขากล่าวว่า โอ้ ซอลิฮฺเอ๋ย แน่นอนท่านเคยเป็นความหวังในหมู่พวกเรามาก่อน บัดนี้ ท่านจะห้ามมิให้เราเคารพบูชาสิ่งที่บรรพบุรุษของเราเคารพบูชาอยู่กระนั้นหรือ แท้จริงพวกเราอยู่ในการสงสัยต่อสิ่งที่ท่านเรียกร้องเชิญชวนเรายังสิ่งนั้น[๑๔]
สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความหวังของประชาชาติซอลิฮฺคือ การหมดหวัง (يأس) จากการได้รับผลประโยชน์ หรือผลกำไรบางอย่างจากท่านศาสดาซอลิฮฺ (อ.)
๒. การมีความหวังว่าจะมีอิทธิพลต่อบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำลายสิ่งนั้น สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ การหมดหวังในการมีอิทธิพล ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ขณะที่อัล-กุรอานโองการแรกถูกประทานลงมาให้กับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ณ ถ้ำฮิรออฺ ฉันได้ยินเสียงโอดครวญหนึ่งจึงได้ถามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่านั่นเป็นเสียงอะไร และร้องทำไม ท่่านตอบว่า นั่นเป็นเสียงโอดครวญของซาตานมารร้ายที่หมดหวังจากการอิบาดะฮฺของตน[๑๕]
هذا لشيطان قد أيس من عبادته
เป็นที่แน่ชัดว่าบรรดาผู้ปฏิเสธไม่ได้มีความหวังในประโยชน์หรือผลกำไรอันใดจากอิสลามเพื่อที่ว่า พวกเขาจะได้สิ้นหวังจากทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เมื่อโองการดังกล่าวได้ถูกประทานลงมา ทว่าพวกเขาก็เหมือนกับซาตานมารร้ายที่มีความหวังว่า สักวันหนึ่งพวกเขาต้องมีอิทธิพลเหนือศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามเพื่อว่าในวันนั้นพวกเขาจะได้ทำลายอิสลามให้สิ้นซากลง บรรดาผู้ปฏิเสธเหล่านั้นได้มีความหวังเช่นนั้น และตลอดระยะเวลาพวกเขาได้พยายามฟูมฟักความหวังเพื่อให้มันเติบโต แข็งแรง แต่เมื่อวันนั้นมาถึงความหวังของพวกเขาได้ถูกทำลายลงอย่างหมดสิ้น พวกเขาเข้าใจทันที่ว่า การสร้างอิทธิพลให้เหนืออิสลามได้จบสิ้นแล้ว ความพยายามของพวกเขาเสียเวลาเปล่า
ขอบข่ายความหวังของผู้ปฏิเสธ
จุดประสงค์ของคำว่า กาฟิรูน ในประโยคที่กล่าวว่า
الْيَوْمَ يَئِسَ الَّذِينَ كَفَرُواْ مِن دِينِكُمْ
วันนี้บรรดาผู้ปฏิเสธต่างหมดหวังในศาสนาของสูเจ้า มิได้หมายถึงผู้ปฏิเสธชาวมักกะฮฺ หรือ ชาวฮิญาซ ในสมัยนั้นเท่านั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโองการเป็นมุฏลัก หมายถึงการครอบคลุมทั่วไปจึงหมายถึง บรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพวกมุชริก พวกบูชารูปปั้น ยะฮูดียฺ และบรรดาคริสเตียนทั้งหลาย
โองการกำลังอธิบายว่า บรรดาพวกปฏิเสธทั้งหลายได้พยายามทำทุกวิถีทางด้วยความหวังที่ว่า พวกเขาต้องมีอิทธิพลเหนือศาสนาอิสลาม เหนือบรรดามุสลิม และต้องทำลายทุกอย่างให้สิ้นซาก ขณะที่บางโองการได้กล่าวถึงเป้าหมายต่าง ๆ ของบรรดาผู้ปฏิเสธไว้ว่า
يُرِيدُونَ أَن يُطْفِؤُواْ نُورَ اللّهِ بِأَفْوَاهِهِمْ وَيَأْبَى اللّهُ إِلاَّ أَن يُتِمَّ نُورَهُ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَىالدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ
พวกเขาต้องการดับแสงสว่างของอัลลอฮฺด้วยปากของพวกเขา และอัลลอฮฺไม่ทรงยินยอม ทว่าทรงทำให้แสงสว่างของพระองค์สมบูรณ์ แม้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธจะชิงชังก็ตาม พระองค์คือผู้ส่งเราะซูลของพระองค์มาพร้อมคำแนะนำ และศาสนาแห่งสัจธรรม เพื่อให้ศาสนาแห่งสัจธรรมนั้นประจักษ์เหนือทุกศาสนา แม้ว่าบรรดามุชริกจะชิงชังก็ตาม[๑๖]
การดับแสงของอัลลอฮฺ (ซบ.) ถือเป็นเป้าหมายร่วมระหว่างบรรดามุชริกีนและผู้ปฏิเสธ แต่พระองค์ทรงตรัสว่า พระองค์จะทำให้แสงสว่างของพระองค์สมบูรณ์แม้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธจะชิงชังก็ตาม
คำว่า (يُرِيدُونَ) เป็นกิริยาในปัจจุบันกาล บ่งบอกถึงความต่อเนื่องในการกระทำนั้น หมายถึงพวกเขามีความปรารถนาที่จะดับรัศมีของอัลลอฮฺ (ซบ.) ตลอดเวลา ซึ่งจุดประสงค์ของรัศมีในที่นี้หมายถึง สาส์น นบูวัต และอัล-กุรอาน ซึ่งบางครั้งพระองค์แนะนำรัศมีของพระองค์ว่า
قَدْ جَاءكُم مِّنَ اللّهِ نُورٌ وَكِتَابٌ مُّبِينٌ
แท้จริงแสงสว่างจากอัลลอฮฺ และคัมภีร์อันชัดแจ้งได้มายังพวกเจ้าแล้ว[๑๗]
๒.เมื่อบรรดาพวกปฏิเสธเห็นว่าไม่อาจทำลายล้างอิสลามให้สิ้นซากได้แล้ว พวกเขาจึงสรรหาวิธีการใหม่โดยพยายามชักจูงให้บรรดามุสลิมหันหลังให้กับอิสลามไปสู่ศาสนาดั้งเดิมของพวกตน อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَلاَ يَزَالُونَ يُقَاتِلُونَكُمْ حَتَّىَ يَرُدُّوكُمْ عَن دِينِكُمْ إِنِ اسْتَطَاعُواْ
และพวกเขาจะยังคงต่อสู้กับพวกเจ้าต่อไป จนกว่าพวกเขาจะทำให้พวกเจ้ากลับออกไปจากศาสนาของพวกเจ้า หากพวกเขาสามารถ[๑๘]
คำว่า (وَلاَ يَزَالُونَ) หมายถึงตลอดไป ความต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ความหมายของโองการจึงกล่าวว่า การทำลายล้างของพวกเขามิได้หยุดอยู่แต่วัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาพยายามที่จะต่อสู้ทำศึกสงครามกับพวกเจ้าจนกว่า พวกเจ้าจะถอนตัวออกจากศาสนาของพวกเจ้า
การต่อสู้และการทำลายล้างทางวัฒนธรรม ตลอดจนการทำลายระบบต่าง ๆ ของศาสนามิได้เฉพาะบรรดาผู้ปฏิเสธเท่านั้น ทว่าพวกชาวคัมภีร์ก็พยายามทำเช่นนั้นเหมือนกัน อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَدَّ كَثِيرٌ مِّنْ أَهْلِ الْكِتَابِ لَوْ يَرُدُّونَكُم مِّن بَعْدِ إِيمَانِكُمْ كُفَّاراً
อะฮฺลุลกิตาบมากมายพวกเขาปรารถนาที่จะทำให้พวกเจ้ากลับเป็นผู้ปฏิเสธหลังจากศรัทธา[๑๙]
وَدَّت طَّآئِفَةٌ مِّنْ أَهْلِ الْكِتَابِ لَوْ يُضِلُّونَكُمْ
กลุ่มหนึ่งจากผู้ได้รับคัมภีร์ พวกเขาชอบที่จะทำให้พวกเจ้าหลงผิด[๒๐]
وَلَن تَرْضَى عَنكَ الْيَهُودُ وَلاَ النَّصَارَى حَتَّى تَتَّبِعَ مِلَّتَهُمْ
ชาวยิวและชาวคริสต์ จะไม่ยินดีแก่เจ้า (มุฮัมมัด) เป็นอันขาด จนกว่าเจ้าจะปฏิบัติตามศาสนาของพวกเขา[๒๑]
๓. หลังจากความพยายามในสองประการแรกไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาได้พยายามสรรหาวิธีการใหม่โดยการสร้างศาสนาใหม่ขึ้นมาเทียบเคียง และเน้นให้เห็นหลักการของศาสนาใหม่เหล่านั้น ดังเช่นที่พวกยะฮูดียฺ และนัซรอนียได้กระทำ อัล-กุรอานกล่าวว่า
لَن يَدْخُلَ الْجَنَّةَ إِلاَّ مَن كَانَ هُوداً أَوْ نَصَارَى
จะไม่มีใครเข้าสวรรค์เด็ดขาด นอกจากผู้ที่เป็นยิวหรือเป็นคริสเตียนเท่านั้น[๒๒]
كُونُواْ هُودًا أَوْ نَصَارَى تَهْتَدُواْ
พวกท่านจงเป็นยิวหรือเป็นคริสต์เถิด ซึ่งพวกท่านจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง[๒๓]
บรรดาผู้ปฏิเสธได้อธิบายถึงการยืนหยัดบนแนวทางของตนว่า เพื่อปกป้องเทพเจ้าของตน และการเคารพภักดีพวกท่านจงอดทนต่อไป
أَنِ امْشُوا وَاصْبِرُوا عَلَى آلِهَتِكُمْ
จงก้าวหน้าต่อไปและจงอดทน ในการยึดมั่นต่อบรรดาพระเจ้าของพวกท่านต่อไป[๒๔]
บางครั้งพวกปฏิเสธจะแสดงตนเป็นศัตรูกับบรรดามุสลิม และคติอย่างแรง อัล-กุรอานกล่าวว่า
إِنَّ الْكَافِرِينَ كَانُواْ لَكُمْ عَدُوًّا مُّبِينًا
แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น เป็นศัตรูอันชัดเจนแก่พวกเจ้า[๒๕]
مَن كَانَ عَدُوًّا لِّلّهِ وَمَلآئِكَتِهِ وَرُسُلِهِ وَجِبْرِيلَ وَمِيكَالَ فَإِنَّ اللّهَ عَدُوٌّ لِّلْكَافِرِينَ
ใครที่เป็นศัตรูต่ออัลลอฮฺ และมะลาอิกะฮ์ของพระองค์ และบรรดาเราะซูลของพระองค์และเป็นศัตรูต่อญิบรีล และมีกาอีล แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงเป็นศัตรูแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย[๒๖]
พวกเขาปรารถนาไม่ให้ชื่อของพวกเขาปรากฏอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามเปลี่ยนแปลงในองค์เตาฮีด และนบูวัต สุดท้ายสิ่งที่พวกเขาต้องการทำก็คือ การทำลายรากฐานสำคัญของศาสนา
สรุปได้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธที่เป็นศัตรูกับอิสลาม มีเจตนาทำลายรากฐานของอิสลามมาตั้งแต่ต้น เมื่อโองการถูกประทานลงมา ยิ่งทำให้มองเห็นเหตุผลและเจตนารมณ์ของพวกเขามากยิ่งขึ้น และจากความหวังที่พวกเขาเคยมีมันได้เปลี่ยนเป็นความสิ้นหวังอย่างสิ้นเชิง
เชิงอรรถ
[๑]มาอิดะฮฺ ๓
[๒]เฆาะดีร ในพจนานุกรมหมายถึง แอ่งน้ำ เมื่อเวลาฝนตกน้ำฝนจะไหลมารวมกันอยู่ในแอ่งน้ำนั้น (อัลมุอีล เล่ม ๒/๒๓๙๓)
เฆาะดีร หมายถึงสถานที่อยู่ระหว่างมักกะฮฺกับมะดีนะฮฺ ถัดไปแถบญุฮฺฟะฮฺ ซึ่งห่างจากญุฮฺฟะฮฺประมาณ ๒ ไมล์ เป็นแหล่งรวมผู้คนเนื่องจากเป็นทางแยกที่จะไปยังเมืองอื่น ๆ และที่นั้นได้มีการประกาศแต่งตั้งให้ท่านอะลี (อ.) เป็นเคาะฟะฮฺหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)
[๓]คิซอล อัซซุดูก เล่ม ๑ หน้า ๑๗๓
[๔]อะอฺรอฟ ๑๖๓
[๕]บะเกาะเราะฮฺ ๑๘๔
[๖]อาลิอิมรอน ๑๔๐
[๗]นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ฮิกมะฮฺที่ ๓๙๖
[๘] อัล-อะอฺรอฟ ๕๔
[๙]ฮะดีด ๔
[๑๐]ฟุซซิลัต ๙
[๑๑]ฏอฮา ๑๒๖
[๑๒]นะฮฺลิ ๖๓
[๑๓]อัลกิชาบ เล่ม ๑ หน้า ๖๐๔
[๑๔]ฮูด ๖๒
[๑๕]นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๑๙๒ กอซิอะฮฺ
[๑๖]เตาบะฮฺ ๓๑-๓๒
[๑๗]มาอิดะฮฺ ๑๕
[๑๘]บะเกาะเราะฮฺ ๒๑๗
[๑๙]บะเกาะเราะฮฺ ๑๐๙
[๒๐]อาลิอิมรอน ๖๙
[๒๑]บะเกาะเราะฮฺ ๑๒๐
[๒๒]บะเกาะเราะฮฺ ๑๑๑
[๒๓]บะเกาะเราะฮฺ ๑๓๕
[๒๔]ซ็อด ๖
[๒๕]นิซาอฺ ๑๐๑
[๒๖] บะเกาะเราะฮฺ ๙๘
ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์
แสดงความเห็น