บทบาทของท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) ต่อโลกอิสลาม
บทบาทของท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) ต่อโลกอิสลาม
บทบาทที่โดดเด่นของท่านอิมามบากิร (อ) ในยุคที่ท่านอยู่ในฐานะของผู้นำแห่งประชาชาติมุสลิมคือ การวางรากฐานทางวิชาการให้แก่โลกอิสลาม โดยท่านมองว่าสิ่งดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ในยุคสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้นำอยู่นั้น เต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหงจากผู้ปกครองแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์
การนำเสนอวิชาการที่แท้จริงของอิสลาม และวิชาการของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) เข้าสู่สังคมในยุคนั้น จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของท่าน ท่านอิมามบาเกร (อ) ได้วางรากฐานทางวิชาการเอาไว้ ถึงจุดสูงสุดในยุคสมัยของบุตรชายของท่านเอง ซึ่งก็คือ ท่านอิมาม ญะอ์ฟัร ซอดิก (อ)
ชื่อเสียงในด้านความรู้ และวิชาการต่างๆ ของท่านอิมามบากิร (อ) ได้ถูกกล่าวถึงในตำรับตำราด้านประวัติศาสตร์ในยุคแรกของอิสลาม ซึ่งสามารถยืนยันชื่อเสียงของท่านอิมามบากิร (อ) ได้เป็นอย่างดี
หรือแม้แต่นักวิชาการในยุคกลางของอิสลาม ที่เป็นนักวิชาการของฝ่ายอะฮ์ลุสสุนนะฮ์ด้วยซ้ำ (ในศตวรรษที่เจ็ด แปด และเก้าของฮิจเราะห์ศักราช) ก็ยังกล่าวถึงในเรื่องนี้ ดังเช่น
อิบนุฮะญัร อัลฮัยษะมี อิบนุญุวัยซีย์ ที่กล่าวถึงว่า นักวิชาการอื่นที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เมื่อได้อยู่เบื้องหน้าท่านอิมามบากิร (อ) เสมือนกับเด็กน้อยที่อยู่ต่อหน้าอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยความนอบนอบถ่อมตนเพื่อรอคอยการสั่งสอนอิสลามจากท่านอิมามบากิร (อ) ด้วยความมีชื่อเสียงในเรื่องความรู้ทางด้านวิชาการที่ท่านอิมามบากิร (อ) มี จึงมีการขนานนามให้กับท่านอิมามว่า ” บากิรุล อุลูม ” ซึ่งหมายถึงผู้ทำให้น้ำแห่งคลังแห่งวิชาการความรู้ได้พุ่งทะลักออกมา หรือผู้จำแนกความรู้
สิ่งที่ท่านอิมามบากิร (อ) ได้ปฏิบัติควบคู่กับการวางรากฐานวิชาการอิสลามก็คือ การสร้างบุคลากรที่ทรงคุณค่าในด้านวิชาการสาขาต่างๆ ท่านอิมามได้ผลิตลูกศิษย์ที่มีคุณภาพ ทางด้านวิชาการขึ้นมาในสังคมมุสลิม เพื่อนำเสนอวิชาการเหล่านั้นให้แก่ผู้คนแทนท่านอีกทอดหนึ่ง
และอีกประการหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้อธิบายถึงมุมมองความคิดของอิมามบากิร (อ) ไม่ว่าจะเป็นในด้านหลักศรัทธา (อะกีดะห์) จริยศาสตร์ (อัคลาก) หรือบทบัญญัติอิสลาม (ฟิกฮ์) บรรดาลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นได้แก่ ท่านซุรอเราะฮ์, มะอ์รูฟ อิบนุคัรบูว, อะบูบะซีร อะซะดี, บุรัยด์ บินมุอาวิยะฮ์, มุฮัมมัด บิน มุสลิม และ ฟุเดล บินยะซีร
การวางรากฐานทางด้านวิชาการ และการสร้างทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณธรรม เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มัซฮับอะฮ์ลุลบัยต์แข็งแกร่งขึ้นพร้อมกันในทุกๆ ด้าน ซึ่งบทบาทที่ท่านอิมามบากิร (อ) ได้แสดงออกในยุคของท่าน ถือเป็นสิ่งอันทรงคุณค่าอย่างมหาศาลสำหรับโลกอิสลาม
บทบาทอีกประการหนึ่งของท่านอิมามบากิร (อ) ซึ่งถือว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่เราได้กล่าวผ่านไปก่อนหน้านี้ ก็คือ การฟื้นฟูในการจดบันทึกหะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) หมายความว่า ในยุคสมัยก่อนหน้าท่านอิมามบากิร (อ) คือในยุคสมัยของคอลีฟะฮ์สองท่านแรกนั้น ทั้งสองไม่เห็นด้วยต่อการบันทึกหะดีษ หรือ สิ่งที่ถูกรายงานมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอุมัร ได้ห้ามการบันทึกหะดีษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) อย่างเด็ดขาด
สาเหตุในการห้ามอาจจะมีอยู่หลายประการ แต่สาเหตุที่ถูกล่าวอ้างมากที่สุดก็คือ (หวั่นเกรงว่า หะดีษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) จะผสมปะปนกับคัมภีร์อัลกุรอาน จนไม่สามารถแยกแยะออกจากกันได้
แต่ท่านอิมามบากิร (อ) มองกลับกันในเรื่องนี้ โดยท่านมองว่า หากหะดีษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ไม่ถูกเก็บรักษาด้วยการบันทึกไว้ วจนะต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ในอนาคตข้างหน้าจะถูกลืมเลือนและสูญหายไปที่สุด
ท่านอิมามบากิร (อ) จึงเน้นย้ำพร้อมกับสอนต่อบรรดาลูกศิษย์ของท่านให้จดจำหะดีษพร้อมทั้งบันทึกไว้อีกด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องการบันทึกหะดีษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ที่ท่านอิมามบากิร นำเสนอและส่งเสริมไว้ ในความเป็นจริงแล้วท่านเองได้รับคำสอนนั้นมาจากท่านอิมามอะลี (อ) โดยท่านอิมามบากิร (อ) ได้รับมรดกตกทอดมาต่อๆกัน ซึ่งเป็นตำราบันทึกหะดีษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) จากท่านอิมามอะลี (อ)
ในเรื่องการฟื้นฟูต่อการบันทึกหะดีษนี้ กษัตริย์อุมัร บินอับดุลอะซีซ ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ส่งเสริมในเรื่องนี้ โดยเขาเป็นผู้ยกเลิกคำสั่งห้ามที่เคยมีมา
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมในการบันทึกหะดีษ เป็นสิ่งที่บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์นบี ได้ปลูกฝังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอิมามบากิร (อ) ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างเต็มความสามารถของท่าน ซึ่งถือได้ว่า ฮะดีษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ไม่เคยที่จะถูกละเลยแม้แต่นิดเดียวในแนวทางของชีอะฮ์อิมามียะฮ์
บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ
แสดงความเห็น