“ฮิญาบ” ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ฮิญาบ” และการปกปิดร่างกายของสตรี ถือเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่สำคัญของอิสลาม

“ฮิญาบ” ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน

 

                       

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ฮิญาบ” และการปกปิดร่างกายของสตรี ถือเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่สำคัญของอิสลาม

 

                     

การปกปิดร่างกายหรือการแต่งกายอย่างมิดชิดนั้น มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ยาวนาน ควบคู่กับคุณค่าและสารธรรมอิสลามในดำรงชีวิตของมนุษยชาติ นอกจากสาวกของสำนักคิดหนึ่งที่ยืนกรานถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่เปลือยกายนั้น ทุกสังคมของมนุษย์จะให้ความสำคัญต่อการสวมใส่เสื้อผ้าและการปกปิดเรือนร่างในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง (1)

 

ในคัมภีร์อัลกุรอานมีมากกว่าสิบโองการที่กล่าวถึงเรื่องของการคลุมฮิญาบและการห้ามมองไปยังผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม) หนึ่งในโองการเหล่านี้ คือโองการที่ 59 ของซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ قُل لِّأَزْوَاجِكَ وَبَنَاتِكَ وَنِسَاء الْمُؤْمِنِينَ يُدْنِينَ عَلَيْهِنَّ مِن جَلَابِيبِهِنَّ ذَلِكَ أَدْنَى أَن يُعْرَفْنَ فَلَا يُؤْذَيْنَ وَكَانَ اللَّهُ غَفُورًا رَّحِيمًا

 

 

“โอ้ศาสดาเอ๋ย! จงกล่าวแก่บรรดาภริยาและบุตรสาวของเจ้า และบรรดาสตรีของเหล่าศรัทธาชน ให้พวกนางดึงเสื้อคลุมของพวกนางลงมาปิดตัวของพวกนาง นั่นเป็นการเหมาะสมกว่าที่นางจะเป็นที่รู้จัก เพื่อที่พวกนางจะไม่ถูกรังแก และอัลลอฮ์ทรงให้อภัยยิ่ง ทรงเมตตายิ่ง” (2)

 

                           คำว่า “ญิลบาบ” (جِلْبَاب) หมายถึง “ผ้าคลุมกาย” กล่าวคือ สตรีจำเป็นจะต้องปกปิดเรือนร่างทุกส่วนของนาง ซึ่งนางเป็นเสมือนดั่งดอกไม้งามที่บอบบาง จะได้ถูกปกปักษ์รักษาและปลอดภัยจากเงื้อมมือของพวกที่ลุ่มหลงในกิเลสและตัณหาราคะ ในซูเราะฮ์อันนูร โองการที่ 31 ก็ได้อธิบายถึงเรื่องของ “ฮิญาบ” และการห้ามมองไปยังผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม) ไว้เช่นกัน

 

ความหมายและมิติต่างๆ ของ “ฮิญาบ” ในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

 

                           คำว่า “ฮิญาบ” ในทางภาษาหมายถึง สิ่งกีดขวาง ม่านปิดกั้นและสิ่งปกปิด การใช้คำๆ นี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในความหมายว่า “ม่านปิดกั้น” มากกว่าความหมายอื่น และคำนี้ที่ให้ความหมายว่า “สิ่งปกปิด” ก็เนื่องจากว่า ม่านปิดกั้น คือสื่อในการปกปิดอย่างหนึ่ง

 

                        

“ฮิญาบ” หมายถึง การแต่งกายแบบอิสลามของสตรี ซึ่งมีสองมิติ ทั้งด้านบวกและด้านลบ มิติด้านบวกของมันคือความจำเป็น (วุญูบ) ในการปกปิดร่างกาย และมิติด้านลบของมันคือ ความเป็นที่ต้องห้าม (ฮุรมะฮ์) ในการเปิดเผยเรือนร่างต่อผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม) ทั้งสองมิตินี้จะต้องมีอยู่เคียงคู่กัน จึงจะทำให้การคลุมฮิญาบแบบอิสลามมีผลบังคับใช้ บางครั้งอาจเป็นไปได้ว่ามีมิติแรกแต่ไม่มีมิติที่สอง (ตัวอย่างเช่น ระหว่างสามีภรรยา และเครือญาติใกล้ชิดที่ต้องห้ามในการแต่งงานกัน) ในกรณีเช่นนี้สามารถกล่าวได้ว่า ฮิญาบแบบอิสลามจะไม่มีผลบังคับใช้ หรือไม่เป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ)

 

                        หากตามความหมายโดยทั่วไป (ความหมายในขอบเขตที่กว้างออกไป) เราจะเรียกทุกประเภทของการปกปิดและการปิดกั้นจากการเข้าสู่ความชั่วว่า “ฮิญาบ” เช่นกัน ฮิญาบในความหมายนี้จะแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย ประเภทหนึ่งของมันก็คือ ฮิญาบ (สิ่งปิดกั้น) อารมณ์ความรู้สึก ความคิดและจิตใจ ตัวอย่างเช่น ความเชื่อมั่นที่มีต่อคำแนะนำสั่งสอนต่างๆ ของอิสลาม เช่น ความเชื่อในเรื่องเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า (เตาฮีด) และความเชื่อในเรื่องของศาสดา (นุบูวะฮ์) ส่วนหนึ่งจากตัวอย่างของฮิญาบ (สิ่งปิดกั้น) อารมณ์ความรู้สึก ความคิดและจิตใจที่ถูกต้องนั่นก็คือ การสามารถปิดกั้นและยับยั้งจากความผิดพลาดและบาปต่างๆ ทางจิตวิญญาณและความคิดได้ เช่น การปฏิเสธศรัทธา (กุฟร์) และการตั้งภาคีต่อพระเจ้า (ชิรก์)

 

                        

นอกจากนี้ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงฮิญาบประเภทต่างๆ ที่จะถูกสำแดงออกมาในพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ฮิญาบในการมอง ซึ่งบุรุษและสตรีถูกกำชับสั่งเสียในเรื่องของการเผชิญหน้าและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม)

 

 

 

วัตถุประสงค์และปรัชญาของ “ฮิญาบ”

 

                      วัตถุประสงค์หลักของการกำหนดบทบัญญัติในศาสนาอิสลามนั้น ก็เพื่อความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะได้รับมาโดยผ่านการชำระขัดเกลาจิตใจ การปลูกฝังคุณธรรมและความยำเกรง (ตักวา) ต่อพระองค์

 

إِنَّ أَکْرَمَکُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقاکُمْ

 

 

“แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า” (3)

 

هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولاً مِنْهُمْ يَتْلُوا عَلَيْهِمْ آياتِهِ وَ يُزَکِّيهِمْ وَ يُعَلِّمُهُمُ الْکِتابَ وَ الْحِکْمَةَ وَ إِنْ کانُوا مِنْ قَبْلُ لَفِي ضَلالٍ مُبِينٍ

 

 

“พระองค์คือผู้ทรงแต่งตั้งศาสนทูตคนหนึ่งในหมู่ชนผู้ไม่รู้หนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายโองการต่างๆ ของพระองค์แก่พวกเขา ขัดเกลาพวกเขา และสอนคัมภีร์และวิทยญาณแก่พวกเขา แม้ว่าแต่ก่อนนี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้งก็ตาม” (4)

 

                        จากคัมภีร์อัลกุรอานสามารถสรุปได้ว่า วัตถุประสงค์ของการกำหนดบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และความจำเป็นของการสวมใส่ชุดฮิญาบแบบอิสลามนั้น ก็เพื่อบรรลุความสำเร็จในการชำระขัดเกลาจิตใจ การรักนวลสงวนตัวและการครองตนอยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์ และในโองการอื่นๆ อย่างเช่น

 

قُلْ لِلْمُؤْمِنِينَ يَغُضُّوا مِنْ أَبْصارِهِمْ وَ يَحْفَظُوا فُرُوجَهُمْ ذلِکَ أَزْکى لَهُمْ

 

 

“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาชาย ให้พวกเขาลดสายตาของตนลงต่ำ และให้พวกเขารักษาอวัยวะเพศของพวกเขา นั่นเป็นความบริสุทธิ์ที่สุดสำหรับพวกเขา” (5)

 

 

“ฮิญาบ” ของสายตา

 

 

قُلْ لِلْمُؤْمِنِينَ يَغُضُّوا مِنْ أَبْصارِهِمْ

 

 

“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาชาย ให้พวกเขาลดสายตาของตนลงต่ำ” (6)

 

قُلْ لِلْمُؤْمِناتِ يَغْضُضْنَ مِنْ أَبْصارِهِنَّ

 

 

“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาหญิง ให้พวกนางลดสายตาของตนลงต่ำ” (7)

 

 

“ฮิญาบ” ในการพูด

 

 

อีกประเภทหนึ่งของ “ฮิญาบ” และการปกปิดในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน คือการปกปิดหรือการระมัดระวังคำพูดของสตรีกับผู้ชายที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะหฺร็อม)

 

فَلَا تَخْضَعْنَ بِالْقَوْلِ فَيَطْمَعَ الَّذِي فِي قَلْبِهِ مَرَضٌ وَقُلْنَ قَوْلًا مَّعْرُوفًا

 

 

“ดังนั้นพวกเธออย่าได้ใช้วาจาที่อ่อนหวานนัก (กับผู้ชาย) อันจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีความป่วยไข้เกิดความมุ่งหวัง (ในตัวพวกเธอ) แต่พวกเธอจงพูดด้วยถ้อยคำที่ดีงาม (ด้วยความสุภาพอย่างพอเหมาะพอควร)” (8)

 

 

 

“ฮิญาบ” ทางพฤติกรรมและการแสดงออก

 

                      อีกประเภทหนึ่งของ “ฮิญาบ” และการปกปิดตามคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ก็คือฮิญาบทางพฤติกรรมของสตรีในการแสดงออกต่อผู้ชายที่แต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม) คัมภีร์อัลกุรอานได้กำชับสั่งเสียสตรีทั้งหลายไม่ให้เดินในลักษณะที่จะเป็นสาเหตุของการดึงดูดความสนใจของผู้ชาย ด้วยการเปิดเผยเครื่องประดับและความสวยงามของตนเอง

 

وَ لا يَضْرِبْنَ بِأَرْجُلِهِنَّ لِيُعْلَمَ ما يُخْفِينَ مِنْ زِينَتِهِنَّ

 

“และอย่าให้เธออย่าได้เดินลงเท้าหนัก (กระแทกเท้า) ของพวกเธอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดจากเครื่องประดับของพวกเธอ” (9)

 

                     จากภาพรวมของเนื้อหาต่างๆ ที่ได้นำเสนอไปนั้นสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า จุดประสงค์ของคำว่า “ฮิญาบ” ในอิสลาม คือการปกปิด การระมัดระวังและการจำกัดของเขตของสตรีในการปฏิสัมพันธ์และการร่วมสมาคมกับบุรุษที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม) ในรูปแบบต่างๆ ของการแสดงออก เช่น วิธีการแต่งกายที่มิดชิด การมอง การพูดและการเดิน

 

                     ด้วยเหตุนี้เอง ฮิญาบและการแต่งกายมิดชิดของสตรี จึงเป็นเหมือนอุปสรรคและสิ่งกีดขวางหนึ่งสำหรับผู้ชายที่มีอิทธิพลและมีเจตนาที่จะล่วงล้ำขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและสิ่งหวงแหนของผู้อื่น ความหมายของคำว่า ห้าม ยับยั้งและการกีดขวางดังกล่าวนี้ มีรากฐานทางด้านภาษาศาสตร์อยู่ในคำว่า “อิฟฟะฮ์” (การรักนวลสงวนตัวและการครองตนอยู่ในความบริสุทธิ์) เช่นเดียวกัน

 

“ฮิญาบ” และการรักนวลสงวนตัว

 

                   คำสองคำคือคำว่า “ฮิญาบ” (การปกปิดร่างกาย) และคำว่า “อิฟฟะฮ์” (การรักนวลสงวนตัวและการครองตนอยู่ในความบริสุทธิ์) มีความหมายหลักร่วมกันว่า “การห้าม” และ “การยับยั้ง” ความแตกต่างระหว่างการห้ามและการยับยั้งของ “ฮิญาบ” และ “อิฟฟะฮ์” ก็คือความแตกต่างกันระหว่างภายนอกและภายในจิตใจ กล่าวคือ การห้ามและการยับยั้งของฮิญาบนั้นเกี่ยวข้องกับภายนอก แต่การห้ามและการยับยั้งของอิฟฟะฮ์ (การรักนวลสงวนตัว) นั้นเกี่ยวข้องกับภายในจิตใจ เนื่องจากการรักนวลสงวนตัวและการครองตนอยู่ในความบริสุทธิ์ (อิฟฟะฮ์) คือสภาพด้านในของจิตใจ แต่เนื่องจากผลกระทบจากภายนอกที่มีต่อภายในจิตใจ และผลกระทบจากภายในจิตใจที่มีต่อภายนอกนั้น เป็นลักษณะโดยทั่วไปประการหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้นฮิญาบและการปกปิดร่างกายภายนอกและการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) ทั้งสองประการนี้จะมีผลกระทบและรับผลกระทบต่อกันทั้งสองฝ่าย

 

                   ด้วยเหตุนี้ ฮิญาบและการปกปิดทางภายนอกยิ่งมีมากและดีงามเท่าใด สิ่งดังกล่าวนี้จะมีผลมากกว่าในการเสริมสร้างและการพัฒนาจิตวิญญาณด้านในของการรักนวลสงวนตัว ในทางกลับกัน ยิ่งเรามีการรักนวลสงวนตัวและความยำเกรงภายในจิตใจมากเพียงใด ก็จะทำให้ฮิญาบและการปกปิดร่างกายด้านนอกมีเพิ่มมากขึ้นและดีงามมากยิ่งขึ้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ (ฆ็อยรุ มะห์ร็อม)

 

“ฮิญาบ” ของสตรีสูงอายุ

 

                   คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงปฏิกิริยาและการรับผลกระทบนี้ไว้อย่างละเอียดอ่อน ในเบื้องต้นได้อนุญาตแก่สตรีผู้สูงอายุที่จะปลดผ้าคลุมกาย อย่างเช่นชาดอร์ ต่อหน้าชายอื่น (ฆ็อบรุ มะห์ร็อม) ได้ โดยที่นางไม่มีเจตนาจะเปิดเผยความงามและการเย้ายวน แต่ในที่สุดก็กล่าวว่า : แต่หากพวกนางจะครองตนอยู่ในความบริสุทธิ์ หมายถึงการไม่ปลดผ้าคลุมกายอย่างเช่นชาดอร์นั้น ย่อมดีกว่าสำหรับพวกนาง

 

وَ الْقَواعِدُ مِنَ النِّساءِ اللاَّتِي لا يَرْجُونَ نِکاحاً فَلَيْسَ عَلَيْهِنَّ جُناحٌ أَنْ يَضَعْنَ ثِيابَهُنَّ غَيْرَ مُتَبَرِّجاتٍ بِزِينَةٍ وَ أَنْ يَسْتَعْفِفْنَ خَيْرٌ لَهُنَّ وَ اللَّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ

 

“และบรรดาหญิงชราซึ่งพวกนางไม่ปรารถนาที่จะสมรสแล้ว ไม่เป็นที่ตำหนิแก่พวกนางที่จะปลดเสื้อผ้าของพวกนางออก โดยไม่เปิดเผยส่วนงดงาม และหากพวกนางงดเว้นเสียก็จะเป็นการดีแก่พวกนาง และอัลลอฮ์นั้นทรงได้ยิน ทรงรอบรู้ยิ่ง” (10)

 

                นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ข้างต้นแล้ว ระหว่างการสวมใส่ฮิญาบด้านนอกและการรักนวลสงวนตัวด้านในจิตใจนั้น ยังมีความสัมพันธ์ในเชิงเครื่องหมายบ่งชี้สำหรับผู้ที่คลุมฮิญาบ กล่าวคือ ปริมาณของการคลุมฮิญาบภายนอก คือเครื่องหมายบ่งชี้ถึงระดับของการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) ภายในจิตใจของผู้คลุมฮิญาบนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า สตรีทุกคนที่คลุมฮิญาบและปกปิดร่างกายภายนอก จะต้องมีการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) ภายในจิตใจและการครองตนอยู่ในความบริสุทธิ์ในระดับที่สมบูรณ์

 

 

 

“ฮิญาบ” ป้องกันความชั่วและอาชญากรรมทางสังคมทุกอย่างได้จริงหรือ

 

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวนี้ คำตอบสำหรับคำทักท้วงและความเคลือบแคลงสงสัยของบุคคลที่พยายามจะแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของฮิญาบและการปกปิดร่างกายภายนอก โดยยึดเอาการละเมิดของสตรีบางคนมาเป็นข้ออ้างนั้น จึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาของสตรีกลุ่มนี้อยู่ที่ความอ่อนแอของฮิญาบด้านใน การขาดความศรัทธา (อีหม่าน) และความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งที่มีต่อผลต่างๆ ในเชิงบวกของฮิญาบและการปกปิดร่างกายภายนอก

 

เราได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ฮิญาบในอิสลามนั้นมีมิติที่หลากหลายและกว้างขวาง และหนึ่งในมิติหลักและสำคัญที่สุดของมันก็คือฮิญาบด้านในจิตใจ (การควบคุมจิตใจและความคิดของตนเอง) บุคคลที่มีความศรัทธาที่มั่นคงเข้มแข็ง จะสามารถเผชิญหน้ากับความชั่วและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมได้โดยที่ตัวเองไม่พ่ายแพ้ และโดยพื้นฐานแล้ว ทั้งฮิญาบด้านนอก (การปกปิดและการแต่งกายตามบทบัญญัติของอิสลาม) และฮิญาบด้านใน (ความศรัทธาที่มั่นคงและการรักนวลสงวนตัว) นั้น มีบทบาทร่วมกันในการกำหนดและควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ทางภายนอกของพวกนาง

 

อย่างไรก็ตาม การคลุมฮิญาบและการปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด (ตามบทบัญญัติของอิสลาม) ไม่ได้หมายความว่านี้คือการมีความรักนวลสงวนตัวและการครองตนอยู่ในความบริสุทธิ์ในระดับที่สมบูรณ์แล้ว ทำนองเดียวกันนี้ การรักนวลสงวนตัวและการครองตนอยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์โดยปราศจากฮิญาบและการปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด (ตามบทบัญญัติของอิสลาม) นั้น ก็ไม่อาจที่จะจินตนาการได้ เราไม่อาจที่จะกล่าวได้ว่าสตรีหรือบุรุษที่ปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางสายตาของสาธารณชนในสภาพเปลือยกายหรือกึ่งเปลือยกายนั้น จะเป็นผู้ที่ครองตนอยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์และมีความรักนวลสงวนตัว ทั้งนี้เนื่องจากเราได้กล่าวไปแล้วว่า ฮิญาบหรือการปกปิดร่างกายที่มิดชิดนั้น คือสัญลักษณ์และเครื่องหมายประการหนึ่งที่บ่งชี้ถึงการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) และระหว่างการคลุมฮิญาบกับการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) นั้นมีความสัมพันธ์ในเชิงปฏิกิริยาและผลกระทบซึ่งกันและกัน

 

เช่นเดียวกัน บางคนอาจถือว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) กับฮิญาบ (การปกปิดร่างกาย) คือความสัมพันธ์ของต้นกำเนิดและผล กล่าวคือ ฮิญาบคือผลของการรักนวลสงวนตัว (อิฟฟะฮ์) และการรักนวลสงวนตัวคือที่มาของการคลุมฮิญาบ เป็นไปได้ว่าบางคนอาจจะคลุมฮิญาบภายนอกอย่างมิดชิด แต่ไม่ได้เสริมสร้างความรักนวลสงวนตัวและความสะอาดบริสุทธิ์ภายในจิตใจของตัวเอง ฮิญาบในลักษณะเช่นนี้เป็นการปกปิดร่างกายแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่กล่าวอ้างตนเองว่าเป็นผู้รักนวลสงวนตัวตามสำนวนคำพูดที่มักจะกล่าวกัน ตัวอย่างเช่น “ฉันมีหัวใจสะอาดก็พอแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะพิจารณาที่หัวใจทั้งหลายเพียงเท่านั้น” บุคคลลักษณะเช่นนี้จะต้องระลึกถึงประเด็นนี้อยู่เสมอที่ว่า “จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์นั้น จะเสริมสร้างลักษณะภายนอกที่สะอาดบริสุทธิ์” ดังนั้นหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ย่อมจะไม่ให้ผลที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์ เช่นการไม่คลุมฮิญาบอย่างแน่นอน

 

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อ่านเพิ่มเติมจาก “อินซานียัต อาซ ดีดกอเฮ อิสลาม” (ความเป็นมนุษย์ในมุมมองของอิสลาม), มุสฏอฟาวี, หน้าที่ 129

 

(2) อัลกุรอาน อัลอะห์ซาบ โองการที่ 59

 

(3) อัลกุรอาน อัลหุญุร๊อตโองการที่ 13

 

(4) อัลกุรอาน อัลญุมุอะฮ์ โองการที่ 2

 

(5) อัลกุรอาน อันนูร โองการที่30

 

(6) อัลกุรอาน อันนูร โองการที่ 30

 

(7) อัลกุรอาน อันนูร โองการที่ 31

 

(8) อัลกุรอาน อัลอะห์ซาบ โองการที่ 32

 

(9) อัลกุรอาน อันนูร โองการที่ 31

 

(10) อัลกุรอาน อันนูร โองการที่ 60

 

ที่มา เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

แสดงความเห็น