ความปลอดภัยของมนุษย์อยู่ที่ลิ้นของเขา

ความปลอดภัยของมนุษย์อยู่ที่ลิ้นของเขา

 

เนี๊ยะอ์มัต(ความโปรดปราณ)อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประทานให้แก่มนุษย์ ภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงสร้างพวกเขาขึ้นมา  นั่นคือ “การพูด” ดั่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า :

“พระผู้ทรงเมตตา พระองค์ทรงสอนคัมภีร์อัลกุรอาน พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ ทรงสอนมนุษย์ให้รู้จักการพูด(บะยาน)”(1)

คำว่า “บะยาน” ในภาษาอาหรับหมายถึง “การเปิดเผย” หรือ “การทำให้รู้” และสาเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงเรียก “การพูด”ของมนุษย์ว่า “บะยาน” นั้นก็เนื่องจากว่า ด้วยสื่อ “การพูด” มนุษย์เราสามารถที่จะเปิดเผยให้บุคคลอื่น ๆ ได้รู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในจิตใจและความนึกคิดของตนเอง

ในเรื่องคุณค่าและประโยชน์ของการพูดนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะหากมนุษย์เราไม่ได้รับเนี๊ยะอ์มัต

(ความโปรดปราณ)อันยิ่งใหญ่(คือการพูด)นี้แล้ว แน่นอนที่สุดว่า การดำเนินชีวิตของมนุษย์เราย่อมประสบกับความยากลำบาก การติดต่อสัมพันธ์ การสื่อความรู้ ความเข้าใจ และความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีต่อกันคงจะต้องมีอุปสรรคอย่างมากมาย

แม้ว่าการพูดนั้นจะมีคุณประโยชน์อย่างมากมายสำหรับมนุษย์ แต่เราจะต้องไม่ลืมจากด้านลบของมัน ทุกๆเนี๊ยะอ์มัต(ความโปรดปราณ)ของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานให้แก่เรานั้น หากถูกนำไปใช้ผิดที่มันก็จะกลายเป็นโทษและเป็นภัย(นิกมะฮ์)ต่อตัวมนุษย์เอง   ในกรณีของการพูดหรือคำพูดก็เช่นกัน

ท่านอิมาม อะลี(อ.)ถือว่า  การอิบาดะฮ์(การแสดงออกซึ่งความเป็นบ่าว)ที่ดีเลิศที่สุดของมนุษย์นั้นอยู่ในคำพูดของเขา และการละเมิดฝ่าฝืน(มะซียะฮ์)ที่เลวร้ายที่สุดนั้นก็อยู่ในคำพูดมนุษย์เช่นกัน

ในคำรายงาน(ริวายะฮ์)บทหนึ่ง มีผู้ถามท่านอะมีรุลมุอ์มินีน(อ.)ว่า : ในบรรดาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบันดาลขึ้นมานั้น อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด? ท่านตอบว่า : คำพูด  เขาถามต่อไปว่า : แล้วในท่ามกลางบรรดาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นมานี้ อะไรคือสิ่งที่น่าเกลียดที่สุด? ท่านตอบว่า : ก็คำพูดนี่แหละ  ต่อจากนั้นท่านกล่าวว่า : “ด้วยสื่อของคำพูดนี้ ใบหน้าทั้งหลายจะพบกับความขาวผ่อง(ในวันปรโลก) และด้วยกับคำพูดนี้เช่นกันที่ใบหน้าทั้งหลายจะพบกับความหมองคล้ำ”(2)

ผู้ศรัทธาทุกคนจำเป็นต้องรู้จักการใช้คำพูด และควบคุมคำพูดของตนเอง อิสลามถือว่า เครื่องหมายประการหนึ่งของผู้มีสติปัญญานั้น คือเขาจะไม่พูดจาพร่ำเพื่อ และเรื่อยเปื่อย ที่ในสำนวนชาวบ้านเรียกว่า”ปากไม่มีหูรูด”  เพราะเหตุว่าคำพูดนั้น คือ สิ่งที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงระดับแห่งสติปัญญาของมนุษย์

ดังที่ท่านอิมาม อะลี(อ.)ได้กล่าวว่า :

 

“ท่านทั้งหลายจงพูดออกมาเถิด แล้วพวกท่านจะถูกรู้จัก เพราะแท้จริงคนเรานั้น ถูกซ่อนอยู่ใต้ลิ้นของเขาเอง”(3)

ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่มีสติปัญญาและมีความรอบคอบนั้น ก่อนที่เขาจะพูดสิ่งใดเขาจะครุ่นคิดเสียก่อน ในขณะที่ผู้โง่เขลาเบาปัญญานั้น เขาจะพูดก่อนการคิดใคร่ครวญ และเมื่อพูดออกไปแล้ว พึ่งจะจะรู้สึกสำนึกเสียใจว่าตัวเองไม่น่าพูดสิ่งนั้นออกไปเลย

ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวว่า :

“ลิ้นของผู้มีสติปัญญานั้น วางอยู่หลังหัวใจของเขา และหัวใจของผู้โง่เขลานั้นวางอยู่ข้างหลังลิ้นของเขา”(4)

 

หากเราพิจารณาถึงปัญหาและความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นความขัดแย้ง ความแตกแยกและความเป็นศัตรูกันที่เกิดขึ้นในทุกๆระดับของสังคม นับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับประเทศ หรือแม้ในระดับโลกนั้น ส่วนใหญ่สาเหตุที่มาของมัน ก็คือ คำพูดที่ขาดการคิดใคร่ครวญ และการควบคุมนั่นเอง  การนินทา การยุแหย่ การให้ร้ายป้ายสี การพูดจาเหน็บแนม การด่าประณามผู้อื่น การโฆษณาชวนเชื่อ และการชักจูงให้เห็นผิดเป็นถูก ทั้งหมดเหล่านี้ ถือเป็นโรคร้ายของคำพูดของมนุษย์ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านศาสนทูต(ศ็อลฯ)จึงถือว่าการที่เราจะรับรู้ได้ว่าบุคคลใดมีความศรัทธา(อีหม่าน)ที่ถูกต้องและสมบูรณ์หรือไม่นั้นเราสามารถดูได้จากคำพูดของเขา โดยท่านกล่าวว่า :

“ความศรัทธาของบ่าวคนหนึ่งจะยังไม่เที่ยงตรง จนกว่าหัวใจของเขาจะเที่ยงตรง และหัวใจของเขาจะยังไม่เที่ยงตรง จนกว่าลิ้น(คำพูด)ของเขาจะเที่ยงตรง”(5)

จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเราทุกคน หากมุ่งหวังความสำเร็จและความไพบูลย์ทั้งในดุนยา(โลกนี้)และอาคิเราะฮ์(ปรโลก) เราจะต้องระมัดระวังคำพูดต่าง ๆ ของเราที่จะพูดออกไป จงคิดใคร่ครวญก่อนที่จะพูด มิเช่นนั้นแล้ว คำพูดของเราที่พูดออกไปโดยปราศจากการคิดใคร่ครวญนั้น อาจนำมาซึ่งความหายนะแก่ตัวเราเองและสังคมของเรา และจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้ตัวเราพบกับความเศร้าโศกเสียใจไปตลอดกาล

คำสอนประการหนึ่งของอิสลามนั้น คือมุสลิมจะต้องพูดความจริง และจะต้องหลีกเลี่ยงจากการพูดโป้ปด แต่ใช่ว่าทุกความจริงหรือความถูกต้องนั้นเราจะสามารถพูดมันออกไปได้ ทุก ๆ สิ่งนั้นมีสถานที่และเวลาของมัน ความจริงบางอย่างหรือบางครั้งหากเราพูดออกไปโดยไม่ถูกเวลาและสถานที่ ที่เรียกว่า “ไม่ถูกกาลเทศะ”แล้ว การพูดความจริงดังกล่าวที่เรารับรู้มันมา อาจเป็นภัยอันมหันต์ทั้งต่อตัวเราและสังคมได้เช่นกัน

 

ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

“จงอย่าพูดในสิ่งที่ท่านไม่รู้  ยิ่งไปกว่านั้น จงอย่าพูดทุก ๆ สิ่งที่ท่านได้รับรู้มา” (6)


ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)จึงได้กล่าวว่า :

“ความปลอดภัยของผู้ศรัทธานั้น อยู่ที่การรักษาลิ้นของเขา”(7)

 

 อ้างอิง

(1)- ซูเราะฮ์อัรเราะฆ์มาน / 1-4.

(2)- ตุหะฟุลอุกูล ,หน้าที่ 216.

(3)- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ฮิกมะฮ์ที่ 398.

(4)- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ,ฮิกมะฮ์ที่ 40.

(5)- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ,คุฏบะฮ์ที่ 175.

(6)- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ฮิกมะฮ์ที่ 382.

(7)-อุซูลุลกาฟี ,เล่มที่ 2 ,หน้าที่ 114.


ที่มาเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

แสดงความเห็น