เยาวชนกับการแสวงหาวิชาความรู้
เยาวชนกับการแสวงหาวิชาความรู้
จะขอกล่าวไปยังบรรดาเยาวชนทั้งหลายว่า พวกเขาจะต้องยอมรับว่า ช่วงวัยเด็กของพวกเขานั้นได้ผ่านพ้นไป และช่วงชีวิตของมัธยมต้นก็ได้ล่วงเลยพวกเขาไปแล้วเช่นเดียวกัน การละเล่นหรือการใช้ชีวิตแบบช่วงวัยเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองหรือใช้แต่อารมณ์แบบเด็กๆ นั้น พวกเขาจะต้องละทิ้งมันไปได้แล้ว และจะต้องมานั่งคิดใคร่ครวญถึงอนาคตข้างหน้าที่รอคอยเขาอยู่ และเขาจะต้องไปเผชิญกับมันด้วยหัวใจที่มีความพร้อม เพราะเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยของคนหนุ่มสาวนั้น พวกเขาจำเป็นที่จะต้องเริ่มคิดในสิ่งใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รู้จักรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เพื่อลดภาระให้กับบุคคลอื่น ฝึกให้มีการรับผิดชอบและช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นๆ ให้มากขึ้น เงินที่ได้รับในวันอีดหรือเงินขวัญถุงที่เคยได้รับมาก็อย่าใช้จ่ายไปอย่างฟุ่มเฟือย ควรเก็บออมไว้ในยามคับขัน วันที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายอย่างเร่งด่วน แม้ว่าบางคนพ่อแม่อาจจะมีฐานะร่ำรวย แต่มันก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะให้เขากลายเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย และหากเขายังไม่เคยหยอดกระปุก เขาก็ควรที่จะเริ่มเปิดบัญชีธนาคารเพื่อที่จะอดออมไว้สำหรับอนาคตของตัวเอง
มีเยาวชนของเราจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่พวกเขาหางานพิเศษทำ เพื่อหาเงินมาเป็นค่าเล่าเรียนของตัวเองในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม เพราะพวกเขาตระหนักว่า การดำเนินชีวิตที่ปราศจากความรู้และการแสวงหาวิชาความรู้นั้นมันไร้ค่า ดังนั้น การแสวงหาวิชาความรู้นั้นคือคุณค่าที่แท้จริง ที่จะนำพาตัวของเขาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ที่ปราศจากวิชาความรู้เปรียบได้ดั่งคนตาบอด เขาจะไม่สามารถพบกับเกียรติและความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้เลย
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “บุคคลใดที่เขาเป็นมิตรสหายกับวิชาความรู้ เขาก็จะถูกนับว่าเป็นคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่เป็นนิรันดร์ ถึงแม้ความตายได้มาประสบกับเขาแล้วก็ตาม แต่ทว่าบุคคลที่มีแต่ความโง่เขลาและความไม่รู้อยู่ร่วมกับตัวตนของเขานั้น แน่นอนเขาคือผู้ที่ได้ตายไปแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ตาม”
นับเป็นความโชคดีที่ศาสนาอิสลามนั้นมีความโดดเด่นกว่าศาสนาหรือลัทธิอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการแสวงหาวิชาความรู้ และจะชักชวนบรรดาผู้ศรัทธาให้แสวงหาความรู้อย่างจริงจังซึ่งท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ฉันชอบที่มิตรสหายของฉันได้เฆี่ยนตีหรือทำโทษเพื่อให้มีการเรียนและการแสวงหาวิชาความรู้”
ในปัจจุบันเราจะเห็นได้จากการที่มีการเรียนภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนาหรือสามัญ และอนุญาตให้พ่อแม่หรือครูบาอาจารย์สามารถเฆี่ยนตีหรือลงโทษบรรดาเด็กๆ ที่ไม่สนใจและเพิกเฉยต่อการเล่าเรียน
การให้ความสำคัญต่อการแสวงหาวิชาความรู้นั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้มีวจนะไว้ว่า “การแสวงหาความรู้นั้นเป็นข้อบังคับ (วาญิบ) เหนือมุสลิมทุกๆ คน” หรือที่ท่านได้กล่าวว่า “จงแสวงหาความรู้ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ไกลถึงเมืองจีนก็ตาม”
ในยุคสมัยของท่านนั้นระยะทางระหว่างทะเลทรายอาหรับกับเมืองจีน ถือว่าเป็นดินแดนที่ไกลโพ้น แต่ท่านก็ชี้ให้บรรดาศรัทธาชนได้รู้ว่าถึงแม้มันจะไกลเพียงใด แต่เพื่อที่เราจะได้มาซึ่งวิชาความรู้ เราก็จำเป็นที่จะต้องไปแสวงหามันมาเพื่อเป็นความรู้ให้แก่ตัวเอง หรือท่านต้องการเปรียบเทียบให้รู้ว่าถึงแม้มันจะอยู่ในมุมใดของโลกก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ให้เราไปไขว่คว้าหามา และท่านก็ยังกำชับมนุษย์อีกว่า “จงแสวงหาวิชาความรู้ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ”
เหล่านี้คือฮะดีษที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ชี้ให้เราประจักษ์และเห็นถึงความสำคัญในการแสวงหาวิชาความรู้ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนใด หรือในสภาพการณ์เช่นใดก็ตาม และแน่นอนการแสวงหาความรู้นั้นไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนหรือจากตำรับตำราเพียงเท่านั้น แต่ในทุก ๆ สภาวะไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ก็ให้เราขวนขวายและแสวงหาวิชาความรู้
ดังวจนะของรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ที่ท่านได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เขาได้นั่งร่วมวงเสวนากับเพื่อนพ้องของพวกเขาและไม่ได้ทำให้เขาได้รับความรู้ หรือความรู้ของเขาไม่ได้เพิ่มพูนขึ้นมาเลย ดังนั้นการนั่งในลักษณะเช่นนี้ของเขาจะกลายเป็นสาเหตุของความห่างไกลจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)”
มนุษย์จะต้องไม่ปล่อยประละเลยเวลาอันมีค่าของพวกเขาไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งในทุกเสี้ยววินาทีในการดำเนินชีวิตของเขานั้นมีค่า และการแสวงหาวิชาความรู้ก็จะก่อประโยชน์ให้กับเขาอย่างมากมาย
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “หากประชาชนได้รับรู้ว่าความรู้นั้นช่างมีประโยชน์ต่อเขาอย่างมหาศาล แน่นอนพวกเขาจะแสวงหามันในทุกๆ วิถีทางที่พวกเขาสามารถจะกระทำได้ ถึงแม้ว่าเขาจะต้องหลั่งเลือดในหนทางนี้ หรือจะต้องลงดิ่งสู่ก้นบึ้งของมหาสมุทร”
ชาวตะวันตก พวกเขาถือว่า ความรู้คือบันใดที่จะทำให้พวกเขาก้าวไปสู่ความมั่งคั่งและฐานะตำแหน่งที่ใหญ่โต แต่สำหรับอิสลามถือว่า ความรู้คือความมีคุณค่า ความมีเกียรติ และความรู้คือสื่อหนึ่งที่จะนำพามนุษย์ไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ณ พระพักตร์ของเอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ซึ่งอัลกุรอ่านได้กล่าว่า
“แน่นอนอัลลอฮ์ทรงยกย่องบรรดาผู้ศรัทธาจากพวกเจ้า และบรรดาผู้ที่ได้รับความรู้ หลายฐานันดร และอัลลอฮ์ทรงตระหนักยิ่งในสิ่งที่เจ้าประพฤติ” (ซูเราะฮ์อัลมุญาดาละฮ์ อายะฮ์ที่ 11)
และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวอีกว่า “บุคคลที่จะเข้าใกล้ยังตำแหน่งและฐานันดรของความเป็นศาสดา ก็คือผู้ทรงความรู้และผู้ที่ปกป้องพิทักษ์ศาสนา”
หากเด็กๆ และเยาวชนของเราไม่ขวนขวายและพยายามที่จะแสวงหาวิชาความรู้ ในวันกิยามะฮ์ (โลกหน้า) พวกเขาก็จะถูกสอบสวนว่า ทำไมพวกเจ้าไม่แสวงหาความรู้ ทั้งๆ ที่พวกเจ้ามีโอกาสมีความสามารถและมีปัจจัยที่พร้อมในการที่จะให้พวกเจ้าแสวงหาความรู้ อีกทั้งในปัจจุบันมีสถานศึกษาที่หลากลายและมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบปกติหรือการศึกษานอกโรงเรียน และแม้แต่การเรียนศาสนาก็มีอุลามาอ์ที่พร้อมที่จะให้ความรู้ หรือแม้แต่การเข้าค่ายศาสนาที่จัดให้แก่เยาวชนของเราเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งตามมัสยิดหรือฮุซัยนียะฮ์ก็มีการเรียนการสอนการให้ความรู้อย่างหลากหลาย
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮ์ (โลกหน้า) บรรดาลูกหลานของอาดัม พวกเขาไม่สามารถที่จะก้าวย่างต่อไปได้ถ้ามิได้ถูกถามถึงคำถาม 3 ประการในชีวิตของเขาดังต่อไปนี้
1. อายุขัยของเจ้านั้นได้ถูกใช้ไปในหนทางใด
2. ทรัพย์สินเงินทองของเจ้านั้นได้มาจากไหนและใช้จ่ายไปในหนทางใด
3. ความเป็นวัยหนุ่มของเจ้านั้นเจ้าได้ทำให้มันย่างเข้าสู่วัยชราอย่างไร”
ประการหนึ่งที่เป็นความโดดเด่นของวิชาความรู้ นั่นก็คือ สำหรับบรรดาผู้รู้ พวกเขาจะได้รับการยกย่องให้เกียรติ และจะยอมให้พวกเขาอบรมสั่งสอนตามมัจญลิสต่าง ๆ ของพวกเขา และจะรับฟังคำพูดของเขาด้วยความยินดี เกียรติของบรรดาผู้รู้นั้น ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “การมองไปยังใบหน้าของบรรดาผู้รู้นั้นคือการอิบาดะฮ์”
จากฮะดีษบทนี้ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวเสริมว่า “การมองไปยังใบหน้าของอุลามาอ์ที่จะเป็นอิบาดะฮ์ได้นั้น ก็ต่อเมื่ออุลามาอ์ที่เรามองไปยังใบหน้าของเขานั้นจะเป็นสื่อให้เรารำลึกถึงวันฟื้นคืนชีพ (ก็คือการรำลึกถึงอัลลอฮ์) ซึ่งถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วการมองไปยังเขานั้นก็คือฟิตนะฮ์ (ความหลงผิด) นั่นเอง”
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “การมีเกียรติของวิชาความรู้นั้น เป็นที่เพียงพอแล้วสำหรับมนุษย์ หากมีใครมาพูดกับคนที่โง่เขลาว่า ท่านเป็นผู้รู้และฉลาดหลักแหลม เขาก็จะรู้สึกดีใจอย่างมาก และสำหรับความต่ำต้อยหรือการไร้เกียรติของความโง่เขลานั้น หากมีคนมาบอกกับเขาว่า คุณนั้นช่างโง่เหลือเกิน! แน่นอนเขาจะรู้สึกโกรธและอับอายอย่างมาก ดังนั้นเป็นวาญิบสำหรับเขาที่จะต้องขวนขวายพยายามในการแสวงหาวิชาความรู้เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ฐานันดรที่สูงส่ง อยู่ในความพึงพอพระทัยอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และสู้รบกับความโง่เขลาให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง”
อัลกุรอาน ได้กล่าวไว้ว่า
“จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเจ้านั่นคือผู้ทรงเอื้อเฟื้อยิ่งนัก ซึ่งทรงสอนความรู้ด้วยกับปากกา พระองค์ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” (ซูเราะฮ์อัลอะลัก โองการที่ 3, 4, 5)
ในวันที่มนุษย์ในคาบสมุทรอาหรับไม่มีข่าวคราวหรือแม้แต่การพูดถึงความรู้ การเรียนรู้ กระดาษ ปากกา
อัลกุรอาน ได้ชี้ให้พวกเขาได้รู้จักการเรียน การแสวงหาวิชาความรู้ ให้พวกเขารู้ถึงความสำคัญของการมีความรู้ และบอกให้พวกเขาได้รับรู้ว่าการให้ความสำคัญกับความรู้นั้นก็คือหนทางที่จะเข้าใกล้ชิดกับพระเจ้า ครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นครูท่านแรกที่สอนสั่งมนุษยชาติ นั่นก็คืออัลลอฮ์ (ซ.บ.)
โดยธรรมชาติของบรรดาเยาวชนนั้น พวกเขาชอบที่จะใฝ่รู้และแสวงหาความรู้เพื่อที่จะพัฒนาความรู้ของตนให้สูงขึ้น เพื่อที่จะได้ชี้แนะเพื่อนๆ ของตนได้ สำหรับแนวทางในการแสวงหาความรู้นั้นจำเป็นต้องอาศัยแบบแผนและการได้รับการแนะนำในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อที่จะสามารถจดจำเนื้อหาในบทเรียนและทำให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา ซึ่งเราจะขอเสนอขั้นตอนที่สำคัญในการเล่าเรียนดังนี้
1. มีความรักที่จะไขว่คว้าหาความรู้
2. จะต้องมีโปรแกรมที่ชัดเจน
3. จะต้องเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน
4. จะต้องมีการพักผ่อนให้เต็มที่ภายหลังจากการเรียนและการทบทวนบทเรียน
5. การทบทวนบทเรียน
6. จะต้องเลือกสถานที่และเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านและทบทวนบทเรียน
7. การจดบันทึกและการสรุปเนื้อหาการเรียน
8. การพูดคุยสนทนาในเนื้อหาที่ได้เรียนไปแล้ว
9. การขีดเส้นใต้ตรงเนื้อหาที่สำคัญๆ
10. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และบำรุงสุขภาพร่างกาย
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนของเราจะให้ความสำคัญและมีความตั้งใจที่จะแสวงหาความรู้เพื่อที่นำไปพัฒนาตัวเองและคนรอบข้าง และจะนำพาตัวเองไปสู่ฐานันดรที่สูงส่งอีกทั้งได้อยู่ในความเมตตาและความโปรดปรานขององค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)
ฮะดีษอีกบทหนึ่งที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เขาแสวงหาความรู้เพื่ออัลลอฮ์ และปฏิบัติในสิ่งที่รู้นั้นเพื่อพระองค์ อีกทั้งได้สอนให้กับผู้อื่นเพื่อความพึงพอพระทัยของพระองค์ ในฟากฟ้าชั้นสูงนั้นจะมีการรำลึกถึงเขา และจะกล่าวสรรเสริญให้กับเขาว่า คนคนนี้เขาได้เล่าเรียน ได้นำมาปฏิบัติ และสอนให้กับบุคคลอื่นเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.)”
โดย : อามีนะฮ์ ประดับญาติ
ที่มาเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
แสดงความเห็น