วิลายะตุลฟะกีฮ์ ระบอบการปกครองของพระเจ้า ตอนที่สอง
วิลายะตุลฟะกีฮ์ ระบอบการปกครองของพระเจ้า ตอนที่สอง
โดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี
อำนาจการปกครองของบรรดาอิมาม ได้ถูกส่งมอบและถ่ายทอดกันมา จนกระทั่งถึงอิมามท่านที่ 11 คือ
ท่านอิมามฮาซัน อัสการีย์ (อ) ซึ่งเป็นไปท่ามกลางการกวาดล้างเข่นฆ่าทุกคนที่ยอมรับในอำนาจการปกครองนี้ของบรรดาผู้ปกครองทรราชในยุคนั้นที่อ้างตัวเป็นผู้ปกครองประชาชาติมุสลิม
เป็นผลทำให้บรรดาอิมามทุกท่านต้องกลายเป็นผู้สละชีพในหนทางของพระองค์(ชะฮีด) จนถึงอิมามท่านสุดท้าย
นามว่า "อิมามมะฮฺดี" ซึ่งเป็นผู้ปกครองท่านสุดท้ายของพระองค์บนหน้าแผ่นดินนี้ และพระองค์จะต้องปกปักรักษาเอาไว้ เพราะหากสูญสิ้นผู้ชี้นำที่แท้จริง โลกก็จะปราศจากตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า
ดังนั้นในฮิจเราะฮฺศตวรรษที่ 2 (คริสต์ศตวรรษที่ 9) หรือประมาณปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 252 (ค.ศ. 866) พระองค์จึงทรงรักษาท่านอิมามมะฮฺดี (อ) เอาไว้ และจะส่งกลับมาเมื่อเวลาอันสมควรมาถึง เมื่อการพัฒนาการของมนุษย์ไปถึงขั้นสูงสุด ที่สามารถยอมรับในผู้ปกครองท่านนี้ของพระองค์ได้แล้วเท่านั้น เพื่อปกป้องเชิดชูหรือสถาปนารัฐอิสลามอันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ อย่างไรก็ตามก่อนที่พระองค์จะเก็บรักษาอิมามมะฮฺดี (อ) เอาไว้นั้น (เหมือนกับการที่พระองค์ได้เก็บรักษาศาสดาอีซา หรือพระเยซู) ระบบการปกครองอีกแบบหนึ่งจะต้องถูกนำมาทดแทน และแน่นอนสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างยอมรับก็คือ "ไม่มีสังคมใดที่จะอยู่รอดปลอดภัยได้ หากสังคมนั้นปราศจากผู้นำ"
หากเปรียบบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิกไม่เกินห้าคน บ้านหลังนั้นจะเป็นครอบครัวไม่ได้ถ้าไม่มีผู้นำครอบครัว ถ้าหากทุกคนในบ้านเป็นผู้นำกันหมด พ่อก็เป็นผู้นำ แม่ก็เป็นผู้นำ ลูกก็เป็นผู้นำ ทุกคนในบ้านอยู่ในตำแหน่งผู้นำกันหมด ใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามความพอใจ บ้านหลังนั้นก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และในทัศนะของอิสลามก็ไม่อนุญาตให้เป็นเช่นนั้นแม้ในครอบครัวหนึ่งก็ตาม อิสลามได้กำหนดผู้นำครอบครัวอย่างชัดเจน อิสลามกำหนดผู้นำครอบครัว
เราจะเห็นได้จากบทบัญญัติเรื่องการแต่งงาน เมื่อสตรีมุสลิมจะแต่งงาน อิสลามมีบทบัญญัติว่า ผู้ปกครอง (วะลี) ที่จะอนุญาตให้แต่งงานได้คือ บิดาของนางเป็นอันดับแรก ทว่าอำนาจปกครอง (วิลายะฮฺ) ของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ นั้นมีขอบเขตจำกัด เพราะได้รับมอบอำนาจให้ปกครองเฉพาะในครอบครัว และปกครองตามขอบเขตที่พระผู้เป็นเจ้าอนุมัติ ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งอะไรมากเกินไปกว่าอำนาจที่ได้มาจากการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะเดียวกันพระองค์ก็สั่งให้ลูกๆ ภักดีต่อคำสั่งของพ่อแม่ แต่ก็มีเงื่อนไขและมีขอบเขตจำกัดเช่นกัน
นั่นแค่ภายในบ้านหลังหนึ่งที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่คน อิสลามยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของผู้นำครอบครัว ฉะนั้นถ้าเป็นชุมชนหนึ่ง สังคมหนึ่ง ที่ใหญ่ขึ้นกว่านั้นโดยเฉพาะสังคมประชาชาติมุสลิม อิสลามจะทิ้งขว้างให้ประชาชาติมุสลิมอยู่ในสภาพที่ปราศจากผู้นำได้อย่างไร อิสลามปล่อยให้ประชาชาติอิสลามอยู่ในสภาพที่ขาดผู้นำ กระทั่งท่านอิมามมะฮฺดี (อ) ปรากฏกายอย่างนั้นหรือ อิสลามไม่มีบทบัญญัติเรื่องผู้นำเอาไว้เลยหรือ?
นับเป็นเวลากว่าหนึ่งพันสองร้อยกว่าปีแล้ว ท่านอิมามมะฮฺดี (อ) ก็ยังไม่ปรากฏกาย สติปัญญาของมนุษย์และผู้ที่เข้าใจในอิสลามยอมรับได้หรือไม่ เป็นไปได้อย่างไรที่ศาสนาหนึ่งซึ่งเป็นศาสนาที่มีทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การปกครอง แต่ประชาชาติของศาสนานี้กลับถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่ไร้ซึ่งผู้นำอย่างสิ้นเชิง ดำเนินชีวิตกันตามมีตามเกิด คอยวันที่พระองค์จะทรงส่งท่านอิมามมะฮฺดี (อ) กลับคืนมาเพียงเท่านั้น?
ไม่ว่าประเทศใดเมื่อมีนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทันทีที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติงานได้ รองนายกรัฐมนตรีก็จะขึ้นบริหารประเทศแทนในทันที เหตุเพราะประเทศไม่สามารถขาดผู้นำได้ ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ทันทีที่ประธานาธิบดีหรือผู้นำสูงสุดหมดสติ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ที่ต้องใช้ยาสลบหรือว่าสิ่งใดก็ตาม ทันทีที่ยาสลบทำงานบัดนั้นรองประธานาธิบดีจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทันที แสดงว่าประเทศขาดผู้นำแม้เพียงวินาทีเดียวก็ไม่ได้
ทว่าเป็นเรื่องที่น่าสมเพชเวทนายิ่งต่อประชาชาติอิสลามจำนวนมาก ที่จนถึงทุกวันนี้ยังหาผู้นำของตนเองยังไม่เจอ ไม่รู้จะยึดเอาใครเป็นผู้นำของตนเอง ศาสนาอิสลามที่มีคนศรัทธาไปทั่วทั้งโลก ประชาชาติมุสลิมนับพันล้านคนยังไม่รู้ว่าผู้นำตนเองอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าจะยึดตามใครเป็นผู้นำ ....
แน่นอนยิ่งศาสนาอิสลาม ศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงมีคำสั่งโดยตรงจากบรรดาอิมาม (ผู้นำ) แต่ละท่านกระทั่งถึงท่านอิมามมะฮฺดี (อ) ว่า "เมื่อผู้ปกครองของวงศ์วานแห่งศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่านและลูกหลานของท่าน) จะต้องเว้นวรรคชั่วคราว เพื่อรักษาผู้ปกครองคนสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้าเอาไว้สำหรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่า ระบอบอื่นที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกันจึงถูกนำเข้ามาทดแทนในทันที นั่นก็คือ "ระบอบวิลายะตุลฟะกีฮฺ"
ระบอบวิลายะตุลฟะกีฮฺ คือการมอบอำนาจการปกครองชั่วคราวให้กับนักการศาสนา (ฟะกีฮฺ) หรือมอบอำนาจการปกครองให้กับผู้รู้สูงสุดในศาสนาอิสลามเป็นผู้ปกครองแทนบรรดาอิมามชั่วคราว เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชาติอิสลามจะถูกทิ้งคว้างไร้จุดหมายไร้ผู้นำ และไร้ระบอบการปกครองแม้แต่วินาทีเดียว
ในความเป็นจริง "ระบอบวิลายะตุลฟะกีฮฺ" ได้ถูกนำเสนอให้กับประชาชาติอิสลามในหลายยุคหลายสมัยมาแล้ว ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ โดยบรรดาอิมาม (อ) แต่ละท่าน แต่จะเริ่มเข้มข้นขึ้นในยุคของอิมามท่านที่ 8-11 และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในยุคของอิมามมะฮฺดี (อ)
อนึ่งอิมามมะฮฺดี (อ) จะมีการเร้นกายอยู่สองช่วง การเร้นกายครั้งที่หนึ่งอยู่ในระยะเวลาสั้น ซึ่งเรียกว่า "ฆ็อยบะตุลศุฆรอ" การเร้นกายครั้งที่หนึ่ง ท่านจะไม่ปรากฏตัวในชุมชนโดยรวมทั้งหมด แต่ท่านจะปรากฏตัวให้กับผู้ที่เป็นตัวแทนของท่าน หรือกับบุคคลที่สำคัญๆ เพื่อคอยชี้แนะนโยบายต่างๆ โดยมีตัวแทนโดยตรงจากท่าน เรียกว่า "นาอิบุลอิมาม"
ในช่วงเวลาการเร้นกายครั้งแรกนั้น มีตัวแทนอยู่ด้วยกันสี่ท่าน เมื่อท่านแรกเสียชีวิต ท่านอิมามก็มีคำสั่งให้แต่งตั้งท่านที่สอง และเมื่อท่านที่สองเสียชีวิต ท่านอิมามก็ได้แต่งตั้งท่านที่สามและที่สี่ตามลำดับ หมายความว่าประชาชาติอิสลามหรือชีอะฮฺที่มีปัญหาทุกเรื่อง ศาสนา สังคม การเมือง สามารถที่จะขอคำชี้นำผ่านทางตัวแทนของท่านได้ กระทั่งถึงท่านที่สี่ ท่านอิมามก็ได้สั่งว่า "หลังจากนี้ไม่ต้องแต่งตั้งใครอีก เพราะหลังจากนี้จะเป็นการเร้นกายครั้งใหญ่ "ฆ็อยบะตุลกุบรอ" ใช้เวลายาวนานไม่มีใครล่วงรู้ได้นอกจากพระองค์ และท่านจะกลับมาอีกครั้งเพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลก
ที่มาเว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์อะคาเดมี
แสดงความเห็น