เรื่องราวอันน่าประทับใจเมื่อระลึกถึงท่านศาสดามุฮัมมัด
เรื่องราวอันน่าประทับใจเมื่อระลึกถึงท่านศาสดามุฮัมมัด
Dr. Gustav weil ในประวัติศาสตร์ของประชาชาติอิสลาม
ท่านศาสดามุฮัมมัด คือบุคคลตัวอย่างในประชาชาติอิสลาม ท่านเป็นบุคคลที่ปราศจากมลทินทั้งปวง เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบในการดำเนินชีวิตของท่านไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย เครื่องแต่งกาย หรืออาหารที่ท่านรับประทานนั้น ล้วนแสดงถึงชีวิตอันเรียบง่ายและความสมถะของท่านทั้งสิ้น ท่านศาสดามุฮัมมัดไม่เคยเรียกร้องหาความสุขสบายหรือการปรนนิบัติใดๆ จากบรรดาสาวกของท่าน หรือแม้กระทั่งจากเหล่าทาสบริวารของท่านเอง และที่มากไปกว่านั้น ท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นบุคคลที่อ่อนน้อมและอ่อนโยน ท่านรักที่จะช่วยเหลือและผ่อนคลายความทุกข์ยากให้กับบุคคลอื่นอยู่เสมอ หนึ่งในกิจวัตรที่ท่านศาสดามุฮัมมัดมักทำอยู่เป็นนิจ คือ ท่านมักไปเยี่ยมผู้ป่วย ท่านปรารถนาที่จะมอบความรักความห่วงใยของท่านเปรียบประหนึ่งว่าท่านกำลังมอบโอสถวิเศษที่ชโลมดวงใจให้กับผู้ป่วยกระนั้น ข้าพเจ้าตระหนักได้ว่าหัวใจของท่านศาสดามุฮัมมัดช่างกว้างขวางและเปี่ยมล้นด้วยความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างล้นเหลือ
คำกล่าวของ Lane-Poole ในขณะเปิดโต๊ะสนทนาในหัวข้อเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด
ท่านศาสดามุฮัมมัด คือบุคคลที่น่าเลื่อมใสและน่าศรัทธามากที่สุด ท่านมีบุคลิกที่นุ่มนวลและอ่อนโยน เมื่อมีการสนทนาเกิดขึ้นคราใดท่านศาสดามุฮัมมัดจะเป็นนักฟังที่ดีและให้เกียรติคู่สนทนาของท่านเสมอ จากสิ่งเหล่านี้เองจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าบุคคลทั้งหลายที่เคยพบเจอท่านและเคยใกล้ชิดกับท่าน ต่างร่วมเห็นพ้องที่จะมอบความรักความยำเกรงให้กับท่านโดยปราศจากเงื่อนไข มีคำปรารภหนึ่งจากผู้ที่เคยใกล้ชิดกับท่านศาสดามุฮัมมัดว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยพบผู้ใดมาก่อนที่มีคุณลักษณะดั่งเช่นท่านศาสดามุฮัมมัด ท่านช่างดูเคร่งขรึม และวาจาของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง คำพูดแต่ละคำของท่านนั้นล้วนมีความหมายและลึกซึ้งจับจิตจับใจ ไม่มีบุคคลใดที่จะลืมคำกล่าวของท่านได้เลย”
M.K.Gandhi ปีแห่งการผลัดใบ อินเดีย, 1924
ความเชื่อมั่นของฉันมีเพิ่มขึ้นในทุกขณะว่า “ไม่มีคมดาบใดที่จะเอาชนะวิถีของอิสลามได้” จุดแข็งที่เรียบง่าย นั่นคือ ความอ่อนน้อมและอ่อนโยนของท่านศาสดา วาจาของท่านที่นุ่มนวล หาใช่เป็นความอ่อนแอและขี้ขลาด ท่านเคร่งครัดในหลักศีลธรรมจรรยา ท่านได้พลีอุทิศทุกสิ่งเพื่อองค์พระผู้อภิบาลของท่าน และท่านได้เผยแผ่ศาสนาอย่างปราศจากข้อบกพร่อง ท่านไม่เคยหวาดกลัวสิ่งใด ในขณะเดียวกันท่านยังทุ่มเทเรี่ยวแรงและพลังของท่านเพื่อประชาชาติของท่าน ทั้งหมดนี้เป็นการประกาศชัดว่า “จะไม่มีคมดาบใดเอาชนะความดีงามเหล่านี้ได้ และจะไม่มีคมดาบใดที่เอาชนะการก้าวผ่านของปัญหาได้” …ปีแห่งการผลัดใบ อินเดีย, 1924
Rev.Bosworth Smith กับทัศนะที่มีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด
ท่านศาสดามุฮัมมัดเปรียบประหนึ่งจักรพรรดิและนักการศาสนาในคราวเดียวกัน ความสูงส่งและความงดงามที่ท่านมี นั่นคือ ท่านเป็นจักรพรรดิที่ไม่ต้องการบัลลังก์และพระราชวังอันตระการตา ท่านไม่สร้างศัตรู อีกทั้งท่านยังไม่ต้องการผู้คุ้มครองใดๆ มาเป็นเกราะกำบังสร้างความปลอดภัยให้กับท่าน ท่านรักและห่วงใยประชาชนของท่านอย่างจริงใจและท่านยังขจัดการเรียกเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม จากทั้งหมดนี้สามารถกล่าวได้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัดได้จัดการและบริหารงานปกครองของท่านตามหลักการที่พระผู้เป็นเจ้าของท่านพึงประสงค์ให้ท่านกระทำ ท่านคือท่านศาสดาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและสติปัญญา โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสะสมอาวุธหรือกองกำลังใดๆ นอกจากท่านจะสะสมความดีงามที่พระผู้เป็นเจ้าของท่านพึงประสงค์เท่านั้น
Montgomery Watt ด้วยมุมมองที่มีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด ณ ดินแดนแห่งมักกะฮ์
มีบุคคลมากมายได้เชิดชูท่านมุฮัมมัดให้เป็นต้นแบบของความของความอดทนอดกลั้นและไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตรายใดๆ ทั้งปวง ความสูงส่งในหลักศีลธรรมจรรยาที่ท่านมี ความศรัทธาอย่างแรงกล้าและการยึดมั่นจนกว่าจะบรรลุสู่ความสำเร็จ รวมไปถึงในสิ่งที่ท่านได้วางรากฐานเอาไว้ คือการดำเนินชีวิตอยู่บนความซื่อสัตย์ จากความดีงามดังกล่าว บุคคลมากมายเชื่อมั่นว่าท่านมุฮัมมัดเป็นผู้นำของพวกเขา ท่านมุฮัมมัดยังตระหนักถึงสภาวการณ์หนึ่ง คือ จะแก้ไขอย่างไรกับบุคคลที่มักจะประพฤติตนเป็นผู้กลับกลอกหลอกลวง ผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้จะก่อปัญหา จะขยายเหตุและผลของปัญหาอยู่เสมอ ช่างเป็นเรื่องน่าคิด... เหตุใดในประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตก (นักปราชญ์และนักอุดมคติที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย) จึงไม่มีแนวคิดหรือมีคุณลักษณะที่ดีงามที่ควรค่าต่อการระลึกถึงดั่งเช่นท่านมุฮัมมัด
สารานุกรม Britannica
“จากแหล่งข้อมูลอันมากมายในยุคต้นได้แสดงให้เห็นว่า ศาสดามุฮัมมัดเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ยิ่ง ท่านเป็นบุคคลที่น่าชื่นชมและนับถือ ด้วยบุคลิกภาพและคุณลักษณะอันดีงาม จึงมีผู้คนมากมายมอบความรักความภักดีให้กับท่าน” (Vol.12)
Goethe : สนใจอิสลามในหลายช่วงชีวิตของเขา ครั้งแรกคือในครั้งที่เขายังเป็นเด็ก ครั้งต่อมาเมื่อเขามีอายุ 23 ปี เขามีผลงานเขียนที่บรรยายถึงความงดงามและน่าสรรเสริญเกี่ยวกับศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า คือศาสดามุฮัมมัด และเมื่อครั้งที่วัยของเขาล่วงเข้า 70 ปี Goethe ไม่ได้หลับตลอดทั้งคืน นั่นเป็นเพราะเขาซาบซึ้งกับค่ำคืนแห่ง “ลัยละตุลก็อดร์” เขาเชื่อมั่นว่าค่ำคืนอันประเสริฐนี้ คือค่ำคืนแห่งการประทาน 5 อายะฮ์แรกของคัมภีร์อัลกุรอานให้กับท่านศาสดามุฮัมมัด
Leon Tolstoy : นักเขียนชาวรัสเซียผู้มีชื่อเสียงอันโด่งดัง หนึ่งในจดหมายที่เขาเขียนตอบมารดาของเขา คือนาง Yelma Yevsimavna (Vakilava) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1909 เนื่องจากนางต้องการถามเขาเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาจากคริสต์มาสู่อิสลาม ลูกของนางรู้สึกอย่างไร และอะไรนำไปสู่การตัดสินใจเช่นนั้น Leon Tolstoy ตอบว่า
“ลูกชายของคุณแม่และผมนั้น ต่างเชื่อมั่นและมีทัศนคติตรงกันว่า ศาสนาอิสลามคือศาสนาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคำสอนอันทรงคุณค่ายิ่ง ท่านศาสดามุฮัมมัดได้นำแสงสว่างมาสู่ประชาชาติทั้งหลาย มันช่างสูงส่งและงดงามมาก มากกว่าตอนที่ลูกของคุณแม่ได้พานพบเมื่อครั้งที่เขาเป็นคริสตชนเสียอีก สำหรับผมนั้น ผมขอแสดงความดีใจกับลูกชายของคุณแม่ที่ในที่สุดเขาได้มาสู่หนทางของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างแท้จริง จากบรรทัดนี้เป็นต้นไปผมขอเขียนในฐานะที่ผมเคยเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งเคยรับนับถือศาสนาคริสต์มาก่อน ผมเคยได้รับความรู้ในคริสตจักรและขัดเกลาตนเองมาตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อผมมาสู่การเรียนรู้อิสลาม ผมพบคำตอบอันเป็นที่สุดและสมบูรณ์แล้ว ผมเพียงอยากให้ทราบว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าและสมบูรณ์มากกว่าตลอดช่วงชีวิตการเป็นคริสตชนของผม คำสอนของอิสลามห่างไกลจากความตื้นเขินทางสติปัญญา แต่มิได้ยากต่อการเข้าใจและการปฏิบัติ ความสูงส่งของศาสนาอิสลามในทัศนคติของผม คือคำสอนและการเตือนสำทับที่ปรากฏในอิสลาม ที่ท่านศาสดามุฮัมมัดได้นำมามอบให้กับประชาชาติได้อย่างครบถ้วนและลึกซึ้ง หัวใจหลักของความศรัทธาในศาสนาอิสลามสามารถนำไปอธิบายในทุกๆ ศาสนาได้อย่างชัดเจน อีกประการหนึ่ง จากคำสั่งสอนของท่านศาสดามุฮัมมัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่บรรดาผู้รู้ในศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ได้สั่งสอนนั้น ผมพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมาจากพระผู้สร้าง คือ “อัลลอฮ์” พระองค์เดียวเท่านั้น ทุกๆ ศาสนาต่างพยายามที่จะให้ผู้คนเชื่อและศรัทธาถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า แต่จะมีศาสนาใดเล่าที่เติมเต็มคำอธิบายและนำไปสู่แก่นแท้ของความศรัทธา และนำหัวใจของบ่าวคนหนึ่งให้นอบน้อมและมีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างสุดซึ้งดั่งเช่นอิสลาม”
Johan Wolfgang Goethe (1749-1838) : นักกวีชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียง และเนื่องด้วยผลงานอันทรงคุณค่าได้ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักกวีระดับโลก Goethe มีประสบการณ์อันน่าแปลกประหลาดเมื่อเขาได้พยายามศึกษาเรื่องราวของอิสลามและวิทยาศาสตร์ ผลพวงจากประสบการณ์นี้ทำให้ช่วงชีวิตของเขามีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับเหตุการณ์แรกนั้น เมื่อเขามีอายุ 23 ปี เขาได้แสดงความชื่นชมสรรเสริญต่อท่านศาสดามุฮัมมัด และเมื่อเขาอายุ 70 ปี เขามีความเชื่อมั่นว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์เป็นค่ำคืนแห่งการประทาน 5 อายะฮ์แรกของคัมภีร์อัลกุรอานอย่างแท้จริง ดังนั้นเขาจึงไม่ขอหลับพักผ่อนเพราะเขาปรารถนาจะอยู่ในค่ำคืนอันจำเริญนี้จนกว่าจะเข้าสู่รุ่งอรุณของวันใหม่ จากความสนใจและการศึกษาอิสลามของเขานี่เอง ผลงานของ Goethe ที่มีชื่อว่า Eastern Divan (poetry collection) ได้เปิดเผยความเป็นตัวตนของเขามากกว่าผลงานชิ้นก่อนๆ ในผลงานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเขามีหัวใจโน้มเอียงสู่อิสลามเช่นไร
ในขณะเดียวกันยังมีนักกวีอีกผู้หนึ่งที่น่าจดจำ คือ Faust ผลงานของเขาได้รับการประเมินว่าทรงคุณค่าไม่ต่างไปจากผลงานของ Goethe ผลงานของ Faust มีความน่าประหลาดใจเช่นกันโดยเฉพาะในบทกวีของเขาบทหนึ่งที่ชื่อ The Divan เขาไม่ได้ปฏิเสธแม้แต่น้อยว่าเขาไม่ใช่มุสลิม อย่างไรก็ดี ขอย้อนกลับไปที่ผลงานการศึกษาของ Goethe เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน ในปี 1772 Goethe สามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมดั่งที่หัวใจของเขาปรารถนา เมื่อเขาพยายามจะถ่ายทอดเรื่องราวของท่านศาสดามุฮัมมัดในรูปแบบของบทประพันธ์ ถึงแม้ว่าเรื่องราวของท่านศาสดามุฮัมมัดจะมิได้ถูกนำมาแสดงเฉกเช่นละครเวที แต่เมื่ออ่านเนื้อหาที่อยู่ในบทประพันธ์แล้วจะพบว่า Goethe ได้แสดงความงดงามบนแนววิถีความคิดของอิสลาม รากฐานแห่งความงดงามปรากฏชัดในผลงานชิ้นนี้ของเขา จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้เข้าใจได้ว่า Goethe มีความผูกพันกับศาสนาอิสลามและเขาได้ถ่ายทอดความสัมพันธ์นี้ออกมาได้อย่างดียิ่งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงของบทประพันธ์มีการกล่าวถึงว่าเพราะเหตุผลใดทำไม Goethe จึงสนใจและศึกษาอิสลาม คำตอบนั้นมีอยู่มากมาย คำตอบที่สำคัญที่สุดที่เขาระบุไว้ก็คือ บุคลิกภาพของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) ความศรัทธาและการดำรงอยู่ของศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมนัก ในบางช่วงของบทประพันธ์ของ Goethe มีท่วงทำนองแห่งดนตรีเพื่อท่านศาสดามุฮัมมัด ในท่วงทำนองนี้เองได้มีการกล่าวถึงบทสนทนาของท่านอิมามอะลี (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) ผู้เป็นบุตรเขย และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ผู้เป็นบุตรสาวที่รักยิ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่านทั้งสอง) บทเพลงที่ประกอบด้วยท่วงทำนองอันงดงามถูกประพันธ์ขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1773 Goethe ได้ศึกษาเรื่องราวของท่านศาสดามุฮัมมัดและพรรณนาถึงสถานะความเป็นผู้นำของท่านศาสดา ด้วยกับความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติทั้งปวง เขาอธิบายอย่างชัดเจนพร้อมกับยกตัวอย่างประกอบอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของท่านศาสดามุฮัมมัดที่มีอยู่มากมายให้เป็นรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงและมุ่งประเด็นไปที่ความเคลื่อนไหวทางด้านจิตวิญญาณและการนำพาไปสู่ความสำเร็จ
ในขณะที่มีการกล่าวถึง Goethe และ Faust ผู้มีชื่อเสียงในยุคดังกล่าวแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์และผู้รู้ในสาขาวิชาอื่นๆ ที่มีความสนใจในเรื่องราวของท่านศาสดามุฮัมมัดถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่มุสลิมก็ตาม พวกเขาได้ศึกษาชีวประวัติของท่านและซาบซึ้งในความมีจริยธรรมอันสูงส่งของท่าน รวมถึงบุคลิกภาพอันโดดเด่นและงดงาม ณ ต่อจากนี้จะเป็นการกล่าวถึงผู้รู้ในสาขาวิชาอื่นๆ ว่าพวกเขามีการกล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัดไว้อย่างไรบ้าง
จากที่มีการกล่าวถึง Leon Tolstoy ในช่วงต้น เขาคือนักเขียนชาวรัสเซียผู้โด่งดัง และเขายังเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นนักปราชญ์ผู้เลื่องชื่อ ทั้งนี้ผลงานของเขาถูกนำมาศึกษาในวิชาการปกครอง ความคิดอันเจิดจรัสของเขาเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัหมัด (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) ถูกเขียนและนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาว่าด้วยวิชาของการเป็นนักปกครองหรือผู้นำของโลก บทความของเขาปรากฏในผลงานของ Dr. Gustav Lobon's book, Islam and Arabs, (หน้า : 154, 159)
Leon Tolstoy : คือผู้ที่หลายคนยกย่องเขาว่าเป็นนักบุกเบิกทางด้านความคิดเฉกเช่น Gandhi, Leon ได้กล่าวว่า “ศาสดามุฮัมมัดนั้นสมควรอย่างยิ่งที่ได้รับความเคารพและสรรเสริญ ศาสนาของท่านมุฮัมมัดจะทำให้โลกทั้งโลกยอมรับและขอบคุณท่านที่ท่านได้นำพาแสงสว่างแห่งสติปัญญามามอบให้กับมนุษยชาติ”
Washington Irving : นักเขียนชาวอเมริกัน และดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในประเทศสเปน เขากล่าวว่า “ทุกถ้อยคำที่ปรากฏในคัมภีร์คือความจริงแท้แน่นอน และไม่มีถ้อยคำใดเปรียบเทียบได้กับคัมภีร์นี้”
Karl Marx : นักการเมืองการปกครองชาวเยอรมันผู้เลื่องชื่อ และเขายังเป็นนักปรัชญาและนักปฏิวัติ ในศตวรรษที่ 19 หลังจากที่เขาได้ศึกษาบุคลิกภาพของท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นอย่างดีแล้ว เขาได้กล่าวว่า “ท่านมุฮัมมัดเป็นบุรุษผู้ซึ่งเปรียบประหนึ่งดั่งหินผาและเหล็กกล้าในบรรดาผู้นำทางศาสนา” Marx ยังได้เชิญชวนผู้คนทั้งหลายให้มีความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวและเชื่อมั่นในชีวิตอันเป็นนิรันดร์ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า Marx ไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในพระเจ้าของศาสดามุฮัมมัดอีกด้วย (แหล่งข้อมูลจากหนังสือ “มุฮัมมัดในทัศนคติของนักปราชญ์ชาวตะวันตก” หน้า 10)
Mahatma Gandhi : ในหนังสือของ Gandhi ได้กล่าวถึงการศึกษาอิสลามในโลกตะวันตก (หน้า 36) โดยมีความว่า “ชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัดเปรียบได้ว่าเป็นตัวอย่างอันชัดแจ้ง ที่นำไปสู่สัญลักษณ์แห่งการปฏิเสธความเชื่อทางด้านปรัชญาทางศาสนาที่หลงผิด”
Jawaharlal Nehru : เป็นผู้เขียนหนังสือ “มุมมองในประวัติศาสตร์โลก” Nehru ได้กล่าวว่า “ศาสนาอิสลามโดยการเผยแผ่ของท่านศาสดามุฮัมมัดนั้น เป็นศาสนาแห่งการสานมิตรสัมพันธ์อันอบอุ่นที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยศาสนาอิสลามคือความเรียบง่าย ความซื่อสัตย์และความเป็นประชาธิปไตย โดยทุกคนนั้นมีความเท่าเทียมกัน”
French Thinker Voltaire : ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า Voltaire and Islam ได้กล่าวไว้ว่า “ท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นบุรุษที่เพียบพร้อมไปด้วยความดีงามโดยปราศจากข้อกังขา ท่านคือผู้นำที่กำชัยชนะทั้งปวง เป็นนักกฎหมายที่ปราดเปรื่อง เป็นกษัตริย์และศาสดาที่เคร่งครัดในหลักการศาสนา ท่านศาสดามุฮัมมัดยังเป็นต้นแบบแห่งความดีงามในหน้าพื้นแผ่นดินให้ประชาชนคนธรรมดาได้ชื่นชม และนำท่านไปเป็นแบบอย่างในชีวิต”
Pierre Simon Laplace : นักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 18 และ 19 ผลงานของเขานำไปสู่แนวคิดใหม่และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกของดาราศาสตร์ อย่างไรก็ตาม Laplace ได้เคยแสดงความคิดของเขาเกี่ยวกับอิสลามเอาไว้ดังนี้ “ถึงแม้ว่าฉันจะไม่มีความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าของทุกศาสนาก็ตาม แต่การปรากฏของท่านมุฮัมมัด (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) และแนวความคิดของท่านที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนที่ชัดเจนเพื่อการคงอยู่ของมนุษยชาติ คือการธำรงไว้ซึ่งศาสนาอันถูกต้องและกฎแห่งการปฏิบัติตนเพื่อความดีงาม ฉันขอประกาศเลยว่าสิ่งที่ท่านมุฮัมมัดได้วางรากฐานเอาไว้นั้นช่างยอดเยี่ยมและมีคุณค่าอย่างแท้จริง ดังนั้นเราทั้งหลายควรศึกษาแนวทางและหลักการปฏิบัติของท่านมุฮัมมัดที่ปรากฏในสาส์นอิสลาม เดือนพฤษภาคม ปี 1352 หน้า 69”
Professor Ernest Hegel : นักปรัชญาชาวเยอรมันและศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19 คำกล่าวของเขาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Thomas Carlyle ชีวประวัติของท่านมุฮัมมัดมีดังนี้ “ศาสนาอิสลามสามารถเปรียบได้กับหนังสือแห่งความดีงามเล่มหนึ่งที่ไม่สามารถถูกลบหรือเปลี่ยนแปลงความศรัทธาที่มั่นคงในการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียว” (หน้า 48)
Herbert George Wells : นักเขียนและนักวิจัยชาวอังกฤษ ผลงานของเขาเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า Wealth เขาได้กล่าวว่า “ศาสนาอิสลามคือศาสนาเดียวที่มนุษย์ทุกคนสามารถภูมิใจได้ในหลักความเชื่อและความศรัทธาอย่างลึกซึ้ง ศาสนาอิสลามคือศาสนาเดียวที่สามารถบอกถึงความลี้ลับหรือแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งหลายบนสากลจักรวาลนี้ และศาสนาอิสลามยังเป็นที่มาของความเป็นอารยธรรมและอารยชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
George Bernard Shaw : นักเขียนชาวอังกฤษผู้โด่งดังหลังจากยุคของเชคเปียร์ Shaw ได้แสดงความคิดของเขาไว้อย่างลึกซึ้งในผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์และศาสตร์แห่งครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีอิทธิพลต่อผู้ติดตามผลงานของเขาทั้งสิ้น Shaw ได้กล่าวถึงท่านมุฮัมมัดผู้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลามเอาไว้ว่า “ฉันเคารพศาสนาของท่านมุฮัมมัดเสมอมา เนื่องจากคุณลักษณะพิเศษหลายประการของศาสนานี้ ในความคิดส่วนตัวของฉันแล้ว ศาสนาอิสลามคือศาสนาเดียวที่มีคุณลักษณะแห่งการยืดหยุ่นที่สามารถจัดกับการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย ฉันคาดการณ์เอาไว้ว่าในอนาคตของยุโรปนั้น ศาสนาของท่านมุฮัมมัดจะเป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวาง ฉันมั่นใจว่าหากท่านมุฮัมมัดได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งโลกยุคใหม่ ท่านจะต้องประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาต่างๆ บนโลกใบนี้ ฉันมั่นใจว่าท่านจะจัดการกับความต้องการของมนุษย์ให้อยู่บนพื้นฐานของการไม่รุกรานผู้อื่น และรู้จักเพียงพอกับทรัพย์สมบัติที่มีอยู่”
Edward Gibbon : นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 18 ที่มีผลงานชื่อว่า The History of the Decline and Fall of the Roman Empire เป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านผลงานอันมีคุณค่าอีกหนึ่งชิ้นที่มีชื่อว่า Qur'an from Atlantic ocean to Ganges river in India อย่างไรก็ตาม Gibbon ได้ถ่ายทอดผลงานนี้โดยเขาเชื่อมั่นว่า คัมภีร์อัลกุรอานคือคำสอนทางศาสนาที่ประกอบไปด้วยหลักนิติศาสตร์และรัฐธรรมนูญแห่งการดำเนินชีวิต ในคัมภีร์นี้ยังประกอบไปด้วยกฎเกณฑ์และการตัดสินที่ยุติธรรม เช่น กฎหมายว่าด้วยการลงโทษผู้ก่อคดีอาชญากรรม และกฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินและมรดก เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดกับมนุษยชาติ โดยทั้งหมดที่ปรากฏในคัมภีร์นี้มาจากพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น
Gibbon ยังสำทับอีกว่า “คัมภีร์อัลกุรอานคือบทบัญญัติในการขัดเกลาและชำระจิตใจของประชาชาติให้สะอาดบริสุทธิ์ มนุษย์จะต้องเรียนรู้การปฏิบัติศาสนกิจ การดำรงไว้ซึ่งศีลธรรมจรรยา การอยู่ร่วมและการปฏิบัติตนในสังคม การเมือง การสงคราม หลักนิติธรรมและนิติบัญญัติ เป็นต้น อีกทั้งมนุษย์จะต้องระลึกถึงบทลงโทษทั้งในโลกนี้และโลกหน้าหากพวกเขาปฏิเสธคำสั่งสอนและคำตักเตือนจากพระผู้เป็นเจ้า”
Professor Will Durant : นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้มีผลงานผ่านสายตาผู้คนนับล้าน ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก Durant ได้แสดงความคิดเห็นถึงบุคลิกอันน่าดึงดูดของท่านศาสดามุฮัมมัดไว้ดังนี้
“เมื่อเราพิจารณาถึงบุรุษที่ดีเยี่ยมที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์โลก และทรงอิทธิพลต่อมนุษยชาติทั้งมวล เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบุรุษผู้นั้นคือท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติสุขพึงมีแด่ท่าน) เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นผู้ริเริ่มในการให้ความรู้แก่ประชาชาติทุกระดับชั้น ท่านสำทับในการให้ความรู้ทางด้านจริยธรรมและความดีงาม ท่านมุ่งเน้นให้ประชาชาติทั้งหลายหยุดกระทำการที่เอารัดเอาเปรียบ ความเลวร้ายป่าเถื่อน ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะพำนักอยู่ ณ ดินแดนใดก็ตาม ท่านได้ยุติการแบ่งชั้นวรรณะเพื่อความเท่าเทียมกัน และอีกมากมายที่ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กระทำ สิ่งเหล่านี้คือบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าท่านประสบความสำเร็จและทรงอิทธิพลมากกว่านักปฏิรูปใดๆ บนโลกนี้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาให้ลึกซึ้ง มันช่างเป็นการยากในการที่เราจะมีบุรุษเช่นท่านศาสดามุฮัมมัดอีกบนหน้าพื้นแผ่นดินนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัดคือผู้ที่ทำให้ศาสนาอิสลามนั้นสมบูรณ์ ความสมบูรณ์นี้ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อประชาชาติอิสลามเท่านั้น หากแต่เพื่อมนุษยชาติทั้งมวลอีกด้วย อันที่จริงความดีงามของท่านยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ท่านศาสดามุฮัมมัดคือบุรุษที่บริหารและจัดการกลุ่มชน (เผ่า) ต่างๆ ได้อย่างน่าชื่นชม ท่านได้แสดงถึงความเรียบง่ายหากแต่มีชีวิตชีวา ท่านใช้หลักการศาสนาในการเสริมสร้างความกล้าหาญและการขัดเกลาจิตวิญญาณ
สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าคำสอนและแบบอย่างอันดีงามของท่านศาสดามุฮัมมัดนั้นทรงคุณค่ามากกว่าศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นๆ เมื่อเราพิจารณาในยุคต่อมา เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าศาสนาอิสลามมีการแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งประชาชาติของท่านได้สานต่อเจตนารมณ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสามารถเอาชนะศัตรูได้มากกว่าร้อยสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการสถาปนาอาณาจักรอิสลามให้ขจรไกลไปทั่วทุกมุมโลก เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันนี้อิสลามได้แผ่ขยายมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้แล้ว
ที่มาเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
แสดงความเห็น