หลักปฏิบัติศาสนบัญญัติอิสลาม

หลักปฏิบัติศาสนบัญญัติอิสลาม


เซาะลาฮฺ หรือนมาซ

นมาซ หมายถึงการแสดงความเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือการนมัสการต่อพระองค์วันละห้าเวลา นมาซ เป็นข้อบังคับประการแรกของหลักคำสอนของอิสลาม เป็นกิจวัตรที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับพระเจ้า ทั้งเป็นการขอบคุณในความโปรดปราน ขออภัยในบาป และสรรเสริญพระองค์ ซึ่งมุสลิมทั้งชายและหญิงที่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติต้องปฏิบัติทุกวัน วันละ 5 เวลา ฉะนั้น นมาซ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง การละเว้นนมาซย่อมได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ดังที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงชาวสวรรค์ที่พวกเขาได้ไต่ถามถึงชาวนรกว่า

ในสวนสวรรค์หลากหลายนั้น พวกเขาไต่ถามซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับพวกที่กระทำความผิด อะไรคือสาเหตุนำพวกท่านเข้าสู่ไฟนรกที่เผาไหม้ พวกเขาพูดว่า เรามิได้อยู่ในหมู่ผู้ทำนมาซ

ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและลูกหลานของท่าน) กล่าวว่า นมาซเป็นเสาหลักของศาสนา ถ้านมาซถูกยอมรับ ณ องค์พระผู้อภิบาล การงานอื่น ๆ ก็จะถูกยอมรับไปด้วย แต่ถ้านมาซถูกปฏิเสธการงานอื่นจะถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

นมาซเป็นการผ่อนปรนจากหนักให้เป็นเบา เหมือนกับคนทำความสะอาดร่างกายวันละ 5 ครั้ง ร่างกายของเขาจะสกปรกได้อย่างไร และถึงแม้ว่าจะมีความสกปรกอยู่บ้างแต่ก็เพียงน้อยนิด คนที่นมาซวันละ 5 เวลา ความผิดบาปของเขาจะถูกลบล้าง

นมาซเป็นหลักการที่ละเอียดอ่อนจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ว่าผู้ทำนมาซจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม แม้แต่ในสภาพใกล้ตายเป็นข้อบังคับสำหรับเขาต้องนมาซ ถ้าหากผู้ทำนมาซไม่สามารถคำอ่านทางปากได้ ให้กล่าวในใจ ถ้าไม่สามารถยืนนมาซได้อนุญาตให้นั่งทำ ถ้าไม่สามารถนั่งนมาซได้อนุญาตให้นอนทำ หรือแม้แต่ในภาวะสงครามที่กำลังสู้รบเมื่อถึงเวลานมาซต้องนมาซก่อน

นมาซหรือการนมัสการพระเจ้าแบ่งออกเป็นภาคบังคับ เช่น นมาซประจำวัน 5 เวลา และนมาซสมัครใจซึ่งมีอยู่มากมาย

การนมัสการวันละ 5 เวลา ในวันหนึ่ง ๆ เป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นอยู่ในหลักศรัทธาอันเป็นกิจวัตรประจำวัน ช่วงเวลาของการนมัสการแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ

1. ตอนเช้าตรู่ ก่อนตะวันขึ้น 1 เวลา เรียกว่า นมาซซุบฮิ

2. ตอนกลางวัน หลังจากเที่ยงวันไปแล้วจนถึงก่อนตะวันตกดิน 2 เวลา คือ นมาซซุฮ์ริ และอัซริ

3. ตอนพลบค่ำ หลังจากตะวันตกดินจนถึงก่อนเที่ยงคืน 2 เวลา คือ นมาซมัฆริบ และนมาซอิชาอ์

ปรัชญาของการนมัสการวันละ 5 เวลา คือ

1. เพื่อเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ดังที่ตรัสว่า “จงดำรงนมาซเพื่อการระลึกถึงฉัน” (บทฎอฮา โองการที่ 14) เนื่องจากการระลึกถึงอัลลอฮฺทำให้เกิดความสงบแก่จิตใจ และความสงบของจิตใจ คือความสำเร็จในการกลับไปพบกับพระผู้อภิบาล พระองค์ตรัสว่า โอ้ดวงจิตที่สงบ จงกลับคืนสู่พระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด (อัล-ฟัจร์ โองการที่ 27 -28)

2. เพื่อเป็นการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ตรัสว่า จงนมัสการต่อพระผู้อภิบาลของเจ้า (บทอันนิซาอฺ โองการที่ 17) ผู้ทรงบันดาลเจ้ามา หรือบางโองการกล่าวว่า ดังนั้นพวกเขาจงนมัสการพระผู้อภิบาลแห่งบ้านหลังนี้ (กะอฺบะฮฺ) พระผู้ซึ่งประทานอาหารแก่พวกเขาให้พ้นจากความหิวโหย และทรงประทานความปลอดภัยแก่พวกเขาให้พ้นจากความหวาดกลัว (บทอัลกุรอยช์ โองการ 3- 4)

3. เพื่อยับยั้งความชั่วร้าย พระองค์ตรัสว่า แท้จริงนมาซจะยับยั้งความชั่วและสิ่งต้องห้ามอานาจารทั้งหลาย (บท อัล-อังกะบูต โองการที่ 45)

4. เพื่อหวังการขออภัยโทษในความผิดบาปจากอัลลอฮฺ เนื่องจากพระองค์ทรงเปิดโอกาสและให้ความหวังต่อผู้กระทำความผิดทั้งหลายว่า หากพวกเขาปรารถนาที่จะกลับตัวกลับใจ ก็จงดำรงนมาซ และแสดงความเคารพภักดีเถิด เพราะสิ่งนี้จะขจัดความชั่วร้าย และบาปกรรมให้พ้นไปจากพวกเจ้า

5. ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงกำหนดการระลึกมา เพื่อการขัดเกลาจิตวิญญาณ เพื่อให้บรรดาพวกหูทวนลม หูตึง ได้ยินได้ฟัง และให้พวกแสร้งทำตาบอดได้เห็น (หูหนวกตาบอดทั้งหลาย) (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 222)

6. นมาซลบล้างบาปกรรม ดังที่อิมามอะลีกล่าวว่า “นมาซจะชำระล้างความผิดบาปประหนึ่งใบไม้ที่ล่วงหล่นจากต้น และจะทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากพันธนาการของความผิดบาป” (อ้างแล้ว คำเทศนาที่ 199)

7. ท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่าน) อุปมานมาซประหนึ่งธารน้ำว่า “นมาซเหมือนกับธารน้ำ ที่มนุษย์ลงไปอาบชำระล้างร่างกายวันละ 5 ครั้ง ฉะนั้น ร่างกายเขาจะมีความสกปรกตกค้างอยู่ได้อย่างไร

จุดมุ่งหมายของการมนัสการวันละ 5 เวลา คือ

1. ให้เกิดความนอบน้อมถ่อมตน และไม่กระทำบาป

2. ขัดเกลาและยกระดับจิตใจสอนให้รู้จักมารยาทในการแสดงความเคารพภักดี

3. ให้รู้จักหน้าที่และตรงต่อเวลา

4. ให้ตระหนักถึงความเสมอภาคกันในสังคม เนื่องจากไม่ว่าใครก็ตามต้องนมาซ

5. ให้เกิดความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร

6. ให้รักษาความสัตย์ซื่อ สัจจะวาจา ไม่โลภ และมีสำนึกต่อความเป็นธรรม

7. ให้มีความเคร่งครัดต่อบทบัญญัติและคำสอนของศาสนา

8. ให้มีการรักษาความสะอาดทั้งกาย วาจา ใจอยู่เสมอ

การนมัสการจะปฏิบัติคนเดียวหรือเป็นหมู่คณะก็ได้ ซึ่งการปฏิบัติเป็นหมู่คณะจะได้รับผลบุญและกุศลเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ปฏิบัติทุกคนต้องหันหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกัน คือ วิหารกะอ์บะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การกระทำเช่นนี้มิได้หมายความว่ามุสลิมกราบไหว้วิหารกะอ์บะฮฺ หรือพระเจ้่าทรงสถิตอยู่แต่เฉพาะวิหารกะอ์บะฮฺ เนื่องจากหลักการอิสลามห้ามกราบไหว้สิ่งอื่นใดเด็ดขาดยกเว้นพระเจ้า และพระทรงอยู่ทุกแห่งหน การกระทำดังกล่าวเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมุสลิมทั่วโลก

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

แสดงความเห็น