จริยธรรมในการอิบาดะฮ์

จริยธรรมในการอิบาดะฮ์

 

อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระเจ้า) กับความสมบูรณ์ของมนุษย์

ความหมายของคำว่า “กะม้าล” (ความสมบูรณ์

คำว่า “กะม้าล” ในภาษาอาหรับหมายถึง ความสมบูรณ์แบบ ความเพียบพร้อม และการประดับประดาตนด้วยคุณลักษณะที่ดีงามต่าง ๆ (20) ส่วนในสำนวนวิชาการนั้น หมายถึง ในโครงสร้างแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นวางอยู่ในมิติขั้นสูงสุด ที่มนุษย์สามารถจะย่างก้าวไปบนเส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าจนถึงระดับขั้นอันสูงส่ง (อะอ์ลา อิลลียีน) ได้ ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า

ثُمَّ دَنا فَتَدَلّى فَكانَ قابَ قَوْسَيْنِ أَوْ أَدْنى

“หลังจากนั้น เขาได้เข้ามาใกล้ แล้วก็เคลื่อนเข้ามาใกล้อีก จนเขาได้เข้ามาอยู่ในระยะที่เท่ากับสองข้างของคันธนู หรือใกล้ยิ่งกว่านั้น” (21)

ท่านชะฮีดมุรตะฎอมุเฏาะฮ์ฮะรี ได้เขียนไว้ว่า “ในภาษาอาหรับ มีคำอยู่สองคำ คือคำว่า “กะม้าล” (ความสมบูรณ์) และคำว่า “ตะมาม” (ความครบถ้วน , ความเพียบพร้อม) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันมาก มนุษย์ที่มีความครบถ้วนและเพียบพร้อมสามารถที่จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์และสมบูรณ์มากกว่าได้ จนกระทั่งถึงขั้นที่สูงสุดของมันโดยที่ไม่มีมนุษย์คนใดไปขั้นที่สูงกว่านั้นได้อีก สิ่งนี้เองที่เราเรียกว่า มนุษย์ผู้สมบูรณ์ (อินซานุ้ลกามิล) อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์” (22)

 

การไปถึงความสมบูรณ์ภายใต้การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระเจ้า)

หลักคำสอนและแบบแผนทั้งหมด (หลักการศรัทธา (อุซูลุดดีน) หลักปฏิบัติ (ฟุรูอุดดีน) และหลักจริยศาสตร์   (อัคลาก)) ของศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น ถูกกำหนดขึ้นเพื่อพัฒนามนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ เป้าหมายที่แท้จริงของการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) การยอมตนเป็นบ่าว และปรัชญาของการอิบาดะฮ์ทั้งหลายของเรา ซึ่งโดยตัวของมันเองคือห้องเรียนของการอบรมขัดเกลา (ตัรบิยะฮ์) นั่นก็คือการพัฒนาตนของมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์

ความสมบูรณ์ของมนุษย์นั้นมีมิติต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น ความสมบูรณ์ในมิติทางรหัสยะ (อิรฟาน) ความสมบูรณ์ในมิติของการอิบาดะฮ์ ความสมบูรณ์ในมิติของการเมือง และความสมบูรณ์ในมิติทางด้านจริยธรรม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ภายใต้การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) พระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมนุษย์มุ่งความสนใจไปที่สถานะความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มองว่ามนุษย์ทั้งมวลคือสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และถือว่าความกรุณา ความเมตตาและการปฏิบัติดีต่อพวกเขาคือหน้าที่ของความเป็นบ่าวของตนเอง อีกทั้งยังถือว่าการสร้างความสนิทชิดเชื้อ ความรักและความใกล้ชิดต่อพวกเขา คือแนวทางที่นำไปสู่ความเป็นบ่าวที่ดีของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกันนี้ การปฏิบัติตามพระบัญชาต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าในปัญหาต่าง ๆ ทางด้านจริยธรรมและคุณธรรม เช่นนี้เองที่ผู้เป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าก็จะประดับประดาตนไปด้วยจริยธรรมต่าง ๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า อวัยวะทุกส่วนของร่างกายของเขาก็จะกระทำไปตามสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกรทรงตรัสว่า

 

مَا یَتَقَرَّبُ إِلَیَّ عَبْدٌ مِنْ عِبَادِی بِشَیْءٍ أَحَبَّ إِلَیَّ مِمَّا افْتَرَضْتُ عَلَیْهِ وَ إِنَّهُ لَیَتَقَرَّبُ إِلَیَّ بِالنَّافِلَةِ حَتَّى أُحِبَّهُ فَإِذَا أَحْبَبْتُهُ كُنْتُ إِذاً سَمْعَهُ الَّذِی یَسْمَعُ بِهِ وَ بَصَرَهُ الَّذِی یُبْصِرُ بِهِ وَ لِسَانَهُ الَّذِی یَنْطِقُ بِهِ وَ یَدَهُ الَّتِی یَبْطِشُ بِهَا إِنْ دَعَانِی أَجَبْتُهُ وَ إِنْ سَأَلَنِی أَعْطَیْتُهُ

 

“ไม่มีสิ่งใดที่บ่าวคนหนึ่งของข้าจะแสวงหาความใกล้ชิดต่อข้าด้วยกับมัน ที่จะเป็นที่รักยิ่งสำหรับข้า มากไปกว่าสิ่งที่ข้าได้กำหนดไว้เป็นข้อบังคับสำหรับเขา และเมื่อเขาจะแสวงหาความใกล้ชิดต่อข้าด้วยการนมาซนาฟิละฮ์ (มุสตะฮับ) จนกระทั่งข้ารักเขา และเมื่อใดที่ข้ารักเขา เมื่อนั้นข้าก็จะเป็นหูของเขาที่เขาจะใช้ในการรับฟัง และข้าจะเป็นสายตาของเขาที่เขาจะใช้ในการมอง และข้าจะเป็นลิ้นของเขาที่เขาจะใช้ในการพูด และข้าจะเป็นมือของเขาที่เขาจะใช้ในการจับต้อง หากเขาวิงวอนต่อข้า ข้าก็จะตอบรับเขา และหากเขาขอข้า ข้าก็จะให้เขา” (23)

ด้วยกับพลังอำนาจแห่งพระผู้เป็นเจ้า การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) และการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้านี่เองที่จะทำให้มนุษย์ได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่หูโดยปกติมิอาจได้ยินมัน และจะมองเห็นภาพต่าง ๆ ที่สายตาโดยปกติมิอาจมองเห็นมัน ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) กล่าวว่า

“... ท่านทั้งหลายจงพิจารณาคัมภีร์อัลกุรอานอันจำเริญ และเช่นเดียวกันนี้ ในการนมาซ ในช่วงที่พวกท่านกล่าว “ตะชะฮ์ฮุด” (คำปฏิญาณตน) ของนมาซที่เกี่ยวกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ว่า “عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ” คำว่า “อับดุ์” (บ่าว) จะมาก่อนคำว่า “ร่อซูล” (ศาสนทูต) และเป็นไปได้ว่า หลักการสำคัญข้อนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า การไปถึงความเป็นศาสนทูต (ริซาละฮ์) นั้น ต้องผ่านช่องทางของความเป็นบ่าว (อุบูดียะฮ์) ท่านเป็นอิสระจากสิ่งทั้งมวลและกลายเป็นบ่าว คือบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่บ่าว (หรือทาส) ของสิ่งอื่น ๆ” (24)

ดังนั้นจะต้องยอมรับว่า หนทางเดียวที่จะไปถึงยังความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ได้ ซึ่งได้แก่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นก็คือ การยอมตนเป็นบ่าวและการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระองค์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้แนวทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุสตะกีม) ด้วยกับความช่วยเหลือและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้า (25)

ด้วยเหตุนี้เอง “อิบาดะฮ์” (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) และ “กะม้าล” (ความสมบูรณ์) ของมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อกัน (ลาซิม วะ มัลซูม) หรือกล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ ทั้งสองมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้มนุษย์ที่ย่างก้าวไปบนเส้นทางของการพัฒนาตนสู่ความสมบูรณ์นั้น เขาจะเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าเขาทำการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์มากเท่าใดและดีเลิศมากเท่าใด การพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ของเขาก็จะรวดเร็วมากขึ้นเพียงนั้น เมื่อเขาเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์มากเท่าใด การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) และการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าของเขาก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ในแนวแนวทางนี้หากเขามีความอุตสาห์พยายามมากเท่าใด เขาก็จะเป็นบุรุษแห่งพระเจ้าและเข้าใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น ในลักษณะที่ว่า ความคิด คำพูดและการกระทำของเขา จะได้รับการย้อมสีแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเราจะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทอื่น ๆ

 

คุณลักษณะของมนุษย์ผู้สมบูรณ์

 

คัมภีร์อัลกุรอาน ได้แนะนำถึงคุณลักษณะต่าง ๆ เช่นนี้ไว้ภายใต้ชื่อที่สวยงามคือ “عِبادُ الرَّحْمنِ” (ปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตา)

 

ก) ความอ่อนน้อมถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ (อินซานุ้ลกามิล) คัมภีร์อัลกุรอานอันจำเริญกล่าวว่า

وَعِبادُ الرَّحْمنِ الَّذينَ يَمْشُونَ عَلىَ الاَرْضِ هَوْناً

“และปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตานั้น คือบรรดาผู้ซึ่งจะเดินในหน้าแผ่นดินด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน” (26) 

ข) ความสุขุมคัมภีรภาพและความอดทนในการเผชิญกับคนโง่เขลา

คุณลักษณะอีกประการหนึ่งของมนุษย์ผู้สมบูรณ์ คือการมีความอดทนอดกลั้นต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อกลุ่มชนที่ไม่รู้และโง่เขลา คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

وَ إِذا خاطَبَهُمُ الْجاهِلُونَ قالُوا سَلاماً

 

“และเมื่อบรรดาคนโง่เขลาได้กล่าวกับพวกเขา พวกเขาก็จะ (เดินผ่านไปอย่างมีเกียรติ และ) กล่าวตอบด้วยความสันติ” (27)

ชายชาวอาหรับชนบทคนหนึ่งจากชนเผ่าบนีซะลีม ได้ไปพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกล่าวต่อท่านอย่างรุ่นแรงด้วยการไม่ให้เกียรติว่า “ท่านก็คือพ่อมดที่มุสา ไม่มีบุคคลใดภายใต้ฟ้านี้และในแผ่นดินนี้ที่จะมุสายิ่งไปกว่าท่าน!”

ในขณะนั้นเอง อุมัร อิบนุค็อฏฏ๊อบ ต้องการที่จะฆ่าเขา แต่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “โอ้อุมัรเอ๋ย จงนั่งลงเถิด! ความอดทนอดกลั้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถึงขั้นที่บุคคลที่มีความอดทนอดกลั้นนั้นคู่ควรยิ่งต่อการเป็นศาสดา” (28)

เราจะเห็นว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) แม้จะมีอำนาจและความสามารถสูงสุด แต่ท่านกลับตอบโต้ชายผู้กักขฬะนั้นด้วยความสุขุมและอดทนอดกลั้น ความมีอำนาจและบารมีของท่านจะไม่เป็นสาเหตุทำให้ท่านตอบโต้และแก้แค้นเอาคืนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ค) การทำอิบาดะฮ์ในยามดึกสงัด

คุณลักษณะประการที่สามของปวงบ่าวผู้แสวงหาความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า คือการทำอิบาดะฮ์ การวิงวอนและภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยความรักและความผูกพันในยามดึกของค่ำคืน คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

وَ الَّذينَ يَبيتُونَ لِرَبِّهِمْ سُجَّداً وَ قِياماً

 

“และบรรดาผู้ซึ่งใช้เวลาในยามค่ำคืน ในสภาพก้มกราบและยืน (ในการเคารพภักดี) พระผู้อภิบาลของพวกเขา”

บุคคลที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ จะถูกกล่าวถึงโดยท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยฉายานามว่า “อัชร๊อฟ” (ผู้มีเกียรติ) โดยที่ท่านกล่าวว่า

أَشْرافُ أُمَّتي حَمَلَةُ الْقُرْانِ وَ أَصْحابُ اللَّيلِ

“บรรดาผู้มีเกียรติของประชาชาติของฉัน คือผู้ที่ปฏิบัติตาม (และให้ความสำคัญต่อ) คัมภีร์อัลกุรอาน และเป็นผู้ทำอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืน” (30)

ง) การวิงวอนขอการปกป้องจากการลงโทษในนรก

 

وَ الَّذيـنَ يـَقـُولُونَ رَبَّنـَا اصـْرِفْ عـَنـّاعـَذابَ جـَهَنَّمَ إِنَّ عَذابَها كانَ غَراماً إِنَّها ساءَتْ مُسْتَقَرّاً وَ مُقاماً

“และบรรดาผู้ซึ่งจะกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าพระองค์ โปรดผินการลงโทษของนรก (ญะฮันนัม) ออกไปให้พ้นจากเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด เพราะการลงโทษของมันนั้น คือความทุกข์ทรมานที่ยาวนาน แท้จริงมันเป็นที่พำนักและสถานที่อยู่ที่เลวร้ายยิ่ง” (31)

 

จ) การดำรงรักษาความพอเหมาะพอควรในการใช้จ่ายและการให้

 

มนุษย์ผู้สมบูรณ์จะต้องไม่ตระหนี่ในการใช้จ่ายและการให้ และจะไม่ฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายในสิ่งเหล่านั้น

وَالَّذينَ إِذا أَنْفَقُوا لَمْ يُسْرِفُوا وَ لَمْ يَقْتُرُوا وَ كانَ بَيْنَ ذلِكَ قَواماً

“และบรรดาผู้ซึ่งเมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาจะไม่สุรุ่ยสุร่ายและจะไม่ตระหนี่ แต่จะดำรงความเป็นกลางในระหว่างนั้น” (32)

ฉ) ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ)

คุณลักษณะอีกประการหนึ่ง คือการหลุดพ้นออกจากการเป็นทาสและการพึ่งพาสิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้า และการไปถึงยังเตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) อย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งจะทำให้พวกเขาออกห่างจากการตั้งภาคีใด ๆ คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

وَالَّذينَ لا يَدْعُونَ مَعَ اللّهِ إلهاً آخَرَ

“และบรรดาผู้ซึ่งจะไม่วอนขอพระเจ้าอื่นใดร่วมกับอัลลอฮ์” (33)

สถานะตำแหน่งของความบริสุทธิ์ใจ (มะกอมุลอิคลาศ) คือระดับขั้นที่สูงส่งที่สุดของการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์และการจาริก (อัซซีร วัซซุลูก) สู่พระผู้เป็นเจ้า

 

ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) มีระดับต่าง ๆ ซึ่งขั้นต่ำสุดของมันคือการที่มนุษย์จะทำให้การเคารพภักดีและการนมัสการ (อิบาดะฮ์) พระผู้เป็นเจ้าของตนเอง บริสุทธิ์จากการตั้งภาคี (ชิรก์) การโอ้อวด (ริยาอ์) และความหลงตน เขาจะต้องกระทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น คุณค่าของการกระทำ (อะมัล) อยู่ที่การมีเจตนา (เหนียต) ที่สะอาดบริสุทธิ์จากการตั้งภาคีและการโอ้อวด ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวต่ออบูซัรว่า

يا أَباذَزٍّ إِنَّ اللّهَ تَبارَكَ وَ تَعالى لا يَنْظُرُ إِلى صُوَرِكُمْ وَلا إِلى أَمْوالِكُمْ وَ لكِنْ يَنْظُرُ إِلى قُلُوبِكُمْ وَ أَعْمالِكُمْ

“โอ้อบูซัร! แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง จะไม่ทรงมองดูที่หน้าตาของพวกท่านและทรัพย์สมบัติของพวกท่าน แต่ทว่าพระองค์จะทรงมองดูที่หัวใจของพวกท่าน และการกระทำต่าง ๆ ของพวกท่าน” (34)

สิ่งที่ท่านทั้งหลายได้อ่านไปนั้นเป็นเพียงบางส่วนจากคุณลักษณะต่าง ๆ แห่งความสมบูรณ์ของปวงบ่าวผู้เป็นคนดีและมีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่อคัมภีร์อัลกุรอานอันจำเริญบรรยายถึงบรรดาปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ว่ามีคุณลักษณะต่าง ๆ แห่งความสมบูรณ์เช่นนี้ เราสามารถจะสรุปผลได้ว่า การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีและการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับกะม้าล (ความสมบูรณ์) บรรดาผู้ที่มุ่งแสวงหาความสมบูรณ์ที่แท้จริงนั้นจะไปถึงยังอุดมคติและความมุ่งหวังของตนได้ด้วยการเคารพภักดีและการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า และบรรดาผู้เคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงก็จะต้องเสริมสร้างและพัฒนาคุณลักษณะที่สวยงามของความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นในตัวเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไปถึงตำแหน่งอันสูงส่งของความเป็นบ่าว (อุบูดียะฮ์) ซึ่งนั่นก็คือความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ (อินซานุ้ลกามิล)

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะได้ย่างก้าวไปบนเส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)


สรุป

มนุษย์สามารถไปถึงจุดสูงสุดของความสมบูรณ์ได้ด้วยการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งพระผู้เป็น คำสอนและแบบแผนทั้งมวลของศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าถูกวางรากฐานไว้เพื่อพัฒนาการมนุษย์ให้ไปสู่ความสมบูรณ์

อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีและการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) คือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ไปถึงยังสถานะตำแหน่งอันสูงส่งยิ่ง ดังเช่นที่ท่านศาสดาแห่งอิสลามได้ไปถึงยังตำแหน่งของความเป็นศาสนทูต (ริซาละฮ์) และขั้นสูงสุดของความสมบูรณ์ โดยผ่านหนทางของการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) และการมอบตนเป็นบ่าวอย่างแท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้า

มนุษย์ผู้สมบูรณ์ (อินซานุ้ลกามิล) มีคุณลักษณะเฉพาะจำนวนมาก ซึ่งสามารถกล่าวถึงบางส่วนได้ดังนี้คือ : ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทนอดกลั้นต่อบรรดาผู้โง่เขลา การอิบาดะฮ์ในยามดึกของกลางคืน การธำรงความเป็นสายกลางในการใช้จ่ายและความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) และความบริสุทธิ์ใจนั้นคือหนึ่งในระดับขั้นตอนที่สูงที่สุดของการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์และการจาริกสู่พระผู้เป็นเจ้า

 

 

เชิงอรรถ

(20) ฟัรฮังก์อะมีด หน้าที่ 80

(21) ซูเราะฮ์อันนัจญ์มุ (53)/อายะฮ์ที่ 8-9

(22) อินซานุ้ลกามิล, ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี หน้าที่ 9

(23) วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 53

(24) ซอฮีฟะฮ์ นูร เล่มที่ 14 หน้าที่ 30

(25) สรุปจากเนื้อหาของซูเราะฮ์ฟาติฮะฮ์

(26) ซูเราะฮ์อันนัจญ์มุ (25)/อายะฮ์ที่ 63

(27) ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน (25)/อายะฮ์ที่ 63

(28) ซีมอเย่ อินซาน กามิล, ญะอ์ฟัร ซุบฮานี หน้าที่ 52, อ้างจากหนังสือ หะยาตุ้ลหะยะวาน เล่มที่ 2 หน้าที่ 68

(29) ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน (25)/อายะฮ์ที่ 66

(30) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 87 หน้าที่ 138

(31) ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน (25)/อายะฮ์ที่ 67

(32) ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน (25)/อายะฮ์ที่ 67

(33) ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน (25)/อายะฮ์ที่ 68

(34)นะฮ์ญุลคิฏอบะฮ์, อะละมุลฮุดา คูราซานี หน้าที่ 477

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

 

 

แสดงความเห็น