ต้นกำเนิดของสำนักนิติศาสตร์ในอิสลาม ตอนที่สอง
ต้นกำเนิดของสำนักนิติศาสตร์ในอิสลาม ตอนที่สอง
สำนักนิติศาสตร์
ท่ามกลางสำนักนิติศาสตร์เหล่านี้ ได้มีสำนักใหญ่ที่ถือว่ามีอิทธิพลสูงที่สุดตลอดหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ประกอบด้วย 4 สำนัก ซึ่งเริ่มต้นด้วยปราชญ์สี่คน ได้แก่
1) อบู ฮะนีฟะฮฺ
อบู ฮะนีฟะฮฺ หรือ อบู ฮะนีฟะฮฺ อัล-นุอฺมาน อิบนฺ ษาบิต ตระกูลของท่านมีเชื้อสายมาจากชาวเปอร์เซียเกิดที่นคร กูฟะฮฺ ประเทศ อิรัก เมื่อปี ค.ศ. 699 (ฮ.ศ. 80)
บิดาของอบู ฮะนีฟะฮฺเป็นพ่อค้า เนื่องจากบิดาของเขาประกอบอาชีพค้าขาย อาชีพนี้จึงตกทอดมาถึงลูกหลาน อบู ฮะนีฟะฮฺได้สานต่ออาชีพนี้จากบิดาของเขา โดยบิดาของเขามีร้านค้าขายผ้าเป็นของตนเองตั้งอยู่ที่เมืองกูฟะฮฺ เขาเป็นพ่อค้าที่มีความซื่อสัตย์สุจริต หากสินค้าที่ท่านจะขายมีตำหนิ เขาก็บอกให้ลูกค้าทราบทุกครั้ง
ในช่วงแรกๆอบู ฮะนีฟะฮฺได้ทุ่มเทเวลาในการค้าขายอย่างเดียว ต่อมาเขาได้หันหน้ามาศึกษาวิชาเกี่ยวกับศาสนา เช่น ไวยาการณ์อาหรับ นิติศาสตร์อิสลาม
อบู ฮะนีฟะฮฺ ได้ศึกษาวิชาฟิกฮฺจนท่านมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในด้านนี้มาก เขามักจะแสดงทัศนะของเขาเองประกอบการศึกษา ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นที่ยอมรับของสังคมและเป็นที่เลื่องลือในลักษณะด้านนี้มาจนถึงทุกวันนี้
อบู ฮะนีฟะฮฺ มีฐานะเป็นตาบีอีน(ผู้อยู่ร่วมสมัยกับเศาะหาบะฮฺ)คนหนึ่งที่มีโอกาสร่วมสมัยกับเศาะหาบะฮฺบางคน เมื่อท่านเกิดมามีเศาะฮาบะฮฺ ที่ยังมีชีวิตอยู่ 4 ท่าน ตามที่นักประวัติศาสตร์ได้บึกทึกไว้ คือ อนัส อิบนฺ มาลิก, อับดุลลอฮ อิบนฺ อบีเอาฟฺ, ซัยดฺ อิบนฺ สะอัด แต่เขามิได้มีโอกาสศึกษากับเศาะฮาบะฮฺเหล่านี้โดยตรง เนื่องจากเศาะฮาบะฮฺทั้งสีได้เสียชีวิตตั้งแต่อบูฮะนีฟะฮฺยังเยาว์ ถึงแม้อบูฮะนีฟะฮไม่ได้ศึกษาโดยตรงจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺเหล่านั้นแต่ได้ศึกษามาจากอาจารย์ที่ศึกษามาจากเศาะฮาบะฮ และได้ใช้เวลาเพียงสองปีในการศึกษากับอิมาม อะบูอับดิลลาฮ์ ญะอ์ฟัร อัศศอดิก และเขาได้กล่าวว่า หากแม้นว่า ไม่มีสองปีนี้ที่ได้ร่ำเรียนจากอะบูอับดิลลาฮ์ นุอ์มานต้องพินาศ
อบู ฮะนีฟะฮฺดำรงชีวิตอยู่ใน 2 ยุค สมัยของราชวงศ์บะนีอุมัยยะฮ์ และสมัยราชวงค์บะนีอับบาสียะฮฺ ในสมัยของราชวงค์บะนีอุมัยยะฮ์ เขาถูกเสนอให้ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาแห่งนครกูฟะฮฺ แต่เขาปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว อันเนื่องมาจากท่านไม่พอใจต่อการปกครองของราชวงวงศ์นี้
ผลการปฏิเสธดังกล่าวทำให้เขาถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีด้วยแซ่วันละ 10 ครั้ง จนครบ 110 ครั้ง ถึงแม้ว่าอบู ฮะนีฟะฮฺถูกเฆี่ยนตี แต่เขาก็ยังปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว จนกระทั่งในเวลาต่อมาได้รับการปล่อยตัว
หลังจากนั้นไม่นาน อบู ฮะนีฟะฮฺ ถูกเสนอให้ท่านรับตำแหน่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกองทุนทรัพย์สิน แต่เขาก็ปฏิเสธอีก และเขาเห็นว่าหากท่านดำรงชีวิตอยู่ในอิรักต่อไป คงไม่มีความปลอดภัย ก็เลยตัดสินใจอพยพไปสู่นครมักกะฮฺ
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิรัก อำนาจการปกครองได้เปลี่ยนจากราชวงค์บะนีอุมัยยะฮ์เป็นราชวงค์บะนีอับบาสียะฮฺ คอลีฟะฮฺคนที่สองแห่งราชวงศ์นี้คือ อบู ญะฟัร อัล-มันซูร ดาวานิกี ได้ให้อบู ฮะนีฟะฮฺแสดงความเห็นต่อการปกครองของ เขา จึงได้วิพากษ์วิจารณ์งานบริหารด้านต่าง ๆ การแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา จนสร้างความไม่พอใจแก่คอลีฟะฮฺอบู ญะฟัร อัล-มันศูร เป็นอย่างมาก ในที่สุดอบู ญะฟัร ก็ได้ใช้วิธีเดียวกันกับคอลีฟะฮฺในราชวงค์ก่อน โดยได้นําตัวอบู ฮะนีฟะฮฺจากนครกูฟะฮฺไปยังนครแบกแดดแล้วเสนอตำแหน่งผู้พิพากษาให้แต่เขาปฏิเสธ ด้วยเหตุดังกล่าวอบู ญะฟัรได้สั่งให้ลงโทษอบู ฮะนีฟะฮฺด้วยการคุมขังท่านไว้โดยไม่มีกำหนด จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 767 (ฮ. ศ. 150) มีอายุได้ 70 ปี กล่าวกันว่า เขาถูกวางยาพิษที่ละเล็กที่ละน้อยจนจบชีวิตในท้ายที่สุด
อบู ฮะนีฟะฮฺเป็นอุละมาอฺที่เคร่งครัด และเลือกปฏิบัติในสิ่งที่มีหลักฐานที่ชัดเจน เนื่องด้วยผู้ปกครองยุคนั้นต่างแสดงอำนาจบาตรใหญ่ แต่อบู ฮะนีฟะฮฺกลับปฏิบัติโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น
ความรู้และความเข้าใจในนิติศาสตร์อิสลามของอบู ฮะนีฟะฮฺ ได้รับความนิยมมากจนก่อตัวเป็นสำนักนิติศาสตร์ขึ้นมาภายหลัง เรียกว่า มัซฮับ ฮะนะฟียฺ
2) มาลิก
มาลิก มีนามเต็มว่า อบู อับดุลลอฮฺ มาลิก อิบนฺ อนัส อิบนฺ อบี อามิร อัลอัสบาฮียฺ เกิดที่นครมาดีนะฮฺ ในปีค.ศ. 712 (ฮ.ศ.93) มาลิก เริ่มการศึกษาด้วยการท่องจำอัลกุรอาน หลังจากนั้นก็เริ่มท่องจำฮะดีษ เขาได้ให้ความสำคัญกับอัล-ฮะดีษและวิชานิติศาสตร์อิสลามเป็นอย่างมาก
มาลิกได้ศึกษากับอาจารย์รวมทั้งสิ้น 900 คน อาจารย์ที่อิมามมาลิกได้ศึกษาอยู่กับท่านนานที่สุดคือ อับดุร เราะหฺมาน อิบนฺ หุรมุก อัล-อะอฺรอจ ซึ่งอิมามมาลิกใช้เวลาในการศึกษานานถึง 7 ปี
มาลิกได้ใช้ชีวิตที่นครมาดีนะฮฺเป็นเวลานานพอสมควรและได้ทำการสอนหนังสือที่นั้น ดังนั้นเขาจึงมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก และศิษย์ของมาลิกที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คืออัล-ชาฟีอียฺ
มาลิกได้รับถูกทรมานอย่างหนักในสมัยของคอลีฟะฮอบูญะฟัร อัล-มันซูรแห่งราชวงค์อับบาสียะฮฺ สาเหตุที่ท่านถูกทรมานนั้นมีหลายบันทึกด้วยกัน บันทึกหนึ่งรายงานรว่ามาลิกได้บันทึกฮะดีษที่ว่า “ผู้ถูกบังคับนั้นไม่ทำให้การกล่าวหาหย่าร้างภรรยาของเขามีผล” แต่อบู ญะอฺฟัรอัล-มันศูรไม่ต้องการให้ฮะดีษนั้นถูกบันทึกไว้เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะไม่ให้การสนับสนุนคอลีฟะฮฺ หากประชาชนได้รับฮะดีษบทนี้ เพราะฮะดีษดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการอ้างอิงอาจจะทำให้คอลีฟะฮมีผู้สนับสนุนน้อยลง มาลิกเป็นปราชญ์ที่ตรงไปตรงมา เขาไม่ยินยอมและยืนยันที่จะให้ฮะดีษนี้ถูกบันทึกไว้ ทำให้คอลีฟะฮฺไม่พอใจจึงต้องตัดสินลงโทษเขา ด้วยการเฆี่ยนตี
มาลิกเสียชีวิตเมื่อปีค.ศ. 796 (ฮ.ศ .179) มีอายุได้ 83 ปี หลังการจากไปของเขาได้มีผู้สืบทอดแนวนิติศาสตร์ที่เขาได้วางรากฐานไว้ จนก่อตัวเป็นสำนักใหญ่เรียกว่า มัซฮับ มาลิกียฺ
3) อัล-ชาฟิอียฺ
อัล-ชาฟิอียฺ มีชื่อเต็มว่า อบูอับดุลลอฮฺ มูฮัมมัด อิบนฺ อิดรีส อิบนฺ อัล-อับบาส อัล-ชาฟีอี เกิดตรงกับวันที่อบู หะนีฟะฮเสียชีวิต ค.ศ. 767( ฮ . ศ . 150) ที่เมืองฆอซซะฮฺ (ฉนวนกาซ่า)ในประเทศปาเลสไตน์
อัล-ชาฟีอียฺเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจนแต่ท่านเป็นคนที่มีความมั่นใจสูงมากถึงแม้จะเติบโตในครอบครัวที่ยาก เขาต้องเป็นกำพร้านับตั้งแต่วัยเยาว์ เขาจึงได้เติบโตขึ้นท่ามกลางความแร้นแค้นแม้แต่ในวัยศึกษา เขาเป็นผู้มีความสามารถและมีมันสมองที่ดีเฉลียวฉลาด เขาสามารถท่องจำอัล-กุรอานตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ยังได้ท่องจำฮะดีซและจดบันทึกฮะดีซไว้เป็นจำนวนมาก และมีความชำนาญด้านภาษาอาหรับ
ต่อมาก็มีผู้ชักชวนอัล-ชาฟีอียฺให้ไปศึกษาวิชาการอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านนิติศาสตร์อิสลาม เขาจึงได้เริ่มศึกษาด้านนี้ที่นครมักกะฮจนได้รับความรู้อย่างมากมาย จนกระทั่งมุสลิม อิบนฺ คอลิด มุฟตียฺ(ผู้พิพากษา)แห่งนครมักกะฮได้อนุญาตให้อัล-ชาฟีอียฺ ออกฟัตวา(ข้อชี้ขาดทางศาสนา)ได้แต่อัล-ชาฟีอียฺยังไม่พอใจในความรู้ของท่าน เขาจึงได้พยายามมุ่งมั่น ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป และเขาได้เดินทางไปศึกษาจากมาลิกที่นครมะดีนะฮฺ จนกระทั่งมาลิกเสียชีวิตไป นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาจากครูอาจารย์อีกจำนวนมาก
อัล-ชาฟีอียฺมีลูกศิษย์มากมาย ศิษย์คนสำคัญของท่านที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ อะหฺมัด อิบนฺ หันบัล
อัล-ชาฟีอียฺสิ้นชีวิตในปีค.ศ. 820 (ฮ.ศ. 204) รวมอายุได้ 54 ปี แนวนิติศาสตร์ของเขามีผู้ดำเนินตามเป็นจำนวนมาก จนก่อตัวเป็นสำนักนิติศาสตร์สำคัญ เรียกว่า มัซฮับ ชาฟิอียฺ
4) อะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล
อะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล ชื่อเต็มว่า อะหฺมัด อิบนฺ มุฮัมมัด อิบนฺ ฮัมบัล อิบนฺ ฮิลาล อัล-ชัยบานียฺ เกิดในกรุงแบกแดด ในวันที่ 20 เดือนเราะบิอุล เอาวัล ฮ.ศ. 164 (ธันวาคม ค.ศ. 780)
ชีวิตของอะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล ได้เติบโตขึ้นในแวดวงวิชาการ เขาท่องจำอัล-กุรอานได้ทั้งเล่มตั้งแต่เยาว์วัย และศึกษานิติศาสตร์อิสลาม ฮะดีซ และไวยากรณ์อาหรับในนครแบกแดด จากนั้นเข้าร่วมกลุ่มศึกษาของอบู ยูสุฟ สหายคนสำคัญของอบู ฮะนีฟะฮฺ(หนึ่งในสี่ผู้นำนักนิติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง)
ตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นต้นมา เขาได้อุทิศตัวให้กับการศึกษาฮะดีซ ทำให้เขาต้องออกเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าอิหร่าน คอรอซาน หิญาซ เยเมน ซีเรีย อิรัก และแม้แต่มัฆริบ (โมร็อคโคปัจจุบัน) เพื่อเสาะหาความถูกต้องของฮะดีซ และท่านยังได้ไปทำฮัจญ์ที่มักกะฮฺ 5 ครั้งด้วยกัน
ครูบาอาจารย์ของอะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ อัล-ชาฟิอียฺ เขาได้ศึกษากับอิมามซาฟีอีเป็นครั้งแรกที่นครมักกะฮฺ เมื่ออิบนฺ ฮัมบัล ไปบำเพ็ญฮัจญ์ที่นั้นซึ่งในขณะนั้นอิมามซาฟีอีกำลังสอนอยู่ในมัสยิดฮะรอม และอิบนฺหัมบัลยังได้ไปศึกษากับอิบรอฮีม อิบนฺ ซะอด์ ยะฮยา อัล-ก็อฏฏอน
บทบาทสำคัญอันโดดเด่นของ อะหฺมัด บิน ฮัมบัล คือการยืนหยัดเพื่อสัจธรรมและการฟื้นฟูอิสลาม การยืนหยัดของท่านนำไปสู่การถูกทดสอบอย่างมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเขาขัดแย้งกับเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ ตั้งแต่สมัยของเคาะลีฟะฮฺมะมูนจนถึงสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-วาษิก
อะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล เป็นปราชญ์ผู้นำด้านนิติศาสตร์อิสลามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง สำหรับแนวนิติศาสตร์ของเขามีผู้ปฏิบัติตามน้อยกว่าสามสำนักใหญ่ แต่ก็มีผู้ปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องมาตลอดประวัติศาสตร์ เรียกสำนักนิติศาสตร์ของเขาว่า มัซฮับ ฮัมบะลียฺ
อิทธิพลของสำนักนิติศาสตร์ทั้ง 4 ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ
อิมามทั้งสี่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนานิติศาสตร์อิสลามอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง งานของท่านก่อให้เกิดสำนักนิติศาสตร์ที่กระจายตัวไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ ดังต่อไปนี้
1.มัซฮับ ฮะนะฟียฺ มีผู้ดำเนินตามกันในกลุ่มประเทศแถบเอเชียกลาง, ส่วนใหญ่ของชมพูทวีป, ตุรกีและยุโรปตะวันออก เป็นต้น เป็นแนวนิติศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลกมุสลิมมาตลอดจนถึงทุกวันนี้
2. มัซฮับ มาลิกียฺ ในยุคก่อนได้รับความนิยมในสเปน เป็นอย่างมาก ปัจจุบันได้รับความนิยมกันมากในประเทศแถบอัฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
3. มัซฮับ ชาฟิอียฺ ได้รับความนิยมมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเยเมน บางส่วนของประเทศอียิปต์ ภาคใต้ของอินเดีย และแอฟริกาตะวันออก เป็นต้น
4. มัซฮับ ฮัมบะลียฺ กระจัดกระจายโดยทั่วไปในคาบสมุทรอาหรับและประเทศอาหรับข้างเคียง
นอกจากสำนักนิติศาสตร์ทั้งสี่แล้ว ในยุคแรกเริ่มยังมีสำนักอื่น ๆ อีกหลายสำนัก เพียงแต่ไม่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ไม่มีผู้สืบทอด จนทำให้เหลือเพียงทฤษฎีในตำรับตำรา เช่น แนวซอฮีรียะฮฺ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามนิติศาสตร์อิสลามนั้น ไม่จำเป็นต้องสังกัดสำนักใด ๆ สำนักหนึ่งใน 4 สำนักนี้ตายตัวอย่างเปลี่ยนแปลงมิได้ หรือแม้กระทั่งไม่จำเป็นต้องมีสำนักสังกัดเป็นทางการก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ยังคงจำเป็นต้องอาศัยนักฟัตวาที่เขาต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นคนที่มีความรู้เพียงพอในการเลือกพิจารณาในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ก็สามารถเลือกเฟ้นปฏิบัติตามทัศนะที่มีน้ำหนักและปฏิบัติได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ ยิ่งกว่านั้นหากเป็นบุคคลระดับมุจญฮิดก็ย่อมให้ข้อมูลทางนิติศาสตร์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องยึดอยู่กับมัซฮับใด ๆ
อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดียฺ ได้วิเคราะห์ความสำเร็จของอิมามทั้งสี่เอาไว้ว่าไว้ว่า
“แม้ว่าจะมีมุจญตะฮิด (ผู้สามารถทำการอิจญติฮาดได้) ที่นอกเหนือจากเขาทั้งสี่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีเหตุผลบางอย่างที่ได้ทำให้พวกท่านทั้งสี่อยู่ในฐานะที่เหนือกว่ามุจญตะหิดท่านอื่น และทำให้ท่านทั้งสี่นี้ถูกขนานนามว่า มุญัดดิด (นักฟื้นฟู) แห่งอิสลาม นั่นก็คือ
ประการ ที่ 1 การที่อิมามทั้งสี่มีความเป็นเลิศ ด้วยการที่มีมุมมองที่ลึกซึ้งและมีพลังทางปัญญาที่เด่นเป็นพิเศษ เห็นได้จากความคิดทางศาสนาและการก่อเกิดสำนักคิดอันทรงพลัง ซึ่งการกระตุ้น(ทางปัญญา)ที่มีพลังของพวกท่านยังคงดำเนินต่อไปด้วยการผลิตมุ จญตะหิดไปจนกระทั่งถึงฮิจญเราะฮฺศตวรรษที่แปด นอกจากนี้ พวกท่านยังได้ร่วมกันพัฒนาหลักการพื้นฐานที่ลึกซึ้งในการประยุกต์ใช้ที่เป็น สากลเพื่อการผลิตรายละเอียดต่างๆที่ได้มาจากรากฐานคำสอนอิสลาม และเพื่อนำกฎชะรีอะฮฺ(กฎหมายอิสลาม)ไปใช้แก้ปัญหาต่างๆในชีวิตได้ ผลของงานเหล่านี้ของพวกท่าน ได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า งานทั้งหมดในยุคหลังที่เกี่ยวข้องกับวิธีการอิจญติฮาดนั้นถูกผลิตมากจากแนวคิดที่ได้มาจากหลักการของพวกท่าน และคงจะไม่มีมุจญตะฮิดคนใดในอนาคตยอมสูญเสียสายตา โดยก้าวไปตามเส้นทางอย่างอิสระ ด้วยการละทิ้งหลักการที่พวกท่านได้วางไว้
ประการที่ 2 การที่อิมามทั้งสี่กระทำสิ่งต่างๆข้างต้นอย่างอิสระ โดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาล ในบางโอกาสพวกท่านต้องหนีห่างจากการแทรกแซงของทางการ เพื่อที่จะได้ทุ่มเทกับงานของท่านอย่างสงบ การวางความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้พวกท่านต้องประสบกับความยากลำบากและการถูกลงโทษอย่างหนักหน่วง ...แม้ว่าต้องพบกับความทุกข์ยากเช่นไร บรรดาอิมามผู้มีเกียรติเหล่านี้ไม่เคยยอมให้อิทธิพลของทางการมาหน่วง เหนี่ยวหรือส่งผลกระทบต่องานรวบรวบและค้นคว้าวิจัยในความรู้ต่างๆของอิสลามเลย
เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงสามารถจัดวางรูปแบบความรู้ดังกล่าวขึ้นมาได้ ด้วยแบบอย่างของพวกท่าน ซึ่งแม้ว่าพวกท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่งานด้านอิจญติฮาด และการรวบรวมความรู้ของพวกท่านก็ยังคงอยู่ โดยปลอดจากการแทรกแซงจากราชสำนักในระยะเวลานานไม่น้อยเลยทีเดียว แท้จริงผลของการทำงานหนักและพากเพียรของพวกเขาทำให้งานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับอัล-กุรอานและกฎหมายอิสลาม รวมทั้งการรวบรวมฮะดีซที่ถูกต้องทั้งหมดมาถึงเรานั้น อยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์โดยไม่แปดเปื้อนตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาอย่างน่าประหลาดใจ …”
การปรากฏสำนักนิติศาสตร์อิสลามก็สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวอิสลามในยุคแรกที่มองการณ์ไกลว่า หากปล่อยให้ผู้คนที่ขาดความรู้ในอิสลามที่กว้างขวางปฏิบัติศาสนากันเอาเอง โดยขาดระเบียบแบบแผนทางนิติศาสตร์ที่เป็นระบอบและมีขั้นตอนจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ออกนอกลู่นอกทาง ...
ประวัติศาสตร์อิสลามพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สำนักนิติศาสตร์อิสลามช่วยทำให้ผู้คนในดินแดนอันกว้างใหญ่ของอิสลามสามารถนำอิสลามไปปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้นิติศาสตร์อิสลามที่นำเสนอผ่านสำนักต่าง ๆ นั้นได้รับการตอบสนองแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ที่แตกต่างกัน สิ่งนี้ช่วยย้ำว่าการตัดสินใจของพวกเขานั้นถูกต้องและก่อประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อโลกมุสลิม
จบตอนที่สอง
แสดงความเห็น