ความยุติธรรมทางสังคมและการรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์

ความยุติธรรมทางสังคมและการรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์

ความยุติธรรมกับการให้อย่างใดดีงามมากกว่ากัน?

وَ سُئِلَ [عليه السلام] أَيُّهُمَا أَفْضَلُ الْعَدْلُ أَوِ الْجُودُ فَقَالَ [عليه السلام] الْعَدْلُ يَضَعُ الْأُمُورَ مَوَاضِعَهَا وَ الْجُودُ يُخْرِجُهَا عَنْ جِهَتِهَا وَ الْعَدْلُ سَائِسٌ عَامٌّ وَ الْجُودُ عَارِضٌ خَاصٌّ فَالْعَدْلُ أَشْرَفُهُمَا وَ أَفْضَلُهُمَا

มีผู้ถามท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า “ระหว่างความยุติธรรมกับการให้นั้นอย่างใดดีกว่ากัน” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “(ความยุติธรรมย่อมดีกว่าการให้ ทั้งนี้เนื่องจาก) ความยุติธรรมจะจัดวางทุกสิ่งให้อยู่ในตำแหน่ง (และอยู่ในรูปรอยที่เหมาะสม) ของมัน ส่วนการให้จะทำให้ทุกสิ่งออกจากทิศทาง (รูปรอย) ที่เหมาะสมของมัน ความยุติธรรมคือการดูแลประชาชนโดยรวม ในขณะที่การให้คืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลบางกลุ่มอันเป็นเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นความยุติธรรมย่อมประเสริฐและดีกว่าการให้” (1)

คำอธิบาย : สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม คือการต่อสู้ในหนทางของสัจธรรมที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเส้นทางของการยอมตนเป็นบ่าว (อุบูดียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าจะราบเรียบได้โดยอาศัยการมีอยู่ของความยุติธรรม ตราบใดที่ความอยุติธรรมและการกดขี่ทางสังคมยังคงมีอยู่ เจว็ด (มาร) การบูชาเจว็ดและความชั่วร้าย (ในสังคม) ก็จะยังคงมีอยู่ แต่กระนั้นก็ตามเราจะเห็นว่า บรรดาผู้นำแห่งสัจธรรมได้ทุ่มเทความพยายามอย่างหนักในสนามแห่งการรับใช้บริการสังคม พวกท่านได้เน้นย้ำอย่างมากในเรื่องนี้ การดูแลเอาใจใส่ต่อคนกลุ่มต่างๆ ที่ประสบความทุกข์ยาก บุคคลที่ไร้ที่พึ่งพิง เด็กกำพร้า คนยากจนและอื่นๆ ที่เหมือนกันนี้ ถือเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ที่สำคัญที่สุด ที่ท่านเหล่านั้นได้รีบรุดและเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติมัน แต่มีคำถามว่า ในการเน้นย้ำถึงความจำเป็นของความยุติธรรมทางสังคมและการให้ความสำคัญต่อการรับใช้บริการสังคม แต่ทว่าสิ่งใดจากทั้งสองนี้ควรมาก่อน? กล่าวคือ ระหว่างความยุติธรรมทางสังคมและการรับใช้บริการสังคมนั้น สิ่งใดสำคัญกว่าและมีความจำเป็นมากกว่า?

ชายผู้หนึ่งได้มาพบท่านอิมามอะลี (อ.) และได้ตั้งคำถามที่ชาญฉลาดต่อท่าน โดยถามว่า

أَيُّهُمَا أَفْضَلُ الْعَدْلُ أَوِ الْجُودُ

“ระหว่างความยุติธรรมกับความกรุณา (และการให้อย่างมากมาย) สิ่งใดดีงามกว่ากัน”

ความยุติธรรมนั้นดีงามกว่า สูงส่งกว่าและสำคัญกว่า หรือว่าการแสดงความกรุณา การให้และการเสียสละ? ในเบื้องต้นเมื่อเราได้ยินคำถามนี้ เราหลายคนอาจจะตอบว่า แน่นอน! การเสียสละ การให้และการแสดงความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นย่อมจะดีงามกว่าและมีความสูงส่งกว่า ทั้งนี้เนื่องจากความยุติธรรม (อัดล์) หมายถึง การรักษาสิทธิต่างๆ ของผู้อื่น และการไม่ล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ ของคนเหล่านั้น แต่การให้และการแสดงความเมตตากรุณา (ญูด) หมายถึง การละวางจากสิทธิต่างๆ ของเรา การเสียสละ (อีซาร) หมายถึง การให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นมากกว่าสิทธิของตนเอง การให้และการเสียสละ หมายถึง การยอมสูญเสียสิทธิของตนเองเพื่อมอบมันให้แก่ผู้อื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง การให้และการเสียสละ ย่อมดีงามกว่าและมีความสูงส่งกว่า ดังนั้นคำถามที่ว่า คนที่ระวังรักษาสิทธิของบุคคลอื่นนั้น การกระทำของเขาจะดีงามกว่าและสูงส่งกว่า หรือว่าคนที่ให้สิทธิของตนเองแก่ผู้อื่น? คำตอบของคำถามข้อนี้จึงมีความชัดเจน ที่ว่า “การให้” (ญูด) ย่อมจะดีงามกว่าและมีความสูงส่งกว่าอย่างแน่นอน

แต่คำตอบของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นตรงกันข้ามกับมุมมองนี้ โดยท่านกล่าวว่า

فَالْعَدْلُ أَشْرَفُهُمَا وَ أَفْضَلُهُمَا

“ความยุติธรรมนั้นย่อมมีเกียรติกว่าและดีงามกว่า”

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ยกเหตุผลในคำพูดนี้ของท่าน 2 ประการคือ

เหตุผลประการแรก : ท่านกล่าวว่า

الْعَدْلُ يَضَعُ الْأُمُورَ مَوَاضِعَهَا وَ الْجُودُ يُخْرِجُهَا عَنْ جِهَتِهَا

“ความยุติธรรมจะจัดวางทุกสิ่งไว้ในตำแหน่ง (ที่ถูกต้องและเหมาะสม) ของมัน ส่วนการให้จะทำให้มันออกจากทิศทาง (ที่ถูกต้องและเหมาะสม) ของมัน”

กล่าวคือ ความยุติธรรมจะทำให้เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามเส้นทางตามธรรมชาติและตามความเป็นจริงของมัน แต่การให้ (ญูด) และการเสียสละจะทำให้สิ่งต่างๆ ออกนอกเส้นทางอันเป็นธรรมชาติของมัน กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ หากความยุติธรรมถูกปฏิบัติในสังคม และสิทธิต่างๆ ของประชาชนทุกคนถูกมอบให้แก่พวกเขาแล้ว การให้และการเสียสละก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การให้และการเสียสละเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า ในสังคมนั้นๆ ยังมีความป่วยไข้อยู่ โดยที่บุคคลในสังคมดังกล่าวยังจำเป็นต้องเสียสละและละวางจากสิทธิของตนเอง สิ่งนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ยังมีความอยุติธรรมและการกดขี่เกิดขึ้นในสังคมนั้น และสิทธิบางส่วนของคนในสังคมนั้นยังคงถูกลิดรอน สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ถึงความป่วยไข้ของสังคม เหมือนกับร่างกายของเราที่อวัยวะส่วนหนึ่งของมันได้รับความเจ็บป่วย จึงทำให้อวัยวะส่วนอื่นๆ ต้องได้รับความเจ็บปวดและความทุกข์ยากไปด้วย จึงจำเป็นต้องมีผู้ให้และเสียสละ

ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

مَثَلُ الْمُؤمِنینَ فی تَوادِّهِمْ وَ تَراحُمِهِمْ وَ تَعاطُفِهِمْ مَثَلُ الْجَسَدِ: اذَا اشْتَکی مِنْهُ عُضْوٌ تَداعی لَهُ سائِرُ الْجَسَدِ بِالسَّهَر وَ الْحُمّی

“อุปมาบรรดาผู้ศรัทธา ในด้านความรัก ความเมตตาและความเอื้ออาทรของพวกเขาที่มีต่อกันนั้น อุปมัยดังร่างกาย กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็จะได้รับความเจ็บปวดไปทั่ว พาให้นอนไม่หลับและเกิดอาการไข้” (2)

ในสำนวนคำพูดของซะอ์ดี ชีราซี นักกวีผู้มีชื่อเสียงของเปอร์เซีย ได้กล่าวว่า “ลูกหลานอาดัมนั้น เปรียบได้ดั่งเรือนร่างเดียงกัน ในการสร้างสรรค์นั้น มาจากชาติพันธุ์เดียวกัน ยามใดที่อวัยวะส่วนหนึ่งได้รับความเจ็บปวด ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็ไม่อาจอยู่สุขได้ หากท่านไม่รู้สึกทุกข์โศกจากความทุกข์ยากของผู้อื่น ก็อย่าได้เรียกตัวเองว่าเป็นคน”

แต่หากมีความยุติธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ในรูปรอยที่ถูกต้องของมัน สิทธิของทุกคนจะถูกมอบให้ สังคมจะเกิดความสงบสุขอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่สังคมจะไม่เกิดความป่วยไข้ จนทำให้เราต้องมอบให้และเสียสละ กล่าวคือ ตราบที่สังคมยังต้องการการเสียสละและการให้ นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีจุดอ่อน จุดบกพร่อง และการละเมิดสิทธิ์อยู่ ดังคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่กล่าวว่า

ما رَأيتُ نِعمَةً مَوفورَة، اِلّا وَ فى جانِبِها حَقٌّ مُضَيَّع

“ฉันมิได้มองเห็นเนี๊ยะอ์มัต (ทรัพย์สมบัติ) ที่มากมายก่ายกอง นอกเสียจากว่า เคียงคู่กับสิ่งนั้นคือสิทธิ (ของผู้อื่น) ที่ถูกทำลาย” (3)

ที่ใดที่มีการกดขี่อยู่ ที่นั่นก็จำเป็นต้องมีการให้และการเสียสละ แต่หากความยุติธรรมได้เกิดขึ้น และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในรูปรอยและทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม สังคมก็จะไปถึงยังความยุติธรรมและการธำรงอยู่ในความเป็นสายกลางของมัน และเมื่อนั้นการให้และการเสียสละก็ไม่มีมีความจำเป็นใดๆ

ด้วยเหตุนี้เองการให้และการเสียสละ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความผิดปกติของสังคม และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมขาดความพอดี ขาดความดีงาม และระดับของความยุติธรรมในสังคมถูกทำลาย แต่ด้วยกับการมีความยุติธรรมในสังคม ทุกสิ่งจะเข้ารูปเข้ารอยและจะถูกวางในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมของมัน สังคมก็จะอยู่ในความปกติสุขอย่างแท้จริง โดยสรุปแล้วความยุติธรรมย่อมดีงามและสูงส่งกว่าการให้

เหตุผลประการที่สอง : ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า

وَ الْعَدْلُ سَائِسٌ عَامٌّ وَ الْجُودُ عَارِضٌ خَاصٌّ

“และความยุติธรรมคือการดูแลประชาชนโดยรวม ในขณะที่การให้คืออุบัติการณ์เฉพาะ (ที่เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม) เท่านั้น”

กล่าวคือ ความยุติธรรมนั้นเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสังคมโดยรวม จะครอบคลุมถึงประชาชนทุกคน และจะทำให้พวกเขาทั้งหมดได้รับความสุขสบาย ในขณะที่การให้นั้นเป็นเรื่องเฉพาะและเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษเป็นกรณียกเว้น การให้ไม่ใช่ภารกิจหลัก ไม่ใช่หน้าที่ขั้นพื้นฐาน และไม่ใช่เรื่องที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน ตรงข้ามกับความยุติธรรม คือภารกิจหลัก เป็นหน้าที่สำคัญขั้นพื้นฐานและครอบคลุมสำหรับทุกบุคคล ด้วยกับความยุติธรรมนี่เองที่จะทำให้สังคมได้รับการแก้ไขปรับปรุง เกิดการปฏิรูปและเกิดความสงบสุข

ดังนั้นด้วยเหตุผลสองประการนี้ ความยุติธรรมจึงดีกว่าและสูงส่งกว่า แนวคิดที่เกี่ยวกับมนุษย์และปัญหาต่างๆ ด้านมนุษยธรรมในลักษณะเช่นนี้ เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของมุมมองและแนวคิด ที่อยู่บนพื้นฐานของการคิดใคร่ครวญที่เป็นเฉพาะ รากฐานของการคิดใคร่ครวญและการประเมินนี้ คือความสำคัญและสารัตถะของสังคม รากฐานของการคิดใคร่ครวญและการประเมินเช่นนี้ก็คือว่า หลักการและพื้นฐานต่างๆ ทางสังคมจะต้องมาก่อนหลักการและพื้นฐานต่างๆ ทางด้านจริยธรรม ประการแรก (สังคม) นั่นคือหลักการสำคัญ ส่วนประการที่สอง (ปัจเจกบุคคล) นั่นคือข้อปลีกย่อย หรือถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ ประการแรกนั่นคือ “ลำต้น” ส่วนประการที่สองนั่นคือ “กิ่งก้าน” ในทัศนะของท่านอิมามอะลี (อ.) หลักการที่จะสามารถรักษาความสมดุลของสังคมไว้ได้ ทำให้ทุกคนเกิดความพึงพอใจ ทำให้เรือนร่างของสังคมเกิดความปกติสุขปราศจากความป่วยไข้ จิตวิญญาณของสังคมเกิดความสงบสุขและมีสันติภาพ นั่นก็คือ “ความยุติธรรม”

อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักว่า มนุษย์จะบรรลุสู่จิตวิญญาณอันสูงส่งได้ด้วยการให้ การเสียสละ การพลีอุทิศ และการให้ความสำคัญต่อผู้อื่นมากกว่าตัวเอง มนุษย์จะต้องข้ามผ่านสิ่งที่ตัวเองมีความรักและความผูกพัน ทำลายม่านปิดกั้นจิตใจและการยึดติดในด้านวัตถุออกไปจากตัวเองให้ได้ เพื่อบรรลุสู่คุณธรรมความดีงามอันสูงส่ง ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ

“พวกเจ้าจะยังไม่บรรลุสู่คุณธรรมความดีได้ จนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคสิ่งที่พวกเจ้ารัก” (4)

 

เชิงอรรถ :

(1) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, สุนทโรวาทที่ 438

(2) ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 13

(3) ดิรอซาต ฟี นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, มุฮัมมัดมะฮ์ดี ชัมซุดดีน, หน้าที่ 40

(4) ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน/อายะฮ์ที่ 92

ที่มา http://sahibzaman.com

 

 

แสดงความเห็น