มุสตัฏอะฟีนและมุสตักบิรีนในอัลกุรอาน

ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน “มุสตัฎอะฟีน” (ผู้ถูกกดขี่) และ "มุสตักบิรีน” (ผู้กดขี่) คือใคร?

“มุสตัฎอะฟีน” มิได้หมายถึง ผู้อ่อนแอและไร้ความสามารถ ทว่าพวกเขามีกำลัง มีศักยภาพและความสามารถต่างๆ แต่ตกอยู่ภายใต้ความอธรรมและการกดขี่ของพวกทรราชและจอมเผด็จการทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาแก่กลุ่มชนผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) เหล่านี้ว่า พระองค์จะทรงช่วยเหลือพวกเขาและจะทรงทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจการปกครองบนแผ่นดิน

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า

وَنُرِیدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِینَ اسْتُضْعِفُوا فِی الْأَرْضِ وَنَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَنَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِین وَنُمَکِّنَ لَهُمْ فِی الْأَرْضِ وَنُرِی فِرْعَوْنَ وَهَامَانَ وَجُنُودَهُمَا مِنْهُم مَّا کَانُوا یَحْذَرُونَ

“และเราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ที่ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด และเราจะทำให้พวกเขามีอำนาจปกครองอย่างมั่นคงอยู่ในแผ่นดิน และเราจะให้ฟิรเอาน์และฮามานรวมทั้งไพร่พลของเขาทั้งสอง ได้เห็นสิ่งที่พวกเขามีความหวั่นกลัว” (ซูเราะฮ์อัลกอซ็อซ/อายะฮ์ที่ 5-6)

หนึ่งในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานที่แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับชัยชนะของผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) เหนือบรรดาผู้กดขี่ผู้อหังการ (มุสตักบิรีน) นั่นคือโองการที่ 5 จากซูเราะฮ์ "อัลกอซ็อซ" เพื่อที่จะรับรู้ถึงแนวคิดและความหมายของโองการที่แจ้งข่าวดีนี้ ซึ่งผู้รอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ทุกคนต่างเชื่อว่าสิ่งดังกล่าว (ชัยชนะของผู้ถูกกดขี่เหนือบรรดาผู้กดขี่) คือการบรรลุความเป็นจริงของสัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เราจะขอนำเสนอเนื้อหาพอสังเขปจากหนังสือตัฟซีร “นะมูเนะฮ์” ของท่านอายะตุลลอฮ์มะการิม ชีราซี แก่ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า

«وَنُرِیدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِینَ اسْتُضْعِفُوا فِی الْأَرْضِ وَنَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَنَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِینَ»

“และเราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ที่ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด (ในแผ่นดิน)”

โองการนี้และโองการถัดไปจากโองการนี้ ช่างน่าประทับใจและให้ความหวังเสียนี่กระไร? ทั้งนี้เนื่องจากมันถูกกล่าวไว้ในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์สากลประการหนึ่ง โดยใช้รูปกิริยาที่เป็นอนาคตกาล (เฟียะอ์ลุลมุฎอเรียะอ์) และดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีใครคาดคิดว่าโองการนี้หมายถึงบรรดาผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) แห่งวงศ์วานของอิสราเอลและอำนาจการปกครองของพวกฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) เพียงเท่านั้น โองการอัลกุรอานกล่าวว่า : เราประสงค์เช่นนั้น... กล่าวคือ ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) ต้องการที่จะบดขยี้วงศ์วานของอิสราเอล ทำลายพลังและเกียรติศักดิ์ศรีของพวกเขา แต่เรา (พระผู้เป็นเจ้า) ประสงค์ที่จะให้พวกเขามีความแข็งแกร่งและเป็นผู้มีชัยชนะ เขา (ฟิรเอาน์ ) ต้องการที่จะให้อำนาจการปกครองนี้อยู่ในมือของมหาอำนาจผู้กดขี่ (มุสตักบิรีน) ตลอดไป แต่เราประสงค์ที่จะมอบอำนาจการปกครองนี้ให้กับผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) และในที่สุดก็เป็นเช่นนั้น

สำนวนวลีที่ว่า "มินนะฮ์" (ความโปรดปราณ ความกรุณา) หมายถึง การให้สิ่งที่ดีงามต่างๆ เป็นของขวัญ และสิ่งนี้มีความแตกต่างอย่างมากกับการท้าวทวงบุญคุณด้วยวาจาที่ให้ผู้คนกล่าวถึงปัจจัยที่ดีงาม (เนี๊ยะอ์มัต) ต่างๆ ที่ตนเองมอบให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยมีเจตนาที่จะแสดงการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งแน่นอนมันคือการกระทำที่น่าตำหนิ

ในโองการที่ 5 และ 6 ของซูเราะฮ์อัลกอซ๊อซ พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยให้รู้ถึงความประสงค์และเจตนารมณ์ของพระองค์ในกรณีที่เกี่ยวกับผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) และพระองค์ทรงอธิบายถึงห้าประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

ประการแรก : เราประสงค์จะมอบความโปรดปรานต่างๆ ของเราแก่พวกเขา «وَنُرِیدُ أَن نَّمُنَّ»

ประการที่สอง : เราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ «وَنَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً»

ประการที่สาม : เราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอดในแผ่นดิน «وَنَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِینَ»

ประการที่สี่ : เราจะทำให้ (อำนาจการปกครอง) ในแผ่นดิน มีความมั่นคงแก่พวกเขา «وَنُمَکِّنَ لَهُمْ فِی الْأَرْضِ»

ประการที่ห้า : และท้ายที่สุดสิ่งที่ศัตรูของพวกเขามีความหวาดกลัวและระดมกำลังทั้งหมดของพวกเขาเพื่อสกัดกั้นมัน เราก็จะทำให้พวกเหล่านั้นได้เห็นมัน

«وَنُرِی فِرْعَوْنَ وَهَامَانَ وَجُنُودَهُمَا مِنْهُم مَّا کَانُوا یَحْذَرُونَ»

“และเราจะให้ฟิรเอาน์และฮามานรวมทั้งไพร่พลของเขาทั้งสอง ได้เห็นสิ่งที่พวกเขามีความหวาดกลัว”

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณและความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน)

* ประเด็นที่ได้รับจากโองการข้างต้น

1. รัฐบาลโลกของบรรดาผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน)

โองการทั้งสองข้างต้น ไม่ต้องการที่จะพูดถึงแผนการชั่วคราวที่เป็นกรณีเฉพาะสำหรับวงศ์วานของอิสราเอลเพียงเท่านั้น แต่ทว่าต้องการที่จะอธิบายถึงกฎเกณฑ์หนึ่งอันเป็นสากลสำหรับทุกยุคสมัย สำหรับหมู่ชนและสังคมทั้งมวล โดยกล่าวว่า : เราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ที่ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอดบนหน้าแผ่นดิน

นี่คือการแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับชัยชนะของสัจธรรมที่มีเหนือความเท็จ และความศรัทธา (อีหม่าน) ที่มีเหนือการปฏิเสธ (กุฟร์) นี่คือการแจ้งข่าวดีหนึ่งสำหรับมวลมนุษย์ผู้เป็นเสรีชนทั้งมวล ผู้มุ่งแสวงหาอำนาจการปกครองที่มีความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม การขจัดรากเหง้าของการกดขี่และความอธรรม

ตัวอย่างหนึ่งจากการบรรลุความจริงในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า คืออำนาจการปกครองของวงศ์วานของอิสราเอลและการสิ้นสลายของอำนาจการปกครองของฟิรเอาน์ (ฟาโรห์)

ตัวอย่างที่ชัดเจนกว่านั้นก็คือ อำนาจการปกครองและรัฐของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) และสาวกของท่านหลังจากการปรากฏขึ้นของศาสนาอิสลาม เป็นรัฐที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยมือเปล่าจากที่ไม่มีอะไร แด่ด้วยผลของความศรัทธา (อีหม่าน) และด้วยมือของบรรดาผู้ถูกกดขี่ที่มีหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้การดูถูกเหยียดหยามและการเย้ยหยันอย่างต่อเนื่องจากเหล่าฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) แห่งยุคสมัยของพวกเขา และตกอยู่ภายใต้การบีบคั้น การกดขี่และความอธรรมของพวกเหล่านั้นมาโดยตลอด

ในที่สุดพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงพิชิตประตูพระราชวังของจักรพรรดิคาสโร (Kasra) และไกเซอร์ (Kaiser) และชุดกระชากพวกเขาลงมาจากบัลลังก์ พระองค์ทรงทำให้จมูกของบรรดามหาอำนาจผู้กดขี่ถูไถไปกับพื้นดินด้วยมือของประชาชนผู้ถูกกดขี่เหล่านี้ แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนกว่าและมีความกว้างขวางครอบคลุมมากกว่า นั่นก็คือ การปรากฏขึ้นของรัฐบาลแห่งสัจธรรมและการปกครองที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งแผ่นดินโดยท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ)

โองการนี้คือส่วนหนึ่งจากโองการที่แจ้งข่าวดีถึงการปรากฏขึ้นของรัฐบาลดังกล่าวนี้อย่างชัดเจนยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ เราจะพบในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ของอิสลาม ในการอรรถาธิบายโองการนี้ บรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้ชี้ถึงการปรากฏของรัฐบาลอันยิ่งใหญ่นี้

ในหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ มีคำพูดส่วนหนึ่งของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งท่านกล่าวเช่นนี้ว่า

لَتَعْطِفَنَّ الدُّنْيَا عَلَيْنَا بَعْدَ شِمَاسِهَا عَطْفَ الضَّرُوسِ عَلَى وَلَدِهَا.

“แน่นอนยิ่ง โลกภายหลังจากความดื้อรั้นของมัน เสมือนดังแม่อูฐที่ปฏิเสธที่จะให้นมแก่ลูกของมัน (ท้ายที่สุด) ก็จะโอนอ่อน (และหันหน้า) มาสู่เรา” หลังจากนั้นท่านได้อ่านโองการนี้

وَنُرِيدُ أَنْ نَمُنَّ عَلَى الَّذِينَ اسْتُضْعِفُوا فِي الْأَرْضِ وَنَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَنَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِينَ

“และเราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ที่ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด” (นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ กะลิมาตุลกิซ๊อร หมายเลข 209)

ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่งจากท่านอิมามอะลี (อ.) เช่นกัน ซึ่งท่านกล่าวในการอรรถาธิบายโองการข้างต้นว่า

هم آل محمد(ص) یبعث الله مهدیهم بعد جهدهم، فیعزهم ویذلّ عدوّهم

“พวกเขาคือวงศ์วานของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อัลลอฮ์จะทรงส่งมะฮ์ดีของพวกเขามา ภายหลังจากเหนื่อยยากของพวกเขา โดยที่พระองค์จะทรงทำให้พวกเขามีอำนาจ และจะทรงทำให้ศัตรูของพวกเขาพบกับความอัปยศอดสู” (อัลฆ็อยบะฮ์ เชคฏูซี อ้างจากตัฟซีรนูรุษษะกอลัยน์ เล่มที่ 4 หน้าที่ 110)

และในฮะดีษ (วจนะ) จากท่านอิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

وَ الَّذِي بَعَثَ مُحَمَّداً بِالْحَقِّ بَشِيْراً وَ نَذِيْراً، اِنَّ الاَبْرارَ مِنّا أَهْلَ الْبَيْتِ وَ شِيْعَتَهُمْ بِمَنْزِلَةِ مُوسى وَ شِيْعَتِهِ، وَ اِنَّ عَدُوَّنا وَ اَشْياعَهُمْ بِمَنْزِلَةِ فِرْعَوْنَ وَ اَشْياعِهِ

“ขอสาบานต่อ (พระผู้เป็นเจ้า) ผู้ซึ่งแต่งตั้งมุฮัมมัดมาพร้อมด้วยสัจธรรม เพื่อเป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือน แท้จริงบรรดาผู้มีคุณธรรมจากพวกเรา อะฮ์ลุลบัยติ์และชีอะฮ์ของพวกเขา อยู่ในฐานะเดียวกับมูซาและชีอะฮ์ (ผู้ปฏิบัติตาม) ของท่าน และแท้จริงศัตรูของเราและของบรรดาผู้ปฏิบัติตามพวกเขา อยู่ในสถานะเดียวกับฟิรเอาน์และบรรดาผู้ปฏิบัติตามเขา” (ตัฟซีรมัจญ์มะอุลบะยาน อธิบายโองการ อัลมะวัดดะฮ์)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ที่จะมาในยุคสุดท้ายนั้น จะไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางใด ๆ สำหรับรัฐบาลต่าง ๆ ของอิสลามในขอบข่ายที่แคบลงมาก่อนที่จะถึงยุคดังกล่าว ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยบรรดาผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) ที่ยืนหยัดต่อต้านมหาอำนาจผู้กดขี่ และในทุกยุคสมัยที่พวกเขาสามารถจัดเตรียมสภาวะเงื่อนไขต่าง ๆ ของมันให้เกิดขึ้นได้ สัญญาที่แน่นอนและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้ไว้กับพวกเขาก็จะบรรลุความจริง และชัยชนะดังกล่าวนี้ก็จะเป็นโชคผลของพวกเขา

2. มุสตัฎอะฟีน (ผู้ถูกกดขี่) และมุสตักบิรีน (ผู้กดขี่) คือใคร?

เราทราบดีว่า คำว่า "มุสตัฎอัฟ" «مستضعف» มาจากรากศัพท์ว่า “เฎาะอ์ฟุน” «ضعف» (ความอ่อนแอ) แต่เนื่องจากถูกนำมาใช้ใน « باب الاستفعال » (หมวดตัวเทียบทางภาษา “อิสติฟอ้าล”) จึงมีความหมายว่า “ผู้ที่ถูกทำให้อ่อนแอ” และถูกกีดกันและถูกบีบบังคับ

ในอีกนัยหนึ่ง "มุสตัฎอัฟ" (ผู้ถูกกดขี่) ไม่ใช่เป็นผู้ที่อ่อนแอที่ไร้พละกำลังและไม่มีศักยภาพแต่อย่างใด ทว่า "มุสตัฎอัฟ" (ผู้ถูกกดขี่) นั้นเป็นผู้ที่มีความสามารถและศักยภาพทั้งปัจจุบันและอนาคต แต่เนื่องจากพวกเขาตกอยู่ภายใต้การกดดันและการบีบคั้นอย่างรุนแรงจากบรรดาผู้อธรรมและทรราช แต่กระนั้นก็ตาม พวกเขาจะไม่อยู่นิ่งเฉยและจะไม่ยอมจำนนต่อพันธนาการและโซ่ตรวนที่พวกเหล่านั้นใช้มัดมือมัดเท้าของพวกเขาไว้ ตลอดเวลาพวกเขาจะพยายามทำลายพันธนาการและโซ่ตรวนต่างๆ และปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ พวกเขาจะพยายามตัดมือของพวกทรราชและผู้กดขี่ สถาปนาแนวทางอันเป็นสัจธรรมและมีความยุติธรรมขึ้นมา

พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาแก่กลุ่มชนดังกล่าวนี้ว่า พระองค์จะทรงช่วยเหลือพวกเขาและจะทรงมอบอำนาจการปกครองในแผ่นดินแก่พวกเขา ไม่ใช่กลุ่มชนที่ไร้มือไร้เท้าและขลาดกลัว ที่ไม่กล้าแม้แต่จะตระโกนกู่ก้องออกมา นับประสาอะไรกับการที่จะออกมาต่อสู้ในสนามและยอมพลีชีวิตของตนเองในหนทางนี้

วงศ์วานของอิสราเอลก็เช่นเดียวกัน ในวันนั้นที่พวกเขาสามารถยึดเอาอำนาจการปกครองของหมู่ชนแห่งฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) มาเป็นของตนเองได้ ก็เนื่องจากพวกเขาได้เข้ามารายล้อมอยู่รอบผู้นำของพวกเขา คือท่านศาสดามูซาหรือโมเสส (อ.) พวกเขาระดมกองกำลังของตนและรวมกำลังกันเป็นหนึ่งเดียว ความศรัทธา (อีหม่าน) ที่หลงเหลืออยู่ที่พวกเขารับมรดกมาจากบรรพบุรุษของตนเอง คือศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้ถูกเติมเต็มและถูกทำให้สมบูรณ์ขึ้นโดยการประกาศเชิญชวนของท่านศาสดามูซา (อ.) ความเชื่อต่างๆ ที่งมงายถูกขจัดออกไปจากความคิดของพวกเขา และทำให้เขาเกิดความพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้

อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอัฟ) นั้นมีหลายประเภทและหลายจำพวก คือ : ผู้ถูกกดขี่ทางความคิดและวัฒนธรรม ผู้ถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ผู้ถูกกดขี่ทางศีลธรรม ผู้ถูกกดขี่และกีดกันทางด้านการเมือง สิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานจะเน้นย้ำเป็นอย่างมากนั่นก็คือ ผู้ถูกกดขี่และถูกลิดรอนทางการเมืองและศีลธรรม

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดาทรราชผู้มีอำนาจกดขี่ (มุสตักบิรีน) นั้น เพื่อที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับรากฐานต่างๆ ของนโยบายทรราชของเขา ก่อนอื่นใดพวกเขาพยายามที่จะสร้างความอ่อนแอทางแนวความคิดและวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเขา ต่อจากนั้นพวกเขาจะสร้างความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้มีพลังอำนาจและศักยภาพใดๆ สำหรับหมู่ชนเหล่านั้นอีกต่อไป ความคิดที่จะยืนหยัดต่อสู้และยึดอำนาจการปกครองกลับมาเป็นของตนจะไม่เกิดขึ้นในสมองของบุคคลเหล่านั้น

คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) ไว้ในห้ากรณี โดยที่ในทุกกรณีจะพูดถึงผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่ตกอยู่ภายใต้การกดดันและการบีบคั้นของพวกทรราชผู้กดขี่ ในกรณีหนึ่งคัมภีร์อัลกุรอานเรียกร้องเชิญชวนผู้ศรัทธาให้ทำการต่อสู้และญิฮาดในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า การช่วยเหลือผู้อ่อนแอผู้ถูกกดขี่ที่มีศรัทธา โดยกล่าวว่า

وَمَا لَكُمْ لاَ تُقَاتِلُونَ فِي سَبِيلِ اللّهِ وَالْمُسْتَضْعَفِينَ مِنَ الرِّجَالِ وَالنِّسَاء وَالْوِلْدَانِ الَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا أَخْرِجْنَا مِنْ هَـذِهِ الْقَرْيَةِ الظَّالِمِ أَهْلُهَا وَاجْعَل لَّنَا مِن لَّدُنكَ وَلِيًّا وَاجْعَل لَّنَا مِن لَّدُنكَ نَصِيرًا

“และมีเหตุอันใดเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ ที่พวกเจ้าไม่ต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ และ (ในหนทางของ) บรรดาผู้ถูกกดขี่ (ผู้ที่ถูกทำให้อ่อนแอ) ทั้งชายและหญิงและเด็กๆ ซึ่งพวกเขาต่างพากันกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา! โปรดนำพวกเราออกไปจากเมือง (มักกะฮ์) นี้ ซึ่งชาวเมืองเป็นผู้อธรรม และโปรดทำให้พวกเรามีผู้คุ้มครองคนหนึ่งจากพระองค์ และโปรดทำให้พวกเรามีผู้ช่วยเหลือคนหนึ่งจากพระองค์ด้วยเถิด” (ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/อายะฮ์ที่ 75)

มีเพียงกรณีเดียวที่คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงบุคคลที่เป็นผู้อธรรมและให้ความร่วมมือกับผู้ปฏิเสธ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขากลับอ้างว่าตนเองคือผู้อ่อนแอผู้ถูกกดขี่ คัมภีร์อัลกุรอานปฏิเสธคำกล่าวอ้างของพวกเขา โดยกล่าวว่า

إِنَّ الَّذينَ تَوَفَّاهُمُ الْمَلائِکَةُ ظالِمي أَنْفُسِهِمْ قالُوا فيمَ کُنْتُمْ قالُوا کُنَّا مُسْتَضْعَفينَ فِي الْأَرْضِ قالُوا أَ لَمْ تَکُنْ أَرْضُ اللَّهِ واسِعَةً فَتُهاجِرُوا فيها فَأُولئِکَ مَأْواهُمْ جَهَنَّمُ وَ ساءَتْ مَصيراً

“แท้จริงบรรดาผู้ที่มลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ได้เอาชีวิตของพวกเขาไป โดยที่พวกเขาเป็นผู้อธรรมต่อตัวของพวกเขาเองนั้น มลาอิกะฮ์จะกล่าว (กับพวกเขา) ว่า พวกเจ้าอยู่ในสภาพเช่นใด พวกเขากล่าวว่า พวกเราเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ในแผ่นดิน มลาอิกะฮ์จะกล่าวว่า แผ่นดินของอัลลอฮ์ไม่กว้างขวางพอที่พวกเจ้าจะอพยพไปดอกหรือ พวกเหล่านั้น ที่พำนักของพวกเขาคือนรกญะฮันนัม และเป็นที่กลับคืนอันชั่วร้ายยิ่ง” (ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/อายะฮ์ที่ 97)

แต่อย่างไรก็ตาม คัมภีร์อัลกุรอานยืนหยัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและให้การปกป้องผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) ในทุกที่ กล่าวถึงพวกเขาด้วยความดีงาม และถือว่าพวกเขาคือผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่ตกอยู่ภายใต้การบีบคั้นและการกดขี่ พวกเขาคือผู้ศรัทธาที่เป็นนักต่อสู้ (มุญาฮิด) และมีความอุตสาห์พยายาม และเป็นผู้ที่จะได้รับความกรุณาจากพระผู้เป็นเจ้า

3. วิธีการทั่วไปของมหาอำนาจผู้กดขี่ในตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์

ไม่เพียงแต่ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) เท่านั้น ที่เพื่อจะทำให้วงศ์วานของอิสราเอลตกเป็นทาสของเขา พวกเขาจะสังหารบรรดาบุรุษของหมู่ชนนั้น และปล่อยให้สตรีมีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้บริการพวกเขา แต่เราจะพบว่าตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้น ทรราชจอมเผด็จการทั้งหมดจะมีพฤติกรรมเช่นนี้ พวกเขาจะใช้ทุกวิธีการที่จะทำลายและปราบปรามกลุ่มกำลังต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านพวกเขา ที่ใดก็ตามที่พวกเขาไม่สามารถสังหารบรรดาบุรุษได้ พวกเขาก็จะฆ่า (และทำลาย) ความเป็นสุภาพบุรุษ ด้วยกับการแพร่ขยายสิ่งต่างๆ ที่ชั่วร้าย ยาเสพติด ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม ความไร้ขอบเขตจำกัดทางเพศสัมพันธ์ การแพร่ขยายเครื่องดื่มมึนเมา การพนัน สิ่งมอมเมาและความบันเทิงต่างๆ  ที่จะทำลายจิตวิญญาณความกล้าหาญ ความเป็นนักต่อสู้และความศรัทธามั่นให้หมดไปจากบุคคลเหล่านั้น เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้อำนาจการปกครองที่เป็นเผด็จการของพวกเขาต่อไปได้อย่างง่ายดาย

แต่บรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้พยายามที่จะปลุกพลังอำนาจต่างๆ ที่ถูกกดอยู่ด้านในของเยาวชนให้ตื่นขึ้นและปลดปล่อยมันให้เป็นอิสระ แม้แต่สตรี บรรดาศาสดาจะสอนบทเรียนแห่งความเป็นสุภาพชนและเสรีชนให้แก่พวกเธอ เพื่อให้พวกเธอยืนหยัดขึ้นเคียงข้างบุรุษในการเผชิญหน้าและต่อสู้กับบรรดามหาอำนาจผู้กดขี่ (มุสตักบิรีน)

 http://www.sahibzaman.com

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความเห็น