เมื่อลูกไม่กินข้าว
เมื่อลูกไม่กินข้าว
“คุณหมอคะ ลูกไม่ค่อยกินข้าว จะทำอย่างไรดีคะ กลุ้มใจจัง”
ปัญหา “ลูกไม่กินข้าว” เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัย 1-7 ปี เชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนจะต้องเคยพบปัญหานี้แน่นอน เพียงแต่ระยะเวลา ความยาวนานของปัญหา และความรุนแรงอาจต่างกันไป
จากการศึกษาของ พบว่า แม่ที่มีลูกวัย 1-3 ปี รายงานว่า ลูกมีปัญหาการกินร้อยละ 35.3 ส่วนวัย 3-5 ปี มีปัญหาร้อยละ 40.6 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ ที่พบว่า ปัญหาการกินของเด็กช่วงอายุ 4 ปี มีถึงร้อยละ 42
ทำไมลูกไม่กินข้าว
สาเหตุ หลักของการที่ลูกไม่กินข้าวนั้น เริ่มต้นจาก “ความวิตกกังวลมากเกินไปของผู้ปกครอง ว่า ลูกอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ” ซึ่งความวิตกกังวลนี้เกิดจาก “ความไม่รู้หรือเข้าใจผิด” เป็นเหตุสำคัญ อันนำมาสู่การแก้ไขที่ผิดๆ ส่งผลให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
ความไม่รู้หรือเข้าใจผิดของผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องกินและน้ำหนักตัวของลูก ได้แก่
1.เข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วน (จนเกินเกณฑ์น้ำหนักปกติ) เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามยัดเยียดเรื่องกิน มากขึ้น
2.เข้าใจผิดว่า ลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กอ้วนในบ้านเราอยู่ถึงร้อยละ 15-20
3.ไม่รู้ว่าเด็กหลังอายุ 1 ขวบ จะสนใจการกินน้อยลง ธรรมชาติเด็กอายุขวบปีแรกจะกินเก่งเพราะเป็นช่วงที่เติบโตเร็ว เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 3 เท่าตัว คือ น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3 กิโลกรัม จะเพิ่มเป็น 9 กิโลกรัม เมื่ออายุ 1 ขวบ จึงมีความต้องการสารอาหารมากตามธรรมชาติและหิวบ่อย กินเก่ง แต่เมื่ออายุ 1 ปี จนถึง 10 ปี จะมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น ร่างกายต้องการสารอาหารน้อยลงเมื่อเทียบกับปีแรกเด็กจึงมีความกระตือรือร้น เรื่องกินลดลง
4.ไม่รู้ว่าลูกควรกินอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน ปริมาณอาหารที่พ่อแม่คาดหวังว่าลูกควรจะกินมักจะมากเกินความจริง จากการศึกษาวิจัย พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะตักอาหารให้ลูกปริมาณมากกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการจริงๆ เมื่อเด็กกินไม่หมด ทำให้พ่อแม่กังวลและพยายามยัดเยียด
5.ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวัน เด็กคนเดียวกันความต้องการอาหารแต่ละวันไม่เหมือนกัน บางวันเด็กอาจกินมาก บางวันอาจกินน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น กิจกรรมที่ใช้พลังงานในวันนั้น สภาพทางอารมณ์จิตใจ แม้แต่สภาพอากาศก็มีผลต่อการเจริญอาหารของเด็กในแต่ละวัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่อาจมีบางมื้อที่รู้สึกไม่หิว ไม่อยากกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่นไข้หวัด ก็อาจทำให้เบื่ออาหารไปชั่วคราวได้
6.ไม่รู้ว่าความต้องการปริมาณอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้ว่าจะน้ำหนักเท่ากันแต่เด็กแต่ละคนอาจกินอาหารมากน้อยต่างกันได้มาก ซึ่งขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม อัตราการเผาผลาญของร่างกาย ฯลฯ ของเด็กแต่ละคน
และเมื่อเกิดความกังวลว่าลูกได้สารอาหารน้อยเกินไป ผู้ปกครองจะพยายามหาวิธีแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้วิธีที่ผิด คือ ใช้การดุว่า บังคับ ลงโทษ ใช้การให้รางวัลหรือหลอกล่อให้เพลิดเพลิน หรือใช้กินเพิ่มเติมระหว่างมื้ออาหาร จะเห็นได้ว่า การพยายามแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กมีทัศนคติในแง่ลบต่อการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร จึงเกิดพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น ทำท่าทางไม่อยากกิน ปฏิเสธ กินน้อย ต่อรอง กินช้า อมข้าว บ้วนอาหาร กินไปเล่นไป แม้แต่อาเจียน ซึ่งยิ่งทำให้พ่อแม่เครียดและกังวลมากขึ้น เท่ากับเพิ่มปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น
แนวทางแก้ไขและป้องกัน
โดยธรรมชาติแล้ว เด็กไม่ควรมีปัญหากินยาก หรือปฏิเสธการกิน เพราะร่างกายเด็กทุกคนต้องการสารอาหาร เพื่อใช้สร้างพลังงานและเจริญเติบโตในแต่ละวัน โดยร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะกินอาหาร คือ เมื่อร่างกายต้องการอาหารเพิ่มเติม ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลง สัญญาณนี้จะกระตุ้นไปยัง “ศูนย์ควบคุมความหิว-อิ่ม” ที่อยู่ในสมอง ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กรู้สึก “หิว” น้ำย่อยหลั่ง ลำไส้บีบ เคลื่อนไหวมากขึ้น ท้องร้อง เกิดความอยากอาหารมากขึ้น เห็นอะไรก็อยากกิน จะสังเกตได้ว่าในขณะที่หิวมากๆ กินอะไรก็รู้สึกอร่อยไปหมด ทั้งยังกินได้มากและเร็วอีกด้วย
นอกจากระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ทัศนคติต่อการกินและอารมณ์ในขณะนั้น ก็มีผลต่อการเจริญอาหารด้วยเช่นกัน เช่น บางครั้งเราอาจยังไม่ค่อยหิวนักแต่เมื่อถึงเวลาอาหาร เรารู้ว่าหากไม่กินอาหารตามเวลา อาจทำให้เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ หรือถ้าปล่อยให้เลยเวลาไปมากจะหิวมากทรมาน ก็ทำให้เรายินดีจะกินเวลานั้น หรือเมื่ออารมณ์ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์โกรธ เศร้า สามารถทำให้ความอยากอาหารหายไปชั่วคราวได้เช่นกัน
ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้กินข้าว
เรามาเรียนรู้การป้องกันและแก้ไขที่ถูกวิธีกันนะครับ
1.หากพ่อแม่เช็คตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง (ซึ่งจะมีในสมุดบันทึกวัคซีนของลูก) แล้วยังอยู่ในช่วงปกติ ให้เตือนตนเองเสมอว่าอาหารที่ลูกได้อยู่ปัจจุบันนี้เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะมีญาติผู้ใหญ่หรือคนอื่นทักก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กอ้วนในสังคมไทยจำนวนมากสูงถึง 15-20% ซึ่งเด็กที่น้ำหนักเกินจะมีส่วนสูงมากกว่าวัยด้วย (แต่ก็จะหยุดสูงเร็วด้วย) ทำให้เด็กในวัยเดียวกันที่น้ำหนัก ส่วนสูงปกติ ถูกเปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่าเป็นเด็กผอมหรือตัวเล็กไป
2.ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้เด็กกินมากขึ้น เช่น การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น
3.ให้เด็กรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหารโดยงดอาหารหรือขนมจุกจิกระหว่าง มื้อ ไม่ว่าจะเป็นขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ไอศกรีม ลูกอม ฯลฯ หากจะให้ ควรให้หลังอาหาร หากเด็กกินได้เหมาะสม
4.ไม่ให้นมมากเกินไป เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรกินข้าวเป็นอาหารหลัก วันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 3-4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ร่างกายไม่ต้องการนมหลังจากหลับไปแล้วจนถึงเช้า จึงไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมากินนม เพราะเด็กวัยนี้สามารถกินนมก่อนนอนแล้วอยู่ได้ถึงเช้า หากให้กินกลางดึกจะกลายเป็นความเคยชินและทำให้เด็กเบื่ออาหารเช้าเพราะยัง อิ่มนม หลังอายุ 1 ปี ควรเลิกขวดนม ดังนั้นจึงให้เด็กเริ่มฝึกดูดจากหลอดหรือดื่มจากแก้วแทนตั้งแต่อายุ 10 เดือน
5.ฝึกให้กินอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรกินพร้อม ๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้เด็ก
6.ขณะมื้ออาหารไม่ดูทีวี หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจเรื่องกิน ทำให้กินช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่ยังกินได้น้อย
7.ให้นั่งกินอาหารบนเก้าอี้จนเสร็จจึงจะให้ลง ไม่เดินตามป้อน
8.ทำบรรยากาศขณะมื้ออาหารให้ผ่อนคลาย พูดคุยกันเรื่องอาหาร หรือเรื่องเบาๆ ไม่ควรใช้เป็นเวลาที่จะมาต่อว่า ดุด่าว่ากล่าวกัน
9.เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เรื่องการกินให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อย ๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลงตามลำดับ ในเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ ให้เด็กมีโอกาสถือหรือหยิบอาหารเข้าปากด้วยตัวเองบ้าง แม้จะเลอะเทอะไปบ้างก็ต้องยอม เด็กวัย 4 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถตักอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องป้อน เพียงแต่ให้ความช่วยเหลือบางส่วน
10.สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่เด็กชอบ ปรุงรสชาติให้ถูกปากเพราะเด็กสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์
11.กำหนดระยะเวลามื้ออาหารประมาณ 30-45 นาที เมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้เก็บจาน แม้ว่าจะยังกินไม่หมดหรือกินได้น้อยก็ตาม โดยไม่ต้องแสดงความวิตกกังวลหรือโกรธ แต่ให้งดของหวาน ขนม หรืออาหารว่างต่างๆ ทั้งหมดก่อนจะถึงมื้อถัดไปเพื่อให้เด็กเกิดความหิว ซึ่งจะกระตุ้นให้เจริญอาหารและรับผิดชอบเรื่องการกินว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ได้ดีขึ้น
โดยธรรมชาติแล้วปัญหาเด็กกินยาก ไม่กินข้าว ไม่ควรจะมี ยกเว้นแต่จะมีความพิการ หรือเจ็บป่วยซ่อนเร้นอยู่ ดังจะเห็นว่าเด็กที่อยู่ในสังคมที่อดอยากยากแค้นจะไม่ค่อยพบปัญหาเหล่านี้ เด็กจะแย่งกันกิน ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมที่มีพอกิน หรือเหลือกินอย่างสังคมคนชั้นกลางในปัจจุบัน ซึ่งพ่อแม่มีลูกน้อย และให้ความสำคัญกับเรื่องร่างกาย ความสมบูรณ์มาก เด็กๆ ไม่รู้จักคำว่าหิว ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องกินให้เสียเวลาเล่น ดูทีวี แต่หากผู้ปกครองมีความเข้าใจธรรมชาติการกินของเด็ก มีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างน้ำหนักตัว ลดความวิตกกังวลของตนเองได้ อีกทั้งฝึกฝนสุขลักษณะการกินที่ดีตั้งแต่เล็กก็จะแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ ได้
http://www.พัฒนาการเด็ก.com
แสดงความเห็น