ในทางศาสนาแล้ว สามารถรับสินเชื่อจากธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ได้หรือไม่?

การขอรับสินเชื่อหรือขอกู้ยืมจากธนาคารหรือสหกรณ์ต้องไม่มีการระบุเงื่อนไขว่าจะต้องฝากเงินจำนวนหนึ่งเสียก่อน

คำถาม

กรณีสินเชื่อที่ธนาคารเสนอให้ลูกค้า การรับข้อเสนอดังกล่าวถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่?

คำตอบ

การขอรับสินเชื่อจากธนาคารหรือสหกรณ์ หากไม่นำสู่ธุรกรรมดอกเบี้ยและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างครบถ้วน ก็ถือว่ากระทำได้
ต่อไปนี้คือข้อควรระวังเกี่ยวกับสินเชื่อโดยสังเขป

1. การขอรับสินเชื่อหรือขอกู้ยืมจากธนาคารหรือสหกรณ์ต้องไม่มีการระบุเงื่อนไขว่าจะต้องฝากเงินจำนวนหนึ่งเสียก่อน
อายะตุ้ลลอฮ์ อัลอุซมา คอเมเนอี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า:
หากการชำระเงินแก่กองทุนเป็นไปในลักษณะที่ว่าให้กองทุนกู้ไว้ เพื่อกองทุนดังกล่าวจะตอบแทนด้วยการให้เขากู้ยืมเงินในภายหลัง หรือกรณีที่กองทุนจะให้กู้ยืมโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำฝากเงินจำนวนหนึ่งเสียก่อน เงื่อนไขเหล่านี้ถือเป็นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นโมฆะ ทว่าการกู้ยืมทั้งสองกรณีถือว่าถูกต้อง[1]
อย่างไรก็ดี การกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นสมาชิก หรือจะต้องมีภูมิลำเนาใกล้เคียง หรือเงื่อนไขอื่นๆที่จำกัดสิทธิในการยื่นขอกู้เงินนั้น ถือว่าถูกต้อง นอกจากนี้ การสัญญาว่าจะให้สิทธิในการขอรับสินเชื่อเฉพาะผู้ที่จะเปิดบัญชี ถือว่ากระทำได้ แต่หากตั้งเงื่อนไขว่าจะมอบสินเชื่อในอนาคตเฉพาะผู้ที่เปิดบัญชีและวางเงินจำนวนหนึ่งเสียก่อน เงื่อนไขประเภทนี้เข้าข่ายผลประโยชน์เชิงนิติกรรมในการกู้ยืม ซึ่งเป็นโมฆะ[2]

2. จะต้องไม่ตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับผลตอบแทนในการให้/รับเงินกู้ของธนาคารหรือสหกรณ์
ฮุก่มของการให้ธนาคารกู้ไม่แตกต่างจากการกู้จากธนาคาร ฉะนั้น หากมีการตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับผลตอบแทนในสัญญาให้กู้ ย่อมถือเป็นการกำหนดดอกเบี้ยอันเป็นธุรกรรมต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นการฝากประจำหรือกระแสรายวันก็ตาม แต่ในกรณีที่เจ้าของเงินมิได้ฝากเงินด้วยเจตนาที่จะได้รับผลกำไรในลักษณะที่หากธนาคารไม่ให้ผลตอบแทน เขาก็ไม่ถือว่าตนมีสิทธิทวงหนี้จากธนาคาร กรณีเช่นนี้สามารถฝากเงินในธนาคารได้[3]

3. การรับสินเชื่อจากธนาคารในลักษณะการลงทุนร่วมกันหรือธุรกรรมประเภทอื่นที่ศาสนาอนุมัติ ถือว่าถูกต้อง
ท่านอายะตุลลอฮ์ อัลอุซมา คอเมเนอี กล่าวไว้ว่า:
การรับสินเชื่อจากธนาคารในลักษณะการลงทุนร่วมกันหรือธุรกรรมประเภทอื่นที่ศาสนาอนุมัตินั้น ไม่จัดอยู่ในประเภทการกู้ยืมหรือการให้ยืม และผลประกอบการที่ธนาคารได้รับก็ไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ย ฉะนั้นจึงสามารถรับเงินจากธนาคารเพื่อซื้อ เช่า หรือสร้างบ้านได้ ส่วนกรณีที่เป็นการกู้ยืมและธนาคารได้ตั้งเงื่อนไขว่าต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย แม้การจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งต้องห้ามก็ตาม แต่ตัวของการกู้ยืมถือว่าถูกต้องแล้วสำหรับผู้กู้ยืม และสามารถใช้เงินที่กู้มาได้[4]

สรุปคือ สินเชื่อที่รับจากธนาคาร ซึ่งต้องจ่ายคืนมากกว่าเงินต้นนั้น จะถือว่าถูกต้องตามหลักศาสนาก็ต่อเมื่อเข้าข่ายธุรกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งที่อิสลามอนุมัติ และไม่เป็นธุรกรรมดอกเบี้ยเท่านั้น[5]

อนึ่ง ขอกล่าวทิ้งท้ายว่าหากไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำสิ่งต้องห้าม(กู้พร้อมดอกเบี้ย) ก็ถือว่าอนุโลม
ท่านอายะตุลลอฮ์ อัลอุซมา คอเมเนอี กล่าวไว้ว่า:
การจ่ายดอกเบี้ยถือเป็นสิ่งต้องห้าม กล่าวคือ การกู้เงินจากธนาคารโดยรับเงื่อนไขว่าจะจ่ายมากกว่าเงินต้น ถือว่าฮะรอม นอกจากจะมีความจำเป็นในลักษณะที่ศาสนาอนุโลมให้ได้ แต่ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ หากต้องการหลีกเลี่ยงการทำสิ่งฮะรอมก็ไม่ควรตั้งเจตนาว่าจะจ่ายเพิ่มจากเงินต้น ถึงแม้จะรู้ว่าทางธนาคารจะต้องเก็บเงินส่วนเกินอย่างแน่นอน[6]

...ทางเรายินดีตอบคำถามและให้รายละเอียดแก่ผู้ที่สนใจทุกท่านเสมอ

 

[1] ประมวลปัญหาศาสนาของอิมามโคมัยนี(พร้อมภาคผนวก),เล่ม 2,หน้า 405,คำถามที่1786

[2] อัจวิบะฮ์ อัลอิสติฟตาอ้าต(ฟารซี), หน้า 423, คำถามที่ 1787

[3] ประมวลปัญหาศาสนาของอิมามโคมัยนี(พร้อมภาคผนวก),เล่ม2,หน้า 907,ผนวกทัศนะอายะตุลลอฮ์บะฮ์ญัต

[4] อ้างแล้ว,เล่ม 2, อะห์กามธนาคาร,หน้า 935 ทัศนะผู้นำสูงสุด

[5] อ้างแล้ว,เล่ม 2,หน้า 915  ผนวกทัศนะอายะตุลลอฮ์มะการิม ชีรอซี

[6] ประมวลปัญหาศาสนาบรรดามัรญะอ์,เล่ม 2,หน้า 935,สรุปเนื้อหาคำถามที่ 608

ที่มา http://www.islamquest.net

แสดงความเห็น