พระผู้เป็นเจ้า คือ ผู้ทรงยุติธรรม
พระผู้เป็นเจ้า(อัลลอฮ์) คือ
ผู้ทรงยุติธรรม (อัล อาดิล)
เราได้กล่าวไปแล้วว่า ผู้ทรงสร้างโลกนั้นจำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะของความสมบูรณ์ทุกๆ ประการ และจะต้องสะอาดบริสุทธิ์จากข้อตำหนิและข้อบกพร่องทั้งมวล
และคุณลักษณะของความสมบูรณ์อีกประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าก็คือ คุณลักษณะแห่งความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ด้วยเหตุที่ว่าความอยุติธรรมหรือการไร้ซึ่งความเป็นธรรมนั้น จะปรากฏขึ้นจากบุคลคลหนึ่งๆ บางทีอาจเนื่องมาจากว่า เขาไม่มีความรอบรู้ถึงความน่ารังเกียจของมัน หรือบางทีเนื่องจากตัวเขาเองเป็นผู้ที่มีความต้องการทางปัจจัย และเพื่อที่จะขจัดความต้องการของตนเองให้หมดไป เขาจึงก่อการอยุติธรรมและการกดขี่ขึ้นมา
ตัวอย่างเช่น : บุคคลผู้หนึ่งได้แย่งชิงทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ด้วยการใช้กำลังและการบังคับ อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ถึงความน่ารังเกียจของการกระทำเช่นนั้น หรืออาจเป็นเพราะว่าเขาเป็นผู้ที่มีความต้องการ และเพื่อที่จะขจัดปัดเป่าความต้องการของตนเองให้หมดไป เขาจึงยื่นมือไปสู่การกระทำดังกล่าว หรือไม่ก็อาจเป็นไปได้อีกเช่นกันว่าเขาปรารถนาที่จะเพิ่มพูนทรัพย์สินให้มากขึ้น โดยถือว่าการมีทรัพย์สินน้อยนั้นเป็นความบกพร่องและเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ
ทว่าสำหรับพระผู้ อภิบาลแห่งโลก พระองค์คือผู้ซึ่งปราศจากความต้องการอย่างแท้จริง พระองค์ทรงเป็นต้นกำเนิดของความสมบูรณ์ทั้งมวล และด้วยกับความรอบรู้อันไร้ขอบเขตจำกัดของพระองค์ พระองค์ทรงรอบรู้เป็นอย่างดีถึงความดีงามและความน่ารังเกียจขิงทุกๆ สรรพสิ่ง
เรามักจะอ่านพบอยู่เสมอในบทขอพร(ดุอาร์)บทหนึ่งว่า
“แท้จริงแล้วผู้ที่มีความต้องการยังความอธรรม (และการกดขี่) นั้น คือผู้ที่มีแต่ความอ่อนแอ และโดยแน่นนอนยิ่ง พระองค์นั้นทรงสูงส่งยิ่งนักจากสิ่ง (น่าตำหนิ) ดังกล่าว”)
ข้อควรพิจารณา
การที่บรรดาชีอะฮ์ได้กำหนดให้ “ความยุติธรรม” (อัดลิ์) เป็นรากฐานประการที่สองของ “อูศูลุดดีน” และ “อูศูลุลมัศฮับ” นั้น ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งจากพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ไม่ยอมรับ “ความยุติธรรม” ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะกล่าวอ้างว่า : ถ้าหากพระเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะนำบ่าวผู้ภักดีและเป็นผู้มีคุณธรรมของพระองค์เข้าสู่ไฟนรก การกระทำดังกล่าวของพระองค์ก็ไม่ใช่ความอธรรม แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกนับว่าเป็นความอธรรมก็ตาม แต่เมื่อมันได้เกิดขึ้นจากพระเจ้าผู้ทรงสูงส่ง มันก็มิใช่สิ่งที่น่ารังเกียจแต่ประการใด)
ทำนองเดียวกัน ในประเด็นที่เกี่ยวกับ “ญับร์” (การถูกบังคับ) และ “อิคติยาร” (การมีอิสระในการเลือก) พวกเขาได้กล่าวอ่างสิ่งต่างๆออกมา ซึ่งผลติดตามมาของคำกล่าวอ้างนั้นก็คือ
“การยอมรับถึงการเป็นผู้อธรรมของพระเจ้าผู้ทรงสูงส่ง” )
จากเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เพื่อเป็นการตอบโต้บุคคลเหล่านั้น บรรดามุสลิมชีอะฮ์และพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์อีกกลุ่มหนึ่ง ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณลักษณะแห่งความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยหลักฐานและข้อพิสูจน์ต่างๆ ที่ชัดแจ้ง และพวกเขาได้กล่าวว่า
“ไม่เป็นที่สงสัยใดๆ เลยว่า ความอยุติธรรมและการกดขี่นั้นเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ มาตรว่ามันจะเกิดขึ้นมาจากพระผู้เป็นเจ้ามันก็ยังเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและน่าตำหนิอยู่นั่นเอง และเราทุกคนต่างรอบรู้เป็นอย่างดีว่าพระผู้เป็นเจ้านั้นจะไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่นารังเกียจอย่างเด็ดขาด”
จากจุดนี้เอง “ความยุติธรรม” (อัดลิ์) จึงถูกพิจารณาเป็นรากฐานประการที่สองแห่ง “อูศูลุลมัศฮับของชีอะฮ์” เพื่อจะได้เป็นข้อจำแนกระหว่างมุสลิมชีอะฮ์และบุคคลบางกลุ่มจากพี่น้องมุสลิมอะฮ์ลิซซุนนะฮ์(ซูนนี)
ท่านอิมามซอดิก ได้กล่าวว่า
“พระเจ้าจะไม่ทรงเอาผิดผู้บริสุทธิ์เป็นการทดแทนจากผู้ก่อกรรมชั่วและพระองค์จะไม่ทรงลงโทษบรรดาเด็กๆ เนื่องจากความผิดบาปของพ่อแม่....แต่เป็นสิทธิสำหรับพระองค์ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกร ที่จะทรงอภัยโทษ และทรงให้ความเหนือกว่า (แก่บุคคลใดๆ) และมิใช่สิ่งที่คู่ควรสำหรับพระองค์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกรที่จะทรงกระทำการอยุติธรรม....”)
หมายเหตุ
.มิศบาฮุลมุตะฮัจญิด หน้า 188
(พี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ที่ดำเนินตามแนวทางของ “อัชอะรีย์” มีความเชื่อว่า : สติปัญญามิใช่ตัวกำหนดถึงความดีงามและความน่ารังเกียจของสิ่งใดๆทั้งสิ้น แต่ทว่าบทบัญญัติทางศาสนาต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใด หรือพฤติกรรมใดเป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
แต่สำหรับพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่อยู่ในแนวทาง “มั๊วะอ์ตะซิละฮ์” และ “ชีอะฮ์อิมามิยะฮ์” มีความเชื่อที่ตรงกันข้ามกับ “อะชาอิเราะฮ์” กล่าวคือ พวกเขามีความเชื่อว่า : สติปัญญาของมนุษย์สามารถตัดสินถึงความดีงามและความน่ารังเกียจของสิ่งต่างๆ และพฤติกรรมทั้งหลายได้ สิ่งต่างๆ และพฤติกรรมต่างๆ นั้น มีความดีงามและความน่ารังเกียจอยู่ในตัวของมันเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติทางศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งใดหรือพฤติกรรมใดก็ตามที่สติปัญญาบริสุทธิ์ของมนุษย์ตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ดี บทบัญญัติทางศาสนาก็จะตัดสินสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ในทำนองเดียวกัน สิ่งใดหรือพฤติกรรมใดที่สติปัญญาตัดสินว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ บทบัญญัติทางศาสนาก็จะตัดสินว่าสิ่งนั้นเป็นที่น่ารังเกียจด้วย
อย่างไรก็ตาม ทัศนะที่สองนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยเหตุผลซึ่งผู้เขียนได้กล่าวอ้างในบทที่ 7 นี้ และเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ มนุษย์ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ที่มีศาสนาหรือเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา พวกเขาต่างก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ความอธรรมและการกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่น่ารังเกียจ ความยุติธรรมและการปกป้องสิทธิของบุคคลอื่น คือ สิ่งที่ดีงามและน่าสรรเสริญยกย่อง ฯลฯ หากความดีงามและความน่ารังเกียจของสิ่งต่างๆ หรือพฤติกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยบทบัญญัติทางศาสนาจริง และสติปัญญาของมนุษย์ไม่มีอำนาจใดๆ จะตัดสิน หรือกำหนดสิ่งเหล่านั้นได้ ความรู้สึกของผู้ที่มีศาสนากับผู้ที่ปฏิเสธศาสนาก็จะต้องแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริงแล้วมันมิได้เป็นเช่นนั้น
“ญับร์” และ “อิคติยาร” (การถูกบังคับและการมีอิสระในการเลือก) คือทัศนะความเชื่อที่มีการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มชน 2 กลุ่ม ในเรื่องที่ว่าทุกๆการกระทำที่เกิดขึ้นจากมนุษย์นั้น มนุษย์มีอิสระในการเลือกหรือมนุษย์ไม่มีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทว่าการตัดสินใจและการกระทำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งชั่วร้าย ล้วนเกิดขึ้นโดยตรงจากความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยที่มนุษย์ไม่มีสิทธิ์เลือกได้เลย ? ทัศนะความเชื่อประการหลังที่ว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิ์เลือกนั้น ถูกเรียกว่า “ญับร์” (การถูกบังคับ) กลุ่มชนที่มีทัศนะความเชื่อดังกล่าวเราเรียกว่า “ญับรียูน” ซึ่งได้แก่พี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่ยึดมั่นตามแนวทาง “อัชอะรีย์” ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มชนดังกล่าวจึงไม่ยอมรับหลักการที่ว่าด้วย “ความยุติธรรม” ของพระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าประเด็นทั้งสอง (คือญับร์และอัดลิ์) นั้นเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ พวกเขาจะกล่าวว่าการกระทำใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้าก็คือความยุติธรรมนั่นเอง (ตัวอย่างเช่น หากอัลลอฮ์จะเอาคนดีลงนรกและเอาคนชั่วเข้าสวรรค์ก็เป็นสิทธิของพระองค์)
ส่วนทัศนะความเชื่อประการแรกที่ว่า มนุษย์นั้นมีอิสระในการเลือกปฏิบัติสิ่งใดๆ ได้นั้น ถูกเรียกว่า “อิคติยาร” กลุ่มชนที่ยอมรับในเรื่องของอิคติยารนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นมีอิสระอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด โดยที่อัลลอฮ์ได้มอบหมายอำนาจทุกอย่างให้แก่เขา และในการกระทำทั้งมวลของมนุษย์นั้นได้แยกออกจากความประสงค์ (อิรอดะฮ์) ของพระองค์โดยสิ้นเชิง แนวความคิดนี้เรียกว่า “ตัฟวีฎ” (การมอบอำนาจให้อย่างหมดสิ้น) กลุ่มที่มีทัศนะความเชื่อเช่นนี้ก็คือ พี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่อยู่ในแนวทาง “มั๊วะอ์ตะซิละฮ์”
กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์มีอิสรเสรีในการเลือกกระทำสิ่งใดๆ แต่ทว่าอิสรเสรีของมนุษย์นั้นมีขอบเขตจำกัด ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแนวความเชื่อที่สุดโต่งทั้งสองทางคือ “ญับร์” และ “ตัฟวีฎ” กลุ่มที่มีความเชื่อเช่นนี้ได้แก่มุสลิมชาว “ชีอะฮ์อิมามียะฮ์” นั่นเอง ทัศนะอันเป็นสายกลางดังกล่าวนี้ได้รับมาจากคำพูดอันเป็นที่เลื่องลือของท่านอิมามผู้บริสุทธิ์ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า
“มิใช่การบังคับ และมิใช่การมอบหมายอำนาจให้อย่างหมดสิ้น แต่ทว่ามันคือกิจการหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างสิ่งทั้งสองนั้น”
อัต เตาฮีด เชคศุดูก หน้า 407.
แสดงความเห็น