เฆาะดีรในอัลกุรอาน
เฆาะดีรในอัล-กุรอาน
الْيَوْمَ يَئِسَ الَّذِينَ كَفَرُواْ مِن دِينِكُمْ فَلاَ تَخْشَوْهُمْ وَاخْشَوْنِ الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا
วันนี้บรรดาผู้ปฏิเสธต่างหมดหวังในศาสนาของสูเจ้า ดังนั้น สูเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา แต่จงกลัวฉัน วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าสมบูรณ์แล้วสำหรับสูเจ้า และฉันได้ประทานความโปรดปรานของฉันอย่างครบถ้วนแก่สูเจ้า และฉันได้เลือกอิสลามเป็นศาสนา
ความดึงดูดใจของเฆาะดีร อยู่ที่ความเอื้ออาทร และความรักที่มีอยู่ตลอดหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นความปิติยินดีของคนบางกลุ่ม และเป็นความความข่มขื่นของคนอีกบางกลุ่ม
ขณะที่เฆาะดีร และเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหตุผลสมบูรณ์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางของอะลี (อ.) โดยไม่มีข้อสงสัยหรือความเคลือบแคลงใด ๆ ทั้งสิ้น ดังที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ได้กล่าวแก่พวกอันซอรที่พูดว่า ถ้าพวกเราได้ยินคำพูดเช่นนี้ก่อนที่จะให้บัยอัตกับอบูบักรฺ แน่นอนพวกเราจะไม่ยอมรับว่าอบูบักรฺนั้นดีกว่าท่านอะลีแน่นอน ท่านหญิง (อ.) กล่าวว่า
وهل ترك أبى يوم الغدير خم لاحد عذرًا
การที่บิดาของฉันฝากเหตุการณ์เฆาะดีรคุมไว้ยังมีผู้สงสัยและข้อกล่าวอ้างอีกหรือ[๓]
ขณะเดียวมีโองการจำนวนมากมายที่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าว หมายถึง สนับสนุนวิลายะฮฺของท่านอะลี เช่น โองการที่กล่าวว่า วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าสมบูรณ์แล้วสำหรับสูเจ้า เป็นการแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เฆาะดีรคุม
ดังนั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์สาระของโองการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาคำทุกคำที่กล่าวไว้ในโองการ
ความหมายของคำต่าง ๆ
อัลเยามฺ (اليوم) คำว่าเยามฺถูกใช้ในความหมาย ๔ ประการด้วยกันกล่าวคือ
๑. ใช้ในความหมายของขอบข่ายของเวลา ซึ่งเริ่มตั้งแต่แสงอรุณจับขอบฟ้าไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ดังนั้น เยามฺ ในที่นี้จึงหมายถึงเวลากลางวัน หรือ กลางวันที่ตรงกันข้ามกับกลางคืน ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า
إِذْ تَأْتِيهِمْ حِيتَانُهُمْ يَوْمَ سَبْتِهِمْ شُرَّعاً وَيَوْمَ لاَ يَسْبِتُونَ لاَ تَأْتِيهِمْ
ทั้งนี้ขณะที่บรรดาปลาของพวกเขามายังพวกเขาในวันสับบะโตของพวกเขาในสภาพลอยตัวให้เห็นเหนือผิวน้ำ และวันที่พวกเขาไม่ถือว่าเป็นวันสับบะโตปลาเหล่านั้นหาได้มายังพวกเขาไม่
فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ
และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน
๒. เยามฺใช้ในความหมายว่า ตลอดทั้งวันทั้งคืน (๒๔ ชม.) ดังที่พูดว่านมาซประจำวัน หมายถึงนมาซที่ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน เช่น นมาซเยามียะฮฺ (นมาซวาญิบประจำวัน)
๓. เยามฺใช้ในความหมายว่าตอนบ่าย (عصر) วันที่ยุ่งอยู่กับภารกิจการงาน อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَتِلْكَ الأيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَيْنَ النَّاسِ
และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า กาลเวลามีสองวันสำหรับเจ้า วันหนึ่งให้คุณ และวันหนึ่งให้โทษแก่เจ้า[๗]
الدهر يومان: يوم لك و يوم عليك
๔. เยามฺใช้ในความหมายเกี่ยวกับการสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งหมายถึง วาระ หรือระยะเวลา ดังที่กล่าวว่า ระยะเวลาในการสร้างฟ้าและแผ่นดินคือ ๖ วาระ อัล-กุรอานกล่าวว่า
اللّهُ الَّذِي خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ
อัลลออฮฺคือผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินภายในหกวาระ
هُوَ الَّذِي خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ
พระองค์คือ พระผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินภายใน ๖ วาระ
เกี่ยวกับการสร้างแผ่นดินพระองค์ทรงตรัสว่า
خَلَقَ الْأَرْضَ فِي يَوْمَيْنِ
ทรงสร้างแผ่นดินใน ๒ วาระ[๑๐]
คำว่า เยามฺ ได้ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอานหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ และในบางครั้งจะให้ความหมายคำว่า กิยาม (ยืน) ว่าหมายถึง เยามฺ (ว้น) เพราะว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของระบบจักรวาล อันหมายถึงมิติแห่งการสิ้นสุด
หมายเหตุ การที่กล่าวว่า เยามฺ หมายถึง ระยะเวลา หรือวาระนั้นเป็นเพราะว่า
- เยามฺ ในสามความหมาแรกถูกใช้ในความหมายของ เวลา
- เวลาคือผลที่เกิดจากการเคลื่อนไหวและการหมุนเวียนของจักรวาล ดังนั้นถ้าหากจักรวาลไม่มีการหมุนเวียนหรือโคจรแล้วละก็ คำว่าเวลาจะไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้น
- ก่อนการสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ด้วยเหตุนี้คำว่า เวลาก็ไม่มีความหมายด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เยามฺ ในสามความหมายแรกจึงไม่ใช่จุดประสงค์ตามที่โองการกล่าวถึง
อักษร อลีฟ และ ลาม ที่ปรากฏอยู่ที่คำว่า เยามฺ (อัล-เยามฺ) เป็นอลีฟลาม อัล-อะฮฺดิ หมายถึง เป็นการบ่งชี้ถึงวันที่ถูกกำหนดตายตัว หรือวันที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันอย่างดีระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ คำว่า เยามฺ ที่กำลังกล่าวถึงจึงหมายถึง วันนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับเมื่อวาน หรือวันพรุ่งนี้ อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَكَذَلِكَ الْيَوْمَ تُنسَى
ทำนองเดียวกัน วันนี้เจ้าก็จะถูกลืม[๑๑] (เหมือนที่พวกเจ้าได้ลืมโองการต่าง ๆ ของเรา)
فَهُوَ وَلِيُّهُمُ الْيَوْمَ
ดังนั้น มัน (ชัยฏอน) เป็นผู้คุ้มครองพวกเขาในวันนี้[๑๒]
ท่านซะมัคชะรียฺ นักตัฟซีรใหญ่ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ ได้อ้างคำพูดของคนอื่นว่า คำว่า เยามฺ ที่กำลังกล่าวถึง หมายถึงวันที่เฉพาะเจาะจงที่โองการได้ถูกประทานลงมาในวันนั้น หมายถึง ตอนบ่าย ณ ทุ่งอาเราะฟะฮฺในพิธีฮัจญฺตุลวะดา ซึ่งตรงกับวันศุกร์
ส่วนตัวท่านเชื่อว่า เยามฺ ในที่นี้หมายถึง ช่วงหนึ่งของเวลา หมายถึงการบ่งชี้ถึงวันที่เฉพาะเจาะจง เหมือนกับคำว่า อัลอาน ในที่นี้หมายถึงวันแห่งภารกิจ
แต่ในความเป็นจริงโองการได้บ่งชี้ถึงช่วงเวลาหนึ่งในวันที่มีภารกิจวุ่นวาย ซึ่งการเริ่มต้นของมันแน่นอนตายตัว หมายถึง วันที่ได้ประทานโองการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาตลอดทั้งวัน
อัล-เยามฺ คำที่สองที่โองการได้กล่าวถึง เป็นการให้ความสำคัญต่อวันที่ยิ่งใหญ่จึงไม่มีการกล่าวซ้ำเป็นครั้งที่สอง
ประเภทของการหมดหวัง (يأس)
คำว่า ยะอฺซฺ มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า โลภ และความหวัง ซึ่งหมายถึงการหมดความหวัง ส่วนคำว่า ความหวัง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทกล่าวคือ
๑. การมีความหวังในผลประโยชน์ หรือการได้รับผลประโยชน์จากคนหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เฉกเช่นประชาชาติของท่านศาสดาซอลิฮฺ (อ.) ได้พูดกับท่านว่า ก่อนที่ท่านจะกล่าวอ้างว่า ท่านเป็นศาสดาพวกเราเคยมีความหวังในตัวท่าน ซึ่งท่านหน้าจะสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมของเรามากกว่า เพราะพวกเราเห็นความอัจฉริยะที่แฝงอยู่ในตัวท่าน อัล-กุรอานกล่าวว่า พวกเขากล่าวว่า โอ้ ซอลิฮฺเอ๋ย แน่นอนท่านเคยเป็นความหวังในหมู่พวกเรามาก่อน บัดนี้ ท่านจะห้ามมิให้เราเคารพบูชาสิ่งที่บรรพบุรุษของเราเคารพบูชาอยู่กระนั้นหรือ แท้จริงพวกเราอยู่ในการสงสัยต่อสิ่งที่ท่านเรียกร้องเชิญชวนเรายังสิ่งนั้น
สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความหวังของประชาชาติซอลิฮฺคือ การหมดหวัง (يأس) จากการได้รับผลประโยชน์ หรือผลกำไรบางอย่างจากท่านศาสดาซอลิฮฺ (อ.)
๒. การมีความหวังว่าจะมีอิทธิพลต่อบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำลายสิ่งนั้น สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ การหมดหวังในการมีอิทธิพล ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ขณะที่อัล-กุรอานโองการแรกถูกประทานลงมาให้กับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ณ ถ้ำฮิรออฺ ฉันได้ยินเสียงโอดครวญหนึ่งจึงได้ถามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่านั่นเป็นเสียงอะไร และร้องทำไม ท่่านตอบว่า นั่นเป็นเสียงโอดครวญของซาตานมารร้ายที่หมดหวังจากการอิบาดะฮฺของตน
هذا لشيطان قد أيس من عبادته
เป็นที่แน่ชัดว่าบรรดาผู้ปฏิเสธไม่ได้มีความหวังในประโยชน์หรือผลกำไรอันใดจากอิสลามเพื่อที่ว่า พวกเขาจะได้สิ้นหวังจากทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เมื่อโองการดังกล่าวได้ถูกประทานลงมา ทว่าพวกเขาก็เหมือนกับซาตานมารร้ายที่มีความหวังว่า สักวันหนึ่งพวกเขาต้องมีอิทธิพลเหนือศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามเพื่อว่าในวันนั้นพวกเขาจะได้ทำลายอิสลามให้สิ้นซากลง บรรดาผู้ปฏิเสธเหล่านั้นได้มีความหวังเช่นนั้น และตลอดระยะเวลาพวกเขาได้พยายามฟูมฟักความหวังเพื่อให้มันเติบโต แข็งแรง แต่เมื่อวันนั้นมาถึงความหวังของพวกเขาได้ถูกทำลายลงอย่างหมดสิ้น พวกเขาเข้าใจทันที่ว่า การสร้างอิทธิพลให้เหนืออิสลามได้จบสิ้นแล้ว ความพยายามของพวกเขาเสียเวลาเปล่า
แสดงความเห็น