เหตุผลที่ชีอะฮ์ทำการซูญูดบนดิน
ทำไมชีอะฮ์ต้องซุหยูด (กราบ) ลงบนดิน?!
คำตอบ : มุสลิมบางกลุ่มคาดคิดว่า การซุหยูด (กราบ) บนดิน มีความหมายเท่ากับการกราบไหว้ดิน และเป็นการตั้งภาคี (ชิริก) ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) รูปแบบหนึ่ง
การตอบคำถามในข้อนี้จำเป็นต้องกล่าวว่า ระหว่างประโยคสองประโยคคือ (السجود للّه) “อัซซุยูดุ ลิลลาฮิ” และ (السجود علی الأرض) “อัซซุยูดุ อะลัลอัรฎิ” มีความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน ข้อคัดค้านข้างต้นส่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลกลุ่มดังกล่าวไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความหมายของสำนวนประโยคทั้งสอง
โดยแท้จริงแล้วคำว่า (السجود للّه) หมายถึง “การซุหยูดต่ออัลลอฮ์” ในขณะที่คำว่า (السجود علی الأرض) หมายถึง “การซุหยูดบนดิน” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะซุหยูดต่ออัลลอฮ์โดยการวางศีรษะลงบนดิน โดยทั่วไปแล้วมุสลิมทั่วโลกจะซุหยูดลงบนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในขณะที่การซุหยูดของพวกเขานั้นกระทำไปเพื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ตัวอย่างเช่น บรรดาฮุจญาจจะซุหยูดลงบนแผ่นหินของมัสยิดอัลฮะรอม แต่ในความเป็นจริงแล้วเป้าหมายจาการซุหยูดของพวกเขาคืออัลลอฮ์ (ซบ.)
จากคำอธิบายข้างต้นทำให้ประจักษ์ได้ว่า การซุหยูดบนดิน บนใบไม้ และสิ่งอื่นๆ มิได้หมายถึงการเคารพบูชาสิ่งเหล่านั้น ในทางตรงกันข้าม มันคือการซุหยูดและการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์โดยการวางศีรษะลงบนดิน ซึ่งแสดงออกถึงความนอบน้อมถ่อมตนขั้นสูงสุด และเป็นที่ประจักษ์เช่นเดียวกันว่า “การซุหยูดบนดิน” เป็นคนละสิ่งกับ “การซุหยูดต่อดิน”
จากอีกด้านหนึ่ง คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า
وَلِلّهِ يَسْجُدُ مَن فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ
“และทุกสรรพสิ่งในชั้นฟ้าและแผ่นดินจะทำการซุหยูดต่ออัลลอฮ์” (1)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า
جُعِلَتْ لي الْأَرْضُ مَسْجِدًا وَطَهُورًا
“พื้นดินถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ซุหยูดและเป็นสื่อชำระความสะอาดสำหรับฉัน” (2)
ด้วยเหตุนี้ “การซุหยูดต่ออัลลอฮ์” กับ “การซุหยูดลงบนดิน” จึงมิใช่สิ่งที่ขัดแย้งกันแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม มันคือสิ่งที่สอดคล้องกันโดยสมบูรณ์ เพราะว่าการซุหยูดบนดินนั้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตนขั้นสูงสุดต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเอกะ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนในทัศนะของชีอะฮ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมยิ่งที่เราจะนำเอาคำกล่าวส่วนหนึ่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของเรามากล่าวไว้ ณ ที่นี้
ฮิชาม อิบนิฮะกัม ได้กล่าวว่า : ฉันได้กล่าวกับท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “จงบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด เกี่ยวกับสิ่งที่อนุญาตให้ซุหยูดลงบนมัน และสิ่งที่ไม่อนุญาต” ท่านกล่าวว่า “การซุหยูดนั้นไม่ให้อนุญาตให้กระทำนอกจากบนดิน หรือสิ่งที่งอกเงยมาจากดิน ยกเว้นสิ่งที่นำมารับประทานและสวมใส่” ฉันกล่าวต่อท่านว่า “ฉันขอพลีตนเพื่อท่าน! อะไรคือเหตุผลในสิ่งดังกล่าว” ท่านตอบว่า “เพราะแท้จริงการซุหยูดนั้นคือการแสดงออกซึ่งการนอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกรียติ ผู้ทรงเกรียงไกร ฉะนั้นไม่เป็นการบังควรที่การซุหยูดนั้นจะกระทำบนสิ่งที่ใช้รับประทานและสวมใส่ และผู้ทำการซุหยูดในขณะซุหยูดนั้นเขาอยู่ในการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกรียติ ผู้ทรงเกรียงไกร ฉะนั้นจึงไม่บังควรที่การซุหยูดของเขาจะวางหน้าผากลงบนสิ่งที่ถูกเคารพบูชา (มะอ์บูด) จากบรรดาผู้ที่ลุ่มหลงในดุนยา ซึ่งถูกชักจูงด้วยการล่อลวงของมัน และการซุหยูดบนดินนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ทั้งนี้เพราะมันคือสุดยอดของการนอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกรียติ ผู้ทรงเกรียงไกร” (3)
คำพูดข้างต้นเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่า การซุหยูดบนดินก็เพียงเพื่อเหตุผลเดียวนั้นคือ การกระทำนี้เป็นการกระทำที่คู่ควรสูงสุดและเหมาะสมที่สุดในการแสดงออกซึ่งความนอบน้อมถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเอกะ
ในที่นี้มีคำถามเกิดขึ้นอีกว่า “ทำไมชีอะฮ์จึงจำกัดตนต่อการซุหยูดลงบนดินและพืชบางอย่างเพียงเท่านั้น และทำไมจึงไม่ซุหยูดลงบนสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด?”
คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้ก็คือ รากฐานที่มาของทุกๆ อิบาดะฮ์ จำเป็นต้องมาจากผู้วางกฎข้อบัญญัติแห่งอิสลาม (หมายถึงอัลลอฮ์) ในทำนองเดียวกัน เงื่อนไขต่างๆ และวิธีการปฏิบัติอิบาดะฮ์เหล่านั้นก็จำเป็นต้องผ่านสื่อจากคำพูดและการกระทำของผู้อรรถาธิบาย หมายความว่า ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) จะต้องให้ความกระจ่างและความเข้าใจเกี่ยวกับการอิบาดะฮ์เหล่านั้น เพราะว่าตามข้อกำหนด (ฮุกม์) ของอัลกุรานนั้น ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) คือแบบฉบับและเป็นแบบอย่างสำหรับมวลมนุษย์
เราจะมาอธิบายถึงฮะดีษบางส่วนของอิสลาม ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแบบอย่างและซุนนะฮ์ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) โดยฮะดีษทั้งหมดเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่าท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เองก็ได้ทำการซุหยูดลงบนดินและสิ่งต่างๆ ที่งอกเงยขึ้นมาจากดิน เช่น เสื่อที่ทอมาจากใยไม้ (ฮะศีร) ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่ชีอะฮ์มีความเชื่อมั่น
1. นักรายงานฮะดีษของอิสลามกลุ่มหนึ่งได้บันทึกวจนะของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ต่อไปนี้ไว้ในหนังสือซอเฮียะห์และมุสนัดต่างๆ ของพวกเขา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้แนะนำพื้นดินไว้ในฐานะสถานที่ทำการซุหยูดของท่าน โดยท่านได้กล่าวว่า
جُعِلَتْ لي الْأَرْضُ مَسْجِدًا وَطَهُورًا
“พื้นดินถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ทำการซุหยูดและสื่อชำระความสะอาดสำหรับฉัน” (4)
คำว่า جَعْلٌ (ญะอ์ลุน) ในที่นี้ (جُعِلَتْ) หมายถึง การกำหนดและการวางบทบัญญัติ ซึ่งทำให้ประจักษ์เป็นอย่างดีว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นบทบัญญัติ (ฮุกม์) แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่มีเหนือบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางอิสลาม ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การซุหยูดบนดิน หิน และสิ่งต่างๆ ที่งอกเงยขึ้นมาจากพื้นดินนั้นเป็นบทบัญญัติจากพระผู้เป็นเจ้า
2. ริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนหนึ่งได้บ่งชี้แก่เราว่า ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้สั่งให้มุสลิมวางหน้าผากของเขาลงบนดินในขณะซุหยูด สิ่งนี้ท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์ (ภรรยาของท่านศาสนทูต) ได้รายงานจากท่าน ซึ่งท่านกล่าวว่า
تَرِّبْ وَجْهَكَ لِلَّهِ
“จงวางใบหน้าของท่านลงบนดินเพื่ออัลลอฮ์” (5)
จากคำว่า تَرِّبْ “จงวางลงบนดิน” ในคำกล่าวของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ทำให้รับรู้ได้ในสองประเด็นคือ ประเด็นแรก ในขณะซุหยูด มนุษย์จำเป็นต้องวางหน้าผากของเขาลงบน “ตุรอบ” (หมายถึงดิน) และอีกประเด็นหนึ่งคือ การกระทำดังกล่าวเนื่องจากผลของคำสั่ง คือเป็นคำบัญชาที่จะต้องปฏิบัติตาม เพราะคำว่า تَرِّبْ (ตุรอบ) มาจากรากศัพท์ว่า تُراب (ตุรอบ) ซึ่งให้ความหมายว่า “ดิน” และได้กล่าวถึงในรูปของคำสั่ง (อัมร์)
3. การกระทำของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ถือเป็นประจักษ์พยานยืนยันที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง และถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติสำหรับมวลมุสลิม ซึ่งท่านวาอิล บินฮะญัร ได้กล่าวว่า “ฉันเห็นท่านนบี (ซ็อลฯ) เมื่อท่านทำการซุหยูด ท่านจะวางหน้าผากและจมูกของท่านลงบนพื้นดิน” (6)
ท่านอะนัส บินมาลิก, ท่านอิบนิอับบาส และภรรยาบางคนของท่านศาสดา เช่น ท่านหญิงอาอิชะฮ์, ท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์ และนักรายงานฮะดีษจำนวนมากได้รายงานว่า
کان رسول الله (صلی الله علیه وآله) یصلّی علی الخمرة
“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) มักจะทำการนมาซบนเสื่อที่ทำมาจากใยอินทผลัมเสมอ” (7)
อบูซะอีด (สาวกคนหนึ่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์) กล่าวว่า “ฉันเข้ามาหาท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในขณะที่ท่านกำลังนมาซบนเสื่อที่ทำมาจากพืช” (8)
คำพูดดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งต่อทัศนะของชีอะฮ์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “การซุหยูดบนสิ่งที่งอกเงยมาจากดิน” ในกรณีที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นสิ่งอนุญาต
4. คำพูดและการกระทำของซอฮาบะฮ์และตาบีอีนของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) บ่งชี้ให้เห็นถึงซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้เช่นเดียวกัน
ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อันศอรีย์ ได้กล่าวว่า “ฉันมักจะนมาซศุฮ์ริร่วมกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เสมอ โดยที่ฉันจะกรอบก้อนกรวดมากำมือหนึ่ง เพื่อว่ามันจะได้เย็นเมื่ออยู่ในฝ่ามือของฉัน ฉันจะได้วางมันที่หน้าผากของฉัน ฉันจะซุหยูดลงบนมัน แต่ทั้งนี้เนื่องจากมันร้อนจัด” จากนั้นรายงานได้กล่าวเสริมว่า “หาการซุหยูดบนเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่เป็นที่อนุญาต ย่อมเป็นสิ่งที่ง่ายและสะดวกกว่าการกอบก้อนกรวดขึ้นมาและการถือมันไว้” (9)
ท่านอิบนิซะอ์ดิ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 209) ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัฏฏอบะกอตุล กุบรอ” เช่นนี้ว่า
کان مسروق إذا خرج یخرج بلبنه یسجد علیها فی السّفینة
“มัสรูก บินอัจญ์ดะฮ์ เมื่อเขาออกเดินทาง เขาจะนำเอาดินก้อนสี่เหลี่ยมก้อนหนึ่งไปด้วย เขาจะทำการซุหยูดบนมันในเรือเดินทะเล” (10)
มัสรูก บินอัจญ์ดะฮ์ เป็นตาบิอีนผู้หนึ่งของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และสหายคนหนึ่งของอิบนิมัสอูด เจ้าของหนังสือ “อัฏฏอบะกอตุล กุบรอ” ได้จัดเขาไว้ในกลุ่มบุคคลในระดับแรกๆ จากชาวเมืองกูฟะฮ์ ภายหลังจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และเป็นผู้หนึ่งที่ได้รายงานฮะดีษจากท่านอบูบัรก, อุมัร, อุสมาน, ท่านอะลี (อ.) และอับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอูด
คำกล่าวอันชัดเจนข้างต้น ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้แก่นสารของคำพูดของบรรดาผู้ที่คาดคิดว่า การพกดินหรือการซุหยูดลงบนดินเป็นการตั้งภาคี (ชิริก) และเป็นการอุตริสิ่งใหม่ (บิดอะฮ์) ทำให้เราประจักษ์ได้ว่า บุคคลในยุคแรกของอิสลามก็ได้ปฏิบัติสิ่งนี้เช่นเดียวกัน (11)
นาฟิอ์ ได้กล่าวว่า
إنّ ابن عمر کان إذا سجد و علیه العمامة یرفعها حتّی یضع جبهته بالأرض.
“แท้จริงอิบนิอุมัร เมื่อเขาจะทำการซุหยูดในขณะที่เขาสวมใส่อะมามะฮ์ (ผ้าโพกศีรษะ) เขาจะยกมันขึ้น เพื่อเขาจะวางหน้าผากของเขาลงบนพื้นดิน” (12)
รัซซีน ได้กล่าวว่า : ท่านอะลี บุตรอับดุลลอฮ์ บุตรของอับบาส (รฏ.) ได้เขียนจดหมายถึงฉันว่า “เจ้าจงส่งแผ่นหินเรียบๆ จากมัรวะฮ์ไปให้ฉันสักก้อนหนึ่ง เพื่อฉันจะใช้ในการซุหยูด” (13)
5. อีกด้านหนึ่ง นักรายงานฮะดีษของอิสลาม ได้บันทึกคำรายงานต่างๆ ไว้ ที่แสดงให้เห็นว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ห้ามผู้ที่ในขณะซุหยูดพวกเขาได้ทำให้ริมผ้าโพกศีรษะของเขามาขั้นระหว่างหน้าผากของเขากับพื้นดิน ซอและห์ ซะบาอี เล่าว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เห็นชายผู้หนึ่งซุหยูดอยู่ข้างๆ ท่าน โดยที่ชายผู้นั้นได้ทำให้ผ้าโพกศีรษะปิดหน้าผากของตนเอง ท่านท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงเอาผ้าโพกศีรษะนั้นออกจากหน้าผากของเขา” (14)
อิยาฎ บินอับดุลลอฮ์ กุรอชี เล่าว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เห็นชายผู้หนึ่งกำลังนมาซ โดยที่เขาซุหยูดลงบนชายผ้าโพกศีรษะของตน ท่านได้ชี้ไปที่เขาว่าให้เอาผาโพกศีรษะของตนออก พร้อมกับชี้ไปที่หน้าผากของเขา” (15)
คำรายงานเหล่านี้ทำให้ประจักษ์ได้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า ความจำเป็นในการซุหยูดลงบนพื้นดิน ในยุคสมัยของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้นเป็นประเด็นที่ชัดเจนยิ่ง ถึงขั้นที่ว่า หากมุสลิมคนหนึ่งได้เอามุมหนึ่งของผ้าโพกศีรษะของเขาวางลงบนพื้น เพื่อไม่ให้หน้าผากสัมผัสกับพื้นดินในเวลาซุหยูดนั้น ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะห้ามปรามเขา
6. บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ของชีอะฮ์ ซึ่งในด้านหนึ่งตามฮะดีษอัษษะกอลัยน์นั้น คือสิ่งเคียงคู่ที่ไม่อาจแยกออกได้จากคำภีร์อัลกุรอาน และอีกด้านหนึ่ง พวกท่านคืออะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในคำพูดของท่านเหล่านั้นได้ชี้ถึงข้อเท็จจริงนี้อย่างชัดเจนว่า
اَلسُّجُودُ عَلَی الْاَرْضِ فَریضةٌ وَ عَلَی الْخُمْرَةِ سُنّةٌ
“การซุหยูดลงบนพื้นดินคือข้อกำหนดบังคับ และการซุหยูดลงบนเสื่อ (ที่ทอจากใยต้นไม้) นั้นคือซุนนะฮ์ (แบบฉบับของศาสดา)” (16)
และในอีกที่หนึ่ง ท่านกล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้กระทำการซุหยูด นอกจากบนพื้นดินและสิ่งที่งอกเงยขึ้นมาจากมัน ยกเว้นสิ่งที่เป็นอาหารและเครื่องนุ่งห่ม” (17)
บทสรุป
จากหลักฐานทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนั้น ทำให้รับรู้ได้อย่างชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่คำรายงาน (ริวายะฮ์) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เท่านั้น ทว่าแม้แต่ซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และการกระทำของซอฮาบะฮ์และตาบิอีนของท่าน ก็เป็นสักขีพยานยืนยันถึงความจำเป็นของการซุหยูดบนพื้นดินและสิ่งที่งอกเงยขึ้นมาจากมัน (ยกเว้นสิ่งที่ถูกใช้เป็นอาหารและเครื่องนุ่งห่ม) ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เป็นความชัดเจนนั่นก็คือ การซุหยูดบนสิ่งต่างๆ ที่กล่าวไปนั้น เป็นที่อนุญาต ในขณะที่การซุหยูดบนสิ่งอื่นเป็นที่คลางแคลงสงสัยและเป็นเรื่องที่ยังมีทัศนะขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ตามหลักของการระมัดระวังและการป้องกันตน (อิห์ติยาฏ) ซึ่งเป็นหนทางของความรอดพ้นและความปลอดภัยนั้น สมควรอย่างยิ่งที่ในช่วงเวลาของการซุหยูด เราจะใช้เฉพาะสิ่งต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงไปแล้วเพียงเท่านั้น
ในช่วงท้ายนี้ต้องของกล่าวว่า เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นปัญหาทางด้านฟิกฮ์ (หลักศาสนบัญญัติ) อย่างหนึ่ง ทัศนะความเห็นที่ขัดแย้งกันในปัญหาปลีกย่อยเหล่านี้ในหมู่บรรดาฟุกอฮาอ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนบัญญัติ) นั้นมีปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย แต่ทว่าทัศนะความเห็นที่ขัดแย้งกันในลักษณะเช่นนี้ในหมู่นักวิชาการอิสลาม จะต้องไม่กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและข้อพิพาท ทั้งนี้เนื่องจากทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันทางด้านฟิกฮ์ในลักษณะเช่นนี้สามารถพบเห็นได้อย่างมากมายเช่นกันในท่ามกลางมัซฮับทั้งสี่ของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ยกตัวอย่างเช่น มัซฮับมาลิกีกล่าวว่า : การวางจมูกลงบนสถานที่ซุหยูดนั้นเป็นมุสตะฮับ (ซุนนะฮ์) ในขณะที่มัซฮับฮันบาลี ถือว่าเป็นวาญิบ (สิ่งจำเป็น) และการละทิ้งมันจะทำให้การซุหยูดนั้นไม่ถูกต้อง (บาฏิล) (18)
เชิงอรรถ :
(1) ซูเราะฮ์อัรเราะอ์ดุ/อายะฮ์ที่ 15
(2) ซอเฮียะห์บุคคอรี กิตาบบุซซอลาฮ์ เล่มที่ 1 หน้า 91
(3) บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 85 หน้า 147 อ้างจาก “อิละลุซซอรออิอ์”
(4) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 1 หน้า 212, ซอเฮียะห์ บุคอรี กิตาบบุซซอลาฮ์ เล่มที่ 1 หน้า 91
(5) กันซุลอุมมาล เล่มที่ 7 หน้า 465 ฮะดีษที่ 19809
(6) อะห์กามุล กุรอาน (ญัศศอศ อัลฮะนะฟี) เล่มที่ 3 หน้า 209
(7) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 2 หน้า 421 กิตาบุซซอลาฮ์
(8) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 2 หน้า 421 กิตาบุซซอลาฮ์
(9) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 2 หน้า 431 กิตาบุซซอลาฮ์
(10) อัฏฏอบะกอตุล กุบรอ เล่มที่ 6 หน้า 79, เกี่ยวกับสภาพของมัสรูก บินอัจญ์ดะฮ์
(11) ดูหลักฐานเพิ่มเติมจากหนังสือ “ซีรอตุนา” ของ อัลลามะฮ์อามินี
(12) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 2 หน้า 105 กิตาบุซซอลาฮ์
(13) อัคบารุ มักกะฮ์, อัซรอกี เล่มที่ 3 หน้า 151
(14) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 2 หน้าที่ 105
(15) ซุนัน บัยฮะกี เล่มที่ 2 หน้าที่ 105
(16) วะซาอิลุช ชีอะฮ์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 593 ; กิตาบุซซอลาฮ์, อับวาบุ มายัซยุดุ อะลัยฮิ ฮะดีษที่ 7
(17) วะซาอิลุช ชีอะฮ์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 593 ; กิตาบุซซอลาฮ์, อับวาบุ มายัซยุดุ อะลัยฮิ ฮะดีษที่ 1
(18) อัลฟิกฮุ อะลัลมะซาฮิบุลอัรบะอะฮ์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 161 ; กิตาบุซซอลาฮ์, มับฮัษ อัซซุญูด พิมพ์ที่อียิปต์
ที่มา เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
แสดงความเห็น