อะฮฺลุลบัยต์ในอัลกุรอานและวจนะศาสดามุฮัมมัด

อะฮฺลุลบัยต์ในอัลกุรอานและวจนะศาสดามุฮัมมัด
อะฮฺลุลบัยตฺ หรือสมาชิกครอบครัวของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) หมายถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) บุตรสาวของท่าน และอิมามอะลี(อ.) ผู้เป็นบุตรเขยและผู้สืบทอดฐานะผู้นำของท่าน รวมถึงบุตรชายสองคนของท่านทั้งสองคืออิมามฮะซัน(อ.) และอิมามฮุเซน(อ.) ตลอดจนบรรดาอิมามอีกเก้าท่านจากสายตระกูลของอิมามฮุเซน(อ.)

อะฮฺลุลบัยตฺถูกกล่าวถึงทั้งในคัมภีร์อัล-กุรอานและในฮะดีษ(รายงานคำพูด) ของท่านศาสดา(ศ.)

อะฮฺลุลบัยตฺในโองการหนึ่งของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรือเรียกกันว่า โองการตัฏฮีรฺหมายถึง การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากบาปทั้งหลาย

อะฮฺลุลบัยตฺถูกกล่าวถึงในอัล-กุรอานว่าเป็นบรรดาผู้ได้รับการชำระขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ในระดับสูงสุด ซึ่งหมายถึงการรักษาให้ออกห่างจากเหตุใดๆ ที่จะก่อให้เกิดมลทินความมัวหมองทั้งปวง ลักษณะเช่นนี้คือสถานะของผู้ปราศจากความผิดพลาดทั้งในด้านความรู้ บุคลิกภาพ และการกระทำ มันอาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วไปที่รักษาตัวให้ห่างไกลจากมลทินทั้งหลายตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ(ซ.บ.)

แต่อัลลอฮฺได้ทรงจำกัดพระบัญชานี้ไว้แก่กลุ่มบุคคลที่เฉพาะเจาะจงโดยแยกออกจากมนุษย์คนอื่นๆ ทั้งหมดด้วยการประกาศว่า อะฮฺลุลบัยตฺ คือกลุ่มบุคคลที่พระองค์ได้ชำระขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่ออยู่ร่วมกับคัมภีร์อัล-กุรอานในรูปแบบดั้งเดิม รูปแบบที่ซ่อนเร้น รูปแบบที่ได้รับการพิทักษ์รักษา รูปแบบที่สูงส่งและบริสุทธิ์ อัลลอฮฺ(ซ.บ.)ทรงประสงค์ที่จะขจัดมลทินทั้งปวงให้พ้นไปจากพวกท่านเหล่านั้น ดังที่ทรงบัญชาไว้ในโองการตัตฮีรฺ (การทำให้บริสุทธิ์) ในคัมภีร์อัล-กุรอาน

 

“... อัลลอฮฺเพียงแต่ต้องการที่จะขจัดความสกปรกมลทินให้ออกไปจากพวกเจ้า โอ้สมาชิกของวงศ์ตระกูล(อะฮฺลุลบัยตฺ)เอ๋ย และทรง (ประสงค์) ที่จะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (อัล-กุรอาน 33/33)

โองการนี้เรียกว่า โองการตัตฮีรฺ หรือโองการแห่งการทำให้บริสุทธิ์ ได้กล่าวถึงสมาชิกครอบครัวของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ซึ่งหมายเฉพาะเจาะจงถึงตัวท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.), อิมามอะลี(อ.), ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ(อ.), อิมามฮะซัน(อ.) และอิมามฮุเซน(อ.) ดังนั้น ลูกหลาน, ภรรยา และญาติคนอื่นๆ ของศาสดามุฮัมมัด และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านของท่านจึงไม่ถูกเรียกว่าเป็นอะฮฺลุลบัยตฺของศาสดามุฮัมมัด(ศ.)

ฮะดีษที่อธิบายว่าอะฮฺลุลบัยตฺหมายถึงใคร

ฮะดีษกีซา (ฮะดีษเรื่องผ้าคลุม)

รายงานจากท่านหญิงอุมมุ สลามะฮฺ ภรรยาคนหนึ่งของท่านศาสดา(ศ.) เล่าว่า ครั้งหนึ่งศาสดามุฮัมมัด(ศ.) นอนอยู่ในบ้านของเธอบนเสื่อที่ปูทับด้วยเสื้อคลุมผืนหนึ่งจากคอยบัรฺ เมื่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) บุตรสาวผู้เป็นที่รักของท่านเข้ามาพร้อมกับอาหารจานหนึ่ง ท่านศาสดา(ศ.) ได้ขอให้นางเรียกอิมามอะลี(อ.) สามีของนาง และบุตรชายทั้งสองคืออิมามฮะซัน(อ.) และอิมามฮุเซน(อ.) เข้ามาด้วย เมื่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) เรียกพวกท่านเหล่านั้นมาพร้อมกันแล้ว พวกท่านก็นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ก็ได้ประทานโองการแห่งการทำให้บริสุทธิ์มาให้แก่ศาสดามุฮัมมัด(ศ.)

“... อัลลอฮฺเพียงแต่ต้องการที่จะขจัดความโสโครกออกไปจากพวกเจ้า โอ้สมาชิกของวงศ์ตระกูล(อะฮฺลุลบัยตฺ)เอ๋ย และทรง (ประสงค์) ที่จะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (อัล-กุรอาน 33/33)

 

ด้วยเหตุนี้ ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) จึงคลุมตัวพวกท่านทั้งหมดด้วยเสื้อคลุมของท่าน และยกมือขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกับกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮฺ(ซ.บ.) นี่คือครอบครัวของฉันและญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดของฉัน โปรดขจัดความโสโครกออกไปจากพวกเขา และทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์” ท่านหญิงอุมมุ สลามะฮฺเล่าว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้กล่าวซ้ำเช่นนี้สามครั้ง และเมื่อนางขอเข้าไปอยู่ในผ้าคลุมนั้นด้วย ท่านศาสดา(ศ.) กล่าวสองครั้งว่า “เธออยู่ในหมู่ผู้มีคุณธรรม”

ฮะดีษเกี่ยวกับเหตุการณ์มุบาฮาละฮฺ(การสาปแช่ง)

ในตอนใต้ของดินแดนอาหรับ มีสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่าเมืองนัจรอน ชาวเมืองเป็นชนเผ่านัจรอนที่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้มีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าศาสดาอีซา(อ.) หรือพระเยซู เป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้เชิญชวนให้พวกเขายอมรับอิสลาม พวกเขาได้ส่งคณะนักบวชและผู้อาวุโสของพวกเขามายังมะดีนะฮฺ เพื่อถกปัญหาศาสนากับศาสดามุฮัมมัด(ศ.)

เรื่องที่พวกเขาโต้แย้งกันก็คือ พระเยซูถือกำเนิดมาจากพระนางแมรี่ซึ่งเป็นหญิงพรหมจารีย์โดยไม่มีบิดา ดังนั้น ท่านจึงเป็นบุตรของพระเจ้า ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้อธิบายกับพวกเขาว่า การกำเนิดของพระเยซูโดยไม่มีบิดานั้นก็เป็นเช่นเดียวกับการที่อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ได้ทรงสร้างศาสดาอาดัม(อ.)ขึ้นมาโดยไม่มีทั้งบิดา และมารดานั่นเอง

ดังนั้น ศาสดาอีซา(อ.) หรือพระเยซู จึงเป็นบ่าวคนหนึ่งของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) เช่นเดียวกับศาสดาอาดัม(อ.) แต่ชาวคริสเตียนไม่ยอมรับกับสัจธรรมข้อนี้ พวกเขายังคงยึดมั่นอยู่กับความเชื่อของพวกเขาว่าพระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้า หลังจากนั้นโองการหนึ่งจึงถูกประทานลงมา

 

“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) หลังจากที่ได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว  ก็จงกล่าวเถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราก็จะเรียกลูก ๆ ของเรา และลูกของพวกท่าน และเรียกบรรดาผู้หญิงของเรา และบรรดาผู้หญิงของพวกท่านและตัวตนของพวกเรา และตัวตนของพวกท่าน และเราก็จะวิงวอนกัน (ต่ออัลลอฮ์) ด้วยความนอบน้อม โดยที่เราจะขอให้สิ่งอัปมงคลจากอัลลอฮ์พึงประสบแก่บรรดาผู้ที่พูดโกหก” (อัล-กุรอาน 3/61)

ชาวคริสเตียนตกลงที่จะร่วมทำการมุบาฮาละฮฺ(การสาปแช่ง) กับศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ความหมายของการสาปแช่งคือทั้งอสงฝ่ายจะขอต่ออัลลอฮฺ(ซ.บ.) ว่า ผู้ที่พูดความจริงจะรอดพ้นปลอดภัย และผู้ที่พูดโกหกจะถูกทำลายล้าง

ในวันแห่งการมุบาฮาละฮฺ(การสาปแช่ง) นั้น ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้นำหลานชายทั้งสองคืออิมามฮะซัน(อ.) และอิมามฮุเซน(อ.) มาในฐานะลูกๆ ของท่าน ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) ผู้เป็นบุตรสาวของท่านมาในฐานะบรรดาผู้หญิงของท่าน และอิมามอะลี(อ.) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องและบุตรเขยของท่านมาในฐานะตัวตนของท่าน เมื่อได้เห็นรัศมีจากใบหน้าของสมาชิกครอบครัวผู้ปราศจากบาปของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.)แล้ว ชาวคริสเตียนก็เกิดความหวาดกลัว พวกเขาไม่กล้าที่จะทำการมุบาฮาละฮฺอีกต่อไป และยอมรับความพ่ายแพ้

นี่คือเหตุการณ์ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้แสดงให้โลกได้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ใครคือสมาชิกแห่งอะฮฺลุลบัยตฺที่ถูกต้องและแท้จริง

โองการมะวัดดะฮฺ หรือมะวัดดะตะ ฟิล-กุรฺบา (การแสดงความรักต่อญาติสนิท)

 

ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้รับบัญชาให้ร้องขอต่อบรรดาผู้ศรัทธา ให้มีความรักต่อญาติสนิทของท่าน(อะฮฺลุลบัยตฺของท่าน) เพื่อตอบแทนการทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาของท่าน ดังนั้นการมีความรักต่ออะฮฺลุลบัยตฺ จึงถือเป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อบังคับ(วาญิบ) ของอัลลอฮฺต่อมุสลิมทุกคน

“...จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ฉันมิได้ขอร้องค่าตอบแทนใด ๆ เพื่อการนี้ เว้นแต่ความรักใคร่ในญาติสนิทของฉัน...” (อัล-กุรอาน 42/23)

อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัสอูด รายงานว่า วันหนึ่ง ในขณะที่เราร่วมเดินทางไปกับศาสดามุฮัมมัด(ศ.) มีชาวอาหรับเร่ร่อนคนหนึ่งตะโกนเรียกชื่อท่านศาสดาด้วยเสียงอันดัง ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ถามว่า “ท่านต้องการอะไร?”

“ถ้าคนคนหนึ่งรักคนกลุ่มหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ทำตามแบบพวกเขาจริงๆ จะเป็นอย่างไร?” ชาวเบดูอินถาม

“คนคนหนึ่งจะผูกพันกับคนที่เขารัก” ท่านศาสดา(ศ.) ตอบ

“มุฮัมมัด” เขาเรียกอีก “รับฉันเข้าสู่อิสลามเถิด”

ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กล่าวว่า “ท่านต้องประกาศตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ(ซ.บ.) และฉันคือศาสนทูตของอัลลอฮ(ซ.บ.) ทำนมาซห้าเวลา, จ่ายซะกาต, ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และประกอบพิธีฮัจญ์ที่บ้านอันศักดิ์สิทธิ์”

“ท่านเรียกร้องค่าจ้างเพื่อการนั้นหรือไม่?” ชาวเบดูอินถาม

ท่านตอบว่า “ไม่ ฉันไม่รับค่าจ้างใดๆ นอกจากท่านต้องให้ความเคารพรักต่อญาติสนิท”

 

“ญาติสนิทของใคร? ของฉันหรือว่าของท่าน?” เขาถาม

“ญาติสนิทของฉัน” ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ตอบ

“โปรดยื่นมือของท่านมาเถิด ฉันจะได้ประกาศความจงรักภักดีของฉัน ไม่มีประโยชน์อะไรจากคนที่รักท่าน แต่ไม่รักญาติสนิทของท่าน” ชาวเบดูอินกล่าว (บิฮารุล-อันวารฺ)

ฮะดีษซะฟีนะฮฺ (เรือ)

ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้เปรียบเทียบอะฮฺลุลบัยตฺของท่านกับเรือของศาสดานูฮฺ(อ.) ผู้ใดที่รักและปฏิบัติตามพวกท่านก็จะได้รับความช่วยเหลือ และผู้ใดที่ละเมิดสิทธิของพวกท่านจะจม

อบูซัรฺได้เล่าว่า เขาได้ยินศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กล่าวว่า “ครอบครัวของฉันเป็นเสมือนเรือของนูฮฺในหมู่พวกท่าน ใครที่ลงเรือลำนี้ก็จะปลอดภัย แต่ใครที่ลังเลที่จะลงไปก็จะต้องล่มจม”

อีกรายงานหนึ่ง ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กล่าวว่า “อะฮฺลุลบัยตฺของฉันเปรียบได้กับเรือของนูฮฺ ผู้ใดที่โดยสารไปกับมันก็จะปลอดภัย ผู้ใดออกห่างจากมันก็จะจมลง”

ฮะดีษษะกอลัยน์ (สิ่งหนักสองประการ)

ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กล่าวว่า “แท้จริง ฉันจะละทิ้งสิ่งมีค่าสองอย่างไว้ในหมู่พวกท่าน นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และวงศ์วานของฉัน อะฮฺลุลบัยตฺของฉัน เพราะแท้จริง สองอย่างนี้จะไม่แยกจากกันจนกระทั่งทั้งสองจะกลับไปยังฉันที่สระน้ำนั้น(สระอัล-เกาษัรฺ ในวันแห่งการพิพากษา)”

 

เมื่ออะฮฺลุลบัยตฺถูกยกให้มีน้ำหนักเท่ากับคัมภีร์อัล-กุรอานในสายตาของอัลลอฮฺ เป็นสัจธรรมเช่นเดียวกับอัล-กุรอานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโดยไม่มีเงามืดของความเท็จอยู่เลย  จึงเป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในอัล-กุรอาน และปฏิบัติตามการชี้นำอันถูกต้องสมบูรณ์แบบของอะฮฺลุลบัยตฺ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ยอมรับการเป็นผู้นำและปฏิบัติตามคำสั่งสอนและความศรัทธาของพวกท่าน มุสลิมถูกผูกมัดอยู่กับฮะดีษของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) บทนี้ ที่จะต้องปฏิบัติตามพวกท่าน ไม่ใช่คนอื่นใดทั้งสิ้น

ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) และอะฮฺลุลบัยตฺของท่าน ได้เสียสละความสุขสบายในชีวิตทางโลกทั้งปวงและสละแม้แต่ชีวิตของพวกท่าน เพื่อถ่ายทอดศาสนาอิสลามอันเที่ยงแท้ให้แก่เรา เพื่อตอบแทนความเสียสละของพวกท่าน อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ได้ทรงสั่งให้เรามีความรักต่อพวกท่าน

เป้าหมายก็เพื่อเราจะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของพวกท่านด้วยความรักของเรานี้เอง เมื่อเราปฏิบัติศาสนาที่ถูกต้องไปตามคำสอนของพวกท่านแล้ว เราก็จะมีชีวิตที่ดีและมีเกียรติในโลกนี้ และได้รับความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ในโลกหน้า

 www.ahlulbait.org

 

แสดงความเห็น