12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี EQ สูง
12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี EQ สูง
วันนี้เราจะมาคุยกันด้วยเรื่อง ที่ต่อเดือนที่แล้วว่าจะเลี้ยงลูกให้มี E.Q.สูงได้อย่างไร อย่างที่ผมได้พูดคุยกับท่านผู้อ่านไปแล้วว่าเรื่องของ I.Q.หรือระดับสติปัญญานั้นขึ้นกับปัจจัยหลักคือสมองและระบบประสาทที่ดี พร้อมที่จะรับรู้ข้อมูลและเรียนรู้ อิทธิพลที่มีผลของระดับสติปัญญาขึ้นกับพันธุกรรม (Gene) ค่อนข้างมาก พูดง่ายๆ ก็คือถ้าพ่อแม่เฉลียวฉลาดย่อมมีโอกาสสูงที่ลูกจะเฉลียวฉลาดเช่นกัน ปัจจัยอื่นๆก็คือการได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสมองตั้งแต่ เด็กยังอยู่ในครรภ์และตลอดช่วงวัยเด็ก นอกจากนั้นยังต้องได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมด้วย จะเห็นว่าเรื่องของพันธุกรรมเป็นเรื่องที่่เราควบคุมไม่ได้ แต่เรื่องของ E.Q.นั้น เราสร้างเสริมให้ลูกได้ทั้งสิ้น ลองมาดูกันเลยครับว่า12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี... E.Q.สูง มีอะไรกันบ้าง
- ให้ความรัก เป็นข้อแรกที่สำคัญมากและไม่เพียงแต่ให้ความรักเท่านั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกอย่างเหมาะสมอีกด้วย บางคนรักลูกแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความรักออกมาให้ลูกเห็นเลย การยิ้มให้ การสัมผัส การกอด โอบไหล่ ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายซึ่งบ่งบอกถึงความรักได้เป็นอย่างดี
- ครอบครัวมีสุข คือ การที่คุณพ่อและคุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และรวมถึงการมีทัศนคติ ความคิดเห็นในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน หรือถ้ามีความขัดแย้งบ้างก็จะมีการพูดคุยกัน ตกลงกันให้เป็นทิศทางเดียวกันคือเป็นทีมเดียวกันนั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ขัดกันเองในการวางกฎเกณฑ์ มีครอบครัวหนึ่งลูกอายุประมาณ 2-3 ขวบ ร้องไห้เพราะอยากเล่นลิปติกของแม่ คุณผู้หญิงทั้งหลายคงทราบดีว่าที่คุณแม่ไม่ยอมให้ลูกเล่นเพราะลิปติกจะหักเสียหาย แต่เวลาอยู่กับพ่อ พ่ออนุญาติให้ลูกเล่นได้หรือพ่อเห็นลูกร้องไห้ ก็ต่อว่าแม่ต่อหน้าลูกว่า "เรื่องแค่นี้เอง ก็ให้ลูกเล่นไปสิ" เด็กเองก็จะสับสน ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ว่าเรื่องนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรตกลงกันด้วยเหตุผลให้เรียบร้อยก่อน จะได้ควบคุมเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกัน
- มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของลูก จะทำให้เราเข้าใจและปฏิบัติต่อลูกได้ถูกต้องและเหมาะสม ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่าพัฒนาการไม่ได้หยุดหรือหมดไปเมื่อพ้นวัยอนุบาล แต่มีต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นก็มีพัฒนาการของวัย และสำคัญมากด้วยน่าเสียดายที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนปฏิบัติต่อลูกที่เข้าวัยรุ่นแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะคิดว่าลูกเหมือนก็เมื่อ2-3 ปีก่อน ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่บางคนอยากรู้เรื่องของลูกก็ใช้วิธีแอบฟังโทรศัพท์เวลาลูกคุยกับเพื่อน แอบเปิดค้นกระเป๋า แอบดูไดอารี่ สมุดบันทึกของลูก เกือบร้อยทั้งร้อยครับที่ลูกวัยรุ่นจะโกรธเป็นอย่างมาก เพราะไปกระทบกับพัฒนาการของวัยรุ่นที่สำคัญมากคือความเป็นส่วนตัว (Privacy) เห็นรึยังครับว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของลูกจะช่วยให้เราปฏิบัติต่อเขาได้เหมาะสมอย่างไร
- คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่นบางครอบครัว พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่จึงจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงดูแลช่วงกลางวัน แต่คุณพ่อคุณแม่บางคนเลิกงานกลับมา บ้านแล้ว เหนี่อย กลางคืนก็ ฝากพี่เลี้ยงดูแลอีก
ควรอยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยช่วงกลางคืนจะได้มีประสบการณ์ได้รับรู้ความรู้สึกของการตื่นมาให้นมลูกเวลาลูกร้องกลางคืน ได้โอบกอดและปลอบให้เขาหลับต่อ เมื่อได้รู้จักจะยิ่งรักและเข้าใจในตัวลูก - สร้างเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (self esteem) ให้ลูก นั่นหมายถึงเมื่อลูกทำดีหรือประสบความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องชม เมื่อเขาท้อแท้ก็ให้กำลังใจ บางคนบอกว่าชมมากเดี๋ยวเหลิง ไม่ต้องกลัวครับ การชมอย่างถูกต้อง สมเหตสมุผลไม่มีผลเสียแน่นอน จะช่วยให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองซึ่งมีค่าต่อเด็กมากครับ
- ให้อิสระและโอกาสในการตัดสินใจกับลูก จะช่วยให้ลูกมีความคิดสร้างสรร กล้าคิดกล้าทำ ไม่พยายามบังคับความคิดลูก (ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยนะครับ)
- สอนลูกให้รู้จักรักและดูแลตนเองเช่นเดียวกันกับผู้อื่น ซึ่งข้อนี้ก็คือส่วนสำคัญข้อหนึ่งของ E.Q.ดังที่ได้คุยกันไปแล้ว ซึ่งรวมไปถึงการสอนลูกให้รู้สึกเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ผู้อื่นด้วย เช่นการที่คุณพ่อคุณแม่บางคนพาลูกไปให้ของเด็กพิการ ตามสถานสงเคราะห์หรือให้ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา
- ส่งเสริมให้ลูกรู้จักคิดด้วยหลักการและเหตุผล โดยส่งเสริมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและเรื่องสำคัญๆ ด้วย ตัวอย่างถ้าลูกอยากจะซื้อของเล่น ของใช้ที่แพงๆ หรือเป็นของที่มีอยู่แล้วก็สอนให้ลูกรู้จักใช้หลักการและ้เหตุผลว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ เพราะอะไร
- สอนลูกให้รู้จักการผ่อนคลายและหาความสุขให้ตัวเองด้วย ข้อนี้ก็มีความสำคัญมากครับเพราะเด็กหลายคนที่เก่ง ประสบความสำเร็จในการเรียน กีฬา แต่ไม่มีความสุข เนื่องจากเครียดอยู่ตลอดเวลาในการที่จะรักษาความเก่งของตัวเองไว้ให้ได้ตลอดไปหรือให้เก่งมากขึ้นเพื่อเอาชนะคนอื่น
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก (modeling) คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างให้ลูกทำสิ่งดีๆตามลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติแทบไม่ต้องพูดสอนเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนิสัยรักการอ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เช่นอยู่บ้านว่างๆก็หยิบหนังสือมาอ่าน ชอบที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงเรื่องในหนังสือที่อ่าน ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าก็มักแวะเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ แบบนี้ลูกก็มักจะติดนิสัยรักการอ่านหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งคือการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองและรับผิดชอบเช่นหลังกินข้าวเสร็จ ถึงแม้ว่าจะมีคนงานที่บ้านก็ควรจะยกจานที่ทานเสร็จแล้ว ช่วยเขี่ยเศษอาหารใส่ถังขยะแล้ววางบนอ่างล้างจานในบ้าน(ให้คนงานล้างต่อไป) คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นตัวอย่าง ลูกเห็นก็อยากทำตาม แล้วยังสอนการมีน้ำใจต่อคนงานอีกด้วย ท่านผู้อ่านลองนึกภาพนะครับว่าถ้าพ่อแม่ไม่ทำเป็นตัวอย่าง กินตรงไหนเสร็จแล้วก็ลุกออกไป ให้คนงานมาตามคอยเก็บ แต่สั่งให้ลูกทำลูกจะคิดอย่างไร
- กฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย พบว่าเด็กที่ E.Q. ดี มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักความเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็สอนรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และควบคุมเรื่องของกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยในลักษณะของทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ควบคุมมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมากครับ เราคงจะได้คุยกันในครั้งต่อๆ ไป หัวข้อนี้รวมไปถึงการฝึกให้ลูกรู้จักรับผิดชอบ และช่วยเหลือตัวเองตามวัย ซึ่งหัวข้อนี้เราเคยพูดคุยกันไปแล้ว
นอกจาก 11 วิธีนี้แล้ว ท่านผู้อ่านทราบไหมครับ มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากต่อ E.Q. ของลูก มีอิทธิพลต่อเด็กมาก แต่เรามักไม่ค่อยนึกถึง ทราบไหมครับว่าคืออะไร ระบบการศึกษาไงครับ
- ระบบการศึกษา เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่าการศึกษาสร้างคน เห็นด้วยใช่ไหมครับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและมีผลต่อ E.Q.ของลูกด้วย จะมีประโยชน์มากครับหากเราจะทำความเข้าใจกับระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก คงจะมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องนี้กันต่อไปครับ
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แสดงความเห็น