แนวทางการแสวงหาพระเจ้า

  แนวทางการแสวงหาพระเจ้าและรู้จักพระองค์

 

  การแสวงหาพระเจ้าและการรู้จักพระองค์มีหลายวิธีการ  ซึ่งมนุษย์ทุกคนต่างมีวิธีการมากมายในการแสวงหาพระเจ้า โดยไม่อาจคำนวณนับได้หมายความว่า โดยส่วนตัวแล้วมนุษย์มีวิธีการในการแสวงหาพระเจ้าตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า  “วิธีการรู้จักพระเจ้า มีมากมาย ประดุจการมีอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้”

นักปรัชญาและเทววิทยาอิสลามได้แบ่งวิธีการรู้จักพระเจ้า ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ  2 กลุ่ม ดังนี้

1.วิธีการใช้เหตุผลหรือทัศนะ

2.การรู้แจ้งและการปฏิบัติ

ความหมายของวิธีการแรกคือ มนุษย์ใช้เหตุผลตามหลักการและกฏต่างๆ ของตรรก และปรัชญาในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า และการมีอยู่ของคุณลักษณะและการกระทำของพระองค์ ส่วนในวิธีการที่สองคือ การรู้จักพระเจ้าโดยผ่านการปฏิบัติ ซึ่งเกิดจากการขัดเกลาจิตวิญญาณของมนุษย์และการยกระดับจิตใจให้สูงส่ง  จนสามารถมองเห็นพระองค์และคุณลักษณะอันสวยงามทั้งหลายของพระองค์ได้ด้วยตาแห่งปัญญา

การจัดแบ่งการรู้จักพระเจ้าอีกระบบหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางหลักของการรู้จักอันประกอบด้วย แนวทางของสติปัญญา วิทยาศาสตร์ และแนวทางของจิต

1. สติปัญญา เป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้เหตุผลตามหลักการและกฎต่างๆ ของตรรก และปรัชญาในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า และคุณลักษณะของพระองค์

2.วิทยาศาสตร์และการทดลอง ในบางครั้ง มนุษย์มิได้ใช้เหตุผลของปรัชญาหรือกฏต่างๆ ของตรรกศาสตร์ แต่เขาได้รับเหตุผลต่างๆในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าด้วยกับการสังเกตุในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในโลกและในตัวของมนุษย์ ทำให้เขารู้ว่าในโลกนี้มีพระเจ้าอยู่จริง วิธีการนี้จึงถูกเรียกว่า “เหตุผลทางประสบการณ์นิยม”

เหตุผลทฤษฎีที่ว่าด้วยกฏและระเบียบของโลก ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลดังกล่าวซึ่งเกิดจากการสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของโลก การใช้กฏของตรรกศาสตร์ และปรัชญามาอ้างเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

3.จิตหรือญาณวิสัย หมายถึง บางครั้ง การรู้จักพระเจ้าไม่ต้องการเหตุผลที่สลับซับซ้อนของปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์นิยม แต่การรู้จักพระเจ้าอาจเกิดจากภายในส่วนลึกของมนุษย์หรือด้วยกับญาณวิสัย โดยผ่านการฝึกฝนและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในคำสอนของศาสนา จนสามารถมองเห็นพระเจ้าได้ด้วยตาแห่งปัญญา ซึ่งวิธีการนี้จะเกิดเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มชนบางกลุ่มเท่านั้น และในอิสลามก็ให้การยอมรับพวกเขาและเรียกพวกเขาว่า นักรหัสยวิทยา (อาริฟ)

แสดงความเห็น