คุณลักษณะพิเศษของอิมาม
คุณลักษณะพิเศษของอิมาม
ตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ผู้รับประกันความต่อเนื่องของศาสนา เป็นผู้ตอบคำถามแก่ความต้องการของประชาชาติ เป็นบุคคลทีมีบุคลิกพิเศษเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่ง ผู้นำหรือตัวแทนท่านศาสดาจำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่เหนือไปกว่าคนอื่น ซึ่งหนึ่งในคุณลักษณะเหล่านั้นได้แก่
ต้องสำรวมตนจากความชั่ว และมีความบริสุทธิ์จากบาปกรรมทั้งหลายทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่
ต้องมีความรอบรู้ ซึ่งเป็นความรอบรู้ที่ได้มาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และต่อเชื่อมกับความรอบรู้ของพระเจ้าด้วยเหตุนี้ อิมามจึงสามารถตอบคำถามทั้งหลายในทุกเรื่อง ทั้งทางโลกและทางธรรม ตลอดจนปัญหาด้านวัตถุและศีลธรรม
มีความประเสริฐ และมีจริยธรรมที่สูงส่งที่สุด
มีความสามารถปกครองสังคม สามารถบริหารได้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา
จากคุณสมบัติที่กล่าวมาทำให้เข้าใจได้ว่าการเลือกผู้นำที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์ เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถเลือกสรรตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ด้วยความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ได้เพียงพระองค์เดียว ซึ่งคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของอิมามคือ ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า
ลำดับต่อไปจะกล่าวอธิบายถึง คุณลักษณะพิเศษบางประการของอิมาม
1. ความรู้ของอิมาม
บรรดาอิมาม คือ ผู้ปกครองและเป็นผู้นำทั้งศาสนจักรและอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีความรู้ในทุก ๆ เรื่องที่เป็นความต้องการของมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เพราะถ้าผู้นำเป็นคนโง่เขลาหรือด้อยปัญญาแล้ว จะปกครองและชี้นำประชาชาติได้อย่างไร
อิมามคือผู้รับหน้าที่ชี้นำประชาชน จำเป็นต้องมีความรู้ครอบคลุมทุกด้าน มีความรอบรู้เกี่ยวกับบทบัญญัติทั้งมวล มีความรอบรู้เรื่องการตีความคัมภีร์อัล-กุรอาน และแบบฉบับของท่านศาสดา และต้องสามารถอธิบายวิชาการด้านศาสนาได้อย่างถ่องแท้ พร้อมกับตอบคำถามของประชาชน ที่สำคัญต้องมีความสันทัดในการชี้นำประชาชน แน่นอนยิ่ง บุคคลที่มีคุณลักษณะดังกล่าวมา เขาย่อมมีความพร้อมในการเป็นผู้นำมากกว่าคนอื่น และย่อมได้รับการเชื่อถือไว้วางใจเป็นพิเศษ ความรู้เช่นนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เว้นเสียแต่ว่าได้ติดต่อกับความรู้ของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ ชีอะฮฺจึงเชื่อโดยหลักการว่า ความรู้ของอิมาม หรือตัวแทนที่แท้จริงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้รับมาจากพระเจ้า
อิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงสัญลักษณ์พิเศษที่บ่งบอกถึงความถูกต้องของอิมามว่า อิมามคือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องอนุมัติและไม่อนุมัติ เรื่องบทบัญญัติต่าง ๆ คำสั่งห้ามและคำสั่งใช้ ตลอดจนความต้องการทั้งหลายของประชาชน มากกว่าบุคคลอื่นทั้งสิ้น
2. ความบริสุทธิ์ของอิมาม
บรรดาอิมามนั้นไม่เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป เหมือนกับบรรดาอัมบิยาอในฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์จากบาปทั้งมวล อะฮฺลิซุนนะฮ เห็นพร้องต้องกันว่า เฉพาะบรรดาศาสดาเท่านั้นที่บริสุทธิ์จากบาป ส่วนคนอื่น ๆ แม้แต่อิมามของบรรดามุสลิม หรือเคาะลิฟะฮ ถือว่าไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ (มะอซูม)
ทรรศนะของชีอะฮเชื่อว่า บรรดาอิมามต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ (มะอซูม) จากบาปทั้งปวง นับตั้งแต่วันแรกที่ประสูติขึ้นมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจะไม่มีบาปใด ๆ เกิดขึ้นมาจากบรรดาอิมามเด็ดขาด ทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่ หรือบาปที่เกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ หลงลืมหรือตั้งใจ ดังที่อัลกุรอาน กล่าวว่า
"อันที่จริง อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะขจัดมลทินให้ออกไปจากสูเจ้า โอ้บรรดาอะฮฺลุลบัยต และทรงชำระขัดเกลาสูเจ้าให้สะอาบริสุทธิ์ (ซูเราะฮ อัล-อะหซาบ : 33)
อะฮฺลิซซุนนะฮและชีอะฮ รายงานตรงกันจากวจนะของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวว่า
"แท้จริง ฉันได้ฝากสิ่งหนักสองสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่ของพวกเจ้า สิ่งหนึ่งคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และอีกสิ่งคืออิตระตี (ครอบครัวของฉัน) ถ้าพวกท่านยึดมั่นในสิ่งทั้งสอง พวกท่านจะไม่หลง และแท้จริงสิ่งทั้งสองจะไม่แยกออกจากกันเด็ดขาด จนกว่าสิ่งทั้งสองจะคืนกลับสู่ฉันยังสระน้ำแห่งสรวงสวรรค์"
ฮะดีซซะเกาะลัยนพิสูจน์ความเป็นผู้บริสุทธิ์ของอิมามได้อย่างไร
จากประโยคที่ว่า "ถ้าพวกเขายึดมั่นสิ่งทั้งสองแล้ว พวกเจ้าจะไม่หลงทาง" ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ถ้ามนุษย์ยึดมั่นอยู่กับอัล-กุรอานและอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดา)พวกเขาจะไม่หลงทางตลอดกาล ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความจำเป็นของมะอซูมของบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดา) เพราะถ้าหากอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดา)ไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์และมีความผิด ซึ่งอาจจะเกิดจากความหลงลืมหรือตั้งใจ เช่น เข้าใจวัตถุประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ในโองการต่าง ๆ ผิด หรือสอนประชาชนไปอย่างผิด ๆ และเป็นเหตุทำให้ประชาชนต้องหลงทางออกไป แต่ในขณะที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า "ถ้าพวกเจ้ายึดมั่นต่อะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของฉันพวกเจ้าจะไม่หลงทาง" หมายถึงการยึดมั่นต่ออะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดา) พวกเขาจะไม่ชี้นำหรือพาพวกเจ้าให้หลงทางออกไป หรือนำไปทำในสิ่งที่ผิดพลาดซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะกับคนที่เป็นมะอซูม (บริสุทธิ์) เท่านั้น
จากประโยคที่ว่า "สิ่งทั้งสองจะไม่แยกออกจากกัน" หมายถึง อัล-กุรอานกับอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดา) จะไม่มีวันแยกออกจากกัน ซึ่งถ้าหากครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กระทำความผิดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดีโดยไม่ได้ตั้งใจ หมายความว่า อะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดา)ได้แยกออกจากคัมภีร์อัล-กุรอานไปโยปริยาย ดังนั้น การไม่แยกออกหรือปราศจากการแยกทางอย่างสิ้นเชิงนั้น หมายถึง สิ่งทั้งสองเท่าเทียมกันโดยเฉพาะเรื่องของความบริสุทธิ์
หรือโองการที่ว่า "จงปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และจงปฏิบัติตามเราะซูล และผู้ปกครองในหมู่สูเจ้า" (ซูเราะฮ อัน-นิซาอ : ๕๙)
ถ้าหากพวกเขาไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่สั่งให้ปฏิบัติตามชนิดปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อพระองค์สั่งย่อมแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะอัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่สั่งให้ปฏิบัติตามบุคคลที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์โดยเจตนาหรือโดยหลงลืม เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งและผิดวัตถุประสงค์ของพระองค์ สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์คือ ให้บ่าวปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์มิใช่ให้กระทำความผิด
อีกโองการหนึ่งที่บ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ของอิมามคือ โองการที่ 124 บท อัลบะเกาะเราะฮฺ ที่กล่าวว่า แท้จริงฉันแต่งตั้งเจ้าให้เป็นผู้นำมนุษย์ชาติ เขากล่าวว่า และลูกหลานของข้าพระองค์ด้วยไหม พระองค์ตรัสว่า สัญญาของฉันไม่แผ่รวมถึงผู้อธรรม จะเห็นว่าหลังจากตำแหน่ง นบีแล้ว พระเจ้าทรงมอบตำแหน่งอิมามแก่อิบรอฮีม หลังจากนั้นอิบรอฮีมวอนขอต่อพระเจ้าว่า ขอให้พระองค์ประทานตำแหน่งนี้แก่บุตรหลานของท่านด้วย พระเจ้าทรงตอบรับคำวิงวอนของอิบรอฮีมและตรัสกับอิบรอฮีมว่า สัญญาของฉันไม่แผ่รวมถึงผู้อธรรม หมายถึงการแต่งให้เป็นอิมามเฉพาะกลุ่มบุตรหลานที่ไม่อยุติธรรม
อัล-กุรอาน ถือว่าการตั้งภาคีเทียบเทียมพระเจ้าเป็นการกดขี่ที่ชั่วช้าที่สุด ตลอดจนการละเมิดคำสั่งของพระองค์ เป็นบาป เท่ากับกดขี่ตนเอง ดังนั้น บุคคลใดก็ตามถ้าในชีวิตของเขากระทำบาป ถือว่าเป็นจุดประสงค์ของโองการ ฉะนั้น เขาจึงไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งอิมามแต่แต่นิดเดียว
อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าว โดยไม่ต้องคลางแคลงใจว่า อิบรอฮีม (อ.) มิได้วิงวอนขอตำแหน่งอิมามให้กับบุตรหลานที่ตลอดชีวิตของเขาทำบาปเพียงอย่างเดียว หรือทำความดีในตอนแรก หลังจากนั้นได้กระทำบาป ฉะนั้น คงเหลือสองกลุ่มชนที่ต้องพิจารณา กล่าวคือ
1. กลุ่มชนที่ตอนแรกกระทำบาป หลังจากนั้นกลับใจและหันกลับมาสร้างความดี
2. กลุ่มชนที่ไม่เคยกระทำความผิดเลย ตั้งแต่แรกจวบจนอำลาจากโลกไป
พระเจ้าทรงละทิ้งคนกลุ่มแรก ดังนั้น สรุปได้ว่าตำแหน่งอิมามมีความเหมาะสม เฉพาะกับชนกลุ่มที่สองเท่านั้น
แสดงความเห็น