อิมามมัต(ตำแหน่งผู้นำ)
อิมามัต (ตำแหน่งผู้นำ)
หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จากไป ประเด็นสำคัญที่กล่าวขานกันมากที่สุดในสังคมคือ เรื่องตัวแทนท่านศาสดา หรือเคาะลิฟะฮฺ กลุ่มหนึ่งยึดถือทัศนะความคิดเห็นของเหล่าบรรดาสาวก และได้ยอมรับอบูบักร์เป็นเคาะลิฟะฮฺ อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าตัวแทนของท่านศาสดาได้รับแต่งตั้งแล้วคือ ท่านอะลี (อ.) ต่อมาชนกลุ่มแรกถูกเรียกว่า อะฮฺลิซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ส่วนกลุ่มที่สองถูกเรียกว่า ตะชัยยุอ์ หรือชีอะฮฺ
มาตรว่าคำอธิบายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในการอธิบายวิชาการและวัตถุประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) จะบริสุทธิ์จากการบิดเบือน ทำนองเดียวกันอัลลอฮฺรับรองว่าจะปกป้องอัล-กุรอานให้คงอยู่ตลอดไป และท่านศาสดาก็ได้อธิบายทุกอย่างที่เป็นความต้องการของมนุษย์จนถึงวันแห่งการอวสานของโลกไว้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอีมามผู้นำหลังจากนั้น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ท่านศาสดาไม่ได้อธิบาย บทบัญญัติทุกอย่างที่เป็นความต้องการของมนุษย์เอาไว้จนถึงวันแห่งการอวสานของโลก และอัลลอฮฺ (ซบ.) ก็ไม่ได้รับรองว่าจะปกป้องคำพูดของท่านศาสดา (ในรูปของรายงานฮะดีซ) ให้คงความบริสุทธิ์ตลอดไป
ท่านศาสดาได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านอยู่นาน ๒๓ ปี ซึ่ง ๑๓ ปีแรกท่านเผยแผ่อยู่ในมักกะฮ มีคนจำนวนเล็กน้อยที่เข้ารับอิสลาม และท่านต้องอดทนต่อความยากลำบาก เช่น ถูกล้อมกรอบทางเศรษฐกิจอยู่นานถึงสามปี ในสภาพเช่นนั้น เป็นไปได้หรือที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะอธิบายทุกอย่างที่เป็นความต้องการของมนุษย์จนถึงวันแห่งการอวสานของโลกไว้จนหมดสิ้น
สมมุติฐานที่หนึ่ง ถ้าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อธิบายทุกอย่างเอาไว้จนครบบริบูรณ์ และผู้ใดคือบุคคลที่มีหน้าที่ปกป้อง บทบัญญัติเหล่านั้น คนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้ หรือมีแต่น้อยจะสามารถปกป้องสิ่งสำคัญเหล่านี้ไว้ได้หรือไม่
สมมุติฐานที่สอง ถ้ามีความสมารถในการปกป้องบทบัญญัติ จะมีหลักประกันอันใดว่า บทบัญญัติเหล่านั้นจะบริสุทธิ์และไม่ถูกบิดเบือน จุดประสงค์ของเรามิใช่การบิดเบือนโดยเจตนาอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการบิดเบือนด้วยความพลั้งเผลอ เช่น ท่านศาสดาจะวุฎูอ์ก่อนนมาซทุกครั้งพร้อมกับประชาชน ทุกคนได้เห็นท่านศาสดาวุฎูอ์ว่า เริ่มราดน้ำจากตรงไหนถึงตรงไหนและราดน้ำกี่ครั้ง หรือบางคนตลอด ๒๓ ปี เห็นท่านศาสดาวุฎูอ์ด้วยตาตนเอง แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อท่านศาสดาจากไปได้ไม่นาน พวกเขาก็มาถกเถียงกันว่าวุฎูอ์ควรจะทำอย่างไร หรือในบางครั้งไม่มีทีท่าว่าจะบิดเบือน หมายถึงคนที่ไม่ได้รับประโยชน์อันใดในการบิดเบือนการทำวุฎูอ์ เช่น เวลาทำต้องล้างจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง แต่เขากลับบอกว่าต้องล้างจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน เพื่อให้ได้รับความสนใจหรือได้รับคำชมเล็ก ๆ น้อย ๆ และจะไปวิตกอะไรกับ บทบัญญัติที่มีผลประโยชน์มากมาย ซึ่งถ้าเขาบิดเบือนมันไปจากความเป็นจริง เขาจะได้รับผลประโยชน์มหาศาล เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับสังคมหรือตำแหน่งผู้นำสังคม
ฉะนั้น ไม่มีหลักประกันอันใดเลยว่า บทบัญญัติและคำสอนของท่านศาสดาตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์ของวะฮฺยูจะได้รับการปกป้องดูแล ทั้งที่มวลมุสลิมทั้งหลายก็รับรู้ว่าแบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตั้งมากมายที่ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ฉะนั้น ในสภาพเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความสามารถในการชี้นำทางประชาชนดอกหรือ
และถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเพิกเฉย กล่าวคือ ไม่ทรงแต่งตั้งตัวแทนให้ทำหน้าที่สั่งสอน และชี้นำมนุษย์ไปสู่สัจธรรม และความศักดิ์สิทธิของอัล-กุรอาน ถือว่าเป้าหมายในการแต่งตั้งศาสดาเพื่อชี้นำและช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากการหลงทางไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่แต่งตั้งผู้ใดไว้เพื่ออธิบายอัล-กุรอาน แน่นอนประชาชนต้องหลงทาง อีกด้านหนึ่งการยุติการประทานศาสดาก็ถือว่าขัดต่อสติปัญญาและความจริง
ด้วยเหตุนี้เอง สังคมอิสลามจึงต้องการอิมามเพื่อทำหน้าที่ปกป้อง บทบัญญัติและแบบฉบับของท่านศาสดาไม่ให้บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ทำหน้าที่ชี้นำมนุษย์ไปสู่สัจธรรม และบริหารรัฐอิสลามให้ดำรงสืบต่อไป
ประสำคัญ ความขัดแย้งระหว่างซุนนีย์และชีอะฮฺมิใช่มีแค่ปัญหาตัวแทนท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เท่านั้น ทว่าทั้งสองนิกายมีความขัดแย้งกันในเรื่อง ความเข้าใจ ฐานะภาพ และความพิเศษของอิมาม
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาความหมายของอิมาม เพื่อหาจุดต่างของสองนิกาย
อิมามะฮเป็นคำมาจากอาหรับหมายถึง "ผู้นำ" คำว่าอิมาม (อ่านโดยให้ฮัมซะฮเป็นกัสเราะฮ) หมายถึง "ผู้นำ" เช่นกัน คำว่า อิมาม กับ อะมามมาจากรากศัพท์คำเดียวกันแต่ความหมายต่างกัน ซึ่งคำว่า "อะมาม" หมายถึง "ด้านหน้าหรือข้างหน้า" ส่วนคำว่า "อิมาม" หมายถึง "บุคคลที่ถูกมอบให้อยู่ข้าหน้าโดยมีคนกลุ่มหนึ่งปฏิบัติตามเขา"
บรรดานักปราชญ์ฝ่ายวิชาหลักความเชื่อและศรัทธา (วิพากษ์วิทยา) ได้อธิบายคำว่า "อิมามะฮ" ไว้หลายความหมายด้วยกัน แต่จะเลือกกล่าวเฉพาะความหมายที่มักคุ้นและเด่นที่สุดในหมู่ของนักวิชาการ ซึ่งกล่าวว่า "อิมามะฮ" หมายถึง "ผู้ปกครองศาสนจักรและอาณาจักรโดยทั่วไปแห่งสังคมอิสลาม" หรือเรียกอีกอย่างว่า "ริยาซะฮ"
แต่ผู้ปกครองแห่งศาสนจักรและอาณาจักรหมายถึง บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้ปกครองเฉพาะเรื่องของอาณาจักรอย่างเดียว แต่ทว่าควบคุมไปถึงเรื่องของศาสนจักรด้วย การเป็นผู้ปกครองของเขามิได้เจาะจงเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง หากแต่มันควบคุมทั้งสองด้านทั้งภารกิจทางโลกและทางธรรม
สรุปความหมายของคำว่าอิมามะฮในทรรศนะของวิชาที่ว่าด้วยความเชื่อและศรัทธา หมายถึง "ผู้ปกครองสังคมอิสลามที่ควบคุมดูแลภารกิจของโลกนี้และโลกหน้า"
อิมามในทัศนะอะฮฺลิซซุนนะฮฺ หมายถึงผู้ปกครองโลก ที่มิได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า เป็นผู้นำและบริหารสังคมมุสลิม โดยปกติสังคมทุกสังคมต้องการผู้ชี้นำ ดังนั้น สังคมอิสลามหลังจากท่านศาสดา จึงจำเป็นต้องเลือกผู้นำขึ้นปกครอง แต่เนื่องจากแนวทางการเลือกผู้นำมิได้ระบุไว้ในอัล-กุรอาน ฉะนั้น การเลือกตัวแทนของท่านศาสดาจึงสามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น พิจารณาทัศนะของประชาชนส่วนใหญ่ หรือพิจารณาวิสัยทัศน์ของเหล่าบรรดาผู้นำเผ่าต่าง ๆ หรือพิจารณาจากคำสั่งเสียของผู้นำคนก่อนหน้านั้น
แสดงความเห็น