ทำไมชีอะฮฺจึงถือว่าบุตรของท่านอิมามอะลี (ฮะซันและฮุซัยนฺ) เป็นบุตรของท่านศาสดา

คำถาม: ทำไมชีอะฮฺจึงถือว่าบุตรของท่านอิมามอะลี (ฮะซันและฮุซัยนฺ) เป็นบุตรของท่านศาสดา

คำตอบ : จากการค้นคว้าหนังสือต่าง ๆ ตัฟซีร ประวัติศาสตร์ และริวายะฮฺทำให้รู้ว่าการพูดเช่นนี้ไม่เฉพาะเจาะจงอยู่แค่ชีอะฮฺเท่านั้น ทว่าสามารถกล่าวได้ว่าบรรดานักค้นคว้ามุสลิมจากกลุ่มต่าง ๆ ได้มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ จากการอ้างอิงถึงอัล-กุรอาน ฮะดีซ และคำพูดของนักอรรถาธิบายอัล-กุรอานที่มีชื่อเสียงอันเป็นเหตุผลที่บ่งบอกถึงเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

โดยปรกติอัล-กุรอานถือว่าบุตรหลานที่เกิดจากเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเป็นบุตรของตน เช่นกันบุตรที่เกิดจากบุตรของตน ไม่ว่าจะเป็นบุตรของบุตรสาวหรือบุตรของบุตรชายก็ถือว่าเป็นบุตรของตน และเมื่อพิจารณาอัล-กุรอาน และซุนนะฮฺจะพบหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันถึงความจริงดังกล่าว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๑. อัล-กุรอาน โองการต่อไปนี้ถือว่า ท่านศาสดาอีซา (อ.) เป็นบุตรคนหนึ่งของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ขณะที่ศาสดาอีซา (อ.) คือบุตรของท่านหญิงมัรยัม ศาสดาอีซามีความสัมพันธ์กับท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ทางสายมารดา

وَوَهَبْنَا لَهُ إِسْحَقَ وَيَعْقُوبَ كُلاً هَدَيْنَا وَنُوحًا هَدَيْنَا مِن قَبْلُ وَمِن ذُرِّيَّتِهِ دَاوُودَ وَسُلَيْمَانَ وَأَيُّوبَ وَيُوسُفَ وَمُوسَى وَهَارُونَ وَكَذَلِكَ نَجْزِي الْمُحْسِنِينَ وَزَكَرِيَّا وَيَحْيَى وَعِيسَى وَإِلْيَاسَ كُلٌّ مِّنَ الصَّالِحِينَ

และเราได้ให้อิซหาก และยะอฺกูบแก่เขา เราได้ชี้นำทั้งหมด และเราได้แนะนำนูฮฺแล้วก่อนหน้า อิบรอฮีมและลูกหลานของอิบรอฮีมคือดาวูด ซุลัยมาน อัยยูบ ยูซุฟ มูซาและฮารูน พวกที่ทำความดีเหล่านี้แหละที่เราจะตอบแทนรางวัลความดี และ (จากบุตรหลานของอิบรอฮีม) ซะกะรียา ยะฮฺยา อีซา และอิลยาซ ทุกคนนั้นอยู่ในหมู่คนดี

นักวิชาการของอิสลามถือว่าโองการข้างต้นเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่บ่งบอกว่า ท่านฮะซันและท่านฮุซัยนฺเป็นบุตรและเป็นเชื้อสายที่ใกล้ชิดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นขอยกคำพูดบางตอนของนักปราชญ์อิสลามที่กล่าววว่า(ท่านญาลาลุดดีนได้บันทึกไว้ว่า)

أرسل الحجاج الى يحي بن يعمر فقال : بلغنى انك تزعم أن الحسن والحسين من ذرية النّبى تجده فى كتاب الله وقد قرأته من أوّله إلى آخره فلم أجده

قال ألست تقرأ سورة الانعام (وَمِن ذريته داود و سليمان) حتىّ بلغ (و يحيى و عيسى)قال : بلى قال : أليس عيسى من ذرية ابراهيم وليس له أبٌ ؟ قال : صدقت

วันหนึ่งฮัจญาจ ได้ส่งม้าเร็วไปหายะฮฺยา บิน ยะอฺมุร และได้พูดกับเขาว่า ได้มีรายงานมาถึงฉันว่า ท่านได้บอกว่า ฮะซันและฮุซัยนฺเป็นหลานและเป็นบุตรของท่านศาสดา ท่านเคยพบคำพูดเหล่านี้ในอัล-กุรอานหรือ  ฉันได้อ่านอัล-กุรอานตั้งแต่แรกจนจบไม่เคยเจอคำพูดเหล่านี้เลย

ท่านยะฮฺยา บิน ยะอฺมุร กล่าวว่า ท่านไม่เคยอ่านโองการนี้ในซูเราะฮฺอันอามหรือ  อัลลอฮฺตรัสว่า (และจากลูกหลานของเขาดาวูด และซุลัยมาน) จนถึงคำพูดที่ว่า (ยะฮฺยา และอีซา) ตอบว่า ฉันเคยอ่าน

ยะฮฺยา พูดว่า อัล-กุรอานไม่ได้บอกหรือว่าอีซาเป็นลูกหลานของอิบรอฮีม ขณะที่อีซานั้นไม่มีบิดา (ทางสายมารดาเท่านั้นที่อีซามีความสัมพันธ์กับอิบรอฮีม) ฮัจญาจตอบว่า ท่านพูดถูกแล้ว

จากโองการต่าง ๆ ที่ได้ยกมาพร้อมทั้งคำอธิบายของนักตัฟซีรทั้งหลายทำให้รู้ว่า ไม่ใช่เฉพาะชีอะฮฺเท่านั้นที่เชื่อว่าฮะซันและฮุซัยนฺเป็นบุตรหลานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทว่าบรรดานักปราชญ์ทั้งหลายก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน

๒. อีกโองการหนึ่งที่ยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านอิมามฮะซันและฮุซัยนฺ เป็นบุตรหลานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  คือโองการมุบาฮะละฮฺ  ที่อยู่ในซูเราะอาลิอิมรอนความว่า

فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءَكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءَنَا وَأَبْنَاءَكُمْ وَنِسَاءَنَا وَنِسَاءَكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَعْنَتَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ

ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) หลังจากที่ได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว จงบอกเถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราก็จะเรียกลูก ๆ ของเราและลูกของพวกท่าน และเรียกบรรดาผู้หญิงของเราและบรรดาผู้หญิงของพวกท่าน และตัวของพวกเราและตัวของพวกท่าน หลังจากนั้นเราจะทำการสาปแช่ง และขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮฺพึงประสบ แก่บรรดาผู้ที่พูดโกหก

บรรดานักอรรถาธิบายอัล-กุรอาน กล่าวว่า โองการข้างต้นคือโองการมุบาฮะละฮฺ เป็นการสาปแช่งกันระหว่างท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเหล่าบรรดาผู้นำชาวคริสเตียน นัจรอน หลังจากที่พวกเขาได้แสดงความก้าวร้าวท่านศาสดา อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาแก่ท่านให้ทำการวิงวอนกันระหว่างท่านกับพวกผู้นำคริสเตรียน โดยให้พาท่านอะลี ท่านหญิงฟาฎิมะฮฺ ท่านฮะซัน และท่านฮุซัยนฺออกไปเพื่อทำการมุบาฮะละฮฺ เมื่อพวกนัซซอรอได้เห็นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺของท่านจริงจังกับเรื่องดังกล่าว พวกเขาจึงกลัวว่าชีวิตของพวกเขาจะเป็นอันตราย จึงได้ขอร้องท่านให้ยกเลิกพิธีกรรมนั้น ท่านได้ตอบรับคำขอร้องของพวกเขา และได้ลงนามในสัญญาเพื่อยกเลิกพิธีกรรมสาปแช่ง

นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานทั้งซุนียฺและชีอะฮฺตามมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ในวันมุบาฮิละฮฺนั้นท่านอิมามอะลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอิมามฮะซัน และท่านอิมามฮุซัยนฺ ได้ร่วมอยู่ในพิธีดังกล่าวด้วย ฉะนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าจุดระสงค์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวว่า อับบะนาอะนา (บุตรของพวกเรา) หมายถึง ท่านฮะซัน และท่านฮุซัยนฺ ตาม ความหมายข้างต้นจะเห็นว่าโองการได้รับรองว่าท่านทั้งสองเป็นบุตรของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ริวายะฮฺจำนวนมากได้กล่าวสนับสนุน และยืนยันว่าเหตุการณ์ตามโองการมุบาฮิละฮฺถูกต้องจะขอยกบางส่วนจากริวายะฮฺเหล่านั้น

ก. ท่านญะลาลุดดีน ซุยูฏียฺ ได้เล่าจาก ฮากิม อิบนุ มุรูดียะฮฺ และ อะบูนะอีม ซึ่งทั้งสองคนรายงานมาจากท่านญาบิร บิน อับดุลลอฮฺว่า

أنفسنا و أنفسكم : رسول الله وعلي و أبنائنا : حسن و الحسين و نسائنا : فاطمة

จุดประสงค์ของคำว่า อังฟุซะนา (ชีวิตของเรา) หมายถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กับท่านอะลี ส่วนคำว่า อับบะนาอะนา (บุตรของพวกเรา) หมายถึงท่านฮะซันและท่านฮะซัยนฺ และคำว่า นิซาอะนา (สตรีของเรา) หมายถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ  

ข. ท่านฟัครุดดีน รอซียฺ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีรของตน หลังจากอธิบายริวายะฮฺแล้ว ท่านได้กล่าวว่า

واعلم أن هذه الّرواية كالمتّفق على صحتها بين اهل التفسير والحديث

แน่นอนริวายะฮฺดังกล่าวนี้ อยู่ในฐานะของฮะดีซที่บรรดานักอรรถาธิบายกุรอาน และนักฮะดีซมีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องความถูกต้อง

ท่านได้กล่าวอีกว่า

المسألة الرّابعة : هذه الاية دالّةٌ على أنّ الحسن والحسين (ع) كانا إبنى رسول الله وعد أن يدعوا ابنائه فدعا الحسن والحسين فوجب أن يكون إبنيه

โองการที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้บ่งบอกว่าฮะซันและฮุซัยนฺเป็นบุตรของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เนื่องจากได้ตกลงว่าให้ท่านเรียกบุตรของท่านออกมา ดังนั้น ท่านจึงเรียกฮะซันและฮุซัยนฺออกมา

ค. อะบูอับดิลลาฮฺ กุรฏุบียฺ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีรของตนว่า

[أبنائناا] دليل على أن ابناء البنات يسمّون أبناءًا

อับบะนาอะนา ตามโองการกุรอานที่กล่าวถึง เป็นเหตุผลที่ยืนยันว่าบุตรหลานที่เกิดกับบุตรสาว ถูกนับว่าเป็นบุตรของคนนั้นเช่นกัน

๓. คำกล่าวของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นสิ่งยืนยันที่ดีที่สุด ด้วยการกล่าวว่า ท่านฮะซันและท่านฮุซัยนฺป็นบุตรของท่าน ดังตัวอย่างบางคำพูดที่ว่า

هذان إبناى من أحبهما فقد أحبّنى

ฮะซันและฮุซัยนฺ เป็นบุตรชายสองคนของฉัน ใครรักเขาทั้งสองเท่ากับรักฉัน 

อีกครั้งหนึ่งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ชี้ไปที่ฮะซันและฮุซัยนฺพร้อมกับกล่าวว่า

إنّ ابنىّ هذينَ ريحانتى من الدّنيا

แท้จริงบุตรชายทั้งสองของฉัน เป็นที่รักยิ่งสำหรับฉันบนโลกนี้

คำถามที่ ๒๓ : ทำไมชีอะฮฺจึงถือว่าเคาะลิฟะฮฺต้องมาจากการแต่งตั้ง

คำตอบ : เป็นที่ชัดเจนว่าอิสลามศาสนาที่บริสุทธิ์ เป็นศาสนาแห่งสากลและต้องธำรงอยู่ตลอดไป ช่วงที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีชีวิตอยู่ท่านคือผู้นำ แต่หลังจากที่ท่านได้อำลาโลกไปแล้ว แน่นอนอำนาจการเป็นผู้นำต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ดีที่สุดในหมู่ประชาชาติ ปัญหาอยู่ที่ว่าตำแหน่งผู้นำภายหลังจากท่าน  เป็นการแต่งตั้ง (หมายถึงเป็นบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) โดยท่านศาสดาเป็นผู้ประกาศ) หรือว่าเป็นตำแหน่งที่อาศัยการเลือกตั้งของประชาชน มี ๒ ทัศนะดังนี้

๑. ชีอะฮฺ เชื่อว่าอิมามผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) หรืออีกนัยหนึ่งพระองค์คือผู้กำหนดผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว

๒.ซุนียฺ เชื่อว่าอิมามผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องมาจาการเลือกตั้งไม่ใช่แต่งตั้ง ประชาชนคือผู้เลือกสรรอิมามให้มาทำหน้าที่บริหารสังคมภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

การดูแลรักษาสังคมเป็นสิ่งยืนยันว่าเคาะลิฟะฮฺต้องมาจากการแต่งตั้ง

บรรดานักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺ ได้รวบรวมหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันถึงความจำเป็นในการแต่งตั้งอิมามไว้ในตำราหลักความเชื่อของตน แต่ในหนังสือเล่มนี้สิ่งที่ต้องการกล่าวถึงคือ การวิเคราะห์เงื่อนไขของผู้ปกครองในสมัยของการประกาศศาสนา เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนแนวความคิดของฝ่ายชีอะฮฺ การวิเคราะห์ถึง การเมืองภายในและภายนอกอิสลามในช่วงการเผยแผ่สาส์น เป็นที่ยอมรับกันถ้วนหน้าว่าตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) โดยผ่านท่านเนื่องจากทุกคนมองเห็นว่าอิสลามในยุคนั้น ตกอยู่ท่ามกลางอันตราย ๓ ด้านด้วยกันกล่าวคือ อันตรายจากกษัตริย์แห่งกรุงโรม กษัตริย์แห่งอิหร่าน และบรรดาพวกกลับกลอกทั้งหลาย (มุนาฟิกีน) ทั้งหมดได้ทำการข่มขู่และคิดจะทำลายอิสลามตลอดเวลา ขณะเดียวกันเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ท่านทำการแต่งตั้งตัวแทนทางการเมืองเพื่อเป็นผู้นำการต่อสู้กับศัตรูภายนอก และเพื่อนำประชาชนทั้งหมดให้ต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นการทำลายแผนการของศัตรูที่คิดจะมีอิทธิพลเหนืออิสลาม

คำอธิบายข้อกล่าวอ้างข้างต้น

ด้านหนึ่งของอันตรายเกิดจากอำนาจที่มาจากโรม ถือว่าเป็นมหาอำนาจในยุคนั้น โรมตั้งอยู่ทางทิศเหนือของแคว้นอาหรับพวกเขาได้สร้างปัญหาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องคิดตลอดเวลาจนกระทั่งช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญ ท่านก็ไม่อาจหลุดพ้นความคิดต่อพวกโรมไปได้

การเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่างทหารอิสลามกับทหารของคริสเตียนแห่งกรุงโรม เมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๘ บนพื้นแผ่นดินปาเลสไตน์ การเผชิญหน้ากันในครั้งนี้อิสลามได้สูญเสียบุคคลสำคัญไปถึง ๓ คนคือ ท่านญะอฺฟัรฎอยยาร ท่านซัยดฺ บินฮาริซะฮฺ และท่านอับดุลลอฮฺ บินรุวาฮะฮฺ การต่อสู้จบลงด้วยความปราชัยของอิสลาม การล่าถอยของทหารอิสลามเมื่อเผชิญหน้ากับกองทหารฝ่ายผู้ปฏิเสธ ทำให้กองทหารของกษัตริย์กัยซัรเกิดได้ใจและวางแผนที่จะโจมตีอิสลามตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เอง ในปี ฮ.ศ. ที่ ๙ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงได้ยกพลขนาดใหญ่เคลื่อนทัพไปยังชายแดนเมืองชาม เตรียมพร้อมการเผชิญหน้าในทุกรูปแบบภายใต้การนำทัพของท่าน และในการเคลื่อนทัพครั้งนี้ฝ่ายอิสลามสามารถกอบกู้เกียรติยศและศักดิ์ศรีของตนกลับคืนมาได้ เป็นการมอบชีวิตทางการเมืองใหม่ให้กับสังคมอิสลาม แม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบากก็ตาม

แม้ว่าอิสลามจะได้รับชัยชนะ แต่ก็ไม่อาจทำให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สบายใจได้ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันท่านได้ล้มป่วยลง ขณะที่ป่วยอยู่นั้นท่านได้สั่งให้เคลื่อนทัพไปตึงกำลังไว้ที่ชายแดนเมืองชามอีกครั้ง ภายใต้การนำทัพของท่านอุซามะฮฺ

ศัตรูอีกด้านหนึ่งของอิสลามคือ คุซโรกษัตริย์แห่งอิหร่านในสมัยนั้น ซึ่งได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์อิสลามมาตลอด ถึงขั้นฉีกสาส์นที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ส่งไปเชิญชวนสู่อิสลาม ดูถูกเหยียดหยาม และขับไล่ทูตที่ท่านส่งไปออกจากพระราชวังอย่างไม่ใยดี อีกทั้งยังได้ส่งสาส์นไปถึงกษัตริย์แห่งเยเมน ให้จับกุมท่านศาสดา ถ้าขัดขืนให้ สังหารทิ้งเสีย ถึงแม้ว่ากษัตริย์คุซโรแห่งอิหร่านจะสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่สมัยที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ประเทศเยเมนก็ไม่ได้รับอิสรภาพ ยังคงเป็นเมืองขึ้นที่อยู่ในอาณัตของอิหร่านต่อไป อิหร่านไม่ได้ยินดีกับอำนาจการเติบโตของอิสลามแม้แต่นิดเดียว เพราะอิสลามยิ่งเติบโตความยิ่งใหญ่ของอิหร่านก็ลดน้อยลงตามลำดับ อิหร่านจึงไม่สามารถอดทนได้

ศัตรูด้านที่สาม จัดว่าเป็นศึกภายในที่เกิดจากบรรดาพวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) กลุ่มชนนี้ได้แฝงตัวอยู่ในสังคมอิสลามมาตลอด เปรียบเสมือนเป็นสายเลือดเส้นที่ห้าที่คอยก่อกวน สร้างความเสื่อมเสีย และก่อกบถในหมู่มุสลิม จนถึงขั้นที่ว่าพวกเขาตั้งใจเอาชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยได้วางแผนลอบสังหารท่านระหว่างทางไปตะบูกกับมะดีนะฮฺ พวกเขาได้พูดกันว่าการตายของท่านเท่านั้น ที่จะทำให้ขบวนการอิสลามยุติลง และสร้างความเสียหายได้อย่างทั่วถึง อัล-กุรอานกล่าวว่า

أَمْ يَقُولُونَ شَاعِرٌ نَّتَرَبَّصُ بِهِ رَيْبَ الْمَنُونِ

หรือพวกเขากล่าวว่า มุฮัมมัดเป็นกวี เราคอยภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นแก่เขา

อำนาจการสร้างความเสียหายของพวกมุนาฟิกีน (กลับกลอก) ได้ตั้งรกรากอย่างมั่นคงในสังคม ถึงขนาดที่อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน นิซาอฺ มาอิดะฮฺ อันฟาล เตาบะฮฺ อังกะบูต อะฮฺซาบ มุฮัมมัด ฟัตฮฺ มุญาดะละฮฺ หะดีด มุนาฟิกีน และฮัชรฺได้กล่าวถึงบทบาทของพวกเขาไว้

การมีศัตรูที่มีความแข็งแกร่งอยู่รอบด้าน ขณะที่อิสลามมีจำนวนน้อยนิด และเป็นสังคมที่เพิ่งจะเติบโตขึ้นมาใหม่ด้วยความยากลำบาก หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในฐานะผู้สถาปนาสังคมได้ทอดทิ้งสังคมไป โดยไม่มีการแต่งตั้งตัวแทนให้ทำหน้าที่ปกครองทั้งศาสนจักรและอาณาจักร

นักสังคมวิทยากล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องทำการแต่งตั้งผู้นำภายหลังจากท่าน ให้ดำรงหน้าที่แทนเพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งภายใน และเป็นแกนนำที่แข็งแรงในการสร้างเอกภาพ และยืนหยัดต่อสู้กับศัตรู เหตุการณ์และภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม ดังนั้น หลังจากการจากไปของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) การที่ทุกเผ่าได้ออกมาเสนอว่าผู้นำต้องเป็นคนจากเผ่าของเราถือว่าไม่ถูกต้อง และเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะไม่แต่งตั้งผู้นำไว้

นักวิชาการท่านหนึ่งได้กล่าวว่า สิ่งเดียวที่ท่านมุฮัมมัดได้ละเลยและก่อให้เกิดผลเสียมิใช่น้อย ได้แก่การมิได้แต่งตั้งผู้สืบต่อจากท่าน คำว่าผู้สืบต่อนี้ภาษาอาหรับเรียกว่า เคาะลิฟะฮฺ ซึ่งเราเคยเรียกเพี้ยนเป็นกาหลิบ การที่ท่านมุฮัมมัดไม่ได้แต่งตั้งเคาะลิฟะฮฺไว้ก็อาจเป็นเพราะท่านมีความถ่อมตน ถือว่าหน้าที่แต่งตั้งเคาะลิฟะฮฺเป็นของอัลลอฮฺ มิใช่ของท่าน อย่างไรก็ตามเมื่อท่านสิ้นชีวิตลงโดยไม่มีผู้สืบทอดต่อ ก็ก่อให้เกิดปัญหาการคัดเลือกผู้เหมาะสม แม้จะได้มีการลงมติเลือกให้ อบูบักรฺ เพื่อนสนิทของท่านเป็นเคาะลิฟะฮฺ แต่ก็มีผู้ไม่พอใจมตินี้ และเห็นควรให้อะลีบุตรเขยของท่านดำรงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺมากกว่า พวกนี้ได้ชื่อว่า พรรคของอะลี หรือ ชีอะฮฺ ซึ่งในที่สุดก็แตกแยกออกมาเป็นนิกายใหม่ของศาสนาอิสลาม การแตกแยกดังกล่าวคงจะไม่เกิดขึ้น หากท่านศาสดาได้สั่งออกมาเด็ดขาดว่าจะให้ผู้ใดสืบต่อจากท่าน 

คำพูดของนักสังคมวิทยาได้สนับสนุนความคิดของเราที่ว่า ผู้นำภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องได้รับการแต่งตั้งไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง

หลักฐานการแต่งตั้งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บนพื้นฐานดังกล่าวนี้จะเห็นว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ประกาศแต่งตั้งตัวแทนตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดา จนกระทั่งวันสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญ ท่านได้ประกาศแต่งตั้งตัวแทนพร้อมกับประกาศการเป็นศาสดาของท่าน ท่ามกลางหมู่เครือญาติชั้นใกล้ชิด และท่านได้ประกาศอีกครั้งท่ามกลางหมู่ชน ณ เฆาะดีรคุม ดังนั้นตลอดอายุขัยของท่านศาสดาท่านได้แต่งตั้งตัวแทนไว้เรียบร้อยแล้วดังที่กล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของสังคมในยุคแรกของอิสลาม และหลักฐานที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แต่งตั้งท่านอะลีไว้ ทำให้รู้ว่า การแต่งตั้งตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แสดงความเห็น